— ก. ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา

6 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 3 จาก 9 ตอนของ

ก. ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา

ที่เรียกว่าทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา ก็เพราะเป็นทางดำเนินชีวิตหรือข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้อง พอเหมาะพอดีที่จะให้บรรลุผลสำเร็จถึงจุดหมาย มิใช่เป็นการปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ๒ อย่าง อย่างหนึ่งอย่างใด คือ

๑. การหมกมุ่นมัวเมาอยู่กับความสุขทางกาย ลุ่มหลงในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เพลิดเพลินในการปรนเปรอ ปล่อยใจให้โลดไปตามกระแสกิเลส สยบตัวลงเป็นทาสของโลกและเนื้อหนัง อุทิศชีวิตของตนให้แก่การแสวงหาเชื้อเพลิงมาเติมไฟกิเลส ทุ่มเทพลังงานเพื่อการติดตามกินเหยื่อล่อ เที่ยวไขว่คว้าเก็บเอาสิ่งต่างๆ มากมายมาพอกพูนห่อหุ้มตัวจนหนาหนักและกินที่ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจรวมเข้าเป็นเนื้อตัวแท้จริงของตนได้ และผูกมัดตัวติดกับสิ่งเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่นจนกลายเป็นก่อความทุกข์ให้แก่ตนเอง หมดความปลอดโปร่ง ไม่เป็นอิสระ เป็นภาระท่วมทับสลัดไม่ออก และยังให้โทษแก่ผู้อื่นด้วย โดยทำให้หลงลืมที่จะเหลียวแลกันเสียบ้าง ให้เก็บเอาสิ่งเกินความจำเป็นมาพอกพูนเต็มล้นเสียที่เดียวจนขาดแคลนแก่ที่อื่นบ้าง ให้แย่งชิงเบียดเบียนข่มเหงวิวาทกันเพราะต่างฝ่ายต่างก็จะเอาบ้าง รวมความว่าเป็นการหลงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข เรียกเป็นคำศัพท์ว่า กามสุขัลลิกานุโยค

๒. การสร้างความยากลำบากแก่ตน เหนื่อยแรงเสียเปล่า ด้วยการเชื่อถือประพฤติปฏิบัติตัว ดำเนินชีวิตในทางที่ไขว้เขวเฉไปเลี่ยงหลบ หรือข้ามเลยไปเสียจากชีวิตจริง ปฏิบัติไปอย่างมืดบอดตามที่สักแต่ว่ายึดมั่นถือมั่นเอาไว้ ดำเนินไปสู่จุดหมายที่เลื่อนลอย นำมาซึ่งผลที่ไม่ตรงกับจุดหมายและไม่บังเกิดคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต ทำให้หลงเตลิดหนักยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น

๒.๑ อย่างหยาบที่สุดที่มองเห็นง่ายเป็นรูปธรรม เช่น การบำเพ็ญตบะ ทรมาน บีบคั้นร่างกายด้วยประการต่างๆ มีอาการอดอาหาร ยืนกลางแดด นอนบนหนาม เป็นต้น ด้วยหวังจะให้กิเลสแห้งเหือดหาย และทำให้จิตหลุดพ้นจากพันธนาการของกาย อย่างที่ปฏิบัติกันแพร่หลายในประเทศอินเดียสมัยโบราณและยังมีอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยทรงทดลองปฏิบัติมาแล้วในระยะ ๖ ปี แห่งการคิดค้นแสวงหา เป็นลัทธิที่หลงเตลิดไป เพราะมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตอย่างผิดพลาด เป็นการเอียงสุดไปด้านหนึ่ง โดยเข้าใจผิดไปว่า เมื่อกายขาดการบำรุงแล้ว จิตก็ขาดเครื่องบำรุงสำหรับกิเลสไปด้วย จึงสามารถบริสุทธิ์หลุดพ้นอิสระ เป็นความเชื่อถือตรงข้ามกับคนบางพวกที่เห็นเอียงสุดไปอีกด้านหนึ่งว่า เมื่อกายได้รับการบำรุงดีแล้ว จิตพลอยได้รับการบำรุงด้วยก็จะดีไปเอง

สำหรับคนสองพวกนี้ สิ่งที่ดีสำหรับพวกหนึ่ง กลายเป็นชั่วร้ายสำหรับอีกพวกหนึ่ง สิ่งชั่วร้ายสำหรับพวกหนึ่ง กลายเป็นสิ่งดีที่ต้องการสำหรับอีกพวกหนึ่ง ต่างก็ไม่รู้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริงว่ากายกับจิตเป็นสิ่งสัมพันธ์กันก็จริง แต่ความดีงามและชั่วร้ายที่เกิดจากความสัมพันธ์นั้นก็เป็นสิ่งสัมพันธ์ต้องอาศัยปัจจัยอย่างอื่นประกอบด้วย

จิตใจและชีวิตจะก้าวไปในคุณความดีได้เบื้องต้นต้องอาศัยการที่มีปัจจัยสิ่งบำรุงกายส่วนหนึ่งก่อน แต่ปัจจัยที่บำรุงกายนั้นก็มีขอบเขตของความจำเป็นที่จัดได้ว่าเป็นความพอดีอยู่ในระดับหนึ่ง เมื่อถึงระดับนี้แล้ว วัตถุจะเป็นอุปกรณ์สำหรับชีวิตที่จะก้าวหน้างอกงามสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นคุณก็ได้ หรืออาจทำให้จิตใจตกเป็นทาสของวัตถุ พอกพูนความทุกข์ความชั่วร้ายก็ได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยการชักนำของปัจจัยอย่างอื่นด้วย ทั้งที่เป็นสิ่งแวดล้อมและที่อยู่ภายใน

พวกที่มองความสำคัญเฉพาะแต่ความเพียบพร้อมทางวัตถุเป็นเกณฑ์ตัดสิน ย่อมกลายเป็นพวกเอกันตวาทในฝ่ายวัตถุนิยมทางเศรษฐกิจ พวกที่มองแต่ความสำคัญของจิตโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่อุดหนุนกาย ย่อมกลายเป็นพวกเอกันตวาทในฝ่ายจิตนิยม ต่างก็เป็นพวกที่มองโลกและชีวิตสุดทางไปคนละซีก

๒.๒ ในทางนามธรรมซึ่งเป็นขั้นละเอียดลึกซึ้ง คือการขบคิดถกเถียงปัญหาทางอภิปรัชญา พยายามเข้าถึงสิ่งที่เหตุผลหยั่งไม่ถึงด้วยการถกเถียงหาเหตุผล พยายามหาคำตอบให้แก่ปัญหาที่ตนตั้งขึ้นจากความไม่รู้หรือเข้าใจผิด พยายามอธิบายสิ่งที่มองไม่เห็นให้เห็นด้วยคำพูด ใช้เวลาให้สิ้นเปลืองไปด้วยการคาดคะเนและตีวาทะเกี่ยวกับปัญหาที่พิสูจน์ไม่ได้และไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นคุณประโยชน์อะไรแก่ชีวิต ทำให้หลงใหลเพลิดเพลินอยู่กับความคิดที่เลื่อนลอยห่างไกลชีวิตจริง ทำให้ทุกข์ยากลำบากจิต เหนื่อยสมองเหนื่อยความคิดเปล่าๆ ได้แก่ทฤษฎีที่เรียกว่าอันตคาหิกทิฏฐิ หรือปัญหาที่เรียกว่าอัพยากตปัญหา เช่น ปัญหาเกี่ยวกับมูลการณ์ (ต้นกำเนิด) และปริโยสาน (ที่สิ้นสุด) ของโลกเป็นต้น

๒.๓ อย่างตื้นลงที่เป็นเรื่องใกล้เข้ามาในทางปฏิบัติ คือการคอยพึ่งอาศัยอำนาจของสิ่งลึกลับศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นและอยู่พ้นวิสัย โดยหวังการอ้อนวอนหรือความขลังมาช่วยบันดาลให้ได้สำเร็จผลที่ปรารถนา ถ้าเป็นไปอย่างรุนแรง ย่อมทำให้มอบตัวมอบความไว้วางใจแก่สิ่งนั้นโดยสิ้นเชิง ไม่คิดและไม่ลงมือทำการแก้ปัญหาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเอง จัดว่าเป็นความงมงาย ตัวอย่างในสมัยพุทธกาล เช่นลัทธิบูชาไฟ เป็นต้น อย่างเพลาลงมา ในฐานะที่เป็นปุถุชนผู้อยู่ใต้อำนาจอวิชชา ซึ่งยังระแวงระวังต่อสิ่งที่มองไม่เห็นและยังไม่เข้มแข็งพอ ก็เพียงแค่อาศัยสิ่งลึกลับไว้เสริมกำลังใจ ในการกระทำกิจซึ่งตนลงมือกระทำอยู่แล้ว แต่จะในกรณีใดก็ตาม ก็ยังเป็นการกระทำที่ไม่ดำเนินไปด้วยความรู้ความเข้าใจ ยังเป็นการแก้ปัญหา อย่างมองไม่เห็นว่าการแก้ดำเนินไปอย่างไร และตนเองเข้าไปจัดการอะไรไม่ได้ จึงจัดเข้าในพวกสร้างความลำบากเสียแรงเปล่า

การดำเนินชีวิตหรือประพฤติในแบบที่ก่อความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนแก่ตนเหนื่อยแรง เหนื่อยสมอง เหนื่อยความคิดเหล่านี้ มีชื่อเรียกเป็นคำศัพท์ว่า อัตตกิลมถานุโยค

ข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนาละเว้นห่างจากความประพฤติปฏิบัติที่เอียงสุดเหล่านี้ จึงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ หรือทางสายกลาง ผู้ที่งอกงามในพระพุทธศาสนาก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งละเว้นข้อปฏิบัติที่เอียงสุดได้มากขึ้นเท่านั้นโดยลำดับ ถ้าถึงขั้นเป็นบรรพชิตคือบวชในพระธรรมวินัยแล้ว ก็ถือว่าไม่ควรข้องแวะทีเดียว ควรดำเนินแน่วแน่มั่นคงในมัชฌิมาปฏิปทา และมัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นทางแห่งปัญญา ยิ่งเข้าถึงมัชฌิมาปฏิปทามากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยการใช้ปัญญา และแก้ปัญหาด้วยปฏิบัติการที่อยู่ในวิสัยของตนมากขึ้นเท่านั้น

มัชฌิมาปฏิปทาเป็นทางดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มีปัญญาเป็นฐานเป็นมรรคาที่นำไปสู่จุดหมายได้ และก่อให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตอย่างแท้จริง โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ ทำให้ผู้ดำเนินตามเป็นอริยะหรืออารยะอย่างแท้จริง จึงเรียกเป็นคำศัพท์ว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต

๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต

๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือประกอบสัมมาชีพ หรืออาชีพที่สุจริต

๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตได้แน่วแน่มั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน

องค์ประกอบ ๘ ประการของมรรคนี้ แต่ละข้อมีรายละเอียดพิสดาร เพราะเป็นประมวลข้อปฏิบัติหรือหลักจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ในที่นี้มิใช่โอกาสที่จะพรรณาความพิสดารในเรื่องนี้ จึงกล่าวถึงแต่เพียงความหมายสั้นๆ ไว้ก่อน ขอย้ำเพียงว่ามรรคานี้ เริ่มต้นด้วยปัญญา และมีปัญญาเป็นรากฐาน องค์ประกอบข้อแรกจึงเป็นเรื่องของปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ

“สัมมาทิฏฐิ” นี้อย่างง่ายๆ หมายถึงความเห็นที่ถูกต้องตามคลองธรรม เช่น เชื่อหลักกรรม เห็นว่าทำดีเกิดผลดี ทำชั่วเกิดผลชั่ว เป็นต้น แต่ในความหมายที่ตรงหลักวิชายิ่งขึ้น ท่านอธิบายว่ารู้ทุกข์ รู้สมุทัย รู้นิโรธ รู้มรรค หรือมองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามความสัมพันธ์สืบทอดของเหตุปัจจัยที่เรียกว่า ปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เมื่อประสบสิ่งติดขัดเป็นปัญหา พึงกำหนดรู้ตามความเป็นจริงให้เห็นชัดก่อนว่า อะไรเป็นตัวปัญหา ปัญหานั้นมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร (ทุกข์) แล้วศึกษาให้รู้ต่อไปว่า ปัญหานั้นเกิดจากมูลเหตุอะไร มีอะไรเป็นสมุฏฐาน (สมุทัย) แก้ไขได้หรือไม่ ที่จุดใด จุดหมายคืออะไร (นิโรธ) มีวิธีการแก้ไขให้บรรลุถึงจุดหมายได้อย่างไร ตามรายละเอียดลำดับขั้นตอนอย่างไร (มรรค)

พูดอีกนัยหนึ่งว่า วิเคราะห์ปัญหาตามกระบวนการของเหตุปัจจัยว่า ปัญหานั้นมีองค์ประกอบอะไร องค์ประกอบเหล่านั้นสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นเหตุปัจจัยแก่กันอย่างไรจึงก่อให้เกิดปัญหาขึ้น เมื่อจะแก้ไขหรือดับปัญหาจะต้องแก้ที่องค์ประกอบหรือจุดไหนให้ต่อเนื่องกันไปอย่างไร (ปฏิจจสมุปบาท)

การประพฤติปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตตามหลักองค์มรรค ๘ ประการ โดยเริ่มด้วยมีความรู้ความเข้าใจเป็นพื้นฐานอย่างนี้ ย่อมเป็นการแก้ปัญหาหรือการทำให้ไม่มีปัญหาอยู่ในตัว เป็นการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือดำเนินชีวิตอย่างไม่มีทุกข์ โดยตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา

ถ้าสังเกต จะเห็นได้ว่า มรรคาสายกลางนี้เป็นเรื่องของการกระทำในชีวิตจริงและอยู่ในวิสัยของมนุษย์ทั้งสิ้น กล่าวคือ องค์มรรคทั้ง ๘ ข้อ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับคนทุกคน และทุกคนปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอ้อนวอน คอยการบันดาล หรือรอใครมาช่วยทำให้ เป็นข้อปฏิบัติที่ทำได้ภายในขอบเขตของชีวิตนี้ วางไว้สำหรับชีวิต เป็นเรื่องของชีวิตโดยตรง เป็นระบบการดำเนินชีวิตที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะมองเห็นความสำคัญทั้งของวัตถุและของจิตใจ ครอบคลุมทั้งด้านกายและด้านจิต เป็นระบบจริยธรรมและระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ เพราะสอนให้ฝึกฝนอบรมระเบียบวินัยทางกาย วาจา และอาชีพ (ศีล) ให้ฝึกฝนระเบียบวินัยทางจิตใจ สร้างความเจริญงอกงามและความเข้มแข็งมั่นคงทางด้านคุณธรรม (สมาธิ) และให้ฝึกฝนอบรมปัญญา สร้างความรู้ความเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง เพื่อมีชีวิตอยู่อย่างผู้ที่รู้เท่าทันโลกและชีวิต รู้จักร่วมมือกับธรรมชาติ เพื่อดำรงอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน ประสานประโยชน์และรักษาอิสรภาพของทั้งสองฝ่าย (ปัญญา)

ทางสายกลางนี้เป็นระบบที่มีขอบเขตจำกัด แต่ยืดหยุ่นอย่างกว้างขวางมาก คืออยู่ในวงจำกัดของความดีงามและแนวทางของ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ผู้ที่ประพฤติดำเนินชีวิตอยู่ในระบบ สามารถดำรงอยู่ ณ ตำแหน่งต่างๆ ที่ห่างกันได้หลายขั้นหลายระดับ แล้วแต่ความพร้อมของตน เช่น ถ้าจะอยู่ครองเรือนก็ได้ แต่พึงประพฤติธรรมให้ถูกหน้าที่ที่จะเป็นคนครองเรือนที่ดี ถ้าเบื่อหน่ายชีวิตเหย้าเรือนหรือต้องการแสวงสุขทางจิตอย่างสูง ก็สามารถออกบวชครองเพศบรรพชิต ถ้าเบื่อหน่ายอีก ก็สามารถสละเพศออกมาเป็นชาวบ้านได้ ถ้ามีคุณสมบัติมีความสามารถ และพอใจจะเป็นนักปกครอง ก็ดำรงตำแหน่งหน้าที่ปกครองได้ แต่ต้องบริหารอำนาจและโภคทรัพย์ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มิใช่บริหารประชาชนให้เป็นไปเพื่ออำนาจและโภคทรัพย์ของตน ดังนี้เป็นต้น

ระบบแห่งมรรคประกอบด้วยสภาพการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันมากหลาย แต่ทั้งหมดรวมอยู่กลมกลืนเข้าได้ในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นับเป็นระบบที่มีความเสมอภาค เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมที่จะอยู่ ณ ที่ต่างๆ กัน เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่กัน โดยสวมหน้าที่ที่เหมาะสมกับฐานะนั้น เป็นระบบที่ให้เสรีภาพอย่างสูง เพราะเปิดโอกาสให้แก่การเลือกโดยสมัครใจ แต่มิใช่เลยขอบเขตจนกลายเป็นตามอำเภอใจ เพราะเมื่อสมัครใจเลือกเอาอย่างใดแล้วก็มีความผูกพันที่จะทำให้ถูกให้ชอบต่อภาวะอย่างนั้นด้วย เป็นระบบที่ไม่มีการบีบบังคับ แต่ก็มิใช่ปล่อยเรื่อยเปื่อยไปตามใจชอบ เพราะเป็นระบบแห่งการฝึกฝน จึงแนะนำกระตุ้นเตือนเร่งเร้าให้ฝึกอบรมแก้ไขปรับปรุงตนให้ก้าวหน้าขึ้นสู่ความดีงามที่ยิ่งๆ ขึ้นไปอยู่เสมอ จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายสูงสุดของมรรคา ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทานั้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. ใจความของปฐมเทศนา— ข. อริยสัจจ์ ๔ >>

No Comments

Comments are closed.