องค์ประกอบในการศึกษาหรือพัฒนาศักยภาพ

26 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 5 จาก 15 ตอนของ

องค์ประกอบในการศึกษาหรือพัฒนาศักยภาพ

ในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น หลักการที่หนึ่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น คือศรัทธา แต่ศรัทธานี้ไม่ใช่ศรัทธาที่ไปฝากความหวัง ฝากความเชื่อไว้วางใจปลงใจให้กับผู้อื่น

ศรัทธาของพระพุทธศาสนา คือ โพธิศรัทธา เราเรียกเต็มว่า ตถาคตโพธิสัทธา ได้แก่ ศรัทธา หรือความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธะได้

หลักโพธิศรัทธานั้นแสดงว่ามนุษย์นี้มีปัญญาอยู่ มีเชื้อแห่งปัญญาที่พัฒนาได้ ฉะนั้น ในประเพณีของพระพุทธศาสนาจึงมีความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าได้ ใครก็ตาม เมื่อพร้อมแล้วก็สามารถตั้งความปรารถนา เรียกว่า อธิษฐานจิต คือการตั้งใจแน่วแน่ว่า เราจะเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งจะเป็นได้ด้วยการบำเพ็ญบารมี คือพัฒนาตัวเองขึ้นไปตามลำดับ ให้มีคุณสมบัติข้อนั้นๆ อย่างพร้อมบริบูรณ์ จนทำให้เกิดปัญญาตรัสรู้สัจธรรมทั่วรอบ

ตกลงว่า ในทางพุทธศาสนาให้มนุษย์มีความเชื่อในปัญญา ที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธได้ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง เมื่อเราเห็นพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง เราเชื่อว่านี้คือมนุษย์ตัวอย่าง ซึ่งเป็นผู้ได้พัฒนาตนอย่างสูงสุดแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากขอบเขตความบีบคั้นจำกัดแล้ว มีคุณสมบัติอย่างนี้ๆ มีปัญญาดีอย่างนี้ๆ แล้วเราก็เกิดความมั่นใจในตัวเอง ที่จะพัฒนาตนโดยดำเนินตามแนวทางที่พระองค์ได้ชี้ให้ นี้เป็นหลักเบื้องต้น

ในการศึกษา เราจะต้องสร้างความมั่นใจในศักยภาพนี้ เมื่อมีศักยภาพนี้ มีความสำนึกในการที่จะพัฒนาตนแล้ว ก็ดำเนินกิจกรรมการศึกษาต่อไป

นอกจากมีความมั่นใจในศักยภาพของตนแล้ว เราจะลงมือพัฒนาตนได้ ยังต้องมีอะไรอีก จะลงมือพัฒนาตนได้ก็ต้องมีแรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองนั้น แรงจูงใจอะไรที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเอง ก็ได้แก่ความใฝ่รู้ความจริง เพราะท่านบอกไว้แล้วว่าความจริงมันเป็นไปตามธรรมดาของมัน เราจะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง จะดำเนินชีวิตถูกต้องได้ก็ต้องรู้ความจริง เราจึงต้องใฝ่รู้ความจริงนั้น

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีแรงจูงใจนี้ คือใฝ่ความจริง ซึ่งเมื่อพูดในเชิงการกระทำก็ได้แก่ความใฝ่รู้ เมื่อใฝ่รู้แล้ว พร้อมกันนั้น ก็มีความใฝ่ปรารถนาที่เป็นคู่กันด้วย คือต้องการให้ชีวิตของเรานี้พัฒนาไปสู่ความดีงาม ที่จะเป็นผู้สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นผู้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง เรียกสั้นๆ ว่า ใฝ่ความดีงาม ใฝ่ความดีงามนั้น พูดในเชิงการกระทำเรียกว่า ใฝ่สร้างสรรค์

ขอให้มองดู ใฝ่ความจริง ความจริงนี้เป็นตัวกรรม ใฝ่ความจริง ออกมาเป็นการกระทำก็คือ ใฝ่รู้ ใฝ่ความดีงาม ออกเป็นการกระทำก็คือ ใฝ่สร้างสรรค์ หรือ ใฝ่ทำ คืออยากทำให้เกิดความดีงามนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องมีใฝ่รู้และใฝ่ทำ หรือใฝ่สร้างสรรค์ นี้เป็นแรงจูงใจที่ทางพระเรียกว่า ฉันทะ

พอถึงตอนนี้เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงแล้ว เมื่อกี้นี้เรามีแรงจูงใจที่เรียกว่าตัณหาเป็นตัวนำชีวิต ตอนนี้เราจะเปลี่ยนมาเป็นแรงจูงใจที่เรียกว่าฉันทะ คือความใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์ และจะให้ฉันทะนี้เป็นตัวนำชีวิตแทน

ทีนี้ แรงจูงใจที่ว่านี้จะได้ผล ก็ต้องรู้จักคิดรู้จักพิจารณา เรียกว่า คิดเป็น ถ้าไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักพิจารณา คิดไม่เป็นแล้ว ถึงมีแรงจูงใจก็พัฒนาปัญญาไม่ได้ จึงต้องรู้จักคิด หรือคิดเป็นด้วย

ทีนี้การรู้จักคิด หรือคิดเป็นนี้ จะต้องมีจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่การมีท่าที หรือมีเจตคติที่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายทุกอย่าง ท่าทีที่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายนี้เป็นจุดเริ่มต้น เพราะเป็นจุดที่เราเพิ่งพบกับประสบการณ์ต่างๆ มนุษย์เรานี้เริ่มต้นจะมีความรู้ได้หรือจะทำอะไรได้ก็ด้วยการมีประสบการณ์

ปัญหาและปัญญาของมนุษย์ เริ่มจากประสบการณ์ เมื่อเราพบประสบการณ์หรือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเราไม่มีความรู้จึงปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เกิดปัญหา แต่ถ้าเราเริ่มด้วยปัญญามีความรู้ ก็ปฏิบัติได้ถูก ไม่เกิดปัญหาหรือแก้ปัญหาได้ จุดเริ่มต้นจึงอยู่ที่การพบกับประสบการณ์ ว่าจะพบกับมันอย่างไร

การพบประสบการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นจุดแยกหรือเป็นต้นทางสองแพร่งด้วย คือจะเป็นการพบกับประสบการณ์ด้วยท่าทีที่ผิดพลาด หรือด้วยท่าทีที่ถูกต้อง ถ้าเริ่มต้นจากการมีท่าทีหรือการมีเจตคติที่มองสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่การปฏิบัติถูกต้องต่อชีวิตของตน แล้วก็นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ

ดังนั้น วนไปเวียนมา ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเรานี้เอง เมื่อต้องการจะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้อง จุดเริ่มต้นก็ต้องมีท่าทีที่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายที่ได้พบเห็น เพื่อให้เป็นท่าทีที่ถูกต้องในการที่จะทำให้เกิดความรู้และพัฒนาปัญญาขึ้นมา

ตอนนี้เราพูดมาจบกระบวนการแล้ว ก็ขอย้อนกลับมาอีกทีหนึ่งว่า จุดเริ่มต้นของการแนะแนวอยู่ที่ว่ามนุษย์ต้องการการแนะแนว เพราะมนุษย์นั้นยังช่วยตัวเองไม่ได้ เราจึงต้องช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ ทีนี้คนนั้นช่วยตัวเองไม่ได้เพราะอะไร เราต้องหาเหตุแล้วไปแก้ที่เหตุนั้น การที่จะวิเคราะห์หาเหตุก็ดูจากที่พูดมาเมื่อกี้นี้ ซึ่งก็จะมองเห็นว่า ถ้ามนุษย์ขาดคุณสมบัติหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่พูดมาเมื่อกี้แล้ว มนุษย์ก็จะตกอยู่ในสภาพของการพึ่งตัวเองไม่ได้

องค์ประกอบต่างๆ ที่ขาดแล้วพึ่งตัวเองไม่ได้ มีอะไรบ้าง เริ่มด้วยขาดความรู้ความเข้าใจ คือขาดปัญญา อันนี้มองเห็นได้ง่าย แล้วขาดอะไรอีก อาจขาดจิตสำนึกในการพัฒนาตน ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกฝนปรับปรุงตนเอง ก็จึงไม่นำไปสู่การเพียรพยายาม หรือเอาใจใส่ในการพัฒนาตนเอง

ต่อจากนั้นขาดอะไรอีก ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือขาดความมั่นใจในศักยภาพของตน ไม่เชื่อมั่นในตนเอง ไม่มองตนเองในฐานะเป็นสัตว์ที่ฝึกฝนและพัฒนาตนเองได้ ว่าเรามีความสามารถในการที่จะพัฒนาตนจนถึงขั้นสูงสุด แล้วขาดอะไรอีก

พูดให้ครบสิ่งที่พูดมาแล้ว คือขาดแรงจูงใจที่ถูกต้อง หรือขาดแรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาตนหรือพัฒนาศักยภาพ ขาดความรู้จักคิด คิดไม่เป็น แล้วสุดท้ายมีท่าทีไม่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย คือต่อประสบการณ์ทั้งหลายที่รับเข้ามา

องค์ประกอบอีก ๒ อย่าง ก็สำคัญมาก ถึงจะไม่ใช่เนื้อในของเรื่อง แต่ก็ขาดไม่ได้เหมือนกัน เพราะเป็นตัวเร่ง และเป็นตัวจัดสรรควบคุม

ตัวเร่ง ก็คือ ความกระตือรือร้นขวนขวาย ความเร่งรัดตัวเองให้ลงมือทำ ไม่เฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย คุณสมบัติข้อนี้ เกิดจากการมีจิตสำนึกในความเปลี่ยนแปลง เห็นความไม่คงที่ถาวร หรือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วมองเห็นความสำคัญของกาลเวลา จึงไม่ยอมปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า และเร่งทำการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อให้กระแสของความเปลี่ยนแปลงดำเนินไปในทางที่ดีงามเป็นประโยชน์อย่างทันเวลา องค์ประกอบข้อนี้เรียกว่า ความไม่ประมาท

ตัวจัดสรรและควบคุม ก็คือ ความมีวินัย วินัยนั้นเป็นการจัดระเบียบชีวิตของตน และระเบียบการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ในด้านหนึ่ง มันเป็นการจัดสรรลำดับและจังหวะเป็นต้น ซึ่งทำให้มีช่องมีโอกาสที่จะทำอะไรๆ ได้สะดวกและมากขึ้น และอีกด้านหนึ่ง มันเป็นการรู้จักบังคับควบคุมกายวาจาหรือพฤติกรรมการเคลื่อนไหวทำการต่างๆ ของตนให้สอดคล้องกับลำดับ จังหวะ หรือช่องโอกาสที่จัดสรรไว้

คนที่ไม่มีวินัย คือ คนที่จัดสรรบังคับควบคุมพฤติกรรมของตน หรือการเคลื่อนไหวใช้กายวาจาของตนไม่ได้ นอกจากจะทำให้ชีวิตของตนเองสับสนไม่เป็นระเบียบแล้ว ก็พาให้ชุมชนและสังคมวุ่นวายระส่ำระสายด้วย เพราะต้องเกิดความขัดแย้ง และการล่วงละเมิดต่อกัน กลายเป็นการรุกราน เบียดเบียน ข่มเหง เอาเปรียบ และความไม่เป็นธรรมต่างๆ แล้วก็ทำให้ทุกคนสูญเสียโอกาสในการพัฒนาตนและสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ

ความมีวินัยจึงมีความจำเป็นมาก เพราะจะช่วยจัดสรรควบคุมให้องค์ประกอบอื่นๆ มีโอกาสทำหน้าที่และออกผลในการพัฒนาบุคคลได้เต็มที่ คนที่รักษาวินัยหรือประพฤติตนตามวินัย เรียกว่าคนมีศีล ความมีวินัย จึงเรียกง่ายๆ ว่าศีลนั่นเอง

สรุปท้ายตอนนี้ว่า เราได้ทราบแล้ว ทั้งวงจรปัญหา และกระบวนการแก้ปัญหา

วงจรปัญหา หรือวังวนแห่งทุกข์ เริ่มด้วยอวิชชา คือเมื่อไม่รู้ และไม่ปฏิบัติการในวิถีทางของความรู้ ก็ทะยานพล่านไปตามความอยาก คือตัณหา ได้แต่ดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดและได้เสพสนองประสาทสัมผัส โดยไม่ได้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้อง ก็ติดตันเกิดความบีบคั้น เป็นปัญหา ตกลงไปในทุกข์ แล้วก็ดิ้นรนทะยานไปในวิถีทางของอวิชชาและตัณหาอย่างเดิม จึงสะสมปัญหาและว่ายวนอยู่ในทุกข์เรื่อยไป

ในทางตรงข้าม กระบวนการแก้ปัญหา มีแกนกลางอยู่ที่ปัญญา เริ่มด้วยบุคคลมีความใฝ่ปัญญาที่เรียกว่า ฉันทะ คือใฝ่รู้ความจริงและปรารถนาจะทำชีวิตให้ดีงาม จึงสืบสาวหาความรู้ในเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายที่สัมพันธ์อิงอาศัยกัน แล้วดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้องตามความจริงนั้น ก็แก้ปัญหาได้ และปลอดพ้นจากทุกข์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แนะแนวได้เพราะมนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้จนสูงสุดท่าทีต่อประสบการณ์ : จุดเริ่มของ ปัญญา หรือ ปัญหา >>

No Comments

Comments are closed.