คอยสอน ทนให้ซัก ชักนำให้ยิ่งดี

16 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 13 จาก 17 ตอนของ

คอยสอน ทนให้ซัก ชักนำให้ยิ่งดี

ประการที่ ๔ นอกจากจะให้เกิดความรู้สึกอยู่ในใจแล้ว ยังออกมาเป็นรูปธรรมด้วย คือ วตฺตา จ เป็นผู้ที่บอกกล่าว เอาคำสอนมาบอกเล่า มาแนะนำเรา หรือคอยบอกเกี่ยวกับเรื่องการประพฤติปฏิบัติของเราว่าควรจะเป็นอย่างไร และเราทำถูกหรือทำผิด อันไหนที่เราทำไม่ถูก ท่านก็แนะนำตักเตือนให้ แนะนำบอกวิธีแก้ไขให้ อันไหนเราทำดีถูกต้องท่านก็ส่งเสริมบอกวิธีทำให้ดียิ่งขึ้นไป เราก็ได้ธรรมเพิ่มขึ้น การบอกกล่าวนี้สำคัญมาก นี่คือเป็นผู้ที่สั่งสอน ซึ่งช่วยเราได้ ทำให้เรารู้จักพึ่งตนอย่างแท้จริง

ประการที่ ๕ วจนกฺขโม บอกกล่าวแล้วบางทีก็ยังไม่ชัดเจน เราก็ยังสงสัย ไปซักไซ้ไต่ถาม ท่านก็อดทนต่อการพูดของเรา ที่จะซักไซ้ไล่เลียง ท่านก็พยายามช่วยชี้แจง จนกระทั่งเราเกิดความเข้าใจชัดเจน ทั้งไม่ท้อถอย และก็ไม่ปล่อยปละละเลยต่อลูกศิษย์ เอาใจใส่อดทนต่อการที่จะแนะนำสั่งสอน

ประการที่ ๖ คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา เป็นผู้ที่กล่าวแถลงเรื่องลึกซึ้งได้ คำกล่าวสอนธรรมดาสามัญ ก็เป็นความดีของกัลยาณมิตรอยู่ทั่วไปแล้ว แต่กัลยาณมิตรที่มีคุณสมบัติพิเศษที่จะช่วยลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างแท้จริงก็คือ ผู้ที่สามารถนำให้เข้าถึงสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เราสามารถก้าวหน้าในการปฏิบัติ ถ้าเรื่องลึกซึ้งขึ้นไป ท่านไม่สามารถแนะนำได้ เราก็อยู่ในระดับธรรมดา ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็ไม่เป็นไปเท่าที่ควร ไปไม่ไกล หรือไม่ถึงที่สุด จึงจะต้องมีคุณลักษณะข้อที่ ๖ คือ สามารถที่จะแถลงชี้แจงเรื่องลึกซึ้งได้ด้วย ตลอดจนกระทั่งว่า สิ่งที่ลึกซึ้งที่เรายังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ ท่านก็ใส่ใจเอามาบอกกล่าวแนะนำชักจูงเราให้ปฏิบัติ บำเพ็ญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปได้

ประการที่ ๗ ข้อสุดท้าย ก็มีกรอบจำกัดไว้อีกว่า นอกจากจะมาช่วยแนะนำในข้างดีที่จะให้ได้ความรู้เข้าใจเกิดความรู้สึกในทางที่ดีงามและปฏิบัติถูกต้องแล้ว อีกด้านหนึ่งก็มีกรอบในทางที่ไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียขึ้น คือ โน จฏฺฐาเน นิโยชเย แปลว่าไม่ชักจูงในสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ หรือในทางที่เสียหาย อันนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจ ปลอดโปร่ง ปลอดภัยขึ้นมาว่า ท่านจะไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย และเฉออกไปผิดทาง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< น่ารัก น่าเคารพ น่าทำตามท่านช่วยเราดีที่สุด คือช่วยให้เราทำเองได้ >>

No Comments

Comments are closed.