สืบภูมิหลังของอเมริกา

10 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 5 จาก 20 ตอนของ

สืบภูมิหลังของอเมริกา

สังคมที่พรั่งพร้อมของอเมริกาตอนนี้ มีนักสังคมวิทยาหลายคนเรียกว่า Post-industrial Society คือสังคมที่ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว คำนี้ใช้กันเกร่ออยู่พอสมควร แม้ว่าจะมีนักสังคมวิทยาบางคนค้าน ไม่เห็นด้วย แต่ก็เป็นการค้านในแง่การใช้ศัพท์ว่าโดยสาระแล้วยอมรับกันว่า เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ สังคมยุคผ่านพ้นอุตสาหกรรมนี้ Post-industrial Society นี้เป็นอย่างไร ก็มีลักษณะดังที่กล่าวมาแล้ว คือมีความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ลักษณะความพรั่งพร้อมทางวัตถุนี้จะเห็นได้จากชื่ออีกอย่างหนึ่ง ที่เขาเรียกสังคมของเขาว่าเป็น Consumer Society คือสังคมบริโภคหรือสังคมนักบริโภค ศัพท์นี้บางทียอมรับกันมากกว่า

ในเมื่อเป็น Post-industrial หรือแบบผ่านพ้นอุตสาหกรรม ก็จะต้องพูดถึง Industrial คือแบบอุตสาหกรรมด้วย แสดงว่าต้องต่างกัน สังคมอเมริกันนั้นที่เป็นมาก็เป็นสังคมแบบอุตสาหกรรม เรารู้กันอย่างนั้น แต่มันมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ทำไมเขาเรียกสังคมปัจจุบันว่า เป็นยุคผ่านพ้นอุตสาหกรรม เรื่องนี้เล็งไปถึงคำอีกคำหนึ่งที่นำไปสู่การที่จะวิเคราะห์ให้เข้าใจเพิ่มขึ้น เขาบอกว่าสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม หรือ Post-industrial Society นี้เป็นยุคของ Post-scarcity หมายความว่าผ่านพ้นความขาดแคลน ทีนี้ที่เป็นสังคมอุตสาหกรรม หรือ Industrial Society ก็เป็นระยะที่ยังต้องต่อสู้กับ Scarcity ความขาดแคลน เมื่อพูดอย่างนี้ก็เล็งไปเห็นเบื้องหลังของสังคมอเมริกันและสังคมตะวันตกทั้งหมด ส่อถึงพัฒนาการความเป็นมาของสังคมในอดีต หมายความว่า สังคมตะวันตกในอดีตนี้ต่อสู้กับความขาดแคลนเพื่อให้เกิดความพรั่งพร้อมขึ้น ในสภาพชีวิตที่เขากำลังก่อสร้างตัวเพื่อให้เกิดความพรั่งพร้อมหรือต่อสู้เพื่อเอาชนะความขาดแคลนนี้ เขาเป็น Industrial Society (สังคมอุตสาหกรรม) โดยมี Industrial Culture (วัฒนธรรมอุตสาหกรรม) วัฒนธรรมอุตสาหกรรมนี้เป็นตัวสำคัญที่สร้างสังคมของเขาให้เกิดความพรั่งพร้อมในปัจจุบัน

วัฒนธรรมอุตสาหกรรมนั้นมีอะไรอยู่บ้าง อันนี้อาตมภาพว่าเป็นเรื่องที่รู้กันดี เราพูดกันอยู่มากว่า Protestant ethic คือมีจริยธรรมโปรเตสแตนต์เป็นแกนกลาง เป็นหลักสำคัญที่ทำให้เกิดสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) ขึ้น ในหลักของจริยธรรมโปรเตสแตนต์นั้น เขาถือว่างานและความสัมฤทธิ์ผลของงานเป็นหลักเป็นเป้าหมาย คนจะต้องรู้จักบังคับควบคุมตนเอง ไม่ยอมตามใจกิเลสต่างๆ ไม่ยอมตามใจความอยาก ไม่ยอมที่จะแสวงหาความสุข แต่ต้องตั้งใจทำงานให้มากที่สุด แล้วผลได้ที่เกิดจากการทำงานนั้นจะต้องรู้จักเก็บออมเอามาใช้ในการลงทุนต่อไป พยายามที่จะไม่เอาไปใช้ในการแสวงหาความสะดวกสบาย อันนี้เป็นหลักของจริยธรรมโปรเตสแตนต์ – Protestant ethic สังคมอเมริกันที่มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) สร้างตัวขึ้นมาได้อย่างนี้ ไม่ใช่สภาพปัจจุบันที่เป็นสังคมนักบริโภค (Consumer Society) หมายความว่า ถ้าเราจะมองการสร้างความเจริญของชาวตะวันตกที่แท้จริงแล้ว จะต้องมองดูอเมริกาย้อนหลังไป ๔๐-๕๐ ปีที่แล้ว ไม่ใช่มองปัจจุบัน ปัจจุบันนี้เป็นเพียงสภาพผล แล้วก็กำลังมีภาวะสับสนที่ปะปนกันอยู่ คือรากฐานเดิมที่มาจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) ก็ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้มีความตั้งหน้าตั้งตาทำงานเอาจริงเอาจัง แต่ในเวลาเดียวกันก็มีวัฒนธรรมใหม่ คือ Consumer Culture เป็นวัฒนธรรมนักบริโภคขึ้น โดยเฉพาะในสังคมอเมริกันนั้น วัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) ได้มีลักษณะพิเศษที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในระยะช่วงท้ายเกิดเป็น Success Culture คือวัฒนธรรมที่มุ่งหมายความสำเร็จ ซึ่งเล็งไปถึงการแข่งขัน ทำให้เกิดความสำเร็จความเจริญก้าวหน้าพรั่งพร้อมบริบูรณ์ แล้วอันนี้เป็นผลเบื้องปลายที่นำมาสู่การเป็นสังคมนักบริโภค (Consumer Society) แล้วในปัจจุบันก็เลยเป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม (Post-industrial Society) ด้วย

เป็นอันสรุปได้ว่า วัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) นั้นมีขึ้นโดยจะสู้เพื่อเอาชนะ Scarcity คือความขาดแคลน เพื่อบรรลุผลเป็น Post-scarcity ผ่านพ้นความขาดแคลนแล้วสังคมก็มีความพรั่งพร้อมบริบูรณ์1 ทีนี้ปัญหามันเกิดตรงนี้ เขาบอกว่า ตรงนี้เป็นจุดที่ช่วยให้เข้าใจสภาพสังคมตะวันตกปัจจุบัน คือจุดมุ่งหมายของสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Society) นั้นเพื่อเอาชนะขาดแคลน ดังนั้น จริยธรรมอะไรต่างๆ ที่สร้างขึ้นก็มีเป้าหมายเพื่ออันนี้ คือเป็นอุปกรณ์เพื่อเอาชนะความแร้นแค้นขาดแคลน และให้มีความพรั่งพร้อมแต่เมื่อบรรลุผลตามเป้าหมาย คือมีความพรั่งพร้อมสมบูรณ์แล้ว เอาชนะความขาดแคลนได้แล้ว สิ่งที่เป็นอุปกรณ์ทั้งหมดนั้นก็หมดความหมาย ไม่เห็นคุณค่าว่าจะต้องใช้ต้องปฏิบัติไปเพื่ออะไรอีก เพราะฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่เกิดมาในสภาพสังคมที่เป็นของนักบริโภค (Consumer Society) เป็นสังคมที่มีความพรั่งพร้อมแล้ว เขาจะไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมของสังคมเดิมเลย เช่นจริยธรรมโปรเตสแตนต์ (Protestant ethic) เป็นต้น เขาจะละทิ้ง เขาจะหันหลังให้ ไม่เห็นว่าจะมีความหมายอะไร อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาถึง Crisis หรือวิกฤตการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น

เรื่องมันไม่เท่านั้น ยังมีเหตุอื่นประดังเข้ามาอีก คือว่าสังคมของเขาที่มีการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อผลสำเร็จนี้ เมื่อถึงความสำเร็จแล้วมีความพรั่งพร้อมทางวัตถุอย่างดีแล้ว แทนที่เขาจะสุขสมหวังเขาก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาอีก ความพรั่งพร้อมเหล่านี้ไม่ช่วยให้เขามีความสุขที่แท้จริง ไม่ช่วยให้ชีวิตมีความหมายแต่อย่างไรเลย อันนี้ก็ทำให้เขาเกิดความผิดหวังอย่างมากอีก ซ้ำร้ายกว่านั้น ในเมื่อความพรั่งพร้อมที่เกิดจากระบบแข่งขันไม่ช่วยให้มีความสุขจริงแล้ว ระบบแข่งขันของวัฒนธรรมใฝ่สำเร็จ (Success Culture) ก็กลายเป็นสภาพที่บีบคั้นชีวิต ก่อให้เกิดความกดดันยิ่งกลายเป็นความทุกข์ รวมความว่าสาเหตุ ๓ อย่าง ประดังเข้ามา คือวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial culture) หมดคุณค่าสิ้นความหมายไร้ประโยชน์ วัฒนธรรมนักบริโภค (Consumer Culture) ก็ไม่ให้ความสมอยากสมหวัง วัฒนธรรมใฝ่สำเร็จ (success culture) ก็กดดันบีบคั้นชีวิต ถูกเข้าทั้งสามอย่างประดัง ฝรั่งก็ชักจะทนไม่ไหว ก็ผิดหวังมาก เมื่อเกิดความผิดหวังอย่างนี้ก็ทำให้เขาแล่นไปยังที่สุดอีกด้านหนึ่ง คือทำให้เกิดความรู้สึกว่าจะต้องปฏิเสธสังคมของตน หันมาหาคุณค่าทางจิตใจ พอดีว่ามีศาสนาตะวันออกที่จะสนองความต้องการได้ เขาก็เลยหันมาทางนี้กันมาก อันนี้เป็นคำอธิบายอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่เป็น Consumer Society หรือสังคมบริโภคของอเมริกันนี้มันก็ยังคงอยู่ (ยังติดนิสัย) คือความเป็นนักบริโภค (Consumer) มี ๒ ด้าน นักบริโภค (Consumer) อย่างเดิมก็คือ บริโภค possessions วัสดุสิ่งของทรัพย์สมบัติที่ครอบครอง เพราะฉะนั้นแต่เดิมโน้นเขามีการแข่งขันกันในสังคมว่า คนนั้นเขามีอย่างนั้นแล้ว เรามีหรือไม่ คำถามจะเป็นไปในทำนองว่า คุณมีหรือเปล่า ฉันมีนี่แล้ว คุณมีหรือยัง แต่ว่าในปัจจุบันนี้สังคมได้เปลี่ยนไป จากการหันมาหาตะวันออกเป็นต้น หรือการแสวงหาคุณค่าใหม่ๆ หาทางออกให้แก่ชีวิตจิตใจก็เกิดมีลักษณะที่เป็นการบริโภคอย่างใหม่เกิดขึ้น คือกลายเป็นการบริโภค experience (บริโภคประสบการณ์) การบริโภคประสบการณ์นี้เป็นลักษณะใหม่ของสังคมอเมริกัน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่หนุ่มสาวเป็นอย่างมาก จากคำถามเดิมว่า “มีหรือเปล่า” เขาจะถามใหม่ว่า “ลองหรือยัง” นี่ก็อยู่ใน Consumer Society เป็นสังคมบริโภคเหมือนกัน แต่เดิมนั้นบริโภควัตถุบริโภคสิ่งของจึงถามว่ามีหรือเปล่า ตอนนี้เขาบริโภคประสบการณ์ มีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เขาถามว่าลองหรือยัง เพราะฉะนั้น เด็กอเมริกันสมัยนี้ไม่แข่งขันกันที่จะมีเสื้อผ้าสวยๆ ทันสมัย มีรถยนต์ใหม่ๆ หรือมีอะไรที่มันแสดงถึงความพรั่งพร้อมทางวัตถุ แม้ว่าจะเป็นลูกเศรษฐีคนมั่งมีร่ำรวย เขาก็จะนุ่งกางเกงปุปะและจะนั่งรถยนต์คันเก่าๆ ถึงของจะสวยจะใหม่ก็แกล้งทำให้เก่า แสดงว่าเป็นคนคร่ำช่ำชองประสบการณ์ แล้วเขาก็ไปแสวงหาประสบการณ์ เป็นนักล่าประสบการณ์

นี้เป็นสภาพสังคมอเมริกันที่พึงพิจารณา อาตมภาพคิดว่าไม่มีเวลาจะพูดกันยาวนาน ก็ถือว่าอันนี้เป็นวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Crisis) ของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Culture) ซึ่งสังคมตะวันตกกำลังมีความสับสนในทางจิตใจ บางคนถึงกับกล่าวว่า วัฒนธรรมเดิมกำลังแตกสลาย คนรุ่นใหม่นี้กำลังหันมาตะวันออก แต่คนรุ่นเก่าพวก tradition ก็พยายามรักษาสังคมของตน เป็นความขัดแย้งกัน แต่ก็ยอมรับว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของอเมริกันอย่างแน่นอน เขากำลังพยายามปรับตัวของเขาอยู่

ในเวลาเดียวกับที่มีการยอมรับนับถือ ก็มีพวกที่เป็นปฏิปักษ์ซึ่งมองดูตะวันออกด้วยความรู้สึกไม่ชอบบ้าง เหยียดหยามบ้าง คือพวกหนึ่งยอมรับและมองตะวันออกเป็นคุรุ คุรุแปลว่าครู อินเดียเรียกคุรุ ศัพท์ทางพุทธเรียกกัลยาณมิตร พวกที่มีทัศนะะในทางที่ไม่ดีนี้ เมื่อได้มาศึกษาบางท่านก็ยอมรับ อย่างโปรเฟซเซอร์คอกซ์ ก็ยอมรับในส่วนที่ดีไป แต่บางคนจะรุนแรงในทางไม่ดี ขอยกตัวอย่างคนที่มีทัศนะเป็นปฏิปักษ์อย่างมาก ชื่อนาย Arthur Koestler นายคนนี้เขียนหนังสือชื่อ The Lotus and the Robot แปลว่า ดอกบัวกับหุ่นยนต์ the Lotus ดอกบัว หมายถึง สังคมตะวันออก คือสังคมที่กลมกลืนกับธรรมชาติ the Robot หุ่นยนต์ก็คือสังคมที่เจริญด้วยอุตสาหกรรม พ่อคนนี้ได้เขียนเรื่องราวไป และในที่สุดก็มีทัศนะบอกว่าสังคมตะวันตกนี่ เป็นสังคมที่ว่า เมื่อมีวิกฤตการณ์อับจนตนเองแล้วก็แสวงหาคำตอบ โดยหันมามองตะวันออก แล้วก็จะสามารถรับเอาสิ่งที่ดีงามไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ปรับปรุงตัวเองได้ จากนั้นเขาก็วาดภาพตะวันออก ซึ่งในแง่หนึ่งก็เหมือนมองเหยียดหยามหน่อย คือ เขายืมคำกวีมาพูดบอกว่าอย่างนี้ “As pupils we were not bad, but hopeless as teachers”2 เขาบอกว่า สำหรับเขา เขาเป็นนักเรียนที่ดี หรือว่าเมื่อเป็นนักเรียนเขาไม่เลวเลย แต่เมื่อเป็นครู เขาไม่มีทางทำได้สำเร็จ หรือหมดหวัง หมายความว่า ตะวันตกคือฝรั่ง เป็นนักเรียนที่ดี สามารถรับเอาความรู้จากตะวันออกไปใช้ประโยชน์ได้ ไปดัดแปลงเป็นของตน และทำให้สังคมของเขา enriched ขึ้น คือดีงาม มั่งคั่งพรั่งพร้อมเจริญบรรลุประโยชน์สุขมากขึ้น แต่สังคมตะวันออกนี้เขาไม่สามารถมาสอนได้สำเร็จ คือสังคมตะวันออกจะไม่รู้จักปรับตัว ไม่รู้จักรับสิ่งที่ดีที่ตัวเองมีอยู่ก็ไม่รู้จักรักษาไว้ให้เป็นประโยชน์ บางแห่งเขาพูดรุนแรงว่า แม้แต่สิ่งที่ดีที่ตัวมีนี้ก็เป็นแต่เก็บรอไว้ให้เขาเอาไปใช้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา จะถือว่าเขาดูถูกก็ได้ ขอผ่านไป นี่เป็น การพูดถึงสังคมอเมริกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศาสนาตะวันออกเข้าอเมริกาเบื้องหลังปัญหาของสังคมไทย >>

เชิงอรรถ

  1. ตอนนี้ นอกจากหนังสือที่อ้างแล้ว พึงดูหนังสือแสดงสภาพสังคมตะวันตก เช่น Gurth Higgin, Symptoms of Tomorrow (London : The Plume Press, 1973) 158 pp., Richard N.Goodwin, The American Condition (New York : doubleday & Co.,Inc.,1974), 407 pp.
  2. Arthur Koestler, The Lotus and the Robot (New York : The Macmillan Company, 1961), 276 pp.
    หนังสืออื่นที่แสดงทัศนะตามแนวนี้ เช่น
    Charles Corwin, East to Eden? (Michigan : William B.Eerdmans Publishing Company, 1972), 190 pp.

No Comments

Comments are closed.