ลักษณะการตามฝรั่งของคนไทย

10 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 14 จาก 20 ตอนของ

ลักษณะการตามฝรั่งของคนไทย

นอกจากนี้ ยังมีแง่ที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีก คือจะต้องมีการแยกแยะว่า การตามของคนไทยที่เดินไปข้างหลังวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เป็นการตามจริงๆ หรือเปล่า ตามไปทางเดียวกันกับตะวันตกจริงหรือเปล่า เป็นการตามที่มีเป้าหมายหรือว่าสักแต่ว่าตาม ตามอย่างงมงายหรือตามด้วย ความรู้มีจุดหมายของตน

ในทางพระพุทธศาสนา ท่านสอนให้ทำการด้วยความรู้ความเข้าใจ หลักสัปปุริสธรรมก็สอนให้มีธัมมัญญุตา รู้จักสิ่งที่กระทำ ให้มีอัตถัญญุตา รู้จักผล รู้จักจุดมุ่งหมายของการที่กระทำนั้น จะตามก็ไม่ว่าอะไร แต่ขอให้ตามด้วยความรู้ ตามให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตแก่สังคมแก่ประเทศชาติของตน แง่ที่ต้องวิเคราะห์ในเรื่องการตามนี้ จะขอแยกแยะมาดูกันเป็นตัวอย่าง เช่นว่า ในสังคมไทยที่มีการตามอารยธรรมตะวันตกนี้
บางอย่าง เราตามแต่เปลือก ไม่ได้เอาเนื้อมาด้วย
บางอย่าง เราตามฝรั่ง แต่ล้ำหน้าเลยฝรั่งไป
บางอย่าง เราตามฝรั่ง แต่ตามไม่ครบกระบวน
บางอย่าง ไปตามในเรื่องที่ฝรั่งเองก็ผิดอยู่แล้ว ก็เลยผิดไปด้วย

เรื่องการตามอย่างนี้มีรายละเอียดมาก ขอให้นึกดู มีบ้างไหมที่ตามเขาได้จริงตรงไปตรงมาจบตลอดครบถ้วน จะขอให้มองเห็นภาพสักอันที่ฝรั่งเขามาวิจัยเอาไว้ ลองดูว่าฝรั่งเขามองเห็นการตามของเราอย่างไร พวกฝรั่งเองเขามองดูไทย เขาไม่ให้เกียรติอะไร เขาไม่ได้เห็นว่าคนไทยตามเขาได้ดีหรือได้ผล อะไร มีฝรั่งคนหนึ่งชื่อนาย Norman Jacobs เข้ามาวิจัยเรื่องการพัฒนาในประเทศไทย แล้วเขาก็เขียนหนังสือเป็นผลงานจากการวิจัยขึ้นมาเล่มหนึ่ง ให้เห็นภาพของการที่ประเทศไทยพยายามที่จะเจริญให้ทันหรือให้เหมือนอย่างประเทศตะวันตกของเขา หนังสือนั้นเขาให้ชื่อว่า Modernization Without Development1 ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา หมายความว่า ประเทศไทยนี้เท่าที่ได้ปรับปรุงประเทศมาแล้ว ทันสมัยจริง แต่ไม่ได้พัฒนาเลย หนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องประเทศไทยทั้งหมด

คำว่า ทันสมัยนั้นอย่างหนึ่ง พัฒนาก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ประเทศไทยอาจจะมีความเจริญรุ่งเรืองในภายนอก ในทางวัตถุ มีตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางมากมาย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตกอะไรต่างๆ แต่ในแง่เนื้อหาแล้วไม่มีการพัฒนาเลย เขาว่าอย่างนั้น เราจะมองว่าเป็นการดูถูกหรืออย่างไรก็แล้วแต่ เขาบอกว่าเขาวิเคราะห์ตามความเป็นจริง อันนี้เราต้องรับฟังทัศนะของเขาด้วย

ขอยกตัวอย่างเรื่อง การตามไม่ครบกระบวน เช่นในสังคมตะวันตก การที่เขามีความเจริญได้นั้น เขาต้องมีการผลิตแล้วจึงมีการบริโภค การผลิตนั้นเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความเจริญ ทีนี้ในสังคมไทยของเราก็ตามฝรั่ง แต่ปรากฏว่า เราตามในแง่การบริโภค ไม่ตามในแง่การผลิต กระบวนการสร้างความเจริญจึงไม่ครบ โดยเฉพาะตอนที่สร้างความเจริญการผลิตเราไม่เอา ไปเอาในด้านบริโภค แล้วเราก็ต้องมาปรับทุกข์กันว่า ปัจจุบันนี้ สังคมไทยมีค่านิยมการบริโภค ไม่มีค่านิยมในการผลิต เป็นตัวการร้ายแรงที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการที่ว่า ตามเขาไม่ครบกระบวน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ว่า ตามเขาแต่ล้ำหน้าเลยเขาไป เช่นกิจการบันเทิงหลายอย่าง มีบาร์ ไนท์คลับ โรงนวด เป็นต้น เราเอามาจากฝรั่ง แต่แล้วปรากฏว่าคนไทยเราดำเนินการได้ดีล้ำหน้าฝรั่ง กระทั่งสิ่งเหล่านี้มีเกร่อทั่วไปในประเทศ จนพวกฝรั่งเองก็มาชื่นชม แล้วเอาไปเขียนลงในหนังสือต่างๆ เรียกประเทศไทยด้วยชื่อที่ประหลาด จนกระทั่งพระไม่ควรจะนำมากล่าวในที่ประชุมนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ว่าเราได้พัฒนาหรือว่าตามฝรั่งแต่ล้ำหน้าฝรั่งไป

ทีนี้ บางเรื่องเราตามแต่ไม่ถึงเนื้อแท้ของฝรั่ง ตามไม่ถึงเนื้อแท้นั้น คือรูปแบบความเจริญคล้ายกัน แต่เนื้อในไม่เหมือนกัน เรื่องนี้โดยมากเป็นไปในแง่ค่านิยม อาตมภาพจะขอยกตัวอย่างให้เห็น คนไทยเราปัจจุบันนี้น่าสังเกตว่ามีค่านิยมอย่างหนึ่งซึ่งไม่น่าสบายใจนัก ขอเรียกว่าเป็นค่านิยมอวดเก่งอวดโก้ที่โกงหรือแกล้งเขาได้ อวดกล้าอวดแสดงว่าทำแผลงๆ หรือ อยู่เหนือกฎได้ ซึ่งเรามักจะมีความรู้สึกภูมิใจมาแสดงอวดกัน หัวเราะชอบใจกันในการที่ว่า ทำอะไรผิดสักอย่างได้สำเร็จว่า ฉันเก่ง จะละเมิด จะฝ่าฝืน หรือไม่ต้องทำตามกฎระเบียบนี้ก็ได้ ว่าฉันมีอภิสิทธิ์ ฉันเก่ง ฉันแน่ ใครทำอะไรฉันไม่ได้ เขาแนะนำว่า จะฉีดยาฆ่าแมลงให้ปกปิดร่างกายให้มิดชิด ฉันจะไม่ต้องใช้เครื่องป้องกันก็ได้ กฎว่าอย่างนี้ฉันจะทำอย่างโน้น แม้แต่พวกเราคนไทยที่ไปเมืองนอกเป็นอย่างนั้นก็มี เวลาเราไปเมืองฝรั่ง เราทำอะไรผิด เช่นว่าแกล้งทำให้ผิดกฎจราจรของฝรั่งได้สำเร็จแล้วก็หัวเราะชอบใจ ในเมืองไทยนี้ถ้าให้ข้ามทางม้าลาย เราจะข้ามกันอยู่ไม่นาน เพราะเรามีค่านิยมความเก่งกล้าในทางที่ละเมิดหรือทำอะไรผิดได้ เราภูมิใจในการที่หลอกตำรวจได้ หรือตำรวจจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ซึ่งในประเทศที่มีอารยธรรมหลายประเทศเขาเห็นการทำอย่างนี้ว่าเป็นเรื่องน่าละอาย แต่คนไทยถือว่าเป็นเรื่องสนุกสนานและโก้เก๋ ตราบใดที่ค่านิยมเหล่านี้ยังมีแล้ว เราจะสร้างระเบียบวินัยไม่สำเร็จและการแก้ปัญหาของสังคมนี้ก็เป็นไปได้ยาก นี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างอันหนึ่ง คงไม่มีเวลามาสาธยายรายละเอียด ยกมาพูดพอให้มองเห็น

อีกอย่างหนึ่งก็ค่านิยมในเรื่องความฟุ้งเฟ้อ แข่งอวดกัน ซึ่งไม่ต้องพูดถึงระดับผู้ใหญ่ แม้ตามโรงเรียนต่างๆ ก็ได้ยินว่ามีมากมายอยู่ เช่นว่า เด็กนักเรียนในโรงเรียนชั้นดีจะอวดกันถึงฐานะของพ่อแม่ว่า วันนี้มาโรงเรียนด้วยรถอะไร มารถยี่ห้ออะไร มีผู้เล่าว่า นักเรียนบางคนนั้นอายเพื่อน ถ้าหากไม่ได้มารถคันใหญ่ วันนี้คุณพ่อเปลี่ยนเอารถยี่ห้อไม่ดีมา ก็ขออย่าให้ไปส่งถึงประตูโรงเรียน ให้ไปส่งห่างๆ ไม่ให้เพื่อนเห็น แล้วก็เดินเข้าโรงเรียน เพราะกลัวจะอายเพื่อน พอโรงเรียนปิด เด็กๆ ก็จะไปเที่ยวในที่ต่างๆ แล้วมาอวดกันว่า เมื่อตอนโรงเรียนปิดนั้น ฉันได้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไปในที่หรูหรา ฟุ้งเฟ้อใช้เงินมาก ซึ่งอันนี้มันไม่ตรงกับค่านิยมของฝรั่ง

ฝรั่งนั้นเขาภูมิใจในการที่ทำผลสำเร็จให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง เด็กของเขาอาจจะเป็นลูกวุฒิสมาชิก เมื่อโรงเรียนปิดเขาอาจจะไปเดินขายหนังสือพิมพ์ พอโรงเรียนเปิดเขาก็จะมาคุยกัน เขาถามกันว่า เอ้อ! เมื่อตอนที่โรงเรียนปิดนั้น เธอไปทำอะไร เพื่อนก็จะบอกว่าฉันได้ไปทำงานหาเงินเองได้ เขาอาจจะเป็นลูกผู้ใหญ่ทางการเมือง เขาจะบอกว่าฉันไปขายหนังสือพิมพ์ทำเงินได้ เขาภูมิใจที่ทำงานสร้างผลสำเร็จได้เอง หรือ ถ้าไปเที่ยวเขาก็ภูมิใจที่จะเล่าว่าได้ไปในสถานที่แปลกๆ ได้ผจญภัย ได้ทำอะไรๆ สำเร็จ ที่เป็นเรื่องได้แสดงความสามารถ ซึ่งไม่ใช่เป็นการอวดโก้แข่งฐานะ แต่ของเรานี่มักจะเน้นในเรื่องของความอวดโก้ อวดฐานะกัน อวดความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา ว่าพ่อฉันมีมาก ฉันได้ใช้มาก เด็กฝรั่งภูมิใจว่า ฉันได้ใช้อะไรที่ฉันทำมาเอง เด็กไทยยุคใหม่ภูมิใจว่า ฉันไม่ต้องทำอะไร ฉัน ก็มีใช้เอง เขาคุยว่าได้ทำได้ผลิตมาก เราอวดว่าฉันได้ใช้ได้บริโภคมาก ปัจจุบันนี้ในโรงเรียนชั้นนำมีสภาพเช่นนี้เกิดขึ้น และเด็กเหล่านี้มีโอกาสมากที่จะได้เป็นผู้นำของสังคมไทยในอนาคต เมื่อเขามีค่านิยมอย่างนี้แล้วมันจะเกิดผลต่อประเทศไทยอย่างไร และจะเห็นว่า ค่านิยมเหล่านี้เราได้ปลูกฝังกันมาแต่เด็ก บางทีโรงเรียนกลับกลายเป็นแหล่งที่ปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้ไปเสียเอง เพราะฉะนั้น มันก็กลายเป็นว่า แหล่งการศึกษากลายเป็นแหล่งที่จะสร้างปัญหาสังคมขึ้นมา (ที่ว่านี้ขอทำความเข้าใจว่า ค่านิยมผลิตของฝรั่งที่พูดมานั้น ก็ไม่ใช่จะมีแต่ผลดีอย่างเดียว แง่ที่เป็นผลเสียก็มี ถ้าเราจะรับเอามาฝึกกันก็ต้องวิเคราะห์ให้ดีเสียก่อน เอาแต่ส่วนที่ดีมา ส่วนที่เสียก็ทิ้งไป แต่ในที่นี้ กำลังพูดเรื่องตามฝรั่งไม่จริง จึงไม่วิเคราะห์ว่าของฝรั่งดีเสียอย่างไร)

ในสภาพอย่างนี้ เราอาจจะเรียกการศึกษาว่าเป็นการศึกษาที่ดึงเด็กออกจากสังคมไทย แต่ก็ส่งไปไม่ถึงเมืองฝรั่ง กลายเป็นครึ่งๆ กลางๆ อันเป็นเรื่องน่าคิด แต่ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเรื่องในระดับภายนอกเท่านั้น ยังจะต้องกล่าวลึกซึ้งเข้าไปอีกให้ถึงเนื้อหาของการศึกษาไทยปัจจุบัน ซึ่งจะพูดถึงต่อไปในตอนท้าย สภาพที่ว่านี้คล้ายจะเป็นการกล่าวหาการศึกษาปัจจุบันรุนแรงไปสักหน่อย ว่าเป็นการศึกษาที่ดึงเด็กออกจากสังคมไทย แต่ส่งไปไม่ถึงสังคมฝรั่ง เอาละอาตมภาพอาจจะกล่าวคำนี้ร้ายแรงเกินไป แต่การกล่าวอย่างนี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยกระตุ้นให้ช่วยพินิจพิจารณากันบ้าง และการกล่าวอย่างนี้มิได้มุ่งว่าเฉพาะแต่โรงเรียนที่เป็นสถานศึกษาโดยตรงเท่านั้น สื่อมวลชนมีความสำคัญมากมายทีเดียว ค่านิยมแบบนี้เป็นค่านิยมส่งเสริมความฉาบฉวยความฟุ้งเฟ้อให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตกหรือของฝรั่งนั้น ปัจจุบันนี้มักมากับการค้า การค้านี้ก็ยิ่งส่งเสริมความฉาบฉวยให้มากยิ่งขึ้น แม้แต่เรื่อง Valentine Day ที่พูดถึงเมื่อกี้นี้ ก็กลายเป็นการส่งเสริมความรักแบบฉาบฉวยมากกว่า เป็นเรื่องการโก้เก๋ไป กิจการค้าขายก็ได้โอกาสในการที่จะส่งเสริมและแสวงหาผลประโยชน์จากความฉาบฉวยโก้เก๋เช่นนั้น

เราลองนึกดูในแง่ที่ว่า ทำไมจึงฉาบฉวยโก้เก๋ การที่สังคมฝรั่งเขามีสิ่งเหล่านี้นั้น สภาพการณ์ของเขาไม่เหมือนเมืองไทย สังคมฝรั่งเป็นสังคมที่ชีวิตคนมีความกดดันมาก มีความเคร่งเครียดมาก แต่ละคนต้องรีบเร่งทำการงานของตัวเอง คล้ายๆ ว่าตัวใครตัวมัน แม้แต่พ่อแม่พี่น้องก็แยกกันอยู่ ปีหนึ่งพบกันที ตอนคริสต์มาสจึงจะมาพร้อมหน้ากัน ทีนี้การที่จะสัมพันธ์กับคนอื่นนั้น การมีการ์ด มีบัตรอวยพรอะไรต่างๆ มันก็ช่วยผ่อนคลายพอให้ได้มีสื่อสัมพันธ์ไว้ แต่ในสังคมไทยนั้น การ์ดเหล่านี้มันไม่สู้มีความหมายอะไร ชีวิตคนไทยไม่ค่อยมีความเคร่งเครียด ไม่แยกย้ายห่างการติดต่อกันไปถึงอย่างนั้น พอเรารับวิธีการของเขามามันจึงกลายเป็นความฟุ้งเฟ้อมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อันที่จริงเฉพาะเรื่องนี้ก็ไม่ว่าอะไรหรอก เพราะว่าสังคมไทยปัจจุบันนี้ กำลังเดินไปในแนวของตะวันตก ชีวิตของคนโดยเฉพาะในเมืองนั้น มีความเคร่งเครียดมากขึ้น ห่างกันมากขึ้น การใช้การ์ดอวยพรอะไรต่างๆ ก็เหมาะสมกับสมัยอยู่ แต่ว่าเราต้องใช้ด้วยความรู้เท่าทันว่า เราควรจะส่งเสริมในแง่ไหนแค่ไหน เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้จะไม่ขอพูดให้มาก แต่ที่สำคัญก็คือว่า เมื่อรับค่านิยมตามวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้นมาแล้ว เราก็มองข้ามค่านิยมทางคุณธรรมของคนไทยไปเสีย แล้วคุณธรรมหรือค่านิยมเหล่านั้น ก็อาจจะสูญหายไปในที่สุด เช่น ค่านิยมแห่งทาน เมตตากรุณา ซึ่งเคยมีในสังคมไทย แต่ปัจจุบันนี้อาจจะค่อยๆ ละลายหายไป แล้วมีค่านิยมฉาบฉวย เช่น ความรักแบบวันวาเลนไทน์เข้ามาแทน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ค่านิยมตามฝรั่งค่านิยมที่ลึกซึ้งถูกเมิน ที่ตื้นเขินแผ่เข้ามา >>

เชิงอรรถ

  1. Norman Jacobs, Modernization Without Development : Thailand as an Asian Case Study (New York : Praeger Publishers, 1971), 420 pp.

No Comments

Comments are closed.