๕. ประเพณีวันอาสาฬหบูชา

6 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 8 จาก 9 ตอนของ

๕. ประเพณีวันอาสาฬหบูชา

ประเพณีจัดงานวันอาสาฬหบูชา คือ มีพิธีกรรมบูชาพระรัตนตรัย ทำบุญเฉลิมฉลองวันอาสาฬหบูชานี้ มีอายุยังไม่นาน พึ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ กล่าวคือ หลังจากงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้ว คณะสงฆ์ได้พิจารณาเห็นว่า การแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา ทำให้มีการเผยแผ่พระธรรมสืบอายุพระพุทธศาสนามาจนบัดนี้ ควรจัดวันแสดงปฐมเทศนานั้น เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนาด้วย เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นที่มีอยู่แล้ว คือวันวิสาขบูชา (มีมานานอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัย) และวันมาฆบูชา (มีขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔) จึงได้ออกประกาศให้วัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรจัดงานวันอาสาฬหบูชา และเชิญชวนพุทธศาสนิกชนไปร่วมประกอบพิธีบูชา ครั้งนั้นทางราชการก็ได้สนับสนุนมติของคณะสงฆ์ โดยประกาศให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางราชการ และเป็นวันหยุดราชการวันหนึ่งสืบมาจนบัดนี้1

พิธีกรรมที่กระทำในวันอาสาฬหบูชา โดยทั่วไปก็อนุวัตรตามที่กระทำในวันบูชาอื่นๆ เช่น ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์

เมื่อวันอาสาฬหบูชาเวียนมาถึง พุทธศาสนิกชนนอกจากทำบุญและประกอบพิธีต่างๆ ตามประเพณีแล้ว ควรได้รับประโยชน์ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชาด้วย กล่าวคือควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตของเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด เราก้าวหน้าไปในมรรคาแห่งวิถีชีวิตของชาวพุทธอยู่ในระดับใดแห่งมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าสำรวจตนแล้วเห็นว่า ได้งอกงามก้าวหน้าขึ้นบ้างอย่างน้อยผิดแปลกไปจากเมื่อร่วมพิธีในปีก่อน ข้อนั้นก็จะเป็นนิมิตแห่งชีวิตที่ดีงามของตน และเป็นเครื่องประกาศว่า อาณาจักรธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสถาปนาไว้ ได้แผ่ขยายออกไปสมความมุ่งหมายแห่งปฐมเทศนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๔. ความสำคัญของอาสาฬหบูชาวันเข้าพรรษา >>

เชิงอรรถ

  1. ตามประกาศคณะสงฆ์ เรื่องกำหนดวันสำคัญทางศาสนา ณ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ (โดยมติคณะสังฆมนตรี ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของพระธรรมโกศาจารย์ สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา) และประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๐๑ ณ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๑ อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีให้ถือวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางราชการ และให้ชักธงชาติในวันดังกล่าว

No Comments

Comments are closed.