วันอาสาฬหบูชา

6 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 1 จาก 9 ตอนของ

วันอาสาฬหบูชา

วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ พ.ศ. ๒๕๒๕ นับทวนอดีตย้อนหลังกลับไป ๒๕๗๐ ปี เป็นวันที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงบำเพ็ญพุทธกิจครั้งยิ่งใหญ่ ที่พุทธศาสนิกชนถือกันว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้พระพุทธศาสนาเผยแพร่สืบทอดมาถึงทุกวันนี้ คือเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ประกาศคำสอนหรือหลักธรรมที่ได้ตรัสรู้เป็นครั้งแรก เรียกเป็นคำศัพท์ว่า ทรงแสดงปฐมเทศนา แก่กลุ่มนักบวช ๕ รูปที่เรียกว่า เบญจวัคคีย์ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณ ที่มีชื่อในปัจจุบันว่าประเทศอินเดีย

ความสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนี้ อุปมาเหมือนว่า นักปกครองยิ่งใหญ่ผู้เป็นจักรพรรดิหรือราชาธิราช มีพระบัญชาให้ลั่นยุทธเภรี คือ ตีกลองรบประกาศสงคราม ยังล้อรถศึกให้เริ่มหมุนนำทัพเดินหน้าแผ่ขยายราชอาณาจักรออกไป สำแดงกำลังอำนาจและความยิ่งใหญ่ให้ปรากฏ ฉันใด พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นธรรมราชาก็ทรงบันลือธรรมเภรี ยังล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้า เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ พระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงครั้งแรกนั้น จึงได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือ พระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักรกล่าวคือดินแดนแห่งธรรม

ชมพูทวีปสมัยโบราณ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้น กำลังตื่นตัวย่างเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเจริญก้าวหน้า มีความรุ่งเรืองเฟื่องฟูทั้งด้านความคิดและกิจการ ซึ่งแผ่ขยายตัวออกไปทุกๆ ด้าน บ้านเมืองกำลังเติบโต พลเมืองกำลังเพิ่มทวีคับคั่ง รัฐต่างๆ กำลังแผ่อำนาจขยายอาณาเขตช่วงชิงดินแดนของกันและกัน มีการคมนาคมติดต่อค้าขายระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ อย่างกว้างขวาง การศึกษาศิลปวิทยาการก็แพร่หลาย ผู้ที่ประกอบการพาณิชยกรรมและเสี่ยงโชคในการค้าขายประสบความสำเร็จ ก็มั่งคั่งร่ำรวย กลายเป็นเศรษฐีคฤหบดี เป็นผู้มีอำนาจและอิทธิพล เคียงคู่กับเจ้านายและชนในฝ่ายปกครอง

ชนผู้มั่งคั่งร่ำรวยด้วยอำนาจและทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักจะหันไปใช้ชีวิตในทางฟุ้งเฟ้อแสวงหาแต่ความสุขสำราญ มัวเมาในอำนาจและโภคสมบัติของตน พร้อมทั้งขวนขวายใส่ใจแต่จะแสวงหาอำนาจและเพิ่มพูนโภคสมบัติให้มากยิ่งขึ้นไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ยิ่งกว่านั้นยังพยายามผูกขาดจำกัดอำนาจและความมั่งคั่งไว้ในหมู่พวกตนด้วยหลักเกณฑ์และความเชื่อถือต่างๆ เช่นเรื่องวรรณะ ที่ให้แบ่งชั้นของคนออกไปโดยชาติกำเนิดเป็นต้น มนุษย์กำลังแยกห่างจากกัน ขาดเมตตากรุณาต่อกัน ทอดทิ้งหลงลืม ไม่เหลียวแล ขาดความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น แต่เพราะเป็นระยะที่กำลังเปลี่ยนแปลงในตอนต้นของยุคสมัย สังคมกำลังขยาย มองไปข้างหน้า คนกำลังสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความหวังใหม่ๆ ชนทั้งหลายจึงมักมองแต่โอกาสที่เกี่ยวข้องกับตน ไม่คิดล่วงเลยไปถึงการโค่นล้มหักล้างกันในระหว่างฐานะ

ส่วนอีกด้านหนึ่ง ในทางจิตใจ และความเชื่อถือ ชมพูทวีปได้ชื่อว่าเป็นดินแดนต้นกำเนิดแห่งศาสนาและลัทธิต่างๆ มาช้านานหลายพันปี ครั้นถึงยุคสมัยแห่งความเจริญเติบโตและความเปลี่ยนแปลงนี้ การคิดค้นแสวงหาหลักความเชื่อถือและคำตอบเพื่อสนองความต้องการทางปัญญาก็ยิ่งแพร่หลายมากขึ้น เกิดมีศาสดาเจ้าลัทธินักคิดนักปรัชญาต่างๆ อุบัติขึ้นมากมาย

นักบวชบางพวกคิดพัฒนาความเชื่อถือและข้อปฏิบัติในศาสนาของตนให้ทันต่อความเป็นไปในสังคมและให้เกิดผลประโยชน์แก่ตนมากยิ่งขึ้น เช่น คิดพัฒนาพิธีบูชายัญขยายให้วิจิตรพิสดาร เพื่อให้เจ้านายและเศรษฐีผู้กำลังแสวงอำนาจและโภคสมบัติได้ประกอบอย่างสมใจ และเพิ่มพูนลาภสักการะแก่ตนผู้ประกอบพิธีอย่างเต็มที่

คนอีกพวกหนึ่งผู้เบื่อหน่ายมองไม่เห็นสาระของชีวิตที่ว่ายเวียนหมกมุ่นอยู่ด้วยอำนาจและโภคสมบัติในโลกก็ออกบวช แสวงหาความรอดพ้นให้แก่ตน ด้วยหวังผลสำเร็จอันวิเศษที่อยู่เหนือกว่าโลกียสุขด้วยการประพฤติปฏิบัติสิ่งที่จะทำตนให้เหินห่างหรือไม่ข้องเกี่ยวตลอดถึงขั้นที่ตรงข้ามกับวิถีชีวิตในโลกนี้ เช่นบำเพ็ญตบะ ประพฤติวัตรทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ

ส่วนอีกบางพวกก็แสวงหาคำตอบที่เป็นทางรอดพ้นให้แก่ตนและผู้อื่นด้วยการคิดค้นทางปรัชญา ครุ่นคิดพิจารณาปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เหลือวิสัยและไม่อาจพิสูจน์ได้ โดยคิดด้วยตนเองบ้าง เร่ร่อนไปสอบถามถกเถียงปัญหากับนักคิดในถิ่นต่างๆ บ้าง เกิดมีทิฏฐิหรือทฤษฎีปรัชญาต่างๆ มากมาย เช่นว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด พระผู้เป็นเจ้ามีหรือไม่มี ดังนี้ เป็นต้น ต่างก็สูญเสียสละเวลา แรงกายและแรงความคิดกันไปในเรื่องเหล่านี้เป็นอันมาก

ที่กล่าวมานี้ คือสภาพสังคมและความคิดจิตใจของชมพูทวีปเมื่อใกล้จะถึงพุทธกาล เท่าที่พอจะสืบทราบจากหลักฐานทางตำรับตำรา พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาของพุทธศาสนา ได้เสด็จอุบัติขึ้นท่ามกลางสภาพเช่นนี้ ได้ทรงดำเนินพระชนมชีพตามแบบอย่างของสภาพเช่นนี้ และในที่สุดก็ได้ทรงละเลิกสภาพเช่นนี้เสีย หันไปทรงดำเนินพระชนมชีพตามแบบที่ได้ทรงคิดวางขึ้นใหม่ พร้อมทั้งทรงประกาศคำสอนชักนำประชาชนให้ละเลิกวิถีชีวิตที่ผิดพลาดเดิมนั้น และให้หันมาดำเนินตามมรรคาที่ได้ทรงประกาศขึ้นใหม่ กล่าวคือ

เบื้องแรก ในฐานะที่ประสูติเป็นโอรสกษัตริย์ พระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพในปฐมวัย ท่ามกลางความสุขสำราญ การบำรุงและปรนเปรอ พรั่งพร้อมด้วยอำนาจและโภคสมบัติ ครั้นแล้วก็ทรงเบื่อหน่าย ทรงมองเห็นว่าการดำเนินชีวิตเช่นนั้นขาดแก่นสาร ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างแท้จริงทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น มีแต่จะทำให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมา ทำคุณค่าของชีวิตให้ลดถอยจมต่ำลง ปล่อยกาลเวลาของชีวิตให้ล่วงเลย ผ่านพ้นไปอย่างว่างเปล่าปราศจากสาระ ยิ่งกว่านั้น ยังอาจเกิดโทษเกิดพิษแก่ชีวิตของตนเหมือนสั่งสมสิ่งหมักหมมทับถมดองเอาไว้ และเป็นการเบียดเบียนทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง

เมื่อทรงพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ก็ทรงคิดหาวิธีแก้ไข เริ่มด้วยการทดลองวิธีที่นิยมปฏิบัติกันในสมัยนั้นก่อน จึงได้ทรงละทิ้งราชสมบัติและอิสริยยศ เสด็จออกผนวชทรงเพศนักบวชจาริกไปศึกษาทัศนะของนักคิด นักปรัชญา ศาสดาจารย์ เจ้าลัทธิต่างๆ ที่มีชื่อเสียงแห่งยุคสมัย และทดลองบำเพ็ญข้อปฏิบัติทั้งหลายของสำนักต่างๆ ทั้งที่เรียกว่าโยคะวัตร ตลอดจนตบะคือการบำเพ็ญเพียรทรมานตนแบบต่างๆ รวมเป็นเวลานานถึง ๖ ปี จนแน่พระทัยแล้วว่า ไม่สามารถแก้ปัญหานำไปสู่ผลที่ทรงมุ่งหมาย จึงได้ทรงคิดค้นสืบต่อจากนั้นไป ได้ค้นพบมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เมื่อทรงปฏิบัติตามมรรคานี้ก็ได้ค้นพบสัจธรรมที่แก้ปัญหาของมนุษย์ นำคุณค่าที่แท้จริงมาให้แก่ชีวิตได้ อันเรียกว่า อริยสัจจ์ ๔ ประการ จึงทรงตระหนักชัดพระทัยว่า ได้บรรลุผลสำเร็จแห่งความเพียรพยายามในการแสวงหาของพระองค์แล้ว

ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๔๕ ปี เรียกว่าการตรัสรู้ หรือบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ต่อจากนั้น พระองค์ก็ทรงเริ่มงานประกาศพระศาสนา เปิดเผยสิ่งที่ได้ตรัสรู้ให้ผู้อื่นได้ร่วมรู้และร่วมได้รับประโยชน์ ขยายจากการแก้ปัญหาบุคคลไปสู่การแก้ปัญหาของปวงชน

ในการเริ่มต้นงานประกาศพระศาสนา พระพุทธเจ้าทรงดำริหาหนทางที่จะให้ได้ผลดีอย่างรวดเร็ว โดยประเดิมที่บุคคลผู้มีพื้นภูมิเดิมทางปัญญาดีที่จะรู้แจ้งคำสอนได้อย่างว่องไว และสามารถนำไปชี้แจงอธิบายให้คนอื่นเข้าใจต่อไปได้อีกอย่างกว้างขวาง ตำนานเล่าว่า ทรงพิจารณาเห็นดาบสผู้เปรื่องปราชญ์ ๒ ท่าน ที่พระองค์เคยทรงไปศึกษาหลักลัทธิอยู่ด้วยในระหว่างระยะ ๖ ปีแห่งการคิดค้นแสวงหา ว่าเป็นผู้มีความสามารถเหมาะสม แต่ได้ทรงทราบว่าดาบส ๒ ท่านนั้นสิ้นชีวิตเสียแล้ว จึงทรงระลึกถึงนักบวช ๕ ท่าน ที่เคยไปร่วมประพฤติพรตบำเพ็ญตบะและปรนนิบัติพระองค์ในระหว่างเวลา ๖ ปีนั้น ซึ่งมีชื่อเรียกรวมกันว่าเบญจวัคคีย์1 ผู้ได้หนีจากพระองค์ไปเมื่อทรงเลิกบำเพ็ญตบะ และเวลานั้นพำนักอยู่ ณ มฤคทายวัน แห่งตำบลอิสิปตนะ ใกล้เมืองพาราณสี จึงเสด็จจากสถานที่ตรัสรู้ คือตำบลอุรุเวลา ในแคว้นมคธ มุ่งไปพบนักบวช ๕ รูปนั้น และได้ทรงแสดงธรรมสำคัญครั้งแรกที่เรียกว่าเป็นปฐมเทศนา ประกาศธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะหรือเดือน ๘ หลังจากตรัสรู้ได้ ๒ เดือนเต็ม มัชฌิมาปฏิปทา และจตุราริยสัจจ์

(อริยสัจจ์ ๔) ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วข้างต้นนั่นแหละคือสาระสำคัญของปฐมเทศนานี้

เมื่อทราบความเป็นมาของเรื่องที่เป็นต้นกำเนิดของวันอาสาฬหบูชาเช่นนี้แล้ว ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของเรื่องอาสาฬหบูชาต่อไปอีก ตามคำอธิบายในหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป๑. ใจความของปฐมเทศนา >>

เชิงอรรถ

  1. เบญจวัคคีย์ หรือ ปัญจวัคคีย์ แปลกันว่า “พระพวก ๕” คือ พราหมณ์ ๕ ท่าน ที่ออกบวชตามเจ้าชายสิทธัตถะ และคอยดูแลอยู่ใกล้ชิดพระองค์ระหว่างทรงบำเพ็ญเพียร ได้แก่ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอรหันตสาวกรุ่นแรกของพระพุทธเจ้า

No Comments

Comments are closed.