ความสัมพันธ์เชิงระบบภายในองค์รวม โยงจิตกับปัญญา ตลอดลงมาถึงพฤติกรรม

24 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 7 จาก 21 ตอนของ

ความสัมพันธ์เชิงระบบภายในองค์รวม
โยงจิตกับปัญญา ตลอดลงมาถึงพฤติกรรม

นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างหนึ่ง คือ จากการที่ทางตะวันตกมองแยกเรื่องของระบบจิตใจและปัญหาชีวิตของมนุษย์นี้ต่างหากจากกันเป็นส่วนๆ เป็นเรื่องๆ ก็ทำให้มีการแยกเรื่องจิตกับปัญญาออกไปอย่างชนิดที่ว่าเอาอย่างเดียว เลยไม่เอาใจใส่หรือมองข้ามบทบาทของอีกอย่างหนึ่งไปเสีย โดยเฉพาะมักจะเอาแต่เรื่องจิตใจ โดยที่ว่าบางทีไม่ได้สนใจเรื่องปัญญาเลย หรือว่าบางทีแม้จะสนใจบ้างก็ไม่ค่อยเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกัน หรือไม่ก็เน้นไปอย่างใดอย่างหนึ่งว่าต้องอันนี้สำคัญ อันนั้นไม่สำคัญ อะไรทำนองนี้

เรื่องนี้สำหรับพระพุทธศาสนาก็อย่างที่กล่าวแล้ว เราถือว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบ เป็นองค์ร่วม หรือเป็นปัจจัยรวมอยู่ในระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น เรื่องจิตกับปัญญาในพระพุทธศาสนาจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก โดยถือว่าเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้ เพราะต่างก็เป็นปัจจัยแก่กันอย่างมีผลสำคัญยิ่ง

ปัญหาของมนุษย์ที่เรียกว่าปัญหาจิตใจนั้น เมื่อวิเคราะห์ออกไป จะเห็นว่ามีสาเหตุทางจิตใจเป็นเหตุปัจจัยด้านหนึ่ง แต่ก็จะมีสาเหตุทางด้านปัญญาด้วย และเมื่อวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งแล้ว สาเหตุทางด้านจิตใจนี้จะเป็นส่วนเบื้องต้นหรือตื้นกว่า เมื่อสืบลึกลงไปถึงที่สุดก็จะเป็นปัญหาด้านปัญญา คือการขาดปัญญา

เพราะฉะนั้น ในขั้นสุดท้าย การแก้ปัญหาจิตใจหรือระบบชีวิตของมนุษย์ทั้งหมดนี้ จึงต้องเอาปัญญาเป็นตัวแก้ปัญหา เป็นตัวตัดสิน ซึ่งปัญญาจะกลายมาเป็นตัวแก้ปัญหาทางด้านจิตใจและนำจิตใจมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ หรืออาจจะพูดว่า นำมนุษย์นั่นเองไปสู่อิสรภาพ

ในเรื่องนี้ จะขอชี้ให้เห็นง่ายๆ อย่างที่เราพูดถึงความทุกข์ของมนุษย์นี้ เมื่อกล่าวถึงสาเหตุทางด้านจิต คือเหตุปัจจัยในระดับจิตใจ พระพุทธศาสนาจะให้คำตอบโดยใช้คำพูดทางวิชาการง่ายๆ สั้นๆ ว่า สาเหตุระดับจิตใจของปัญหานั้นคือตัณหา

แต่สาเหตุทาง-xyจิตใจ หรือระดับตัณหานั้นยังไม่ใช่เป็นขั้นสุดท้าย การแก้ปัญหาทางด้านตัณหาอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาทุกข์ของมนุษย์ได้ ถ้าแก้ปัญหาในระดับตัณหาอย่างเดียว ปัญหาก็ไม่จบ ยังมีสาเหตุทางด้านปัญญาที่ลึกลงไปอีกคือ อวิชชา

เพราะฉะนั้น สำหรับปัญหาเดียวกันนี้เราจึงต้องสืบเหตุปัจจัย ๒ ระดับ ถ้าจะแก้ปัญหาให้จบสิ้นต้องแก้ถึงขั้นของการทำลายที่ตัวอวิชชา

ถ้าจะมองภาพรวมโยงไปให้คลุมถึงระบบชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด ก็จะมองได้ถึง ๓ ชั้น คือ

ระดับแรก เป็นระดับพฤติกรรม ได้แก่สาเหตุทางด้านความทุจริต หรือเจตนาที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นปัญหาในระดับศีล คือระดับพฤติกรรม

ระดับที่ ๒ คือ ระดับจิตใจ ได้แก่สาเหตุระดับตัณหา

ระดับที่ ๓ เป็นขั้นที่สืบลึกลงไปอีก ได้แก่สาเหตุทางปัญญา

ทั้ง ๓ ระดับนี้มีความสัมพันธ์โยงเป็นปัจจัยแก่กันอย่างไร การแก้ปัญหาควรจะดำเนินตามลำดับอย่างไร และการแก้ถึงที่สุด จะต้องจัดการอย่างไร อันนี้ก็คือจุดสนใจและเป็นสิ่งที่พระพุทธ ศาสนาสอนไว้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วิธีการที่ต่างกันเกิดจากการมองที่ต่างกัน– ๒ – ความแตกต่างที่ต้องนำมาบรรจบ >>

No Comments

Comments are closed.