การแก้ปัญหาอย่างมีกระบวนวิธีและเป็นระบบ

24 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 17 จาก 21 ตอนของ

การแก้ปัญหาอย่างมีกระบวนวิธีและเป็นระบบ

เพราะฉะนั้น ในการแก้ปัญหานี้จึงได้บอกไปข้างต้นว่า พระพุทธศาสนาเป็นระบบที่มีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในการแก้ปัญหา แม้แต่บุคคลที่มีความเหงา ว้าเหว่ในใจ ซึ่งเป็นปัญหาแบบหนึ่ง ก็มีวิธีแก้ปัญหาที่แยกได้เป็นขั้นเป็นตอน และขั้นตอนเหล่านั้นก็เป็นทางเลือกที่ยืดหยุ่นได้ด้วย โดยสามารถปรับให้เข้ากับพัฒนาการของบุคคล

วิธีแก้ปัญหาสำหรับคนที่อ้างว้างว้าเหว่โดดเดียว ที่ได้พูดมาเป็นตัวอย่างนั้น ว่าโดยสรุปแบบง่ายๆ สามารถใช้วิธีปฏิบัติที่แยกได้เป็น ๓ ขั้นตอน คือ

๑. คนอื่นในสังคมที่เป็นคนเต็มภายในแล้ว มาช่วยเป็นกัลยาณมิตรแก่เขา หรือสังคมเป็นกัลยาณมิตร ในขั้นนี้เขายังมี ความพึ่งพาผู้อื่นอยู่มาก

๒. ตัวเขาเองรู้จักเลือกหากัลยาณมิตร คือรู้จักคบคน หรือแหล่งที่เป็นกัลยาณมิตร ในขั้นนี้เขาเริ่มรู้จักพึ่งตนเอง และมีทิศทางที่แน่นอน

๓. บุคคลนั้นรู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วยตนเอง เป็นอยู่อย่างรู้เข้าใจเท่าทันโลกและชีวิต ในขั้นนี้เขาเป็นอิสระ พึ่งตนเองได้แล้ว

หลักการที่ว่ามานี้ จะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า เราต้องการกัลยาณมิตร คือต้องการสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กันโดยศีล หมายความว่า มีความสัมพันธ์ในเชิงสังคมที่ดี ที่ไม่เบียดเบียน ที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่มุ่งหาผลประโยชน์แก่ตนด้วยการเอาจากผู้อื่น แต่ปฏิบัติต่อกันด้วยความเกื้อกูล มีการแสดงออกต่อกันด้วยความมีน้ำใจ หรืออย่างน้อยมีความจริงใจ นี้คือขั้นของ ศีล ซึ่งเป็นระดับของความมีกัลยาณมิตร

เมื่อมีการปฏิบัติในขั้นศีล หรือในระดับกัลยาณมิตรนี้แล้ว มันก็โยงไปหาขั้นจิตใจเอง ซึ่งเป็นระดับของ สมาธิ กล่าวคือ จากการปฏิบัติเช่นนั้นก็จะทำให้จิตรู้สึกเต็มอิ่ม และเขาอาจจะพัฒนาคุณสมบัติอื่นๆ ทางจิตใจเพิ่มมากขึ้นอีก ด้วยการฝึกปฏิบัติในระดับสมาธินั้นยิ่งขึ้นไป

การแก้ปัญหาในระดับจิตใจนี้ ก็จะต้องโยงหรือส่งทอดต่อไปอีก โดยที่ว่าในที่สุดแล้วตัวบุคคลนั้นเองจะต้องมี ปัญญา ที่รู้เข้าใจความจริงของโลกและชีวิต เพื่อจะสามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ที่เรียกว่า พึ่งตนเองได้ หรืออยู่ได้ด้วยตนเอง

ปัญญานั้นเกิดจากการมีโยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณา หรือคิดเป็น ซึ่งทำให้มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยและรู้เข้าใจสถานการณ์นั้นๆ ตามความเป็นจริง ตลอดจนรู้จักปรับจิตใจ วางใจอย่างถูกต้องและได้ผลดีจากประสบการณ์ทุกอย่าง

ปัญญาที่เกิดขึ้น จะทำให้สามารถแก้ไขหรือหาทางออกจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหาได้ ทำให้เกิดความสว่าง โปร่งโล่ง และทำให้รู้เข้าใจความจริงที่จะเป็นอยู่อย่างรู้เท่าทัน พูดอย่างสรุปความว่า ปัญญานั้น ทั้งทำให้เห็นทางออก ช่วยให้สว่างโปร่งโล่งออกไป และทำให้ปรับจิตใจเข้ากับสถานการณ์หรือสภาพความจริงนั้นๆ ได้

เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ทำให้แก้ปัญหา หาทางออก ปรับจิตใจ หรือวางใจต่อปัญหาหรือสถานการณ์นั้นๆ ได้แล้ว ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า ดุลยภาพ และเขาก็จะเป็นอิสระ เป็นผู้ที่พึ่งตนเองได้ อยู่ได้ด้วยตนเอง แล้วก็จะอยู่คนเดียวได้โดยไม่หงอยเหงาว้าเหว่เลย ถ้าเขาไปอยู่ในสังคม ก็จะอยู่อย่างเป็นสุขเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งเป็นกัลยาณมิตรช่วยทำให้คนอื่นก้าวย่างขึ้นสู่วิถีแห่งความสุขได้ด้วย

การฝึกปฏิบัติเพื่อส่งเสริมคุณสมบัติเช่นความรู้สึกเต็มอิ่มทางจิตใจในระดับสมาธินี้ เรียกเป็นคำศัพท์สั้นๆ ว่า จิตภาวนา ส่วนการฝึกฝนพัฒนาปัญญาให้มีความรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง เพื่อให้รู้จักแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง และเป็นอยู่อย่างรู้เท่าทันนั้น เรียกสั้นๆ ว่า ปัญญาภาวนา

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า เพียงแต่ก้าวจากขั้นของการจัดปรับพฤติกรรมในระดับศีล ไปถึงขั้นของสมาธิในระดับจิตภาวนา ก็ยังไม่เพียงพอ จะต้องขึ้นไปให้ถึงขั้นของปัญญาภาวนาด้วย การจัดปรับพฤติกรรมที่เกื้อกูล และความมีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์จึงจะได้ผลอย่างแท้จริง

ฉะนั้น ชื่อเรื่องที่ตั้งไว้ว่า จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา ก็ยังไม่ถูกต้อง คือยังจะต้องเติมต่อไปอีกว่า จากจิตภาวนา สู่ปัญญาภาวนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แก้ปัญหาจากสังคม หรือแก้ที่ตัวบุคคลเพราะว่างจึงเต็ม เพราะไม่ว่างจึงกลวง >>

No Comments

Comments are closed.