องค์รวมพื้นฐาน คือองค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตของทุกๆ คน เราเริ่มต้นกันหรือยัง?

27 ธันวาคม 2545
เป็นตอนที่ 14 จาก 17 ตอนของ

องค์รวมพื้นฐาน คือองค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตของทุกๆ คน เราเริ่มต้นกันหรือยัง?

รวมแล้วก็คือ เราควรตามดูอย่างรู้เท่าทันว่าสังคมตะวันตกเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะต้องไปชื่นชมนิยมตาม

ความรู้เท่าทันนี่สำคัญ ต้องทันสังคมตะวันตกว่า อเมริกันเป็นอย่างไร พร้อมกับที่เจริญก้าวหน้ามานั้น เขาพลาดอย่างไร เขาเผลอด้านไหน เขาขาดอะไร เขาออกนอกทางไปอย่างไร สุดโต่งอย่างไร เมื่อรู้เขา เราก็จะเป็นตัวของเราเอง

ความรู้ชัดจะทำให้เราเกิดอิสรภาพ เพราะว่าอิสรภาพจะได้มาด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา อิสรภาพก็ไม่เกิดขึ้น

ปัญญาเป็นตัวปลดปล่อย เวลานี้เราชอบใช้คำว่า “ปลดปล่อย” เราไปปลดปล่อยทางสังคม ปลดปล่อยอะไรต่ออะไรกันเยอะ แต่จะปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากอำนาจกิเลส จากอวิชชา จากความมืดบอดได้ ก็ต้องเอาปัญญามาปลดปล่อย ปัญญาจะเป็นตัวปลดปล่อยจิตใจด้วย ทำให้คนหลุดพ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ได้

ตกลงก็เอาปัญญานี่มาเป็นองค์ประกอบร่วม ซึ่งก็อยู่ในองค์รวมแห่งระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งมี

หนึ่ง ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งทางวัตถุธรรมชาติ และทางสังคม ด้วยกาย วาจา และด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เรียกว่าอินทรีย์ ซึ่งก็สัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา เป็นชีวิตด้านที่มองเห็นกันทั่วไป

สอง แล้วเบื้องหลังความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ที่แสดงออกมาด้วยพฤติกรรมและการสื่อสารทางอินทรีย์นั้น ก็มีจิตใจ เป็นเจ้าของบทบาทและเป็นนายงาน ซึ่งประมวลเอาคุณสมบัติของมัน แสดงออกมาผ่านเจตนาหรือเจตจำนง แล้วเจตจำนงนี้ก็เป็นตัวนำพฤติกรรมที่จะสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมว่าจะเอาอย่างไร จะสัมพันธ์ในทางที่เป็นบวก หรือเป็นลบ ในทางที่เป็นความเกื้อกูลหรือเป็นการทำลาย หรืออย่างไรๆ ทั้งหมดนั้นก็อยู่ที่เจตจำนง

สาม เบื้องหลังเจตจำนงนี้ก็มีทิฐิ คือ ความรู้เข้าใจแนวคิดความเชื่อคอยปรุงแต่งชี้นำกำกับ โดยบอกจุดหมายและทิศทางให้แก่เจตนา ทั้งนี้ภายใต้การส่องทางของปัญญา โดยที่ปัญญาจะมาขยายเบิกช่องทาง ปรับแก้ และทำให้ผ่านพ้นความติดขัดต่างๆ แก้ปัญหาไปได้อย่างแท้จริง

นี่คือหลักองค์รวมของการดำเนินชีวิต ที่มีองค์ประกอบ ๓ ด้าน ซึ่งใช้เป็นหลักแห่งการศึกษาพัฒนามนุษย์ คือ

๑. ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ และทางสังคม ด้วยกาย วาจา และอินทรีย์ เมื่อมีการพัฒนาก็เป็นการศึกษาด้าน “ศีล”

๒. เรื่องของจิตใจที่ออกมาทางเจตจำนงหรือเจตนากำกับบัญชาพฤติกรรม แล้วก็นำความเป็นไปของโลก โดยเฉพาะสังคมมนุษย์นี้ ให้เป็นไปตามกรรมของมนุษย์ คือการกระทำ คำพูด ความคิด ทั้งหมดนี้ เมื่อมีการพัฒนา ก็เรียกสั้นๆ ว่า เป็นการศึกษาด้าน “สมาธิ”

๓. การพัฒนาปัญญา ที่เป็นตัวรู้ เป็นตัวจัดปรับแก้ไข ขยายขอบเขตของพฤติกรรม และจิตใจทั้งหมด ตลอดจนปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ เป็นการศึกษาด้าน “ปัญญา”

คนเราก็อยู่กันแค่นี้ ถ้าจับหลักได้ก็มองเห็น ๓ ส่วน ซึ่งเป็นเนื้อตัวแห่งชีวิตของเรา ถ้าเราจัดการกับองค์ประกอบเหล่านี้ได้ถูกต้อง เราก็ดำเนินชีวิตได้ดี และปฏิบัติเกี่ยวข้องสัมพันธ์ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ผลดี สามารถออกไปร่วมแก้ไขปัญหาสังคม สร้างสรรค์ ตลอดจนนำสังคมได้ทุกระดับ จนถึงสังคมวงกว้าง คือโลกทั้งหมด

องค์รวมแห่งระบบการศึกษาพัฒนาชีวิตนี้ เป็นองค์รวมพื้นฐาน ถ้าแค่องค์รวมแห่งระบบชีวิตของตัวเอง ก็ยังไม่รู้เข้าใจ และจัดการให้ถูกให้ดีไม่ได้ จะไปพูดอะไรกันในเรื่ององค์รวมอื่นๆ ที่คลุมเครือ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จริงไหมว่า อารยธรรมมนุษย์ไม่ถึงจุดหมาย เพราะมัวก้าวสุดโต่งไปสุดโต่งมา?ทำองค์ร่วมให้พรั่งพร้อมถึงจุดพอดี องค์รวมก็สำเร็จเองทันที จริงไหม? >>

No Comments

Comments are closed.