๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน กับ ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนา

14 ธันวาคม 2531
เป็นตอนที่ 2 จาก 9 ตอนของ

๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน กับ ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนา

อีกประการหนึ่ง การฉลองนี้ก็มาสอดคล้องกับการที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า UNESCO ได้มีมติประกาศยกย่องพระยาอนุมานราชธน เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก แม้การจัดงานครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นการประกาศเกียรติคุณที่ UNESCO ได้ยอมรับนั้นด้วย

ผลงานของท่านพระยาอนุมานราชธนนั้น มีคุณค่าเป็นอย่างสูง ได้รับความยอมรับยกย่อง ทั้งในทางภาษาศาสตร์ วรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปโบราณคดี ศาสนา และมานุษยวิทยา เป็นต้น แต่ที่ท่านได้รับการประกาศยกย่องเป็นพิเศษจาก UNESCO นั้น ก็คือ ด้านวัฒนธรรม ซึ่งท่านมีความเชี่ยวชาญโดดเด่นเป็นพิเศษ ความจริง คำว่า “วัฒนธรรม” ก็มีความหมายกว้าง อาจจะครอบคลุมงานส่วนใหญ่ของท่าน แม้ในสาขาวิชาอื่นๆ ก็ได้ เพราะเหตุว่า คำว่า “วัฒนธรรม” นั้น หมายถึง ผลรวมแห่งการสั่งสมสิ่งสร้างสรรค์ และภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของสังคมนั้นๆ วิทยาการต่างๆ ทุกสาขาที่กล่าวมาแล้ว เมื่อกลมกลืนเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชนแล้ว ก็จัดเข้าในวัฒนธรรมได้ทั้งสิ้น

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า งานฉลอง ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธนนี้ ประจวบพอดีกับที่สหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ซึ่งเป็นองค์การเดียวกับที่ได้ประกาศยกย่องท่าน เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลกนั้น โดยได้ประกาศกำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นปีเริ่มต้นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรม ซึ่งทศวรรษนี้จะจบลงในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ การประกาศเช่นนี้ก็เป็นเครื่องแสดงถึงความที่โลกได้มองเห็นความสำคัญของวัฒนธรรม ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทเด่นชัดในการสร้างสันติสุขและ อิสรภาพของมวลมนุษย์

การที่ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมเริ่มต้นพอดี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นี้ ก็ทำให้ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน มีความหมายและมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกัน การที่ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธนมาบรรจบพอดีในปีนี้ ก็ทำให้ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนานั้น มีความหมายเป็นจริงเป็นจังยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างน้อยในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งนี้เพราะเหตุว่า พระยาอนุมานราชธนนั้นเป็นแหล่งใหญ่ที่ได้ช่วยเตรียมข้อมูลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยไว้ และทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนานั้น โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย ก็มาเอาข้อมูลความรู้ความเข้าใจที่ท่านได้รวบรวมโดยแสดงและเขียนไว้นั้น ไปใช้ปฏิบัติเพื่อสร้างสรรค์สันติสุขของสังคมต่อไป

เราจำเป็นจะต้องมีวัตถุดิบ หรือแหล่งของสิ่งที่จะใช้ แต่วัตถุดิบหรือแหล่งของสิ่งที่จะใช้นั้น จะเกิดคุณค่ามีชีวิตชีวา ก็ต่อเมื่อมีการนำไปใช้ เหมือนกับที่พระยาอนุมานราชธนได้เตรียมแหล่งข้อมูลวัฒนธรรมไว้ เสร็จแล้วทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาก็นำเอาข้อมูลที่ท่านรวบรวมนั้นไปใช้ให้เกิดคุณค่าต่อไป

ในทางกลับกัน การที่เราจะทำอะไรให้เกิดคุณค่าเป็นประโยชน์ได้ ก็จำต้องมีวัตถุดิบมีข้อมูลที่จะใช้ ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนา จะทำงานให้สำเร็จผล ก็จะได้อาศัยสิ่งที่พระยาอนุมานราชธนท่านได้เตรียมไว้ให้นี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วัฒนธรรม กับ การพัฒนาความผิดพลาดของการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา >>

No Comments

Comments are closed.