มองอเมริกา หันมาดูไทย

10 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 7 จาก 20 ตอนของ

มองอเมริกา หันมาดูไทย

ถ้าหากว่าเราเทียบกับสังคมตะวันตก เขาสร้างสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) ขึ้นมาอย่างไร เขามีเป้าหมายที่เป็นจิตสำนึกโดยชัดเจน คือการแก้ปัญหาความขาดแคลนจะทำให้สังคมของเขามีความพรั่งพร้อมเกิดขึ้น และพร้อมด้วยจิตสำนึกนั้นเขาก็มีจริยธรรมที่มีการขยันทำการทำงานอย่างอุทิศตัว มีการอดออมเพื่อสะสมทุน ไม่เห็นแก่ความสุขความสบายหรือการบำรุงบำเรอ ยอมสละละเว้นความสุข มุ่งแต่ความสัมฤทธิ์ผลของงาน เมื่องานสำเร็จได้รับผลแล้ว ก็เอามาสะสมเป็นต้นทุนต่อๆ ไป

ในเวลาที่ตะวันตกเขาสร้างอารยธรรมของเขานั้น ขอให้สังเกตว่าความเจริญเกิดขึ้นในเนื้อตัวของเขาเอง เขาสร้างมันขึ้นเอง เมื่อเขาสร้างเขาแก้ปัญหาสำเร็จ เขาก็ได้รับผลสำเร็จของเขาเท่าที่เขาสร้างมันขึ้น โดยที่ว่าผลสำเร็จหรือความเจริญที่เขาต้องการนั้น เขายังไม่มีและไม่ได้เห็นในที่อื่น ผลที่เขาต้องการยังไม่มีในที่อื่น แต่สังคมไทยเวลานี้เป็นสังคมที่ตรงกันข้าม คือเราสามารถเสวยผลที่ต้องการโดยที่ตัวเองยังไม่ได้สร้างมันขึ้น เราสามารถรับความเจริญของตะวันตก รับสิ่งที่เขาผลิตเรียบร้อยแล้วนำมาใช้ในสังคมของเราได้ทันที โดยที่เราไม่ต้องผลิตขึ้นมา

ฉะนั้น ถ้าหากว่าสังคมของเรายังไม่มีจิตสำนึกในการแก้ปัญหา การที่เรารับเอาแบบอย่างของสังคมตะวันตกมานี้ แม้แต่สังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) เราก็จะไม่ได้เป็น เราจะเป็นได้แต่เพียงสังคมเทียมอุตสาหกรรม Quasi-Industrial เท่านั้น คือไม่ได้เห็นสังคมอุตสาหกรรม Industrial ที่แท้จริง เพราะเราไม่ได้มีรากฐานที่ได้สร้างขึ้นมา ไม่มีองค์ประกอบของสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) เลย อย่างที่กล่าวมาแล้ว

ถ้าเราจะสร้างสังคมอุตสาหกรรม (Industrial) จริงๆ เราต้องดูอเมริกาเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เขาเป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม (Post-Industrial Society) หรือสังคมนักบริโภค (Consumer Society) แล้ว ถ้าเราไปรับจากเขาขณะนี้เราก็เสียเปรียบอย่างเดียว สำหรับสังคมอเมริกัน แม้เขาจะเปลี่ยนมาเป็นสังคมบริโภค หรือผ่านพ้นอุตสาหกรรมแล้ว แต่เพราะการสะสมของเขา เพราะการที่เขามีรากฐานจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรมมาก่อน นิสัยเดิมคือความขยั่นหมั่นเพียร การทำงานหนัก ความมีระเบียบวินัย ความอดทนอดออม นิสัยนั้นมันตกทอดมาจากเดิม มันยังสืบเนื่องอยู่ เพราะฉะนั้นเขาจึงเป็นทั้งสังคมของการเป็นผู้บริโภค และสังคมของการเป็นผู้ผลิตอยู่ในตัวพร้อมกัน แต่สังคมของเรา ถ้าไปรับเขามาในปัจจุบันแล้ว มันจะมีลักษณะอย่างเดียวคือเป็นสังคมของผู้บริโภค ไม่เป็นสังคมของผู้ผลิต อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะระมัดระวังอยู่

ตามที่ว่านี้ ก็เป็นอันว่า สังคมไทยก้าวข้ามขั้นตอนมาเป็นสังคมบริโภค โดยยังไม่ได้ผ่านการเป็นสังคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสังคมของผู้ผลิต ในเมื่อยังไม่เคยเป็นนักผลิตมาก่อน อยู่ๆ ก็มาเป็นนักบริโภค และพอดีก็มีของสำเร็จที่คนอื่นผลิตไว้แล้ว เราก็เอาแต่หาซื้อกู้ยืมรับเอามาบริโภค คอยหวังคอยรับเอาจากเขาจนเพลิน อย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้น ก็นึกดูเอาเอง

ในตอนนี้การพูดถึงสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) มันกลายเป็นการพูดถึงลัทธิทุนนิยมไป เพราะการสร้างสังคมอุตสาหกรรมของอเมริกาที่ผ่านมานั้นก็อยู่ในเรื่องของลัทธิทุนนิยม แต่ตอนนี้เราจะไม่วิจารณ์ว่าทุนนิยมดีหรือไม่ดี หรือว่าระบบเศรษฐกิจอันไหนจึงจะดี ไม่วิจารณ์ เอาแค่ในทุนนิยมอย่างเดียวนี้มันก็จะมีทุนนิยมอย่างดีและอย่างไม่ดี ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็หมายความว่าประเทศไทยเราจะได้ทุนนิยมชนิดที่ไม่ดี เป็นทุนนิยมที่มีคุณภาพต่ำมาก และจะไม่ได้เป็นสังคมอุตสาหกรรมที่แท้จริงด้วย

อย่างไรก็ตาม พิจารณาต่อไปอีกขั้นหนึ่ง แม้จะรับ Industrial Culture หรือวัฒนธรรมอุตสาหกรรมมาเพื่อจะสร้างตัวให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะว่าวัฒนธรรมอุตสาหกรรมได้นำสังคมอเมริกันมาสู่ปัญหาดังที่ยกมาพูดแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นบทเรียนที่เราควรจะหาทางหลีกเลี่ยง สังคมอเมริกันก็ตาม สังคมไทยก็ตาม ในปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่มีปัญหามากมาย แต่ว่าปัญหามันต่างกัน อาตมภาพจะขอเสนอความคิดว่า ระหว่างปัญหาของสังคมไทยกับของสังคมอเมริกันต่างกันอย่างไร ปัญหาของประเทศไทยมีลักษณะเด่นในแง่อยากบริโภคแต่ไม่ได้บริโภคอย่างอยาก อันนี้อาจจะเป็นคำที่รุนแรงไปหน่อย แต่ขอให้ตั้งเป็นข้อสังเกต จะจริงไม่จริงขอให้เทียบดู ย้ำว่าเป็นสังคมที่อยากบริโภคแต่ไม่ได้บริโภคดังอยาก ซึ่งจะมีลักษณะของปัญหาในรูปของการขาดความรับผิดชอบ ความปล่อยปละละเลย การรุกรานผู้อื่น การขาดระเบียบวินัย ทำอะไรให้ได้ก็แล้วกัน คนอื่นหรือส่วนรวมเป็นอย่างไรก็ช่าง น้ำจะเน่า อากาศจะเสียอย่างไรก็ช่าง จะมีการฉกชิงแย่งกัน การรุกรานฆ่าฟันกันเพื่อเอาผลประโยชน์ให้ได้มา มีอุบัติเหตุมากมาย ส่วนสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ได้บริโภคแต่ไม่อร่อยสมใจอยาก คือว่า ได้บริโภคแล้วแต่มันไม่อร่อยดังอยาก หรือเท่าที่ใจนึกอยาก นึกว่าได้แล้วมันจะดีมีความสุข แต่ได้แล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น ก็เกิดความผิดหวัง แล้วทีนี้ลักษณะของปัญหามันจะเป็นอย่างไร ลักษณะของคนที่เป็นอย่างนี้จะมีอาการกลัดกลุ้มกับตัวเอง วุ่นวายใจ เบื่อหน่าย และออกจะขุ่นเคืองบรรพบุรุษ คิดโทษว่าเพราะบรรพบุรุษ พวกเราจึงต้องมาเจอสิ่งเหล่านี้ พ่อแม่สอนให้เราสร้างหาสิ่งเหล่านี้มา แล้วมันก็ไม่ให้ความสุขแท้จริง ทีนี้การแสดงออกก็เลยมีอาการต่างๆ ทางจิต การปฏิเสธสังคม ละทิ้งวัฒนธรรม การแสวงหาประสบการณ์ทางจิต หาสิ่งสงบระงับความวุ่นวายใจ ยาเสพติด การฆ่าตัวตาย ตลอดจนโรคจิต แม้แต่การฆ่าฟันทำร้ายกันก็มักมีสาเหตุแปลกๆ ทางจิตใจ แทนที่จะเกิดจากโกรธเคืองหรือแย่งชิงอยากได้ทรัพย์ เช่นอย่างในปีที่แล้วมีการพยายามสังหารประธานาธิบดีอเมริกัน นายคนที่พยายามฆ่าชื่อ นายจอห์น ฮิงค์ลีย์ (John W. Hinckley) ได้ยิงท่านเรแกน (Reagan) บาดเจ็บหนัก เขาจับได้สอบสวนดูปรากฏว่าแกจะฆ่าเพื่ออวดให้ผู้หญิงที่แกรักได้เห็นว่าแกมีความเก่งกล้า เท่านี้เองก็จะฆ่าประธานาธิบดี หรือตัวอย่างอีกรายก่อนนั้น นายคนหนึ่งตั้งตัวเป็นซันออฟแซม หรือลูกคุณแซม (son of Sam) ก็ไปเที่ยวฆ่าผู้หญิง เอาปืนไปยิงผู้หญิงที่มีผมบลอนด์ในที่ต่างๆ ทำให้สังคมนิวยอร์คและนิวเจอร์ซี่หวาดผวากันไปเป็นเวลาแรมปีกว่าจะจับได้ จับได้แล้วสอบสวนปรากฏว่า แกบอกว่าสุนัขข้างบ้านแกมันสั่งแกให้ทำ นี้ก็เป็นเรื่องน่าพิจารณาของสังคมอเมริกัน

ทีนี้อาตมภาพจะเสนออะไรบางอย่างเป็นเรื่องสถิติเปรียบเทียบระหว่างสังคมไทยกับสังคมอเมริกัน อาจจะทำให้สิ่งที่พูดมาแล้วชัดเจนขึ้น เมื่อกี้นี้ได้พูดว่า ในสังคมอเมริกันนั้นคนฆ่าตัวตายมากกว่าฆ่ากันตาย ทีนี้จะมาเทียบกับเมืองไทย ในไทยนั้นตรงกันข้าม คนฆ่ากันตายมากกว่าฆ่าตัวตาย ย้อนไปดูสถิติ เมื่อกี้ที่บอกว่า ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ คนอเมริกันฆ่าตัวตาย ๒๘,๖๘๑ คน แต่ฆ่ากันตาย ๑๙,๙๖๖ คน หมายความว่า ฆ่ากันตายน้อยกว่าฆ่าตัวตายเกือบ ๑๐,๐๐๐ คน ทีนี้มาเมืองไทยปี ๒๕๒๑ ฆ่ากันตาย ๑๒,๒๘๓ คน แต่เมืองไทยประชากรน้อยกว่าอเมริกา ๔.๖ เท่า ถ้าเมืองไทยมีประชากรเท่าอเมริกา ก็จะฆ่ากันตาย ๕๖,๕๐๐ คน ในขณะที่อเมริกันฆ่ากันตาย ๑๙,๐๐๐ คน เมืองไทยจะฆ่ากันตาย ๕๖,๐๐๐ คน อาตมภาพหาสถิติการฆ่าตัวตายของเมืองไทยไม่ได้ แต่แน่ใจเลยว่าน้อย

ทีนี้จะขอดูสถิติอุบัติเหตุ ปีพ.ศ. ๒๕๒๒ ในประเทศไทยคนตายด้วยอุบัติเหตุ ๑๖,๐๐๐ คน เป็นสถิติสูงสุด เป็นโรคหัวใจตาย ๑๒,๐๐๐ คน เป็นมะเร็งตาย ๙,๐๐๐ คน ขอให้สังเกตความใกล้เคียงของสถิติเหล่านี้ ตายเพราะมะเร็งกับตายจากหัวใจของไทย ไม่ต่างกันเท่าไร ๙,๐๐๐ กับ ๑๒,๐๐๐ คน ต่างกันเพียงประมาณ ๓,๐๐๐ คน แต่ตายด้วยอุบัติเหตุมากกว่าโรคหัวใจ เพิ่มอีก ๔,๐๐๐ คน เป็นสถิติสูงสุด หันไปดูอเมริกา อันนี้เป็นสถิติแบบอัตราส่วน เมื่อกี้ได้บอกว่าคน อเมริกันตายด้วยโรคหัวใจแสนละ ๓๔๒ คน โรคหัวใจเป็นอันดับสูงสุด โรคมะเร็งตายเพียงแสนละ ๑๘๖ คน เกือบครึ่ง ท้ายสุดอุบัติเหตุทุกชนิดรวมทั้งรถยนต์ด้วย เพียงแสนละ ๔๗ หมายความว่า ในอเมริกาอุบัติเหตุตายน้อยกว่าโรคหัวใจตั้งราว ๗ เท่า ในขณะที่ประเทศไทยคนตายด้วยอุบัติเหตุเป็นสถิติสูงสุด มากกว่าการตายด้วยเหตุอื่นๆ การขาดความรับผิดชอบ ไม่มีวินัย ความประมาทละเลยดังที่กล่าวมานี้มันแสดงออกมาเด่นชัด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เบื้องหลังปัญหาของสังคมไทยบทเรียนจากอเมริกา >>

No Comments

Comments are closed.