- กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย
- – ๑ – ประเทศจะเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีการศึกษา
- คุณภาพของประชาธิปไตย ขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน
- ประชาชนปกครอง คือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ ประชาชนจะตัดสินใจถูกดี ประชาชนต้องมีการศึกษา
- หนึ่งบัณฑิต ดีกว่าพันพาล แต่ประชาธิปไตยต้องการให้ทั้งพันเป็นบัณฑิต
- การศึกษาจะพัฒนาคนได้ผล ต้องช่วยให้คนพัฒนาความต้องการ
- ประชาธิปไตยจะเป็นจริงได้ ต้องให้ประชาชนรู้จักปกครองตนเอง
- ประชาธิปไตย จัดสรรสังคมให้มีโอกาสสูงสุด
- — ก) หลักการของประชาธิปไตย เพื่อให้มีประสิทธิผลในการใช้โอกาส
- — ข) หลักการของประชาธิปไตย ที่มีอยู่โดดเด่นในสังคมไทย
- — ค) หลักการของประชาธิปไตย ภายใต้อิทธิพลเศรษฐกิจทุนนิยม
- — ง) โอกาส ต้องมากับความไม่ประมาท
- — จ) ต้องมีปัญญา โอกาสจึงจะเกิดเป็นประโยชน์
- ประชาธิปไตย ช่วยให้ประโยชน์ของบุคคลและสังคมมาประสานเสริมกัน
- ประชาธิปไตย ทำให้คนมีโอกาสศึกษา การศึกษา ทำให้คนเข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย
- – ๒ – กระบวนการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตย — เรียน ศึกษา ฝึก หัด พัฒนา
- เลี้ยง – เลียน – เรียน
- เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะมนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้
- ระบบแห่งกระบวนการเรียนรู้
- ๑. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ของชีวิต ๓ ด้าน
- ๒. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสื่อสัมพันธ์กับโลกทางอินทรีย์ ๖
- ๓. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ปัจจัยภายใน-ภายนอก
- — ก) การเรียนอย่างมีความสุข ก็ต้องแยกแยะเข้าใจให้ถูก
- — ข) เรียนด้วยความสุข และสนุกในการเรียน
– ๒ –
กระบวนการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตย
ทีนี้เพื่อให้เกิดการศึกษา คนก็ต้องเรียนรู้ เพราะว่าแกนของการศึกษา ก็คือ การเรียนรู้ของแต่ละคน ทีนี้ ทำอย่างไรจะให้การเรียนรู้ดำเนินไปได้ด้วยดี เราก็ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง
เรียน ศึกษา ฝึก หัด พัฒนา
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะพูดถึงกระบวนการเรียนรู้ ก็อยากวิจารณ์คำว่า “การเรียนรู้” สักนิด ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องเกร็ดๆ
คำว่า “การเรียนรู้” นี้ก็แปลก ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นมาเมื่อไร แต่ก่อนนั้นเข้าใจว่าไม่มี เวลานี้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ยังไม่ได้บรรจุคำนี้เข้าไว้ “การเรียนรู้” จึงยังเป็นศัพท์ในวงการของนักการศึกษาอยู่
เดิมเรามีแต่คำว่า “เรียน” เวลานี้เนื่องจากวิชาการต่างๆ เรามักนิยมถือตามแนวคิดทางตะวันตก เมื่อพูดคำว่าเรียนหรือเรียนรู้ เราก็เทียบกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า learning คำว่า “learning” แต่เดิมเราก็แปลกันว่า “เรียน” เฉยๆ และการศึกษาก็เท่ากับคำว่าเรียนเท่านั้น เพราะ “เรียน” เป็นคำไทย ส่วน ศึกษา เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต คือ “ศิกฺษา” ตรงกับคำบาลีว่า “สิกฺขา” ซึ่งก็คือเรียน (เรียน = สิกฺขา = ศิกฺษา → ศึกษา) แต่เวลานี้การศึกษามีความหมายกว้างกว่าเรียนไปแล้ว เรียนเป็นเรื่องของแต่ละคน ส่วนการศึกษาอาจจะเป็นกิจการของสังคม เป็นเรื่องใหญ่ ที่กว้างออกไป
แต่ถ้าพูดกันในแง่ของศัพท์ คำว่า “เรียน” ก็น่าจะพอแล้ว ทำไมจึงเติมคำว่า “รู้” เข้ามา อาจสันนิษฐานว่า
๑. เพื่อให้คำพูดไม่ห้วน เวลาพูดว่าเรียนๆ เราอาจรู้สึกว่าห้วน ก็เติมคำว่ารู้เข้าไป เป็นเรียนรู้ ฟังดูไพเราะขึ้น ไม่ห้วน
๒. อีกอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า กลัวจะเรียนโดยไม่รู้ ก็เลยเติมรู้เข้าไป เป็นเรียนโดยมีความรู้ หรือเรียนเพื่อรู้ หรือเรียนให้รู้
แต่ที่จริงนั้น คำว่าเรียนมีคำว่ารู้แฝงอยู่ด้วยในตัว และคำว่า “รู้” นี้เป็นแกน เป็นแก่น หรือเป็นสาระของการเรียนทีเดียว ถ้าเรียนโดยไม่รู้ เรียกว่า “เลียน” (ล ลิง)
การเรียนต้องมีรู้เป็นแกน แต่ไม่ใช่แค่รู้อย่างเดียว รู้อย่างเดียวไม่เป็นเรียน แต่ เรียน เท่ากับ “รู้” บวกด้วย “ได้” อะไรเพิ่มเข้ามาให้แก่ชีวิตด้วย
ได้อะไรในที่นี้ก็คือ ได้ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ได้ความงอกงามขึ้นมา ได้สิ่งนั้นมาเป็นของตน เริ่มตั้งแต่ได้ความรู้นั่นแหละ เช่นได้ความรู้ ได้ความเข้าใจ ได้ความสามารถ ได้วิธีการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น ได้วิธีปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ได้ความชำนิชำนาญจัดเจน ได้ความสามารถที่จะปรับตัวและปรับปรุงตน ฯลฯ คือได้ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เรียนอย่างเดียว แต่ต้องมีรู้ด้วย เพราะรู้นี้เป็นแกนกลางทีเดียว เขียนให้ดูง่ายๆ ดังนี้
เรียน = รู้ + ได้ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ทีนี้เมื่อพูดว่า เรียน คือ รู้ แล้วได้อะไรเข้ามาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นนั้น ในแง่นี้เรียนก็เลยมาตรงกับคำว่า “พัฒนา” ด้วย แต่คำว่า เรียน ถ้าเอาตัวศัพท์แท้ ก็คือ ศึกษานั่นเอง ดังนั้น คำว่า เรียน ศึกษา พัฒนา ก็เลยได้ความหมายที่เป็นไวพจน์กัน คือเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ เรียนก็เป็นการพัฒนาด้วย เพราะเรียนไปก็ได้อะไรเพิ่มเข้ามา
ความหมายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เป็นอีกด้านหนึ่งของเรื่องเดียวกัน คือ
เรียน = รู้ + ทำให้ได้ ทำให้เป็น
เรียนไม่ใช่รู้อย่างเดียว จะเป็นเรียนต้องทำให้ได้ให้เป็นด้วย ทั้งให้รู้ ทั้งให้ทำได้ทำเป็นด้วย เช่น เรียนทำนา จะไปทำนาก็ต้องรู้ ถ้าไม่รู้จะไปทำนาได้อย่างไร แต่ไม่ใช่แค่รู้เฉยๆ ต้องทำให้เป็นด้วย หรือจะเรียนจักสาน ก็ต้องรู้วิธีจักสาน และต้องทำการจักสานได้ด้วย จึงจะเป็นเรียนจักสาน หรือเรียนขับรถ ก็ต้องให้ทั้งรู้ ทั้งขับเป็นด้วย จึงจะเป็นเรียนขับรถ หรือเรียนพูด ก็ต้องรู้ถ้อยคำ รู้วิธีการพูด และพูดให้ได้ หรือเรียนคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเรียนใช้คอมพิวเตอร์ เรียนสร้างคอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องทั้งรู้ ทั้งใช้เป็นหรือทำเป็น แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีรู้แทรกอยู่ด้วย ปนอยู่ด้วย เป็นแกน
เรียนในแง่ที่ว่า ทั้งให้รู้ ทั้งทำให้ได้ ให้เป็น นี้ ตรงกับความหมายที่ว่า “ฝึก” หรือ “หัด” ดังนั้น เรียน กับฝึก หรือหัด จึงมีความหมายที่ใช้แทนกันได้ ฝึกและหัดนั้นเน้นในแง่การทำให้ได้ ให้เป็น ส่วนเรียนจะเน้นในแง่ของรู้ด้วย
สรุปแล้ว ทั้งคำว่า เรียน ศึกษา ฝึก หัด พัฒนา เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ แต่ “เรียนรู้” เป็นคำที่เรามานิยมใช้กันในระยะหลัง ซึ่งต้องระวังเหมือนกัน คือ ถ้าใช้ไม่ดี คุมความหมายไม่อยู่ ก็จะกลายเป็นว่า เรียนเพียงเพื่อรู้
การเรียนเพื่อรู้นั้น แทนที่จะได้ความหมายครบ ก็กลับจะแคบเข้า และขาดไป เช่น “เรียนรู้ตลอดชีวิต” ก็อาจจะกลายความหมายไปว่า เป็นการหาความรู้ตลอดชีวิต แต่เท่านั้นพอหรือสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในเมื่อเรียนนั้น ไม่ใช่แค่เพื่อรู้อย่างเดียว การเรียนรู้ตลอดชีวิต คงไม่ใช่เพียงแค่การหาความรู้ตลอดชีวิต แต่เป็นการฝึกหัด ฝึกฝน พัฒนาตน พัฒนาชีวิตตลอดไป จนกระทั่งหมดอายุไปเลย
อย่างไรก็ตาม ที่วิจารณ์นี้ก็เพียงเพื่อให้ระมัดระวังเท่านั้นเอง คือ ถ้าเรายังใช้มันอยู่ เราก็จะต้องใช้คำว่า “เรียนรู้”ในความหมายที่เต็มที่ ที่ครบถ้วน ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อความรู้ แต่การเรียนนั้นมีความรู้เป็นแกน เป็นสาระสำคัญ โดยที่ทำให้ได้อะไรเปลี่ยนแปลงเพิ่มเข้ามาในทางที่ดีขึ้นด้วย แต่ในที่นี้แม้จะวิจารณ์ ก็ยังจะใช้คำว่า “เรียนรู้” ตามไปด้วย เพียงแต่ขอทำความเข้าใจกันก่อน
No Comments
Comments are closed.