- – ๑ – จากอุบาสก-อุบาสิกา มาถึงปัญหาภิกษุณี
- ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน
- เรื่องภิกษุณี พูดกันดีๆ ไม่ต้องมีปัญหา — ตั้งจิตเมตตาก่อนว่า จะหาทางทำให้ดีที่สุด
- ตั้งหลักไว้: ให้ผู้หญิงก็ได้ และธรรมวินัยก็ไม่เสีย
- ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี แต่คนที่มีสิทธิบวชให้ไม่มี
- ถึงจะมีสถานะที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักรักษา ในไม่ช้าก็จะเสื่อมจากสถานะนั้นเอง
- พิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่มีอยู่ สามารถจัดการให้ดี ไม่ใช่ชอบแต่ของใหม่ แต่ใช้และบำรุงรักษาไม่เป็น
- การแสดงความคิดเห็น ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้
- สังคมจะดี ประชาธิปไตยจะมีคุณค่า หนีไม่พ้นว่า ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่
- สุดท้ายก็มาลงที่หลักพื้นฐาน คืออามิสทานจากชาวบ้าน เพื่อให้พระสงฆ์มีกำลัง ที่จะอำนวยธรรมทานแก่ประชาชน
- – ๒ – ทัศนะของพระพุทธศาสนา ต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี
- ทำไมในคัมภีร์ มีคำว่าผู้หญิงไม่ดีมากมาย
- ทำไมในวินัย จึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม
- ทำไมเมื่อให้บวชภิกษุณี จึงต้องมีข้อจำกัดมากมาย
- ทำไมจะเป็นพระศาสดา ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย
- เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม
- ผู้หญิงมาบวชไม่ได้ ก็ไม่น่าต้องไปเป็นโสเภณีที่ไหน
- แม่ชีที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยกันส่งเสริมขึ้นมาจะดีไหม
- ให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมครบ ๔ จึงจะเป็นระบบพุทธที่ดีใช่ไหม
- อยากเกิดเป็นหญิงหรือชาย จะทำให้เป็นได้อย่างไร
- เปลี่ยนจากนับถือเทพสูงสุดมาถือธรรมเป็นใหญ่ ชาวพุทธจะยืนหยัดไหวไหม
- ไม่รู้จักพระไตรปิฎก-อรรถกถา จะพูดเรื่องพุทธศาสนาให้ชัดได้อย่างไร
- พระเป็นผู้ไปแจกจ่ายธรรมนำสังคม ให้เป็นผู้รับสงเคราะห์จะเหมาะสมได้อย่างไร
- อนุโมทนา
เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม
ถาม: กลับมาปัญหาที่กำลังคุกรุ่นในปัจจุบัน ในเรื่องการบวชภิกษุณีในเมืองไทย มีผู้ที่พยายามบวช และทางฝ่ายเถรวาทอ้างว่า เพราะเราขาดสูญอุปัชฌาย์ของภิกษุณีด้านเถรวาทนี้มานานแล้ว ก็มีผู้ไปบวชเมืองจีนที่ไต้หวัน ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ และมีกลุ่มที่พยายามผลักดันให้มีการบวชภิกษุณี โดยใช้คำอ้างว่า “แม้แต่พระพุทธเจ้ายังอนุญาตให้สตรีบวชเลย แต่ทำไมทางมหาเถรสมาคมของประเทศไทยจึงไม่อนุญาต ทั้งที่มีผู้พร้อมที่จะบวช ซึ่งน่าจะอนุญาตได้” นี่ข้อหนึ่ง
และเขามองในแง่สังคมวิทยาว่า เพราะสถาบันศาสนาเปิดโอกาสให้กับผู้ชาย ฉะนั้นเด็กผู้ชายตามจังหวัดที่ยากจน ด้อยโอกาส มีโอกาสเข้ามาพึ่งพิงศาสนา ได้เรียนหนังสือ ได้เติบโตในสังคมต่อไปได้ด้วยดี ในขณะที่ไม่มีสถาบันภิกษุณี ทำให้ผู้หญิงไม่มีโอกาสในเรื่องของการศึกษา เขาเปรียบเทียบว่าจำนวนภิกษุสงฆ์สองแสน เทียบแล้วก็เท่ากันกับเด็กผู้หญิงที่จะต้องไปทำอาชีพโสเภณี ถ้ามีสถาบันภิกษุณีในสังคม จะได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้มากขึ้นด้วย
ตอบ: อันนี้เกิดจากการจับเรื่องโน้นมาชนเรื่องนี้ จับจุดของเรื่องไม่ถูก การอนุญาตให้บวชภิกษุณี เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า คือต้องเป็นไปตามพุทธบัญญัติ มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจอะไรเลย มหาเถรสมาคมเป็นเรื่องบัญญัติใหม่ตามกฎหมายของบ้านเมือง แม้แต่สงฆ์ที่เป็นการปกครองแบบพระพุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์ก็ไม่มีอำนาจที่จะให้ภิกษุณีบวช และการที่บอกว่าเป็นเรื่องไม่มีอุปัชฌาย์ ก็ยังไม่ถูก คือการบวชภิกษุณีสำเร็จด้วยสงฆ์ เช่นเดียวกับภิกษุเหมือนกัน เมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้ว จะบวชภิกษุณีได้อย่างไร ไม่ใช่อยู่ที่ตัวอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์บวชไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ถึงมีอุปัชฌาย์ มีภิกษุณีรูปเดียวเป็นอุปัชฌาย์ ก็บวชใครให้เป็นภิกษุณีไม่ได้
เมื่อครั้งภิกษุสงฆ์ในลังกาหมด ลังกาก็ต้องส่งทูตมาขอพระสงฆ์จากเมืองไทย เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปบวชให้แก่คนลังกา ทีนี้ภิกษุณีสงฆ์ไม่มี แล้วเราจะบวชภิกษุณีได้อย่างไร ข้อสำคัญอยู่ที่นี่ เหมือนอย่างเมื่อพระเจ้าอโศกส่งพระศาสนทูตมาตั้งพระศาสนาในลังกา พระมหินท์ก็นำคณะภิกษุมา ก็บวชภิกษุลังกาได้ และตอนนั้นฝ่ายภิกษุณีก็ต้องมีภิกษุณีสงฆ์ คือพระนางสังฆมิตตาเถรี นำคณะภิกษุณีสงฆ์มา ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์จึงบวชภิกษุณีได้ หมายความว่าจะต้องมีภิกษุณีสงฆ์ จึงจะบวชภิกษุณีได้ ต้องมีภิกษุสงฆ์จึงจะบวชภิกษุได้ ถ้าไม่มีภิกษุสงฆ์ แล้วใครจะไปบวชภิกษุได้ ก็เหมือนกัน ปัญหามันติดอยู่ที่นี่ มันไม่ใช่เรื่องอุปัชฌาย์และมหาเถรสมาคมอะไรเลย
ถาม: แล้วที่พาไปบวชภิกษุณีสงฆ์ที่ไต้หวัน ที่บวชมาแล้ว ทางนี้ไม่ยอมรับนับถือ และค่อนข้างจะมองกันในแง่เรื่องของการเมืองด้วย
ตอบ: ถ้าไปบวชแบบมหายาน ก็แน่นอนละ เรื่องการเมืองไม่ต้องไปเกี่ยวหรอก ก็เหมือนกับภิกษุมหายานนั่นแหละ ภิกษุเถรวาทก็ไม่รับเหมือนกัน ใช่ไหม ไม่ต้องไปถึงไต้หวันหรอก พระมหายานในเมืองไทยก็ถือว่าเป็นมหายาน พระสงฆ์เถรวาทจะไปนับท่านเป็นเถรวาทได้อย่างไร เป็นเรื่องธรรมดา
ถาม: ทางนครปฐมที่มีเรื่องท่านสังฆณีวรมัย เท่าที่จำได้ ท่านเองก็อ้างว่าท่านบวชในสายเถรวาทมาจากไต้หวัน
ตอบ: ก็นั่นสิ ขอให้มองเป็นเรื่องตรงไปตรงมาตามธรรมดา อยู่ๆ ถ้าพูดขึ้นมาเฉยๆ จะให้ทางนี้ยอมรับได้ไหมว่า ภิกษุณีที่สืบมาในไต้หวันเป็นสายเถรวาท อย่างน้อยท่านก็ต้องตั้งข้อระแวงไว้ว่า ดินแดนไต้หวันมีแต่พุทธศาสนามหายาน ภิกษุสงฆ์ก็เป็นมหายาน แล้วจะไปยอมรับภิกษุณีทันทีได้อย่างไร มันก็เป็นธรรมดา ไม่ใช่เฉพาะไม่ยอมรับภิกษุณีหรอก ภิกษุก็ไม่รับ ก็ได้แต่รับในแง่ที่รู้ว่านี่เป็นภิกษุมหายาน เมื่อเป็นภิกษุณีท่านก็ยอมรับในแง่ว่านี่เป็นภิกษุณีมหายาน ก็ว่ากันไปตามเรื่อง ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว
เมื่อมาจากแดนมหายาน ถ้าบอกว่าเป็นภิกษุณีเถรวาท ก็อย่าเพิ่งให้ท่านต้องยอมรับทันที ก็ต้องให้โอกาสท่าน ก็ต้องสืบสาวราวเรื่องที่เป็นมาให้ชัดก่อน นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา
ในกรณีที่ว่าถ้าเป็นภิกษุณีสายเถรวาทจริง แต่ภิกษุสงฆ์ในไต้หวันมีแต่มหายาน ภิกษุณีซึ่งบวชในสงฆ์สองฝ่าย ก็กลายเป็นบวชกับภิกษุสงฆ์มหายาน ความเป็นเถรวาทก็แปรไปเสียอีก จะนับว่าเป็นภิกษุณีเถรวาทครึ่ง มหายานครึ่งหรืออย่างไร แค่นี้ก็ต้องเห็นใจท่านที่จะต้องวินิจฉัยแล้ว ว่าคงลำบากใจไม่น้อยเลย
ถ้ามีภิกษุณีสงฆ์เถรวาทจริงก็ถือว่าดีไปขั้นหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องเกิดขึ้นท่านก็ต้องถือในขั้นต้นว่าเป็นภิกษุณีมหายานไว้ก่อน ก็เป็นธรรมดา มันตรงไปตรงมา ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ท่านด้วย
ถาม: ในประเด็นนี้ ถ้าผู้หญิงไทยยอมรับสภาพ คือยอมรับเป็นภิกษุณีสงฆ์ของมหายาน ก็น่าจะเป็นทางออกได้
ตอบ: ก็เป็นทางออกหนึ่ง เราก็ต้องมาตกลงว่าจะเอาอย่างไร
ถาม: ต้องมีการสืบต่อไปอีกไหมครับ ว่ามีการขาดช่วงของภิกษุณี
ตอบ: อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ หรือชาวพุทธที่จะต้องสืบสวนทางประวัติศาสตร์ว่า ภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้นสืบมาอย่างไร เป็นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทแท้จริงไหม ถ้าหากว่าสืบได้ชัด ทางนี้ยอมรับได้ ก็หมดเรื่อง แต่ก็ต้องพิจารณาในแง่ว่าไต้หวันไม่มีภิกษุสงฆ์เถรวาท ที่จะบวชภิกษุณีเถรวาทในขั้นตอนที่ให้ครบสงฆ์สองฝ่าย แล้วจะยุติอย่างไร ก็ว่ากันตรงไปตรงมา อย่าไปยกอันโน้นมาปนอันนี้ให้มันยุ่ง ไม่ต้องไปพูดถึงภิกษุณีเลย ภิกษุก็เหมือนกัน เราก็ยังมีภิกษุสายเถรวาท และภิกษุมหายาน
ถาม: แล้วอย่างที่บัญญัติไว้ว่า พระอุปัชฌาย์ของภิกษุณีที่เรียกว่า ปวัตตินี ที่ว่าบวชได้แค่ปีละองค์ แล้วก็ต้องเว้นไปอีกปีหนึ่ง ถึงจะบวชได้ใหม่อีกองค์หนึ่ง อย่างนี้คิดว่าน่าจะเป็นพระพุทธประสงค์ที่จะคุมกำเนิดนะครับ
ตอบ: ก็อาจจะอย่างนั้น คือไม่ต้องการให้มีมาก คล้ายว่าทำให้การบวชภิกษุณีนั้นเป็นไปได้ยาก อันนี้คงต้องมองในแง่ของสังคม คือเป็นปัญหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ทางสังคม
ถาม: คือท่านต้องการที่จะให้สูญพันธุ์ไปโดยปริยายหรือเปล่า
ตอบ: อันนั้นก็ต้องพิจารณากันอีก อาตมาคงตัดสินไม่ได้ แต่พูดได้ว่าเป็นข้อที่ควรตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่ง
No Comments
Comments are closed.