แนวทางการพัฒนาในยุคต่อไป

14 ธันวาคม 2531
เป็นตอนที่ 6 จาก 9 ตอนของ

แนวทางการพัฒนาในยุคต่อไป

ต่อไปนี้ ขอข้ามไปสู่เรื่องแนวทางในการพัฒนาของยุคต่อไป เพราะที่แล้วมานั้นเป็นการกล่าวถึงโทษหรือผลร้ายที่เกิดขึ้น จึงยังต้องพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะพัฒนาต่อไปกันอย่างไร

การใช้วัฒนธรรมเป็นปัจจัยร่วมในการพัฒนา และเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานั้น หมายรวมถึงการพัฒนาที่ต้องพัฒนาวัฒนธรรมเองด้วย หมายความว่า จะต้องมีทั้งการพัฒนาวัฒนธรรมและการพัฒนาด้วยวัฒนธรรม หรือว่าทั้งพัฒนาวัฒนธรรมและใช้วัฒนธรรมในการพัฒนา แต่การที่จะนำวัฒนธรรมมาใช้ในการพัฒนานั้น จะต้องรู้จักวัฒนธรรมของเราเองให้ชัดเจนด้วยว่าเป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีคุณค่าอยู่ที่ไหน ส่วนใดควรรักษา ส่วนใดควรแก้ไขปรับปรุง จะนำไปใช้อย่างไรจึงจะเกิดผลดี การพัฒนาในยุคที่ผ่านมานั้นขาดปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมจึงผิดพลาด แต่ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการ แม้จะเอาวัฒนธรรมเข้ามาร่วมในการพัฒนา ก็อาจจะผิดพลาดได้อีก

การพัฒนาในยุคที่ผ่านมานั้น ที่ว่าผิดพลาดเกิดผลร้ายเป็นอันมาก เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็เป็นเพราะเป็นการพัฒนาที่ขาดดุลยภาพ คือเป็นไปอย่างไม่สมดุล หมายความว่า เป็นความเจริญอย่างกระจัดกระจาย ขาดความประสานกลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และนำไปสู่การเสียสมดุล สมดุลนั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต มนุษย์และสังคมของมนุษย์ เมื่อการพัฒนาแต่ละด้านไม่สมดุล ผลที่มารวมกันก็ไม่สมดุลด้วย หมายความว่า องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนา เมื่อไม่เข้ามาเกื้อกูลประสานสัมพันธ์กัน จะโดยถูกละเลยมองข้ามหรือโดยความไม่รู้ไม่เข้าใจก็ตาม ก็ทำให้องค์ประกอบที่ทำหน้าที่อยู่ พากระบวนการพัฒนาแล่นเตลิดไปข้างเดียว เอียงหรือเลยเถิด เกินพอดี สุดโต่ง สุดขั้ว องค์ประกอบที่ถูกละเลยในที่นี้ก็คือวัฒนธรรม ส่วนองค์ประกอบที่ถูกเชิดชูพากระบวนการพัฒนาแล่นดิ่งไป ก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ จะต้องเน้นการพัฒนาให้ดำเนินไปอย่างประสานเกื้อกูลและให้เป็นไปอย่างสมดุล เลิกการกระทำที่เป็นการสุดโต่งสุดขั้วทั้งหลาย

ภาวะสมดุล หรือ ดุลยภาพ ที่จะสร้างขึ้นนี้ ขอกล่าวในที่นี้เพียงบางประการในเวลาที่จำกัด

๑. ภาวะสมดุล อย่างแรกที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ได้แก่ เรื่องที่พูดกันบ่อยที่สุดในระยะนี้ คือ ภาวะสมดุล ระหว่างการพัฒนาวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ หมายความว่า วัตถุอย่างเดียวก็จมหาย จิตใจอย่างเดียวก็เลื่อนลอย เราจะต้องปรับเปลี่ยนท่าที ไม่เอาแต่ความเจริญทางวัตถุและปริมาณ ไม่มุ่งแต่เศรษฐกิจโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จะต้องให้เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ประสานกลมกลืนกับวัฒนธรรม เฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมวัฒนธรรม โดยเน้นด้านความงอกงามของจิตใจและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ พัฒนาวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นตัวคุมและคาน ตลอดจนเป็นเครื่องนำทางความเจริญทางเศรษฐกิจและการใช้วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี ถ้าจะพูดแยกแยะก็ต้องว่า ในแง่ผล ให้มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาวัตถุกับการพัฒนาจิตใจ ในแง่อุปกรณ์ ให้มีความประสานเกื้อกูลอย่างสมดุลระหว่างการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจ กับการพัฒนาด้วยองค์ประกอบด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาวัฒนธรรม

๒. การพูดถึงความสมดุลระหว่างวัตถุกับจิตใจนั้น ก็ยังแคบไป ถ้าจะให้ชัด ต้องถามก่อนว่า การพัฒนานั้น พัฒนาเพื่อใคร ใครเป็นผู้รับผลของการพัฒนา ถ้าถามอย่างนี้ เราก็จะตอบได้ว่า การพัฒนานั้นเพื่อมนุษย์ เพื่อมนุษย์ที่มีทั้งกายและใจ ซึ่งมีชีวิตอยู่รวมกันเป็นสังคม ในท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อม ถ้าพูดอย่างนี้แล้วเราก็จะเห็นองค์ประกอบ ที่จะต้องเข้ามาสมดุลกันสามประการในระบบใหญ่แห่งความดำรงอยู่ของมนุษย์ องค์ประกอบใหญ่สามส่วนนั้น คือ

๑) มนุษย์ ซึ่งหมายถึงทั้งกายและใจ

๒) ธรรมชาติแวดล้อม หรือระบบนิเวศ

๓) สังคม

องค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้ จะต้องประสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดำเนินไปอย่างสมดุล

๓. ภาวะสมดุลระหว่างเก่ากับใหม่ คนจำนวนมากชอบแบ่งแยกระหว่างเก่ากับใหม่ และมักติดอยู่กับข้างใดข้างหนึ่ง จนบางทีแตกกันเป็นฝักฝ่าย เช่น พวกหนึ่งว่าของเก่าดี อีกพวกหนึ่งว่าของใหม่ดี พวกหนึ่งว่าคนโบราณโง่ คนปัจจุบันฉลาด อีกพวกหนึ่งว่าคนโบราณฉลาด คนสมัยนี้เขลารู้ไม่เท่าถึง การคิดเห็นและพูดอย่างนี้คงเป็นความยึดติดมากกว่า คือ ติดสมมติ แล้วเอาตัวผนวกเข้ากับข้างใดข้างหนึ่ง ถือมั่นโดยเอาตนเป็นที่ตั้งว่าของตนหรือข้างตนจะต้องดี ความจริงนั้น ของเก่าก็มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ของใหม่ก็มีทั้งส่วนเด่นและส่วนด้อย จึงช่วยให้มีความก้าวหน้าต่อมาได้ และจึงยังต้องแก้ไขปรับปรุงกันต่อไป ถ้าเป็นความจริงแท้ ก็มีแต่ความสมสมัย ตรงกับสภาพที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็เป็นภาวะที่เก่าเคยเป็นอย่างไร ใหม่ก็เป็นอย่างนั้น เท่ากับว่าไม่มีเก่าไม่มีใหม่

คนโบราณที่ฉลาดก็มี ที่โง่ก็มากมาย แม้คนทุกวันนี้ที่ฉลาดก็มาก ที่โง่ก็ถมเถไป แต่หลายอย่างที่สืบมาจากอดีต ไม่ใช่เรื่องของความฉลาดหรือโง่ แต่เป็นผลจากประสบการณ์ในการลองผิดลองถูกที่ยาวนาน กว่าจะได้ความรู้นั้นมาหรือทำสิ่งนั้น ทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องผ่านกาลเวลาที่ยืดยาวยิ่ง ในกรณีที่ต้องอาศัยกาลเวลายาวนานเป็นเครื่องพิสูจน์นั้น คนในสมัยปัจจุบันหรือยุคใดยุคหนึ่งเพียงสมัยเดียว ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเรียนรู้ผลได้ สังคมจึงไม่ควรสูญประโยชน์จากประสบการณ์เก่าๆ เหล่านี้ไปเสียเปล่า การรู้จักถือเอาประโยชน์จากประสบการณ์เช่นนั้น นับว่าเป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง และในทางตรงข้าม ถ้าคนปัจจุบันละเลยมองข้ามประโยชน์นั้นไปเสีย ก็ต้องนับว่าเป็นความโง่เขลาอย่างหนึ่งของเขา

สังคมที่ไม่รู้จักใช้สิ่งเก่าที่ตนมีอยู่ให้เป็นประโยชน์ คือไม่รู้จักสืบต่อเก่าให้เข้ากับใหม่ ก็จะต้องนำสิ่งใหม่เข้ามาจากภายนอกทั้งดุ้น ซึ่งจะมีผลเสียอย่างน้อยสามประการ คือ ประการที่หนึ่ง จะหมดตัว ไม่มีอะไรเป็นของตนเอง ประการที่สอง จะไม่มีอะไรดีพิเศษแปลกจากสังคมอื่น เพราะรับของเขาเข้ามาอย่างไร ก็มีได้แค่นั้น ไม่สามารถทำให้มีคุณค่าต่างหรือเพิ่มขึ้นไป ประการที่สาม จะกลายเป็นสังคมที่ตามและพึ่งพาขึ้นต่อสังคมอื่นโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะต้องคอยรับเอาจากเขาแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่ตนจะทำสิ่งใหม่ ซึ่งมาจากสังคมอื่นได้ดีเท่าเจ้าตัวของเขา เพราะไม่มีทุนเดิมอย่างที่เขามี จึงจะกลายเป็นสังคมที่ไร้เกียรติภูมิ เป็นทาสของสังคมอื่น หรืออย่างน้อยก็เป็นลูกไล่ลูกตาม ส่วนสังคมที่เก่งกาจแท้ ก็คือ สังคมที่สามารถเอาประสบการณ์และความจัดเจนเก่าออกมาปรับรับจัดสรรสิ่งใหม่ให้กลืนกลายเข้าเป็นของตนเอง โดยมีคุณค่าแปลกเพิ่มจากสิ่งนั้นที่เขามีในสังคมอื่น นี้เป็นเรื่องเก่าของข้างใน กับใหม่จากข้างนอก

ในความเป็นจริงนั้น มีแต่กระบวนการแห่งการถ่ายทอดส่งต่อและสืบเนื่องไปเรื่อยๆ เป็นกระแสธารอันเดียวที่ไหลเนื่องไปไม่ขาดสาย ไม่อาจแบ่งแยกตัดตอนออกเป็นเก่าและเป็นใหม่ เก่ากับใหม่เป็นเพียงคำสมมติ สำหรับกำหนดหมายในการเรียนรู้ เพื่อคอยช่วยซ่อมเสริมกระแสธารแห่งการสืบทอดให้ไหลเนื่องต่อไป โดยมีความประณีตอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นกระแสธารสืบเนื่องตามลำดับแห่งกาลเวลา จากอดีตสู่ปัจจุบัน และสืบไปในอนาคต โดยมีลักษณะแห่งการสั่งสมในอดีต แล้วถ่ายทอดสิ่งที่สั่งสมไว้นั้นผ่านมาสู่ปัจจุบัน และส่งมอบให้สืบเนื่องต่อไปในอนาคต ให้รับเอาไปตัดแต่งเติมต่อปรับปรุงให้เหมาะสมดีที่สุดที่จะเจริญงอกงามมีผลดียิ่งขึ้นต่อไป ถ้าวัฒนธรรมขาดตอน แบ่งเป็นเก่ากับใหม่ขึ้นมาอย่างชัดเจน สังคมก็จะเป็นเหมือนบุคคลที่สูญเสียบุคลิกภาพ และขาดดุลยภาพที่จะดำรงอยู่และดำเนินต่อไปด้วยดี

พูดสั้นๆ ว่า จะต้องไม่มีการแบ่งแยกเป็นเก่ากับใหม่ จะมีแต่การสืบทอดต่อเนื่องจนกระทั่งแยกไม่ออกว่าเป็นเก่าหรือใหม่ เมื่อมีการสืบทอดต่อเนื่องอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะมีความประสานกลมกลืน เราจะไม่แบ่งแยกกันเป็นเก่ากับใหม่ จะมีแต่การสั่งสมถ่ายทอดมา และสืบเนื่องต่อไป ซึ่งเป็นภาวะของการประสานสืบต่อกัน ระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถ้าทำได้สำเร็จอย่างนี้ ก็เป็นการกลมกลืนประสานสมดุลอย่างหนึ่ง

๔. ภาวะสมดุลระหว่างความพึ่งตนเองได้กับการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เรามักจะพูดเพียงแง่ใดแง่หนึ่งว่า ให้พึ่งตนเองให้ได้ หรือให้ช่วยเหลือกัน แต่ตามความเป็นจริงนั้น เราจะพึ่งตนเองอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ และจะพึ่งพาอาศัยแต่ผู้อื่นอย่างเดียวคอยให้เขาช่วยเหลือเท่านั้นก็เป็นไปไม่ได้ การที่จะพึ่งพาแต่คนอื่น หรือไม่ยอมพึ่งใครเลยนั้น เป็นสุดโต่งเกินไป ในเวลาที่สั้น ขอพูดเป็นอุปมา เหมือนกับชีวิตของเรานี้ ร่างกายของเราประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ มากมาย อวัยวะแต่ละอย่างต้อง พึ่งตัวเองได้ คือ มีความสมบูรณ์ในตัวของมัน สามารถทำหน้าที่ของตนเองและดำรงอยู่อย่างปกติ ในเวลาเดียวกันนั้นเอง อวัยวะทั้งหลายที่แต่ละอย่างทำงานได้เป็นปกติพึ่งตนเองได้นั้น ก็ประสานสัมพันธ์ อาศัยซึ่งกันและกัน เหมือนดังลิ้นกับฟันที่เราพูดถึงกันบ่อย ลิ้นต้องทำงานประสานกับฟัน ลิ้นต้องอาศัยฟัน ฟันต้องอาศัยลิ้น แต่ทั้งลิ้นและฟันต่างก็ต้องสมบูรณ์และทำหน้าที่ของมันได้เป็นปกติ เช่น ลิ้นดุนอาหารให้ ฟันจึงจะสามารถขบเคี้ยวได้สะดวก ฟันเคี้ยวให้แล้ว ลิ้นจึงจะลิ้มรสอาหารได้เต็มที่และจึงจะส่งอาหารลงคอให้กลืนได้โดยสะดวก ดังนี้เป็นต้น ถ้าอวัยวะแต่ละอย่างนั้นพึ่งตนเองไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาไม่เฉพาะแก่ตนเองเท่านั้น แต่ระบบทั้งระบบจะเสียไปด้วย เพราะฉะนั้น จะต้องพึ่งตนเองได้ เมื่อพึ่งตนเองได้ก็สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับผู้อื่นอย่างประสานกลมกลืน

ในการที่พึ่งตนเองได้ และในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างถูกต้องนี้ ก็จะมีภาวะสองอย่างเกิดขึ้น คือ

ประการที่ ๑ การที่สามารถรับเอาสิ่งที่จะพึงได้จากส่วนอื่นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตน ในการที่จะพึ่งตนเองนั้น อวัยวะทุกส่วนจะต้องได้รับประโยชน์จากอวัยวะอื่น เช่น หัวใจก็จะต้องอาศัยแรงกระตุ้นบางอย่างจากสมอง เช่น ในการที่ร่างกายต้องการโลหิตมากหรือน้อย จะต้องสูบฉีดแรงขึ้นกว่าปกติหรือไม่ ส่วนทางฝ่ายสมองจะทำงานได้ ก็ต้องได้รับเลือดที่หัวใจสูบฉีดขึ้นไป โดยที่ว่าทั้งสมองและหัวใจก็ทำงานเป็นปกติ พึ่งตนเองได้ แล้วต่างก็อาศัยซึ่งกันและกัน หมายความว่า เมื่อพึ่งตนเองได้ก็สามารถรับส่วนที่พึงได้จากผู้อื่นมาใช้เป็นประโยชน์

ประการที่ ๒ ในเวลาเดียวกันนั้น ก็จะมีส่วนที่ตนจะให้แก่ผู้อื่นด้วย หรือจะมีสิ่งที่ตนสามารถให้แก่ส่วนอื่น

เมื่อครบสองด้านอย่างนี้ก็จะเป็นภาวะที่สมบูรณ์ นี้คือภาวะที่พึ่งตนเองได้และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างมีสมดุล

สรุปความว่า เมื่อแต่ละส่วนพึ่งตนเองได้ ทุกส่วนก็สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไปอย่างสมดุล เมื่อทุกส่วนต่างก็พึ่งพาอาศัยโดยประสานสัมพันธ์กันดี ก็ช่วยให้แต่ละส่วนมีโอกาสพึ่งตนเองได้ เมื่อแต่ละส่วนพึ่งตนเองได้ ก็สามารถรับเอาสิ่งที่ตนพึงได้อย่างพอดีจากส่วนอื่น เมื่อได้รับสิ่งที่ตนพึงได้จากส่วนอื่นแล้ว ก็สามารถผลิตหรือสร้างสรรค์และมีสิ่งที่ตนจะพึงให้ตามควรแก่ส่วนอื่นๆ การที่แต่ละส่วนพึ่งตนเองได้ ในภาวะพึ่งพาอย่างพอดีกับส่วนอื่นๆ นี้ ก็ทำให้เกิดเป็นระบบแห่งความประสานกลมกลืน และเกื้อกูลกัน อันประกอบขึ้นเป็นองค์รวมที่สมดุล ซึ่งสามารถดำรงอยู่และเจริญงอกงามไปด้วยดีโดยสมบูรณ์ เหมือนกับว่า เมื่ออวัยวะทุกส่วนพึ่งตนเองได้ และทำหน้าที่โดยพึ่งพาอาศัยกัน แต่ละส่วนอาศัยสิ่งที่พึงได้จากส่วนอื่น และมีสิ่งที่ตนพึงให้แก่ส่วนอื่น ก็เกิดเป็นระบบแห่งร่างกายที่สมดุล เป็นชีวิตที่มีสุขภาพดี

ในการพึ่งตนและพึ่งพาอย่างถูกต้องนั้น ยังมีข้อที่พึงสำเหนียกอีกหลายอย่าง เช่นว่า การพึ่งเขา ก็เพื่อให้สามารถ พึ่งตนได้ การที่พึ่งตน ก็เพื่อให้สามารถพึ่งเขา และเป็นที่พึ่งแก่เขาได้ พึ่งตนได้ จึงพึ่งผู้อื่นได้ คือ จึงสามารถรับเอาส่วนที่พึงได้จากผู้อื่น จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะพึ่งคนอื่น และจึงจะทำให้การพึ่งคนอื่นนั้นบังเกิดผลดี ดังนั้น การพึ่งพาที่ถูกต้อง จึงได้แก่ การพึ่งพาของผู้ที่พึ่งตัวเองได้ ในทางตรงข้าม เมื่อพึ่งตนไม่ได้ ก็ไม่สามารถพึ่งคนอื่นได้โดยชอบธรรม และให้เกิดผลดี และทำให้ผู้อื่นที่ควรจะได้อาศัยตน พลอยพึ่งตัวเขาเองไม่ได้ เมื่อแต่ละหน่วยย่อยพึ่งตัวเองไม่ได้ ก็ประกอบกันขึ้นเป็นระบบ และเป็นองค์รวมที่พึ่งตนเองไม่ได้ อีกเช่นเดียวกัน โดยนัยนี้ การพึ่งตน กับการพึ่งพา จึงมีความหมายเนื่องเป็นอันเดียวกัน

พระพุทธศาสนาสอนให้ทุกคนเป็น อัตตนาถะ คือ เป็นที่พึ่งของตนได้ หรือพึ่งตนได้ และเป็น ปรนาถะ คือ เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ หรือมีสิ่งที่จะให้แก่คนอื่น พร้อมกันนั้น ก็สอนให้ทุกคนเป็น กัลยาณมิตตะ คือ มีมิตรดี เพื่อให้มีสิ่งที่จะได้รับจากคนอื่น ซึ่งจะเอามาใช้ในการพัฒนาตัวเอง ให้พึ่งตนได้ต่อไป ถ้าระบบนี้เป็นไปอย่างสมดุล ตนเองก็เจริญงอกงาม และพาคนอื่นให้เจริญงอกงามด้วย เป็นการร่วมเจริญงอกงามไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่มีบุคคลที่จะเป็นกัลยาณมิตร คือ ไม่มีบุคคลผู้มีสิ่งที่จะให้แก่คนอื่น พระพุทธศาสนาก็สอนให้ใช้ โยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิด รู้จักพิจารณา หรือมนสิการโดยแยบคาย ซึ่งทำให้สามารถเลือกเค้นเฟ้นหา คุณค่าส่วนดีหรือประโยชน์ แม้จากสิ่งหรือบุคคลซึ่งไม่มีอะไรที่จะให้แก่คนอื่นได้ การมีโยนิโสมนสิการจึงเป็นการพึ่งตนเองได้ในระดับสูงสุด หรือเป็นการพึ่งตนที่ประเสริฐสุด เป็นการพึ่งคนอื่นหรือได้จากคนอื่นสิ่งอื่น ด้วยการพึ่งตนเองแท้ๆ หรือเป็นการพึ่งคนอื่นได้ โดยที่เขาไม่ต้องให้พึ่ง (เป็นการได้โดยไม่ต้องพึ่ง หรือพึ่งเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าถูกพึ่งด้วยซ้ำ) และทำให้การพึ่งตนกับพึ่งคนอื่นมีความหมายเป็นอันเดียวกันอย่างแท้จริง หลักการนี้ พระพุทธศาสนาเรียกว่า “พึ่งตน คือ พึ่งธรรม และพึ่งธรรม คือ พึ่งตน”

ชนทุกหมู่เหล่าทุกระดับชั้นทุกชุมชนในสังคมนั้น จะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยต่างก็พึ่งตนเองได้ และต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต่างก็มีสิ่งที่ต้องรับจากคนอื่น และต่างก็มีสิ่งที่จะให้แก่คนอื่นด้วย แต่ละคนแต่ละกลุ่มทำทุกอย่างด้วยตนเองไม่ได้ ต้องได้บางอย่างจากคนอื่นกลุ่มอื่น แต่ก็พึ่งตนเองได้ ในการทำสิ่งที่คนอื่นกลุ่มอื่นจะต้องอาศัยตน เท่ากับว่าตนก็มีให้แก่คนอื่นและแก่ส่วนรวม

เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้ต้องเข้าใจต้องยอมรับความสำคัญของคนทุกหมู่เหล่าทุกชั้นทุกระดับในสังคม และให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในกระบวนการพัฒนานั้น โดยเฉพาะองค์ประกอบทุกส่วนของชุมชนจะต้องเกื้อกูลกัน ประสานสัมพันธ์ เพื่อให้ชุมชนนั้นพึ่งตนเองได้ ดังตัวอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ คือ องค์ประกอบสามอย่างของชุนชนในชนบท ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน แต่ละอย่างจะต้องพึ่งตนเองได้ และต่างก็อาศัยซึ่งกันและกัน ประกอบขึ้นเป็นชุมชนที่พึ่งตนเองได้และสามารถทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคมใหญ่ที่เป็นส่วนรวม

ข้อที่ ๕ ความสมดุลระหว่างสัจจธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม ข้อนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ

สัจจธรรม คือความจริง ความแท้ ความเป็นอย่างนั้นเอง ความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย หรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

จริยธรรม คือหลักการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งอิงอาศัยสอดคล้องกับสัจจธรรม และทำให้เราดำเนินเข้าถึงสัจจธรรม

บัญญัติธรรม คือกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผนที่สังคม กำหนดวางกันขึ้นโดยสมมติ เช่น กฎหมาย ขนบประเพณี เพื่อให้มีการอยู่ร่วมกันด้วยดี เป็นความเรียบร้อยดีงามของสังคมนั้น และเพื่อเป็นกรอบหรือเป็นเครื่องกำกับที่จะช่วยคุมให้คนดำรงอยู่ในจริยธรรม กล่าวคือ บัญญัติธรรมนั้นตามปกติจะกำหนดวางไว้เพื่อสนับสนุนการดำเนินตามจริยธรรม

วัฒนธรรมนั้นเนื่องอยู่ตลอดเวลากับธรรมสามประการนี้ สัจจธรรมเป็นรากฐาน เป็นสิ่งที่ให้ความหมาย และเป็นเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมและบัญญัติธรรม จึงเป็นแหล่งที่ให้ความหมายในขั้นสุดท้ายแก่วัฒนธรรมด้วย

วัฒนธรรมนั้นมีส่วนที่เป็นบัญญัติธรรมมาก และบัญญัติธรรมก็เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สังคมแต่ละสังคมมีเอกลักษณ์ที่เป็นส่วนเฉพาะของตนเอง และเป็นเอกลักษณ์โดยสอดคล้องประสานกับจริยธรรม เช่น บัญญัติธรรมจะทำให้สังคมแต่ละสังคม มีรูปแบบของตนเองในการปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง พูดอีกอย่างหนึ่งว่า บัญญัติธรรมส่วนใหญ่ ก็คือ รูปแบบและลักษณะภายนอกแห่งการปฏิบัติตามจริยธรรมของสังคมนั้นๆ นั่นเอง

ในการที่จะทำให้สังคมมีความสมดุลนั้น จะต้องให้สัจจธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรมทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องและประสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน บัญญัติธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมปรากฏตัวโดยมีลักษณะภายนอกและรูปแบบเป็นของตนเอง แต่ถ้าเราติดบัญญัติธรรมเกินไป วัฒนธรรมก็จะแข็งทื่อ กระด้าง ไม่มีการปรับปรุงตัว หยุดนิ่ง ไม่เจริญก้าวหน้า ไม่มีการพัฒนาวัฒนธรรม จึงต้องเอาความรู้ความเข้าใจในสัจจธรรมมาจัดสรรควบคุม เช่น การที่ต้องยอมรับอนิจจังซึ่งเป็นสัจจธรรมว่า สิ่งทั้งหลายต้องมีความเปลี่ยนแปลง ต้องรู้จักตัด รู้จักละ รู้จักปล่อย รู้จักสลัดทิ้ง และมีการปรับปรุงตัวเอง โดยยืนอยู่กับสัจจธรรม มุ่งเข้าหาสัจจธรรม และในเวลาเดียวกันก็ต้องรู้จักสาระของจริยธรรม เพื่อปรับบัญญัติธรรมเช่นกฎหมายเป็นต้น ให้ได้ผลจริงตามสาระและความมุ่งหมายของจริยธรรม ที่อิงอยู่กับและสอดคล้องกับสัจจธรรม นี้เป็นเรื่องของการประสานกลมกลืนระหว่างธรรมสามอย่าง

ทีนี้ สัจจธรรมนั้น โดยทั่วไปหรือตามปกติจะมีแหล่งที่มาที่สำคัญคือศาสนธรรม ซึ่งในกรณีของชาวพุทธในประเทศไทยนี้ก็คงจะหมายถึงพุทธธรรม ศาสนธรรมนั้น ส่วนหนึ่งเข้าอยู่ในวัฒนธรรมแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งอยู่ข้างนอก ศาสนธรรมที่เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมแล้ว ก็คือส่วนที่เราได้แปลความหมายเอามายึดเป็นความเชื่อถือ และเป็นข้อปฏิบัติในชีวิตร่วมกันของสังคมแล้ว คือ ได้ประยุกต์เข้าไปจนกลายเป็นองค์ประกอบที่รวมอยู่ในวัฒนธรรม หรือกลายเป็นส่วนประกอบในวิถีชีวิตของสังคมแล้ว แต่ศาสนธรรมอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ข้างนอกนั้นเป็นส่วนต่างหากซึ่งอยู่กับสถาบันอีกสถาบันหนึ่ง คือสถาบันศาสนา ในที่นี้ ขอพูดโดยรวบรัดว่า ศาสนธรรมยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นอิสระอยู่ต่างหากข้างนอกเพราะเหตุผลว่า

๑. ศาสนธรรมส่วนที่เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมนั้น เป็นส่วนที่ประชาชนในสังคมนั้นแปลความหมาย เข้าใจ เชื่อถือ และประพฤติปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับศาสนธรรมที่เป็นจริงก็ได้

๒. องค์ประกอบต่างๆ ในวัฒนธรรม เมื่อผ่านกาลเวลายาวนาน องค์ประกอบเหล่านั้นก็มีการคลาดเคลื่อน ไขว้เขว ผิดเพี้ยนไปตามปัจจัยต่างๆ

เพราะฉะนั้น ศาสนธรรมในวัฒนธรรม จึงอาจจะคลาดเคลื่อนไขว้เขวไป จึงต้องมีศาสนธรรมต้นแหล่งเป็นหลักอยู่ภายนอก เป็นตัวคงที่ เป็นหลักการเดิมซึ่งจะทำหน้าที่

ประการที่หนึ่ง เป็นหลักที่จะให้จุดมุ่งหมายและอุดมคติแก่วัฒนธรรม และเป็นตัวนำทางให้แก่วัฒนธรรม

ประการที่สอง ศาสนธรรมนั้นจะอำนวยสัจจธรรม ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่จะใช้ในการตรวจสอบ และคอยปรับวัฒนธรรมให้เข้าถึงอุดมคติ หรือให้เป็นไปในแนวทางของอุดมคติอยู่เสมอ

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความสมดุลประการต่างๆ ที่เราจะต้องสร้างให้มีขึ้น ในการพัฒนาโดยใช้วัฒนธรรมตามที่ได้ตกลงกันว่าจะเริ่มขึ้นต่อแต่นี้ไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การพัฒนาในกรณีของสังคมไทยความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับการพัฒนา >>

No Comments

Comments are closed.