โลกบัดนี้ มีอารยธรรมจริงหรือไม่?

27 ธันวาคม 2545
เป็นตอนที่ 2 จาก 17 ตอนของ

 

กระแสธรรม กระแสไท1

โลกบัดนี้ มีอารยธรรมจริงหรือไม่?

เวลานี้ยิ่งเห็นชัดว่า สังคมกำลังต้องการความร่วมมือกันในการที่จะแก้ปัญหา และในการสร้างสรรค์ต่างๆ

มีเสียงพูดบ่นกันมากเหลือเกิน แค่อ่านหนังสือพิมพ์แต่ละวันๆ ก็ชัดว่า เวลานี้คนทั่วไปเห็นกันว่า สังคมของเรามีความเสื่อมโทรม หรือตกต่ำเป็นอย่างมาก มองกว้างออกไปทั่วโลก สถานการณ์ก็ไม่น่าไว้วางใจ ไม่รู้ว่าจะเกิดสงครามใหญ่ กลายเป็นความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากมายขึ้นเมื่อใด

เรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกคน ทั้งเป็นเรื่องที่มีผลระยะยาว กระทบต่ออารยธรรมของมนุษย์ ในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับเป็นเครื่องตรวจสอบไปด้วยว่า อารยธรรมของเราที่สร้างกันขึ้นมานี้ นำมาซึ่งสันติสุขแท้จริงหรือเปล่า หรือแม้กระทั่งว่า เป็นอารยธรรมจริงหรือไม่

อาจจะต้องถึงกับไปตรวจสอบความหมายของคำว่า “อารยธรรม” กันอีกว่า อารยธรรมที่แท้นั้นคืออะไร เพราะว่าแม้แต่คำไทยกับคำภาษาอังกฤษ ก็มีความหมายไม่ตรงกันแล้ว

“อารยธรรม” แปลว่า ธรรมของอารยชน คือ คุณสมบัติของผู้เจริญ ถ้าพูดให้ตรงตามศัพท์ทางพระพุทธศาสนาแท้ๆ อารยะ ก็คืออริยะ ซึ่งแปลว่าผู้ไกลจากกิเลส เพราะฉะนั้น อารยธรรม ก็คือ ธรรมของผู้ไกลจากกิเลส

แต่เมื่อมองดูอารยธรรมปัจจุบันนี้ ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อารยธรรมนั้นเป็นคุณสมบัติ เป็นกิจกรรม และเป็นผลงานด้านต่างๆ ของผู้ที่ไกลจากกิเลสหรือไม่ หรือจะเอาตามความหมายของฝรั่ง ก็อาจจะมองอารยธรรมแค่เป็นเรื่องของคนเมือง ถ้ามุ่งหมายเพียงแค่นั้น ก็แล้วไป

แต่ว่าโดยรวม เราคงไม่ดูเพียงความหมายตามตัวอักษร

เมื่อว่าตามความหมายโดยสาระหรือโดยอรรถ แน่นอนว่า การที่มนุษย์สร้างสรรค์ความเจริญที่เรียกว่าอารยธรรมขึ้นมา ก็เพื่อความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ทั้งหลาย แต่สภาพที่มนุษย์อยู่กันอย่างที่เป็นอยู่นี้ เป็นความอยู่ดีมีสุขหรือยัง เราพูดถึงคำต่างๆ เช่น สันติภาพ และสันติสุข เป็นต้น แต่แล้วเราก็บอกว่า จนถึงเวลานี้มนุษย์ก็ไปไม่ถึงสักที พบแต่ปัญหากันอยู่เรื่อย เท่ากับบอกว่า อารยธรรมนั้น ยังไม่บรรลุผลสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< นำเรื่องสังคมไทย มีส่วนร่วมสร้างอารยธรรมหรือไม่? >>

เชิงอรรถ

  1. สัมโมทนียกถา ของ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมถวายปริญญา ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารองค์การ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๕ ณ อุโบสถวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม

No Comments

Comments are closed.