แนะแนวได้เพราะมนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้จนสูงสุด

26 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 4 จาก 15 ตอนของ

แนะแนวได้เพราะมนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้จนสูงสุด

จากที่พูดมานี้ก็สรุปได้ว่า การที่จะมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยดีนั้น ก็คือรู้จักแก้ปัญหาได้ ดับทุกข์ได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าสามารถทำไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ให้เกิดทุกข์ ซึ่งการที่จะทำอย่างนี้ได้ก็โยงไปหาสิ่งที่จำเป็นอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น เราอาจพูดเป็นลำดับว่า เราจะแก้ปัญหาได้ก็ต้องปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย ที่ว่าปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายก็คือ ปฏิบัติถูกต้องต่อชีวิตของตน ต่อสังคม ต่อธรรมชาติที่แวดล้อมตัว ทีนี้จะปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น ก็ต้องรู้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นถูกต้องตามเป็นจริง ต้องรู้เข้าใจตามที่มันเป็นตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

ทีนี้ จะรู้เข้าใจตามเป็นจริง คือมีปัญญา ก็ต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง ปรับปรุงตนเอง ปรับตัวให้ดีขึ้น การที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นไป ก็ต้องมีจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตน หรือจิตสำนึกในการศึกษา จึงจะทำให้มีความเอาจริงเอาจัง หรือมีความคิดริเริ่มในการที่จะพัฒนาตัวเอง

ที่เป็นพื้นฐานลงไปอีก การที่คนจะเกิดจิตสำนึกที่จะพัฒนาตนเองได้ เขาจะต้องมีความมั่นใจในศักยภาพของตน ต้องเชื่อว่าตนเองนั้นเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ และเป็นสัตว์ที่จะต้องพัฒนาจึงจะดีได้ อันนี้เป็นหลักสำคัญเป็นพื้นฐานทีเดียว ต้องมีแต่เบื้องต้น คือความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ของตน ที่เป็นสัตว์ซึ่งพัฒนาได้ ฝึกฝนได้ พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า มั่นใจในความเป็นมนุษย์ของตน ซึ่งเป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก

พระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญแก่หลักการนี้มาก จะเห็นว่ามีคำพูดประเภทที่บอกว่า มนุษย์นั้นพัฒนาตนเองได้ ฝึกฝนตนเองได้จนกระทั่งเป็นผู้ประเสริฐสุด ท่านบอกว่า เมื่อมนุษย์พัฒนาตนเองแล้วนั้น แม้แต่เทพและพรหมก็น้อมนมัสการ นี่ก็เป็นหลักที่ทำให้เกิดความมั่นใจแก่มนุษย์ สร้างความมั่นใจแก่ตนเอง พระพุทธเจ้าตรัสพุทธภาษิตแบบนี้มากมาย

ธรรมดาแต่ก่อนนั้น มนุษย์เชื่อและเคารพบูชาเทพเจ้า เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของมนุษย์และบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง เทพเจ้าทั้งหลายก็มีอำนาจพิเศษ ที่มนุษย์ทั้งหลายจะต้องบวงสรวงอ้อนวอน เพื่อให้ช่วยตนให้พ้นจากภัยพิบัติ และให้ได้รับสิ่งที่ต้องการ นี้เป็นสภาพที่มีมาก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น

เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ทันที พระพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนของมนุษย์ (ที่พัฒนาตนดีแล้ว) ได้ทรงประกาศว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก เราคือผู้เป็นใหญ่ของโลก

คำประกาศนี้เรียกว่า อาสภิวาจา เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าในเวลาประสูติ การประสูติของพระพุทธเจ้า หมายถึง การที่มนุษย์จะพูดได้ว่าเราเป็นเลิศแห่งโลก คำว่า โลก หมายถึงทั้งจักรวาล

คำว่าเราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลกนี้ เป็นการประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ คือเดิมนั้นเชื่อกันว่าพระพรหมเป็นผู้ประเสริฐสุด เพราะว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ พระองค์ก็ประกาศอิสรภาพให้มนุษย์เชื่อใหม่ว่า มนุษย์นั้นมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ และเมื่อพัฒนาสูงสุดแล้วก็ประเสริฐยิ่งกว่าพรหม ยิ่งกว่าเทพทั้งหลาย

ถ้ามนุษย์เชื่อตามคำประกาศของพระพุทธเจ้านี้ มนุษย์ก็จะเปลี่ยนแนวความสนใจจากการไปหวังพึ่ง ไปคอยบวงสรวง ไปอ้อนวอนให้เทพเจ้าบันดาล เปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาตนเอง ทำให้มีการศึกษา คือฝึกฝนปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเมื่อพัฒนาสูงสุดแล้ว แม้แต่เทพ พรหม ก็ยังมานอบน้อมนมัสการ มาบูชา ดังมีคำกล่าวทำนองนี้มากมาย เช่นว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่าในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วหรือพัฒนาตนแล้ว คือมีการศึกษานั้นเอง เป็นผู้ประเสริฐที่สุด

นี้เป็นหลักการสำคัญที่แสดงว่าพระพุทธศาสนาเน้นเรื่องการพัฒนาตนเอง โดยให้มั่นใจในศักยภาพของมนุษย์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ธรรมชาติของมนุษย์ และกระบวนการของการศึกษาองค์ประกอบในการศึกษาหรือพัฒนาศักยภาพ >>

No Comments

Comments are closed.