โทษอาจเกิดขึ้น และแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าเอาพระพุทธศาสนาไปใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ

24 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 10 จาก 21 ตอนของ

โทษอาจเกิดขึ้น และแก้ปัญหาไม่ได้
ถ้าเอาพระพุทธศาสนาไปใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ

อย่างไรก็ตาม ตามหลักพระพุทธศาสนา การแก้ปัญหาของมนุษย์จะต้องโยงไปหากระบวนการพัฒนามนุษย์ มนุษย์จะแก้ปัญหาไม่ตก ถ้าไม่พัฒนาตนเอง ฉะนั้น สองเรื่องนี้จึงสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การแก้ปัญหาของมนุษย์ จะต้องสัมพันธ์กับกระบวนการพัฒนามนุษย์ด้วย

ตอนนี้ก็เป็นอันว่า นักจิตวิทยาตะวันตกเริ่มเข้ามาหาพระพุทธศาสนาโดยสนใจระบบวิธีในการแก้ปัญหา หรือวิธีการที่จะทำชีวิตจิตใจให้มีความสุข แล้วก็เลยสนใจในเรื่องสมาธิ

ศัพท์ภาษาอังกฤษที่เขาเรียกสมาธินั้นก็คือ meditation อย่างไรก็ดีคำศัพท์ทำนองนี้ บางทีก็ใช้กันไม่ชัดไม่ตรง จนกระทั่งเกิดความสับสนและพร่า ซึ่งถ้ามีโอกาสก็จะต้องมีการอภิปรายหรือชี้แจงกันอีก ดังเช่น คำว่า meditation นั้นก็เป็นศัพท์ที่คลุมเครือ ถ้าจะใช้เป็นคำแปลของสมาธิ ก็จะได้เพียงด้านหนึ่งของข้อปฏิบัติทางจิตใจในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะไม่ครอบคลุมข้อปฏิบัติทางจิตใจนั้นทั้งหมด คือไม่ครอบคลุมคำที่เราใช้ว่า การเจริญภาวนา

ที่นี้ นักจิตวิทยาตะวันตกนั้น เมื่อมาสนใจในเรื่องสมาธิแล้ว ก็เลยเข้ามาศึกษาด้วยตนเองและก็มีการทดลองปฏิบัติด้วย อย่างไรก็ดี ถ้าเขาทำแค่นี้ก็ยังเป็นการเข้ามาใช้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา หรือเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเพียงระดับหนึ่ง คือ ระดับของวิธีการ ซึ่งเป็นเรื่องของการนำเอาวิธีการแก้ปัญหาไปใช้ แล้วก็จะมีความรู้สึกแปลกๆ ว่าเป็นการมาเอาสิ่งดีในพระพุทธศาสนาไปเสริมจิตวิทยาตะวันตกเท่านั้น

ที่ว่านี้หมายความว่า นักจิตวิทยาตะวันตกนั้นเขามีความเชื่อตามสำนักของตนๆ อยู่แล้ว เช่น สำนักจิตวิเคราะห์ (psycho-analysis) ก็มีความเชื่อตามแนวความคิดของตนเอง มีทฤษฎีของตนเองอยู่แล้ว เสร็จแล้วถึงแม้เขาจะมาเอาความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา คือ เรื่องสมาธินี้ไปเสริมเรื่องของเขาในด้านปฏิบัติการก็ตาม หรือในทางทฤษฎีก็ตาม เช่นในการแก้ปัญหาคนป่วยโรคจิต แต่ส่วนเนื้อตัวทฤษฎีแท้ ๆ ก็ยังคงเป็นของเดิมของเขาเอง

ทีนี้ถ้าหากทำแบบนี้ เราจะเห็นว่า มันจะมีปมปัญหาที่สำคัญเกิดขึ้น คือในเรื่องของจิตวิทยาซึ่งเป็นการแก้ปัญหาของตัวมนุษย์เองนี้ การที่จะมาใช้ มาเอาแต่เฉพาะระดับวิธีการแก้ปัญหาไปเสริมของตนเองเท่านั้น ก็จะเป็นเรื่องที่วกเข้าสู่ปัญหาใหญ่ที่สำคัญต่อไป

เรื่องนี้เป็นอย่างไร ก็จะต้องขยายความกันนิดหน่อย กล่าวคือ จิตวิทยานี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์แท้ๆ ถึงรากถึงแก่น ไม่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ ถ้าจัดให้จิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ ก็ลองเทียบกับวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ

วิทยาศาสตร์ทางวัตถุนั้นพัฒนาขึ้นมาแล้วก็มีเทคโนโลยี ซึ่งอาศัยความรู้ในวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไปประดิษฐ์ ไปสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ที่นี้สิ่งที่เกิดจากวิทยาศาสตร์แบบนั้น ที่เป็นเทคโนโลยีนี้ มันเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์แค่เปลือก แค่นอกตัว เป็นด้านนอกของชีวิตเท่านั้น เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์แบบนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าถึงความจริงพื้นฐานของมนุษย์ก็ได้ คือเรียนรู้เกี่ยวกับโลกวัตถุ มีความรู้เท่าไรก็เอามาประดิษฐ์สิ่งของให้มนุษย์ใช้ไป

เพราะฉะนั้น สำหรับวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ เราจึงสามารถใช้ประโยชน์ไปด้วย พร้อมกับที่ในเวลาเดียวกันก็พัฒนาตัวเองในแง่ของความรู้ความเข้าใจ พัฒนาทฤษฎีให้เจริญก้าวหน้าไปด้วย ความเจริญก้าวหน้าของทฤษฎีที่เพิ่มขึ้นไปๆ โดยที่ยังไม่ได้เข้าถึงความรู้ในความจริงอย่างถ่องแท้สมบูรณ์ แต่การใช้ประโยชน์ก็ใช้ไปได้เลยทีเดียว ไม่ต้องรอให้ความรู้สมบูรณ์ก่อน ดังจะเห็นว่าบางทีเมื่อความรู้ได้พัฒนาไปๆ ต่อมาก็ค้นพบว่าความรู้ที่ค้นพบแต่ก่อนนั้นผิด แต่ถึงจะผิดก็แล้วไป มันก็ไม่เสียหายแก่ชีวิตมนุษย์เท่าไร เพราะว่ามันเป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ภายนอก

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เราก็ได้เห็นกันแล้วว่า การที่เรามีความรู้ทางวัตถุคือโลกแห่งวัตถุ หรือโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อม ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์แล้วนำมาใช้ประโยชน์นั้น บางทีมันก็ก่อปัญหาแก่ชีวิตมนุษย์ไม่น้อยเหมือนกัน

อย่างที่เราประสบปัญหาเกี่ยวกับสารเคมี เกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อมเสียนี้ มันก็สืบเนื่องมาจากการที่ว่ามนุษย์มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระดับหนึ่ง แล้วก็นำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในทางเทคโนโลยี เสร็จแล้วต่อมาปรากฏว่าบังเกิดโทษขึ้น ก็ค้นพบว่าที่จริงนั้น ความรู้ที่ได้มาตอนแรกนั้นยังไม่ถูกต้อง อย่างนี้เป็นต้น

แต่อันนี้ก็อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเปลือกนอก หรือชีวิตด้านนอกของมนุษย์เท่านั้น ยังไม่สำคัญเท่าไร

ที่นี้ เมื่อมาถึงจิตวิทยาที่เป็นเรื่องของตัวมนุษย์แท้ๆ เราจะใช้วิธีแบบลองผิดลองถูกอยู่ไม่ได้ คือถ้าตราบใดที่จิตวิทยายังไม่รู้จักธรรมชาติของมนุษย์อย่างถูกต้องแล้ว การแก้ปัญหาชีวิตจิตใจมนุษย์ก็จะถูกต้องแท้จริงไม่ได้เช่นเดียวกัน อันนี้เป็นคล้ายๆ กับที่เรียกว่า dilemma คือเจอเข้ากับสถานการณ์พะอืดพะอม

ฉะนั้น ก็จึงเลยกลายเป็นเรื่องที่ว่า ถ้าหากจิตวิทยาตะวันตกมีปัญหากับการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ยังไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นอย่างนั้น แม้จะเอาวิธีการทางพระพุทธศาสนาไปใช้ ก็ยังจะแก้ปัญหาไม่ได้สิ้นเชิง คือยังไม่ถูกต้องอยู่นั้นเอง ฉะนั้น ปัญหาเรื่องวิธีการ หรือปัญหาระดับวิธีการที่เป็นการแก้ปัญหาจึงต้องโยงไปสู่ปัญหาระดับตัวองค์ความรู้ คือเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ด้วย

ในที่นี้ก็เท่ากับเป็นการสรุปว่า การแก้ปัญหาของมนุษย์ในระดับวิธีการนั้น จะถูกต้องได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจอย่างถูกต้อง เป็นฐานรองรับอยู่ก่อน และความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์นี้ก็รวมไปถึงความเข้าใจถึงจุดหมายของชีวิตมนุษย์ด้วย เป็นเรื่องที่โยงอยู่ด้วยกัน

ฉะนั้น ในกรณีที่ศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อเอาไปเสริมจิตวิทยาตะวันตก โดยเฉพาะเอาวิธีการไปใช้นี้ ก็ย่อมมีความเสี่ยงต่อความผิดพลาด ถ้าภาพของมนุษย์หรือภาพจิตใจมนุษย์ที่มีอยู่นั้นไม่ถูกต้อง และยังมองธรรมชาติของมนุษย์และจุดหมายของชีวิตมนุษย์อย่างเดิมตามภาพที่ผิดพลาดนั้น การแก้ไขปัญหาก็ยังจะต้องผิดพลาดหรือไม่ได้ผลสมบูรณ์อยู่ดี

ดังจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้มีการเอาสมาธิของตะวันออกไปใช้เพื่อสนองค่านิยมของสังคมอุตสาหกรรม คือการที่เอาสมาธิไปใช้เพื่อจะให้มีความสามารถมากขึ้นในการที่จะดำเนินธุรกิจ อันนี้ก็เป็นการประยุกต์ในกรณีที่เกิดความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยาตะวันตกกับข้อปฏิบัติทางจิตใจของตะวันออก ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์กันอีกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้องจริงหรือไม่ โดยอาศัยพื้นฐานดังได้กล่าวมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จุดที่จิตวิทยาสนใจและขยายความหมาย มาบรรจบกับพระพุทธศาสนาวิธีการต้องตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎี >>

No Comments

Comments are closed.