อุภโตภัฏฐะ! ระวังจะชวดทั้งสอง

10 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 18 จาก 20 ตอนของ

อุภโตภัฏฐะ! ระวังจะชวดทั้งสอง

ตอนนี้ขอแทรกอะไรสักหน่อย ในทางการศึกษาปัจจุบัน เราพูดกันบ่อยว่า วิธีเรียนของไทยเราที่ผ่านมา มักเน้นการท่องจำ ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่ผิด จะต้องหัดให้เด็กคิด คือต้องหัดให้รู้จักคิด ให้คิดเป็น ที่ว่าอย่างนี้ก็เป็นความจริง ซึ่งเราจะต้องปรับปรุงการศึกษาของเรา ในทางพระพุทธศาสนาก็ถือว่า การรู้จักคิด หรือคิดเป็นนี้ เป็นหลักการที่สำคัญอย่างยิ่ง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะเตือนสติให้ระวังกันไว้บ้าง คืออย่าให้กลายเป็นเพียงการแล่นจากสุดปลายข้างหนึ่งไปสู่ปลายสุดอีกข้างหนึ่ง แล้วก็อยู่แค่สุดขั้ว ดังที่มักเป็นกันอยู่เรื่อยๆ และเรื่อยมา เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า สมัยหนึ่งก็เอาแต่ให้จำให้จำจนไม่ต้องคิด อีกสมัยหนึ่งจำไม่ดีไม่ถูกแล้ว ก็ให้หัดคิดๆ คิดให้เป็นๆ จนไม่ต้องจำ ดูถูกการจำเอาเสียเลย อันที่จริงการจำมันก็มีแง่ดี เป็นประโยชน์อยู่ แต่ที่เรารังเกียจก็คือ จำอย่างนกแก้วนกขุนทอง ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักคิด เมื่อเรารู้ว่าจุดบกพร่องอยู่ที่ไม่รู้จักคิดแล้ว ก็เสริมแก้ส่วนที่พร่องนั้นเสีย โดยหัดให้รู้จักคิดขึ้นมาด้วย ส่วนที่จำเป็นนกแก้วเฉยๆ ก็ไม่เอา แต่แง่ดีของการจำที่เรามีอยู่แล้วก็ควรรักษาไว้ เพราะคนที่จำเก่งด้วย คิดเป็นด้วย ย่อมมีข้อมูลในการคิดได้มาก จำกับคิดก็จะเสริมกันให้ได้ผลดียิ่งขึ้น พุทธศาสนาไม่ได้ยกย่องเฉพาะโยนิโสมนสิการเท่านั้น แม้ว่าโยนิโสมนสิการจะเป็นตัวแกนตัดสินในการที่จะบรรลุโพธิญาณ แต่พระอานนท์ที่เป็นนักจำ (จำอย่างคนมีความคิด) ก็ได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะด้วย ฝรั่งแม้จะคิดเก่ง แต่มักอ่อนในด้านการจำ ถ้าไทยเราที่ผ่านมาจำเก่ง แต่อ่อนด้านคิด ก็ควรเสริมด้านรู้จักคิดให้แข็งกล้าขึ้นมา แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปเลิกทิ้งความสามารถในการจำ อันไหนดีที่มีอยู่ก็เอาไว้ ดีที่ยังขาดไป ก็เติมเข้ามา อันไหนดี ฉันเอาทั้งนั้น ไม่ใช่พอเห็นของเขาดี ก็จะทิ้งของตัวหมด ดีไม่ดีก็จะอดทั้งสองอัน เก่าก็ทิ้งไป ใหม่ก็ไม่สำเร็จ ถ้าบริหารการศึกษาไม่รอบคอบ ทำไปทำมา จะกลายเป็นว่า เด็กนักเรียนไทยคิดไม่เป็นจำก็ไม่ได้ เสียทั้งหมด (ทางพระเรียกว่า “อุภโตภัฏฐะ” ชวดทั้งสอง) (ถ้าการศึกษาเท่าที่ผ่านมาไม่ได้ฝึกคนให้คิด ก็กลายเป็นว่า เรากำลังเอาคนที่คิดไม่เป็น ไปหัดเด็กให้คิด !)

ตลอดช่วงปลาย พ.ศ. ๒๕๒๐ และช่วงต้น พ.ศ. ๒๕๒๑ ในอเมริกามีเสียงร้องกันเพรียกว่า การศึกษาระดับประถมและมัธยมของอเมริกาเสื่อมโทรม ไม่ได้ผล บ้างว่าการศึกษาของชาติล้มเหลวมาตลอด ๒๐ ปี บ้างว่าผลการศึกษาเสื่อมทั้งด้านวินัยและความสามารถทางสมอง บ้างว่าเด็กเรียนจบแล้วอ่านหนังสือไม่ออก บ้างร่ำร้องให้ ”Back to Basics” หรือ “Return to Basics” ให้กลับเน้น the three R’s บ้างให้กวดขันระเบียบวินัย ว่าเด็กจบมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ร้อยละ ๑๓ อ่านฉลากยาไม่ออก อ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ไม่ได้ เด็กชื่อ Edward Donahue จบการศึกษาเกรด ๑๒ ในนิวยอร์ค (เท่ากับ ม.๖ ไทยปัจจุบัน) อ่านหนังสือได้เพียงแค่เกรด ๔ (ประถม ๔) เขาจึงฟ้องศาลเรียกร้องค่าเสียหายจากส่วนราชการที่บริหารการศึกษา เป็นเงิน ๕ ล้านดอลล่าร์ โทษฐานให้เขาจบการเล่าเรียน โดยให้เขายังอ่านหนังสือไม่ได้ เสียงติเตียนและล้อเลียนระบบการศึกษาอื้อฉาวเกรียวกราวพอสมควร หันมาดูประเทศไทย ถึงแม้ถ้านักเรียนเรียนจบแล้ว แต่ไม่ได้ผลการศึกษาเท่าที่ควร คดีอย่างที่นิวยอร์คก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะวัฒนธรรมไทยไม่มีธรรมเนียมอเมริกันแบบนี้ โอกาสที่สังคมจะรู้และสนใจเรื่องเช่นนี้จึงคงมีน้อย ข้อนี้ก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติให้มีความไม่ประมาท ดำเนินการศึกษาด้วยความระมัดระวัง และตรวจสอบประเมินผลอย่างรอบคอบตลอดเวลา โดยเฉพาะ ในเมื่อการศึกษาของไทยมักได้แบบมาจากอเมริกา แต่ธรรมเนียม “ซู”1 ของอเมริกายังไม่ตามมาในหมู่บ้านไทย (มีเรื่องขำๆ ว่าคนอเมริกันนั้น ฟ้าผ่าบ้านยังฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากพระผู้เป็นเจ้า ก็เคยมี)

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ฝรั่งมักจะแล่นดิ่งไปทางที่สุด เช่น สมัยหนึ่งเขามัวเมาวัตถุ มุ่งมั่นเอาความพรั่งพร้อมทางวัตถุเป็นจุดหมายของชีวิต แล้วก็บากบั่นพากเพียรทุ่มเททำทุกอย่างสุดกำลังทั้งชีวิต เพื่อจะสร้างสรรค์ความสำเร็จพรั่งพร้อมนั้น ต่อมาเกิดความผิดหวัง เห็นความพรั่งพร้อมทางวัตถุไม่ให้ความสุขแท้จริง ไม่ทำให้ชีวิตมีความหมาย ฝรั่งหนุ่มสาวที่มองเห็นอย่างนี้ ก็ปฏิเสธวัตถุทั้งหมด ปฏิเสธสังคม ปฏิเสธระบบการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมสร้างสรรค์วัตถุนั้นทั้งหมด ละทิ้งทุกอย่าง ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ทิ้งเมือง หนีสังคม เสื้อผ้าก็แทบไม่นุ่ง ความประพฤติเอียงสุดอย่างนี้ นับว่าเป็นการไม่มองโลก ไม่มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง อย่างหนึ่ง ความจริงไม่เฉพาะแต่ฝรั่งเท่านั้น สังคมทั่วทุกแห่งก็มีความโน้มในการดิ่งไปหาที่สุดด้วยกันทั้งนั้น

ในสังคมไทย คนรุ่นใหม่สมัยนี้ มักว่าคนรุ่นเก่าชาวบ้านงมงาย ความคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์คือ คิดเป็นเหตุเป็นผล คิดตรงไปตรงมาตามสภาพที่เป็นจริง มีคนรุ่นใหม่ไม่น้อยภูมิใจในการที่ตนเป็นคนมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ชอบอ้างอิงตักเตือนให้คนอื่นคิดให้เป็นวิทยาศาสตร์ และชอบว่าพวกโน้นพวกนั้นคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นผู้มีความหวังดีต่อสังคม อยากจะช่วยแก้ปัญหาสังคม อยากปลดปล่อยผู้เสียเปรียบ เปลื้องภาวะผู้ยากไร้ การณ์มักปรากฏว่า ถ้าคนรุ่นใหม่เหล่านี้เอากับใคร คนนั้นเป็นดีทั้งหมด ไม่มีอะไรเสียเลย ถ้าเขาไม่เอากับใคร คนนั้นพวกนั้นเป็นเสียหมด ไม่มีอะไรดีเลย เช่น ถ้าเขาเอากับชาวนาแล้ว ชาวนาเป็นดีทุกอย่าง ไม่มีเสียเลย ชาวนาถูกทุกอย่าง ไม่มีผิดเลย ชาวนางดงามถ้วนทุกอย่าง ไม่มีบกพร่องเลย นี้กลายเป็นตัวอย่างอย่างหนึ่งของปัญหาสังคมไทย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ จะไม่มีความหวังจากคนรุ่นใหม่ที่จะแก้ปัญหาสังคมได้ พูดง่ายๆ ว่าเขาจะช่วยชาวนาไม่สำเร็จนั่นเอง แม้ว่าเขาจะมีความหวังดีต่อสังคมอย่างจริงใจ แต่ความคิดของเขาไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เข้าลักษณะเป็นความงมงายอย่างหนึ่งอยู่นั่นเอง เพราะไม่มองเป็นเหตุเป็นผล ไม่มองตรงไปตรงมาตามสภาพที่เป็นจริง (อาจจะไม่รู้จักชาวนาด้วยซ้ำ) ถ้าจับตามหลักพระพุทธศาสนาก็ว่า ต้องมองสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ดูทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ทั้งคุณและโทษ ทั้งข้อบริบูรณ์และจุดบกพร่องตามที่เป็นจริง แล้วจึงจะเห็นทางออกหรือทางแก้ไขที่ถูกต้อง (เช่นแม้จะเพ่งแก้ปัญหาที่คนหรือกลุ่มที่ครอบงำชาวนา แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะแก้ปัญหาที่ตัวชาวนาเองด้วย) ความคิดนั้นจึงจะเป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นวิทยาศาสตร์จริงจัง ไม่ใช่เป็นเพียงความหลงหรือความงมงายในวิทยาศาสตร์

จุดที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ที่บอกว่าปัญญาชนรุ่นใหม่ของเราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักสังคมของตัวเอง เมื่อหลายปีก่อนนี้มีนักศึกษาออกค่ายไปช่วยชาวชนบทเป็นอันมาก กลุ่มหนึ่งได้มาหาอาตมภาพหลังจากที่กลับมาจากต่างจังหวัดแล้วมาถึงแกก็รุมกันใหญ่ บอกว่าแกไปทำงานออกค่ายนั้นไปอยู่ข้างวัด วัดนั้นพระที่นั่นไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้านเลย ไม่ช่วยต่อต้านผู้กดขี่เอาเปรียบ อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่มีประโยชน์ อาตมภาพฟังดูแล้วก็เห็นใจ เพราะว่านักศึกษาเหล่านี้ เราไม่ได้ให้เขาได้รับการศึกษาชนิดที่จะให้เข้าใจสังคมของเรา นักศึกษาเหล่านั้นไม่รู้จักว่า พระเหล่านั้นเป็นใคร เป็นอย่างไร มาจากไหน ความจริงพระเหล่านั้นก็คือลูกชาวบ้านดีๆ นี่แหละ ได้รับการศึกษาไม่เกินประถมสี่ เราต้องถือว่าท่านอยู่ในกลุ่มของชาวบ้าน เราเป็นผู้มีการศึกษาดี ที่ว่าออกไปช่วยกันนั้นก็ว่าไปช่วยชาวบ้าน ช่วยท้องถิ่น ก็คือต้องช่วยทั้งพระและชาวบ้านในถิ่นนั้นแหละ อะไรอย่างนี้เขาไม่เข้าใจ ไม่ต้องมองไปถึงพระในชนบทหรอก แม้แต่ในเมืองนี้ ถามก็ไม่รู้ว่าพระที่อยู่ในวัดท่ามกลางสังคมกรุงเทพฯ ของตัวเอง เป็นใครมาอย่างไร เรียกร้องว่า ทำไมพระไม่ออกมาทำบทบาทนั้นบทบาทนี้ เราเคยมองสภาพที่เป็นจริงไหมว่า พระที่อยู่ในวัดเหล่านั้นคือใคร เป็นอย่างไร อาจจะใช้คำพูดให้สั้นสำหรับกระตุกความคิดว่า ตราบใดที่นักศึกษาเหล่านั้นยังไม่รู้ว่าการที่ตนได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ สัมพันธ์อย่างไรกับการที่พระเณรเหล่านั้นไม่ได้รับการศึกษา ถ้าหากนักศึกษาสมัยนี้ไม่เข้าใจข้อความที่กล่าวมานี้ เขาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมไทย อาตมภาพพูดอย่างนี้อาจจะเป็นการพูดเข้าข้างตัวเองสักหน่อย แต่ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งสำหรับชี้บ่งถึงการที่ปัญญาชนของเราไม่เข้าใจสังคมไทย และเป็นจุดสำคัญที่บอกว่าเราจะแก้ปัญหาของสังคมไทยได้หรือไม่ได้ ที่พูดนี้ มิใช่ว่าจะไม่เห็นคุณค่าของการกระทำด้วยความตั้งใจดี แต่ต้องติงกันไว้บ้างว่า ถ้าคนรุ่นหนึ่งเดินทางผิดไปแล้วคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปเดินทางอื่น ทางอื่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องถูก อาจเป็นเพียงการเดินทางผิดอีกทางหนึ่งเท่านั้นก็ได้ ถ้าเราหมดหวังกับคนรุ่นก่อนแล้ว ก็ไม่ควรต้องผิดหวังกับคนรุ่นใหม่นี้อีก นักศึกษาสมัยนี้อาจจะรู้ดีในเรื่องปรัชญาตะวันตก อาจจะอ้างชื่อ มาร์กซ์ เองเกลส์ เดคาร์ตซ์ รัสเซลล์ เฮเกล ฮอบส์ อะไรต่างๆ ได้คล่อง บางทีรู้สึกโก้หรือภูมิใจที่ได้อ้างด้วย แต่ไม่รู้จักว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร

ความรู้ของมาร์กซ์ เดคาร์ตซ์ เฮเกล เป็นต้นนั้น เราไม่ได้ลบหลู่ว่าอะไร เขาก็มีดีของเขา เขาเก่งกล้าสามารถ แต่การที่รู้จักวิธีปลูกข้าวสาลีนั้นมันไม่พอที่จะมาทำนาข้าวเจ้าให้ได้ผลดี พื้นฐานอารยธรรมวัฒนธรรมสายของเราอย่างหนึ่ง เราต้องเรียนรู้ ถ้าเรามีฐานของเราดีสิ เราจะเอาความคิดเหล่านั้นมาใช้เป็นประโยชน์ได้ ตราบใดที่ฐานของตนไม่ดีแล้ว ความคิดเหล่านั้นอาจจะใช้ประโยชน์ไม่ได้ อาจจะทำให้เกิดพิษเกิดโทษขึ้น ดีไม่ดีอาจจะเจอสภาพแก้ปัญหาแล้วกลายเป็นอย่างลาว เขมร เวียดนามไปก็ได้ ฉะนั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณากันให้มาก

แม้แต่ฝรั่งเอง ก็อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ เขาก็ไม่ใช่มองเห็นเราดีหรือเห็นดีกับไทยด้วยในการที่ไปตามเขา อันที่จริงว่าไปในแง่หนึ่งเขาถึงกับดูถูกเรดาด้วยซ้ำ คนที่รู้จักในระดับที่คุ้นเคยกับฝรั่งย่อมรู้กันพอสมควร โดยส่วนลึกและโดยส่วนใหญ่แล้ว ฝรั่งมักมีความรู้สึกดูถูกตะวันออกอยู่ในใจไม่น้อยทีเดียว ขอให้ดูตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่งของนาย อาร์เธอร์ เกสท์เลอร์ ชื่อ The Lotus and the Robot อาตมภาพเคยอ้างมาแล้ว แปลว่าดอกบัวกับหุ่นยนต์ ดอกบัวหมายถึงสังคมตะวันออก หุ่นยนต์หมายถึงสังคมตะวันตก เขาเปรียบเทียบสังคมทั้งสองนี้ โดยสาระสำคัญก็คือว่าคนตะวันออกนี้ไม่รู้จักปรับปรุงตัวเอง จะเรียนรู้จากฝรั่งก็ไม่สำเร็จหรอก และแม้แต่สิ่งที่ดีที่ตัวมีอยู่ก็รักษาไว้ไม่ได้ เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็รอให้ฝรั่งเอาไปใช้ ส่วนฝรั่งนั้นสามารถที่จะมาเรียนรู้เอาของตะวันออกไปใช้ได้ผล ปรับปรุงตัวของเขาเองให้ดีขึ้นได้

ที่ว่ามานี้ ก็เป็นสาระที่มีชัดเจนอยู่ ในหนังสือของนาย อาเธอร์ เกสท์เลอร์นั้น ซึ่งหนังสืออย่างนี้เราควรรู้ควรหามาศึกษาเพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเราจะไปว่าอะไรเขา เขาอยู่เขามองเห็นอย่างไร เขามีความรู้สึกอย่างไร เขาก็เขียนไป เราจะได้เห็นใจเห็นความคิดเขา เขามองเรารู้สึกอย่างนั้น และเราอาจมีพฤติกรรมให้เขารู้สึกอย่างนั้นก็ได้ เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น เราจะต้องสร้างจิตสำนึกให้มีขึ้น ในการที่จะยืนอยู่บนฐานของตัวเอง บนขาของตัวเอง และใช้หัวของตัวเอง แล้วเราก็จะเดินหน้าไปได้ และเราก็จะสามารถที่จะเลือกหยิบเอาของเขามาใช้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเองได้ด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หัวเป็นไทย ให้คิดอย่างฝรั่งจุดแก้ปัญหา : มีภูมิปัญญาที่สามารถภูมิใจ >>

เชิงอรรถ

  1. ซู (sue) คือ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย

No Comments

Comments are closed.