การแนะแนว : หน้าที่ของปัจจัยภายนอก

26 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 7 จาก 15 ตอนของ

การแนะแนว : หน้าที่ของปัจจัยภายนอก

ได้พูดถึงตัวประกอบต่างๆ ในกระบวนการพัฒนาตน หรือการศึกษาของมนุษย์ ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์มาแล้วข้างต้น ถ้าขาดองค์ประกอบเหล่านี้ไป กระบวนการศึกษาหรือพัฒนาตน หรือการดำเนินชีวิตถูกต้องก็ไม่เกิดขึ้น

เมื่อปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่าเป็นปัจจัยภายในตัวมนุษย์ไม่ทำงาน เช่น ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ก็ไม่มี จิตสำนึกในการพัฒนาตนก็ไม่มี ความรู้จักคิด คิดเป็นก็ไม่มี ถ้าปัจจัยภายในเหล่านี้ไม่ทำงาน ก็ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมาช่วยกระตุ้น

พอถึงตอนนี้ ก็มาถึงจุดเริ่มของการแนะแนว คือ เมื่อปัจจัยภายในไม่ทำงาน จึงต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมาช่วยกระตุ้น ตรงนี้คือตำแหน่งหน้าที่ของการแนะแนว และบุคคลผู้ทำหน้าที่แนะแนว คือ ให้ปัจจัยภายนอกมาช่วยกระตุ้นปัจจัยภายในเหล่านั้นให้ทำงาน หรือให้เกิดขึ้น

ตัวปัจจัยภายนอกที่มาช่วยกระตุ้นนี้ เรียกตามศัพท์ทางพุทธศาสนาว่า กัลยาณมิตร อันนี้เป็นศัพท์ธรรมดาที่เราก็ใช้กันมากแล้ว แต่ความหมายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องมาชี้แจงกันอีกทีหนึ่ง ในความหมายของพุทธศาสนา กัลยาณมิตร ก็คือปัจจัยภายนอก ที่มาช่วยกระตุ้นให้ปัจจัยภายในเกิดขึ้นและทำงาน

ทีนี้ ปัจจัยภายในที่พูดมานั้นก็มีมากมายหลายอย่าง คงประมาณ ๖ อย่าง แต่ตัวที่ท่านเน้นที่สุด เป็นตัวที่โยงไปสู่การแก้ปัญหาโดยตรงก็คือ ตัวที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย คือ การรู้จักคิดหรือคิดเป็น อันนี้เป็นตัวเด่น ซึ่งท่านจัดเป็นคู่กันกับกัลยาณมิตร บอกว่าเป็นปัจจัยสองอย่างในกระบวนการพัฒนาปัญญาของมนุษย์ คือปัจจัยภายนอก หรือองค์ประกอบภายนอก ได้แก่ กัลยาณมิตร คู่กับปัจจัยภายในเมื่อกี้นี้ คือ โยนิโสมนสิการ การรู้จักคิดหรือคิดเป็น

ปัจจัยภายนอก คือกัลยาณมิตรนี้ ควรจะช่วยกระตุ้นโยนิโสมนสิการให้เกิดขึ้น เมื่อคนรู้จักคิด หรือคิดเป็นแล้ว ก็จะเกิดปัญญา และแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ในตอนแรกก็จะเกิดความเข้าใจถูกต้องก่อน เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ก็คือองค์ประกอบข้อแรกในระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ที่เราเรียกว่า อริยมรรค ซึ่งมีองค์แปดประการ

เป็นอันว่า เมื่อมีกัลยาณมิตรมากระตุ้นปัจจัยภายในให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะทำให้รู้จักคิดขึ้นแล้ว ก็เกิดความรู้เข้าใจถูกต้อง ทำให้แสดงออกโดยรู้จักปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ปฏิบัติถูกต้องต่อชีวิตของตน จึงแก้ปัญหาได้

เมื่อเราจับกระบวนการอันนี้ได้แล้ว ก็ออกมาสู่ภาคปฏิบัติว่า ในการกระตุ้นให้ปัจจัยภายในทำงานหรือให้เกิดขึ้นนั้น กัลยาณมิตรหรือผู้แนะแนวจะต้องทำอะไรบ้าง หมายถึงสิ่งที่เราจะต้องทำ หรือสิ่งที่ควรจะกำหนดไว้ในใจ เวลาคนหรือเด็กนักเรียน นักศึกษา เกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งเราควรจะมีจุดพิจารณาหรือมีสิ่งที่คำนึงไว้ โดยเฉพาะควรตรวจสอบว่าเขาขาดอะไรไป เพื่อเราจะได้ช่วยแนะแนวนำทางเขา ให้พัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ท่าทีต่อประสบการณ์ : จุดเริ่มของ ปัญญา หรือ ปัญหาตรวจสอบก่อน เพื่อทำงานให้ตรงเป้า >>

No Comments

Comments are closed.