คุณสมบัติของครูผู้แนะแนว

26 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 12 จาก 15 ตอนของ

คุณสมบัติของครูผู้แนะแนว

คุณสมบัติของครูแนะแนว ควรจะเป็นคุณสมบัติของครูและผู้แนะแนวทั่วไปนั้นเอง โดยบริการแนะแนว จะเป็นบริการจาก “กัลยาณมิตร” ซึ่งมีหลัก หรือองค์ความประพฤติ ๗ ประการ เรียกว่าธรรม ๗ ประการของกัลยาณมิตร คือ

๑. น่ารัก

๒. น่าวางใจ

๓. น่าเจริญใจ

๔. รู้จักพูดหรือพูดเป็น

๕. รู้จักฟังหรือฟังเก่ง

๖. แถลงเรื่องลึกซึ้งได้

๗. ไม่ชักจูงไปนอกเรื่อง

อธิบายประกอบ

๑. น่ารัก คำว่าน่ารักในที่นี้หมายความว่า เป็นบุคลิกภาพที่ชวนให้เข้าหา ผู้แนะแนวควรต้องมีลักษณะที่ว่า เมื่อเด็กมีปัญหาเกิดความทุกข์ ก็อยากเข้าไปหาหรือเข้าไปปรึกษา เพราะว่าผู้ที่มีปัญหาก็คิดหาที่ปรึกษา เมื่อเห็นผู้แนะแนวที่มีคุณสมบัติดีแล้วก็อยากจะเข้าไปปรึกษาด้วย คำว่าน่ารักในภาษาบาลีเรียกว่า “ปิโย”

๒. น่าวางใจ ครูแนะแนวต้องมีลักษณะที่น่าไว้วางใจได้ หนักแน่น น่าเคารพนับถือ น่าเชื่อถือ ทำให้รู้สึกว่าไม่มีภัยอันตราย อบอุ่นมั่นคงปลอดภัย ควรเข้าไปขอคำปรึกษาได้ ถ้ามีลักษณะท่าทางไม่น่าไว้วางใจ ก็ไม่ไหว ลักษณะที่น่าเคารพน่าไว้วางใจนี้ภาษาบาลีเรียกว่า “ครุ”

๓. น่าเจริญใจ คือบุคลิกท่าทางต่างๆ ที่แสดงออกดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นผู้มีภูมิรู้ มีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูง เป็นคนมีการศึกษาพัฒนาตนดีแล้ว ซึ่งผู้เข้าหานั้นรู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าใกล้ชิดและเห็นว่าน่าเอาอย่าง คือชวนให้อยากปฏิบัติตาม ในทางภาษาบาลีเรียกว่า “ภาวนีโย”

๔. รู้จักพูดหรือพูดเป็น ข้อนี้เป็นลักษณะสำคัญมาก สามข้อแรกนั้นเป็นบุคลิกภาพที่จะทำให้เกิดการปรึกษาและการแนะแนวขึ้น โดยนำมาสู่การพบปะและการทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป แต่ข้อ ๔ และข้อต่อจากนี้เป็นส่วนประกอบต่างๆ ในการทำหน้าที่

การเป็นนักพูดที่ดีไม่ใช่หมายความว่า จะต้องพูดเองไปหมด ผู้ที่มีความทุกข์ หรือต้องการคำปรึกษา เขาก็จะพูดไปตามทางของเขา ชัดเจนบ้าง สับสนบ้าง บางทีก็ไม่กล้าพูด หรือพูดแล้วพูดไม่ถูก พูดไม่แจ่มกระจ่าง ผู้แนะแนวต้องรู้จักพูดให้เขากล้าที่จะแสดงออกมา กล้าระบายความทุกข์ออกมา หรือสามารถที่จะแสดงออกซึ่งปัญหาอย่างชัดเจน โดยผู้แนะแนวจะต้องช่วยให้เขารู้จัก และเข้าใจปัญหาของเขาเองไปทีละด้านสองด้าน ตามลำดับ

ตัวอย่าง เมื่อมีบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามาหาพระพุทธเจ้า จะมาถามหาคำตอบจากพระองค์ บางทีพระองค์ก็ทรงช่วยให้เขาตอบปัญหาของเขาเอง โดยที่พระองค์ทรงใช้วิธีที่ทรงกลายเป็นผู้ถาม ซึ่งบุคคลนั้นก็จะพบคำตอบได้ด้วยตนเอง นักแนะแนวควรนำวิธีนี้ไปใช้ในการเป็นนักพูด โดยเป็นผู้ช่วยให้เขาพูด จนกระทั่งทำให้เขาตอบปัญหาของตนเองได้ หากเขาหาคำตอบไม่ได้จริงๆ เราก็มีวิธีการที่จะเสนอแนะให้เขาพบคำตอบได้ ให้เห็นทางออกในการแก้ปัญหา ลักษณะที่เป็นนักพูดอย่างได้ผลนี้ ภาษาบาลีเรียกว่า “วตฺตา”

๕. รู้จักฟังหรือฟังเก่ง หมายถึง ความเก่งในการฟัง นอกจากหมายถึงจับเรื่องได้ไว และชัดเจนแล้ว ก็รวมถึงการมีความอดทนในการฟังด้วย อดทนต่อการรับฟังปัญหา อดทนต่อการระบายความทุกข์ เพื่อจะได้รู้เหตุปัจจัย และคิดค้นวิธีการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการรู้จักตัวเขาและปัญหาของเขาอย่างแท้จริง เช่น รู้ว่าเขาทำอะไร บกพร่องอย่างไร จุดที่จะแก้ไขอยู่ตรงไหน เรียกในภาษาบาลีว่า “วจนกฺขโม”

๖. แถลงเรื่องลึกซึ้งได้ คือ เมื่อมีปัญหาที่ยากหรือลึกซึ้งก็สามารถคลี่คลายให้เข้าใจได้ ในการศึกษาและในการแก้ปัญหา จะต้องพบกับปมและเรื่องที่ยากหรือลึกซึ้งอยู่เรื่อยๆ ผู้ที่ทำหน้าที่แนะแนวต้องสามารถอธิบายเนื้อหาเรื่องราวและคลี่คลายปมประเด็นต่างๆ ให้เห็นชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย อะไรที่ซับซ้อนก็ต้องจับเอามาหรือหยิบยกออกมาพูดให้เห็น และอธิบายให้กระจ่าง อันนี้เป็นความสามารถในการปฏิบัติที่เรียกว่า “คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา”

๗. ไม่ชักจูงไปในทางที่ผิดหรือนอกเรื่อง คือจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจนในการแนะแนว โดยมีเป้าหมายและนำไปสู่จุดหมายซึ่งจะแก้ปัญหาได้ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง หากผู้แนะแนวปฏิบัติไม่ถูกต้องออกนอกเรื่องราว หรือชักจูงไปในทางเสียหาย โดยแนะนำผิดๆ หรือแนะนำวิธีการที่ไม่ถูกต้อง แนะแนวไปแทนที่เขาจะแก้ปัญหาได้ ก็กลับกลายเป็นสร้างปัญหา อันนี้เรียกว่า “โน จฏฺฐาเน นิโยชเย”

รวมเป็น ๗ ประการ เรียกว่า คุณธรรมหรือองค์คุณของกัลยาณมิตร ซึ่งเราใช้เป็นคุณสมบัติของครูโดยทั่วไป ซึ่งผู้ทำหน้าที่แนะแนวควรมีคุณสมบัติเช่นนี้เป็นพิเศษ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แกนกลางของปฏิบัติการในการแนะแนวคุณสมบัติที่ควรให้มีในผู้รับการแนะแนว >>

No Comments

Comments are closed.