ความเชื่อใดทำให้คนถดถอยรอคอยผลบันดาล ความเชื่อนั้นผิดหลักการของพระพุทธศาสนา

10 สิงหาคม 2538
เป็นตอนที่ 6 จาก 16 ตอนของ

ความเชื่อใดทำให้คนถดถอยรอคอยผลบันดาล
ความเชื่อนั้นผิดหลักการของพระพุทธศาสนา

เวลานี้มีถ้อยคำของพุทธศาสนาที่ถูกนำมาใช้อย่างผิดพลาด โดยเป็นความเชื่อแบบคลาดเคลื่อนบ้าง ไม่ครบไม่สมบูรณ์บ้าง เช่น คำว่าวาสนา เป็นคำที่ฟ้องชัดมากว่ามีความคลาดเคลื่อนจากพุทธศาสนาไปไกลลิบจนกระทั่งวาสนากลายเป็นสิ่งที่ลอยลงมาจากฟากฟ้า ถ้าเป็นพุทธศาสนาก็ต้องเป็นสิ่งที่แก้ไขปรับปรุงได้ วาสนาจึงเป็นเรื่องที่แก้ไขปรับปรุงได้

วาสนาไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า แต่อยู่ที่ตัวเรา คือเป็นลักษณะประจำตัวที่สะสมอบรมติดตัวมา เช่น คนนี้มีลักษณะการพูดอย่างนี้ บางคนพูดช้า บางคนพูดเร็ว บางคนพูดเป็นขวานผ่าซาก บางคนพูดคำไพเราะสละสลวย คนนี้เดินอย่างนี้ คนนั้นเดินท่าทางชดช้อย คนนี้มีท่าทางชอบรีบเร่ง คนโน้นเดินหงุบๆ หงับๆ อาการทั้งหมดทั้งปวงที่อบรมสั่งสมมาเป็นลักษณะประจำตัวเรียกว่าวาสนา คนเราจึงมีวาสนาไม่เหมือนกัน เป็นความเคยชินอย่างสนิทแน่น ซึ่งจะส่งผลเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคน เริ่มตั้งแต่เมื่อต้องไปสัมพันธ์กับคนอื่น ก็ทำให้เขามีภาพของตัวเราและความรู้สึกต่อเราอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะมีผลต่อเนื่องกว้างไกลออกไปตามภาพและความรู้สึกนั้น เช่น บางคนพอพูดสักคำหนึ่งคนฟังก็ไม่อยากฟังต่อไป อยากจะหันหลังให้เลย บางคนพูดอะไรออกมาคนอื่นอยากฟัง ก็ชวนให้อยากเข้าหา อยากสนทนาด้วย

วาสนาเป็นตัวกำหนดสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มันเป็นเครื่องชี้ชะตาของคนไปด้วย เช่น เวลาจะเลือกคนไปทำงาน เขาดูคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือดูวาสนาว่าเป็นอย่างไร วาสนาจึงอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่มาจากฟากฟ้า เมื่อมองวาสนาเช่นนี้เราก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุง ไม่ใช่รอให้สวรรค์ส่งมา อย่างนี้เป็นต้น

การเชื่อผิดๆ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการปลง โดยถือว่าเป็นกรรมเก่า เมื่อเป็นอย่างนี้ก็รับผลกรรมไป เมื่อเชื่ออย่างนี้ก็กลายเป็นว่าพอปลงแล้วก็สบาย ไม่ทำอะไร นึกว่าตัวเองไม่ทำอะไร แต่ที่แท้ก็ทำกรรม คนที่ปลงว่าเป็นผลกรรมของเรา แล้วก็ปล่อยไป การไม่ทำนั้นก็เป็นการกระทำคือกรรมอย่างหนึ่ง และเป็นการกระทำที่เป็นอกุศลด้วย คือความประมาท คนที่ไม่ทำอะไรนั่นถือเป็นกรรมร้ายแรง คือกระทำความประมาท เป็นกรรมชั่วร้าย และเป็นหนทางแห่งความเสื่อมอย่างสำคัญ อย่าไปคิดว่าไม่ทำกรรม คิดว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไร แต่แท้จริงเป็นการทำกรรมอย่างหนัก อย่างนี้เป็นต้น

ฉะนั้นหลักกลางคือสิกขาเป็นหลักที่บอกว่ามนุษย์จะต้องแก้ไข พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และจะต้องพัฒนาตลอดเวลาโดยไม่ประมาท ดังนั้นมนุษย์เราจะต้องถือหลักการไว้ก่อนว่า

หนึ่ง สิกขา ต้องฝึกฝนพัฒนาแก้ไขปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ

สอง ต้องไม่ประมาท คือหยุดไม่ได้ ต้องเดินหน้าจนกว่าจะถึงจุดหมาย

หลักสองอย่างนี้ใช้เป็นตัวตรวจสอบการปฏิบัติทางพุทธศาสนาได้มาก หลักการหรือความเชื่อใดก็ตามที่ทำให้คนนอนรอผล ผัดผ่อน คอยเวลา ไม่ทำการต่างๆ โดยเร่งรัด นั่นคือทำให้คนประมาท ถือว่าผิดหลักพุทธศาสนา สิกขาทำให้คนศึกษา ฝึกฝน เรียนรู้พัฒนาตนอยู่เสมอ มุ่งไปข้างหน้าเท่านั้น ส่วนอัปปมาทะ คือความไม่ประมาท ก็คอยปลุกเร้าไม่ให้หยุด คือหยุดไม่ได้เลย หยุดเมื่อไรเป็นการประมาททันที

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ธรรมชาติบอกว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตแห่งการฝึกฝนพัฒนาตัดความวุ่นวายด้านวัตถุ เพื่อเร่งการสร้างสรรค์ได้เต็มที่ >>

No Comments

Comments are closed.