สภาพสังคมไทย

10 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 2 จาก 20 ตอนของ

สภาพสังคมไทย

เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหา โดยวิธีการแล้วจะต้องพูดถึงตัวปัญหาก่อน เป็นขั้นตอนของการแก้ปัญหา คือต้องรู้ถึงสภาพของปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสืบสาวหาสาเหตุเพื่อดำเนินการวางวิธีแก้ไข เป็นอันว่าตอนต้นจะต้องพูดถึงสภาพปัญหาของสังคมไทย แต่การที่จะพูดถึงปัญหาของสังคมไทยให้ละเอียดลออนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ในเวลาอันจำกัดนี้ จึงจำเป็นต้องหาวิธีการพูดสั้นๆ ให้มองเห็นเป็นภาพกว้างๆ อาตมภาพก็มานึกถึงคำของฝรั่ง ๒ คน ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมไทย อย่างไรก็ตามขอให้นึกว่าคำกล่าวนี้อาจจะเกินความจริงไปบ้าง คือไม่ได้มุ่งว่าถ้อยคำนี้จะเป็นจริงแน่นอนลงไป เป็นเพียงอ้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นสภาพที่เราพอจะเข้าใจกันอยู่ อันที่หนึ่ง อาตมภาพได้ยินจากคนที่อยู่ฝ่ายวิชาการของกทม. ก็คงไม่ต้องออกชื่อท่านผู้พูด เรื่องมีว่า ฝรั่งคนหนึ่งจะเดินทางมาวิเคราะห์ปัญหาบางอย่างในประเทศกัมพูชาหรือเขมร ท่านผู้นี้ถูกฝรั่งอื่นๆ เตือนว่าประเทศเขมรอย่าไปเลย อันตราย กำลังมีการรบราฆ่าฟันกันหนัก แต่เขาก็มีเหตุต้องมา ในที่สุดเขาก็ได้เดินทางมาเขมร เมื่อมาถึงประเทศเขมร เขาก็ได้ดูสภาพการณ์ต่างๆ ก็น่ากลัวอยู่ เมื่อมาถึงเขมรก็มาใกล้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง และคิดว่าควรต้องเดินทางมาประเทศไทยด้วย และเขาก็ได้เดินทางมาประเทศไทย เมื่อกลับไปแล้วเขาได้คุยย้อนหลังว่า เมืองไทยน่ากลัวที่สุดในโลก ที่เขารอดชีวิตกลับไปได้ก็นับว่าเป็นบุญแล้ว ที่เขาพูดอย่างนี้หมายความว่าประเทศไทยน่ากลัวกว่าประเทศเขมร ที่เขาว่านี้เป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของชีวิต เช่น อาชญากรรม อุบัติเหตุ ตลอดจนความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะเขาเน้นความปลอดภัยบนท้องถนน พูดทำนองว่าเขาอยู่บนท้องถนนในเมืองไทยในกรุงเทพฯ น่ากลัวยิ่งกว่าสู้กระทิง หากว่าสู้กระทิงเขายังมีผ้าแดงสำหรับเอาไว้ช่วยตัวเองได้ แต่มาอยู่บนถนนเมืองไทยเขาไม่มีอะไรช่วยตัวได้เลย อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ดูคนอื่นเขามองเกี่ยวกับสภาพความปลอดภัย เราก็รู้อยู่ทั่วไป อย่างทางตำรวจจราจร และกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ออกข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า สถิติการเสียชีวิตบนถนนหลวงในประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นปีละถึงร้อยละ ๒๘ มีคนตายบนถนนมากกว่าตายเพราะโรค ตามสถิติปี ๒๕๒๒ มีคนตายด้วยอุบัติเหตุทั้งหมดถึง ๑๖,๐๐๐ คน โรคหัวใจที่ทำให้คนตายมากที่สุดก็เพียง ๑๓,๐๐๐ คน แสดงว่าการตายด้วยอุบัติเหตุมีมาก

ต่อไปอีกอย่างหนึ่งก็ชื่อหนังสือ มีฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาวิจัยในเมืองไทย แล้วเขียนหนังสือทางวิชาการขึ้น ตั้งชื่อว่า Modernization Without Development1 แปลว่า ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา เขาหมายถึงประเทศไทย เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนถึงประเทศไทยทั้งสิ้น สรุปว่า ประเทศไทยทันสมัยแต่ไม่ได้พัฒนาเลย หมายความว่าประเทศไทยมีตึกรามใหญ่โต หรูหรา สิ่งของ เครื่องใช้ฟุ่มเฟือยความสะดวกสบายแทบทุกอย่าง ประเทศฝรั่งอเมริกามีอะไรปุ๊บเดี๋ยวไทยก็มีปั๊บ มีสถาบันสังคม สถาบันการเมืองที่ทันสมัย แต่พอมองดูเนื้อหา มองดูด้านเศรษฐกิจ สภาพความยากจนแร้นแค้นไม่ดีขึ้น ช่องว่างทางสังคมทางฐานะทางเศรษฐกิจเหมือนกับว่ากว้างออกไปทุกที ทีนี้ด้านสังคมทั่วไป ก็เต็มไปด้วยความขาดระเบียบวินัย อาชญากรรม การมัวเมายาเสพติด สถานอบายมุข โอกาสในทางสังคมยังไม่เสมอภาค การพัฒนาที่ยังไม่สมดุลระหว่างชนบทกับในตัวเมือง เป็นต้น หรือมองในแง่การเมืองก็มีรูปแบบเป็นประชาธิปไตย แต่ตัวประชาธิปไตยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ล้มลุกคลุกคลาน หรือที่พูดกันภาษาตลาดว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบ อันนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการที่เขาสรุปความเห็นว่า เมืองไทยได้ทำอะไรต่างๆ ให้ทันสมัยแต่ไม่ได้พัฒนา คือมีรูปลักษณะภายนอกเป็นวัตถุหรือรูปแบบที่ทันสมัย แต่เนื้อหาสถาบันต่างๆ ยังไม่ได้พัฒนาศักยภาพของตนให้ดีขึ้น ที่ว่าอย่างนี้อาจเป็นการมองในแง่ร้ายอยู่บ้าง แต่ว่าเป็นทัศนะของคนภายนอกที่มองดูเรา อาตมภาพว่าเรารับฟังคนอื่นในแง่ร้ายไว้ก็ดี เพราะเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขตนเอง เป็นอันว่าอาตมภาพจะขอพูดถึงสภาพของปัญหาสังคมไทยสั้นที่สุดเพียงเท่านี้ เพราะไม่มีเวลาพูดกันยืดยาว เป็นเพียงให้สะท้อนมองเห็นภาพเอาเอง

ทีนี้ การที่จะมองเห็นทางแก้ไข เราจะต้องรู้ทางที่สังคมไทยเดินมา และทางที่เรามุ่งหน้าจะไป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญทั้ง ๒ อย่าง ในที่นี้ อาตมภาพจะพูดถึงทางที่กำลังมุ่งจะไปเสียก่อน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยมีความโน้มเอียงที่จะตามสังคมตะวันตก พูดให้ชัดก็ได้ว่า นิยมอเมริกัน แม้เราจะติเตียนว่าเขาบ้าง แต่สภาพความจริงก็เป็นอย่างนั้น เราเอาอเมริกาเป็นแบบในเรื่องราวหลายอย่าง ในกิจการเป็นอันมาก มีอะไรเกิดขึ้นในสังคมอเมริกันรู้สึกว่าคนในสังคมของเรามีความตื่นตัวและตื่นเต้นที่จะรับ ทีนี้ เราเดินตามเขาเราควรจะศึกษาให้รู้เท่าทันว่าสภาพสังคมอเมริกันที่เขากำลังเป็นอยู่เป็นอย่างไร และเขามีความโน้มเอียงว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อว่าถ้าเราเดินตามเขาไป เรารู้ว่าเขาเป็นอย่างไร เราจะได้รู้จักเอาสิ่งที่เขาประสบมาเป็นบทเรียน สิ่งที่เขาได้พบไม่ดีเป็นผลร้าย เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงได้ ตลอดจนกระทั่งที่ว่าเราเดินตามเขานั้น เราเดินทางเดียวกับเขาจริงหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าตั้งเป็นข้อสงสัยด้วย

ตอนนี้ อาตมภาพขอโอกาสพูดถึงสภาพของสังคมอเมริกันสักเล็กน้อย การที่พูดนี้มิได้หมายความว่าจะตั้งตัวเป็นนักสังคมวิทยา แต่เป็นเพียงการเสนอความเห็นอย่างกว้างๆ ซึ่งท่านที่เป็นนักสังคมวิทยาอาจพูดได้ละเอียดลออดีกว่า เป็นการเสนอเพื่อเป็นแนวในการคิดพิจารณาหรือช่วยกันมองต่อๆ ไป อย่างไรก็ดี การที่จะพูดเรื่องสังคมอเมริกัน ต้องขอประทานอภัยเล็กน้อย คือว่าญาติโยมฟังพระพูดภาษาอังกฤษมักจะรู้สึกขัดๆ หู แต่วันนี้จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษบ้างบางคำ ความจริงเรื่องภาษาก็เป็นเพียงการสื่อความหมายให้รู้เข้าใจกัน อันใดจำเป็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจดีขึ้นก็ควรจะต้องใช้บ้าง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)สภาพสังคมอเมริกัน >>

เชิงอรรถ

  1. Norman Jacobs, Modernization Without Development : Thailand as an Asian Case Study (New York : Praeger Publishers, 1971), dZO pp.

No Comments

Comments are closed.