คุณสมบัติที่ควรให้มีในผู้รับการแนะแนว

26 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 13 จาก 15 ตอนของ

คุณสมบัติที่ควรให้มีในผู้รับการแนะแนว

ต่อไปนี้ จะพูดถึงคุณสมบัติของคนที่ได้รับการแนะแนว ผู้ให้การแนะแนวควรมองว่า มนุษย์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อเราจะได้นำมาใช้กับคนที่มีปัญหาด้วย หลักเกณฑ์คุณสมบัติที่ดีของมนุษย์ ก็คือหลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการนั้นเอง ซึ่งจะพูดย่อๆ คือ

๑. รู้จักเหตุ  ๒. รู้จักผล

๓. รู้จักตน ๔. รู้จักประมาณ

๕. รู้จักกาล ๖. รู้จักชุมชน๗. รู้จักบุคคล

อธิบายประกอบ

๑. รู้จักเหตุ คือรู้หลักการ หมายถึงหลักการที่จะปฏิบัติให้เกิดผลที่มุ่งหมาย เช่น เมื่อเราเข้ามาศึกษาในวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ต้องรู้จักหลักเกณฑ์ของการศึกษาในวิทยาลัย ทำอาชีพอะไรก็ต้องรู้หลักและกฎเกณฑ์ของอาชีพนั้นๆ ว่าจะต้องปฏิบัติต้องกระทำอย่างนั้นๆ จึงจะได้ผลของอาชีพ ข้อนี้เรียกว่า “ธัมมัญญุตา”

๒. รู้จักผล คือรู้ความมุ่งหมาย รู้ผลที่ต้องการในการปฏิบัติ รู้จักจุดหมายว่า หลักการหรือกฎเกณฑ์นี้เพื่อจุดหมายอะไร จะให้เกิดผลอะไรขึ้น อันนี้เรียกว่ารู้จักความมุ่งหมาย ทำให้รู้ทิศทางในการปฏิบัติ ซึ่งถ้าไม่รู้ก็อาจทำให้เกิดผลเสียหายได้ ข้อนี้เรียกว่า “อัตถัญญุตา”

๓. รู้จักตน คือ รู้จักว่าตนเองมีภาวะ ฐานะ ความสามารถ ความถนัดอย่างไร มีภูมิธรรม ภูมิปัญญาต่างๆ แค่ไหน มีพื้นฐานมาอย่างไร เป็นต้น เมื่อรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ก็สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาตนเอง หากเราไม่รู้จักตนเองตามความจริง เราก็ปรับปรุงตนเองไม่ถูก หรืออาจไม่คิดที่จะพัฒนาตนเองเลย ข้อนี้เรียกว่า “อัตตัญญุตา”

๔. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดี ในการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ถ้าต้องการให้เกิดผลดีก็ต้องรู้จักความพอดีในการปฏิบัติ มิฉะนั้น มันจะไม่ลงตัว เมื่อไม่ลงตัวก็ไม่เกิดผลดีตามที่ต้องการ ถ้าเรารู้จักความพอดีในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าเป็นการกิน การนอน การเล่น การทำงาน รู้ว่าแค่ไหนพอดี แล้วทำแค่พอดีที่จะให้ผลดีมันก็จะสำเร็จและไม่เกิดโทษ ข้อนี้เรียกว่า “มัตตัญญุตา”

๕. รู้จักกาล คือ จะทำอะไรก็ต้องรู้จักกาลเวลา เช่น รู้เวลาเริ่ม ระยะเวลาที่ทำ เวลาสิ้นสุด จังหวะที่ดีของการกระทำเป็นต้น อาตมามาพูดนี้ก็ต้องรู้จักเวลาเหมือนกัน ว่าขณะนี้จะหมดเวลาแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องของ “กาลัญญุตา”

๖. รู้จักชุมชน เช่น รู้จักว่านี้เป็นชุมชนประเภทไหน พูดเรื่องอะไรจึงจะเหมาะสมและพอดี หากไม่รู้จักชุมชน ไม่เข้าใจชุมชน ก็ปฏิบัติต่อชุมชนนั้นไม่ถูก เช่น ไม่ถูกต้องตามวัฒนธรรมประเพณี ไม่ถูกมารยาท ไม่ถูกกับแนวความสนใจหรือระดับความรู้ความสามารถ การปฏิบัตินั้นก็ไม่ได้ผลดี การรู้จักชุมชนนี้เรียกว่า “ปริสัญญุตา”

๗. รู้จักบุคคล เช่น รู้จักว่าบุคคลนี้เป็นอย่างไร มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร มีภูมิธรรม ภูมิปัญญาแค่ไหน มีความสามารถถนัดจัดเจนอย่างไร สนใจเรื่องอะไร อยู่ในฐานะ หรือภาวะอย่างไร มีภูมิหลังมาอย่างไร ควรคบหาหรือไม่ จะได้ประโยชน์ในแง่ใด ควรใช้งานหรือไม่ จะช่วยเหลือหรือขอความช่วยเหลือเขาได้อย่างไร เมื่อรู้จักบุคคลแล้ว รู้จักความแตกต่างของบุคคลแล้ว การดำเนินชีวิตและการทำงานก็ได้ผลดี อันนี้เรียกว่า “ปุคคลัญญุตา” เป็นคุณธรรมข้อสุดท้าย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คุณสมบัติของครูผู้แนะแนวหลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ >>

No Comments

Comments are closed.