จุดหมายของชีวิตที่ผู้แนะแนวควรชี้นำ

26 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 15 จาก 15 ตอนของ

จุดหมายของชีวิตที่ผู้แนะแนวควรชี้นำ

ต่อไปนี้เป็นหมวดสุดท้าย จะจบแล้ว ขอพูดไว้ว่า คนที่พัฒนาตนเองได้ มีปัญญา มีชีวิตที่ดี ควรรู้จุดหมายของชีวิต การที่เรารู้จุดหมายของชีวิตนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร

๑. เพื่อจะได้มีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม

๒. เพื่อใช้สำรวจตนด้วยตนเอง และเพื่อจะได้มีความมั่นใจในตนเอง ในการที่จะพัฒนาตนให้ยิ่งขึ้นไป

พุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตที่ดีงามจะต้องดำเนินให้บรรลุถึงจุดหมาย ๓ ชั้น คือ

๑. ประโยชน์ปัจจุบัน หรือจุดมุ่งหมายที่มองเห็นของชีวิตนี้คือ ประโยชน์ทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เช่น มีทรัพย์สินที่จะพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ ทางสังคมก็มีเพื่อนฝูงรักใคร่ มีบริวาร มีสถานะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า เป็นประโยชน์เบื้องต้น

๒. ประโยชน์เบื้องหน้า คือ มีชีวิตที่ดีงาม มีคุณค่า มีคุณธรรมความดี เป็นประโยชน์ ทำให้มีความมั่นใจในคุณค่าของชีวิตของตน เริ่มตั้งแต่เป็นผู้มีความประพฤติดีงาม มีปัญญารู้เข้าใจโลกและชีวิตพอสมควร ได้ทำความดีงามบำเพ็ญประโยชน์ไว้ เป็นความมั่นใจในคุณค่าของชีวิตของตนเอง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงโลกหน้าด้วย คือทำให้มีความมั่นใจในชีวิตเบื้องหน้า ไม่ต้องกลัวปรโลก จึงเป็นประโยชน์ระยะยาว ต่างจากข้อแรกที่เป็นประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้น

๓. ประโยชน์สูงสุด คือ การมีจิตใจเป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต หลุดพ้นจากความครอบงำของกิเลสและความทุกข์ สามารถทำจิตให้ปลอดโปร่งผ่องใสได้ทุกเวลา แม้จะมีอารมณ์เข้ามากระทบก็ไม่หวั่นไหว ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง แต่โปร่งโล่ง ปราศจากทุกข์ เป็นประโยชน์สูงสุด เรียกว่า ปรมัตถะ

รวมเป็นประโยชน์หรือจุดมุ่งหมาย ๓ ขั้น คือ

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน ต่อหน้า ตาเห็นได้

๒. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์เบื้องหน้า ลึกล้ำ ระยะยาว

๓. ปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุด หลุดพ้น เหนือกาล

อนึ่ง ถ้าแบ่งตามแนวราบ ประโยชน์นั้นจะแยกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. อัตตัตถะ ประโยชน์ตน

๒. ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น

๓. อุภยัตถะ ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ประโยชน์ตนเองก็ต้องทำให้ได้ ๓ ขั้น ทั้งปัจจุบัน เบื้องหน้า และสูงสุด ส่วนประโยชน์ผู้อื่นก็ต้องช่วยให้เขาบรรลุทั้ง ๓ ขั้นนั้น และประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันทั้งสองฝ่าย ก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมทั้งรูปธรรม นามธรรม ซึ่งจะช่วยให้ทั้งตนและผู้อื่นก้าวหน้าไปในการบรรลุประโยชน์ทั้งสามขั้นข้างต้น เช่น กิจกรรมดีงาม และวัฒนธรรมประเพณี ที่ส่งเสริมปัญญาและกุศลธรรมของชุมชนทั้งหมด

นี้คือคุณค่าที่เป็นจุดหมายของการดำเนินชีวิต ซึ่งในการพัฒนาตนให้เข้าถึง ควรรู้ตระหนักไว้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในแนวทางสู่จุดหมาย ที่จะทำการพัฒนาตนขึ้นไป จึงเป็นอุปกรณ์ในการแนะแนว

ส่วนวิธีปฏิบัติในการแนะแนวนั้น วงการศึกษาปัจจุบันได้พัฒนารายละเอียดและกลวิธีต่างๆ ไปมากแล้ว อาตมาจะไม่นำมาพูด

ตกลงว่า การพัฒนาตนเองโดยแนวทางและหลักการนี้ เป็นสาระสำคัญของการที่จะช่วยให้บุคคลที่ประสบปัญหา มีความทุกข์ ได้พัฒนาตนจนพึ่งตนเองได้ การพึ่งตนเองได้ก็คือ การปฏิบัติตามหลักที่ว่ามีปัญญาเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิต ไม่มีอวิชชาหรือตัณหาเป็นเครื่องดำเนินชีวิต

เมื่อถึงขั้นนี้ก็จะเป็นการบรรลุจุดมุ่งหมายของการดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา เรากล่าวว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ” ซึ่งเป็นชีวิตที่พึ่งตนได้ อันเป็นสาระสำคัญของปาฐกถาที่ได้แสดงมา

วันนี้ก็ได้พูดมาเป็นเวลามากมายแล้ว ถึงเวลา ๑๘.๐๐ น.เศษ จึงขอยุติก่อนที่จะค่ำมืดลงไปเพียงเท่านี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้

No Comments

Comments are closed.