ตัวนำวิถีของการพัฒนาชีวิต

1 มกราคม 2532
เป็นตอนที่ 16 จาก 16 ตอนของ

ตัวนำวิถีของการพัฒนาชีวิต

อีกข้อหนึ่งที่ขอพูดเป็นเรื่องสุดท้าย คือ ตัวองค์ประกอบของกระบวนการพัฒนาชีวิต อันนี้คือตัวแท้ตัวจริงของมันเลย เมื่อกี้เราพูดอ้อมไปอ้อมมา พูดแวดล้อมอยู่วงนอก ทีนี้จะพูดถึงตัวการพัฒนาเองว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง ได้พูดแต่ต้นแล้วว่า การพัฒนาชีวิต ก็คือการทำให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง วิถีชีวิตที่ถูกต้องเราเรียกว่ามรรค การทำให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีโดยวิธีที่ถูกต้องเรียกว่า สิกขาหรือการศึกษา การศึกษาหรือสิกขาก็ดี มรรคก็ดี จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องมีตัวนำ ตัวนำนี้ก็คือตัวที่นำให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องและเป็นตัวนำให้เกิดการพัฒนาชีวิต หรือพัฒนาคนให้มีวิถีชีวิตที่ถูกต้อง เรียกเป็นคำศัพท์ว่าบุพนิมิตของวิถีชีวิตที่ดี หรือเรียกง่ายๆ ว่า บุพนิมิตของชีวิตที่ดี

บุพนิมิต มาจาก นิมิต ที่แปลว่า ลาง เครื่องหมาย หรือเครื่องส่อแสดง ต่อเข้ากับ บุพ ซึ่งแปลว่า ก่อน บุพนิมิต จึงแปลว่า เครื่องหมายที่ส่อแสดงล่วงหน้า หมายถึงเครื่องหมายที่ส่อแสดงล่วงหน้าของวิถีชีวิตที่ดีงามถูกต้อง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รุ่งอรุณของการศึกษา เพราะมันเป็นบุพนิมิตของชีวิตที่ดี มันก็เลยมาเป็นรุ่งอรุณของการศึกษาด้วย ถ้ารุ่งอรุณของการศึกษามาแล้ว การศึกษาก็ต้องตามมาเอง โดยไม่ต้องไปเพียรพยายาม ท่านบอกว่าอย่างนั้นคือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เหมือนกับเมื่อดวงอาทิตย์จะขึ้นสู่ท้องฟ้า ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนฉันใด ชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น ก็มีองค์ประกอบคือธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนฉันนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงเรียกองค์ประกอบเหล่านี้ว่า รุ่งอรุณของการศึกษา

รุ่งอรุณของการศึกษา ก็เป็นรุ่งอรุณของการพัฒนาชีวิตด้วย โดยเฉพาะมันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำเข้าสู่วิถีของการพัฒนาชีวิต หลักธรรมชุดนี้มี ๗ ประการด้วยกัน โดยทั่วไปเรามักจะพูดถึงแต่มรรคกับไตรสิกขา แต่ไม่พูดถึงบุพนิมิต และรุ่งอรุณของมัน แสดงว่าเรามองธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ทั่วถึง เราลืมไปหรือมองข้ามไปว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ถึงสิ่งที่จะต้องทำหรือควรจะทำ ควรจะมีก่อนมรรค และเป็นเบื้องต้นของการศึกษา การที่เราจะก้าวปุ๊บไปสู่ตัวมรรค ก้าวปั๊บไปสู่ตัวการศึกษานั้น บางทีอาจจะไม่สำเร็จก็ได้ ถ้าเราไม่ทำสิ่งที่เป็นต้นทางของมันเสียก่อน รุ่งอรุณของการศึกษา หรือบุพนิมิตของชีวิตที่ดีมี ๗ ประการ ขอกล่าวโดยย่อ

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี ปัญญาเป็นแกนนำของการพัฒนาชีวิต ดังนั้น คนเราจะเดินหน้าในการพัฒนาก็ต้องรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ เริ่มตั้งแต่รู้จักเลือกคบคน ซึ่งไม่ใช่เป็นแหล่งความรู้เท่านั้นแต่เป็นแหล่งของความดีงามด้วย โดยเฉพาะเด็กๆ นั้น มักจะคอยตามแบบอย่าง เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำให้เด็กรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีงาม ถ้าเด็กเริ่มรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และเลือกคบคน รู้จักนิยมแบบอย่างที่ดี รู้จักเลือกว่าควรดูโทรทัศน์เรื่องไหนรายการใดจึงจะได้ความรู้เป็นประโยชน์ และนักเรียนนักศึกษารู้จักคิด รู้จักพิจารณาเลือกหาว่าเรื่องนี้เราควรปรึกษาใคร ควรจะค้นหนังสืออะไรเป็นต้น ก็เป็นบุพนิมิตสำคัญข้อที่หนึ่งของการที่การศึกษาและการพัฒนาชีวิตจะดำเนินก้าวหน้าต่อไป บุพนิมิต ข้อนี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร)

ผู้บริหารและจัดการศึกษา ตลอดจนผู้บริหารประเทศ พ่อแม่ผู้ปกครอง สื่อมวลชน และผู้ใหญ่ทั่วไป มีหน้าที่จัดสรรแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งมีหน้าที่ที่จะทำตนหรือปฏิบัติตนให้เป็นเช่นนั้น แต่ในการทำหน้าที่เช่นนั้นจะต้องรู้ตระหนักว่า การจัดสรรแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและประชาชน แม้จะสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงบริการและเป็นส่วนประกอบ เป้าหมายที่แท้ของหลักธรรมข้อนี้ต้องให้ถึงขั้นที่ว่าตัวเด็กตัวเยาวชน ตลอดจนชาวบ้านจะต้องรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีงาม ถึงแม้จัดสรรแหล่งความรู้และแบบอย่างให้พร้อม แต่เด็กยังไม่รู้จักเลือกหา การศึกษาที่แท้จริงก็ยังไม่เริ่ม เมื่อใดเด็กรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี เมื่อนั้นแหละคือการศึกษาได้เริ่มต้นอย่างแท้จริง และนั่นคือรุ่งอรุณของการศึกษา พูดอย่างง่ายๆ ว่า การที่ผู้ใหญ่จัดสรรและเป็นกัลยาณมิตรให้ แม้จะสำคัญก็ยังไม่ถึงจุดเริ่มของการศึกษา เมื่อใดเด็กรู้จักเลือกหากัลยาณมิตรนั่นแหละ การศึกษาจะเริ่มต้นแล้วอย่างแท้จริง

๒. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย คือ รู้จักจัดระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมในสังคมให้เป็นไปโดยเรียบร้อยด้วยดี ถ้าชีวิตไม่มีระเบียบ และการอยู่ร่วมในสังคมไม่เรียบร้อย ก็จะเกิดความวุ่นวายสับสน คนเราจะทำอะไรไม่ได้เลยหรือไม่สะดวกเพราะไม่มีช่องที่จะทำ ชีวิตที่จะทำอะไรได้จะต้องมีช่องมีโอกาส โอกาสนั้นเกิดจากการจัดระเบียบ ฉะนั้น จะต้องมีการจัดระเบียบชีวิตและการจัดระเบียบการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมให้เรียบร้อย พูดง่ายๆ ว่าต้องเตรียมพื้นที่ให้ดี หรือจัดที่ทำงานให้เรียบร้อยก่อน แล้วจะเป็นจุดเริ่มที่อำนวย เกื้อกูลต่อกระบวนการศึกษา และกระบวนการพัฒนาชีวิตที่จะเดินหน้าต่อไป พอเรามีระเบียบในการดำเนินชีวิต และมีระเบียบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นแล้ว กระบวนการพัฒนาก็ดำเนินไปได้ง่าย บุพนิมิตข้อนี้เรียกว่า สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล)

๓. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ได้แก่ความใฝ่รู้และใฝ่ดีที่เรียกว่าใฝ่ธรรม หรือฉันทะนั่นเอง ธรรมแปลว่าความจริง และความดีงาม ความจริงเข้าถึงได้ด้วยความรู้ก็ต้องใฝ่รู้ ใฝ่ความจริงก็ต้องใฝ่ความรู้ ใฝ่ความดีงามก็คือใฝ่สร้างสรรค์ทำความดีงามให้เกิดขึ้น มีแรงจูงใจที่ถูกต้องคือใฝ่รู้ใฝ่ดีแล้ว จึงจะสามารถก้าวไปในการศึกษาพัฒนาชีวิต ตลอดจนในการสร้างสรรค์ผลิตสิ่งต่างๆ และทำให้พ้นปัญหาที่จะเกิดจากความใฝ่เสพใฝ่บริโภคตลอดจนค่านิยมบริโภค บุพนิมิตข้อนี้เรียกว่า ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ)

๔. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ หลักบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศักยภาพสูงสุด ท่านใช้คำว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้และฝึกแล้วประเสริฐสุด แต่ละคนก็มีศักยภาพของตน ถ้ามัวนิ่งเฉยศักยภาพนั้นก็ไม่ปรากฏออกมา ทั้งๆ ที่เราสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ เป็นพระอรหันต์ได้ เป็นพระอริยะได้ แต่ไม่พัฒนาศักยภาพ ก็เป็นไม่ได้ จึงต้องมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตน และมีจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตนอยู่เสมอ โดยมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพให้เต็มที่ บุพนิมิตข้อนี้ เรียกว่า อัตตสัมปทา (การทำตนให้ถึงพร้อม)

๕. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมแนวเหตุผล เริ่มด้วยมีท่าทีถูกต้องต่อประสบการณ์ต่างๆ และมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย พูดง่ายๆ คือมีทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้อง ท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ต่างๆ คือ ไม่ใช่ท่าทีของการยินดียินร้ายชอบชัง แต่เป็นท่าทีของการเรียนรู้ และไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างเลื่อนลอยหลงเพลิดเพลินงมงาย แต่มองตามเหตุปัจจัย อันนี้เป็นคำสอนเบื้องต้นที่สุดและสำคัญยิ่ง คนทั้งหลายที่ประสบปัญหาก็เพราะไม่มีหลักในการมอง จึงมองสิ่งทั้งหลายไปตามความหลง แล้วก็มองไปตามความเพลิดเพลิน จึงถูกสิ่งนั้นชักจูงเตลิดไป แต่เมื่อมีท่าทีแห่งการเรียนรู้และมองตามเหตุปัจจัย ก็จะเกิดการคิดวิเคราะห์แยกแยะสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความรู้จริง ทำให้ปัญญางอกงาม และทำให้มีค่านิยมตามแนวเหตุผล ซึ่งสอดคล้องกับเจตคติที่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย แล้วก็จะมีค่านิยมที่ดีงาม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาและการมีชีวิตที่ดีงาม บุพนิมิตข้อนี้เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา (การทำความเห็นความเข้าใจให้ถึงพร้อม)

๖. มีสติกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลา ความหมายสำคัญในข้อนี้ คือ มีจิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง พระพุทธศาสนาสอนหลักอนิจจัง ซึ่งเราแปลความหมายแบบง่ายๆ ว่าความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ความเปลี่ยนแปลงนี้สัมพันธ์กับกาลเวลา ในเมื่อเราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เราก็เห็นความสำคัญของกาลเวลาด้วย แล้วก็ทำให้เกิดความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าสอนหลักเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้คนมีความไม่ประมาท ซึ่งหมายถึงว่า เราจะต้องมีความตื่นตัวต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ทุกอย่าง ซึ่งผูกพันอาศัยอยู่กับกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงนั้น นอกจากนี้จะต้องรู้ตระหนักตามหลักการที่ท่านแสดงไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายจะเจริญหรือจะเสื่อมก็ขึ้นอยู่ที่เหตุปัจจัย เราจึงต้องตื่นตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า สิ่งนั้นๆ จะเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม หรือเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ ถ้าเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม ก็รีบป้องกันแก้ไข ถ้าเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเจริญ ก็รีบสร้างสรรค์ขึ้น ความตื่นตัวกระตือรือร้นที่เรียกว่าความไม่ประมาท เป็นตัวเร่งที่โยงเข้าไปหาการศึกษาเหตุปัจจัย และการกระทำการให้ตรงเหตุปัจจัย และทำให้เราต้องมีการพัฒนาชีวิตอยู่ตลอดเวลา บุพนิมิตข้อนี้เรียกว่า อัปปมาทสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท)

๗. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด คือต้องรู้จักคิดรู้จักพิจารณา คิดเองเป็น โดยคิดตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ การคิดเองเป็นและรู้จักคิดตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย เป็นหลักสำคัญที่ทำให้แก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง และเป็นวิธีการสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญญา และพัฒนาปัญญาให้งอกงามยิ่งขึ้นไป ฉะนั้น หลักการรู้จักคิดและคิดเป็น จึงเป็นจุดย้ำเน้นในพระพุทธศาสนา และเป็นหลักที่ทำให้คนพึ่งตนเองได้ ถ้าเด็กยังไม่มีโยนิโสมนสิการ ยังไม่รู้จักคิดเองเป็น เขาก็ยังจะต้องอาศัยกัลยาณมิตรอยู่ต่อไป หรือมิฉะนั้น ก็อาจก้าวถลำออกนอกทางของการศึกษาหรือการพัฒนาชีวิต อย่างน้อยก็หยุดนิ่งเฉื่อยชา ไม่ก้าวหน้าไปในกระบวนการพัฒนาชีวิตนั้น แต่เมื่อใดเด็กคิดเองเป็น เด็กก็อาศัยกัลยาณมิตรน้อยลง สามารถพึ่งตนเองได้ แก้ปัญหาเองได้ แล้วก็รู้จักใช้ประโยชน์จากกัลยาณมิตรได้ดีด้วย บุพนิมิตข้อสุดท้ายคือข้อที่ ๗ นี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ)

เป็นอันว่าจบหลัก ๗ ประการ ที่เรียกว่าบุพนิมิตของชีวิตที่ดีงาม หรือรุ่งอรุณของการศึกษา เวลาก็หมดแล้ว ก่อนจบขอย้ำความเข้าใจบางอย่าง หลักสำคัญก็คือ การที่เราจะต้องสร้างองค์ประกอบที่เรียกว่ารุ่งอรุณของการศึกษาให้เกิดขึ้น การที่จะสร้างเช่นนั้นได้ ในกระบวนการศึกษาก็มีบุคคลสำคัญที่เรียกว่าครูอาจารย์เข้ามามีบทบาท ครู อาจารย์จะต้องทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นชักจูงให้องค์ประกอบ ๗ ประการนี้เกิดขึ้นในเด็กหรือตัวผู้เรียนให้ได้ เมื่อทำหน้าที่อย่างนี้ ตัวครูอาจารย์ก็กลายเป็นกัลยาณมิตร ตอนแรกเด็กมีกัลยาณมิตรโดยเราจัดสรรให้ แต่ต่อไปกัลยาณมิตรนั้นจะต้องสอนแนะนำให้เด็กรู้จักเลือกหากัลยาณมิตรเอง ตลอดจนให้เจริญในองค์ประกอบข้ออื่นๆ ทั้งหมด

ขอย้ำว่า กัลยาณมิตรสามารถช่วยชี้แนะและกระตุ้นเร้าให้เด็กหรือผู้เรียน เกิดมีองค์ประกอบที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษาขึ้นครบทั้ง ๗ ประการ และก็เป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตรที่ควรจะต้องทำเช่นนั้น แต่สิ่งที่ขอย้ำเป็นพิเศษ ก็คือ จะต้องพยายามให้องค์ประกอบเหล่านั้นเกิดขึ้นครบถึงข้อสุดท้าย คือถึงโยนิโสมนสิการ เพราะข้อสุดท้ายนั่นแหละเป็นตัวตัดสิน เนื่องจากเป็นตัวที่นำไปสู่ปัญญา ซึ่งเป็นแกนนำของการศึกษาหรือการพัฒนาชีวิต การก้าวไปให้ถึงความสมบูรณ์ของการพัฒนาชีวิต ซึ่งหมายถึงการพึ่งตนเองได้ ถึงอิสรภาพอย่างแท้จริง จะต้องอาศัยองค์ประกอบข้อสุดท้ายนี้ ดังนั้น ในกรณีที่พูดถึงปัจจัยตัวเด่นที่ยืนเป็นหลัก บางทีท่านกล่าวถึงองค์ประกอบในชุดนี้เพียง ๒ อย่าง คือ กัลยาณมิตร กับ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นข้อต้นกับข้อสุดท้าย ควบหัวควบหาง เป็นองค์ประกอบคู่กัน เรียกข้อต้น คือ กัลยาณมิตร ว่าเป็นปัจจัยภายนอก และเรียกข้อท้าย คือ โยนิโสมนสิการ ว่าเป็นปัจจัยภายใน โดยจัดเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ คือแนวความคิดที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นองค์ข้อแรกของมรรคหรือวิถีชีวิตที่ดีงาม หรือวิถีแห่งการพัฒนาชีวิตนั้น ด้วยเหตุนี้ ในกระบวนการศึกษาหรือพัฒนาชีวิต จึงต้องเน้นองค์ประกอบ ๒ อย่างนี้เป็นพิเศษ

แท้จริงนั้น ถ้าใครมีโยนิโสมนสิการแล้ว กัลยาณมิตรก็ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักใช้โยนิโสมนสิการ จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตรมาช่วยชี้แนะนำทางให้ เพื่อให้รู้จักใช้โยนิโสมนสิการมากขึ้นๆ ถึงแม้จะมีกัลยาณมิตร แต่ถ้าไม่สามารถช่วยให้เด็กหรือผู้เรียนรู้จักใช้โยนิโสมนสิการ การก้าวหน้าในการศึกษาหรือพัฒนาชีวิต ก็ไม่สามารถดำเนินไปได้ตลอดลุล่วง ความสำเร็จแห่งผลที่หมาย จึงอยู่ที่ว่ากัลยาณมิตรจะต้องมาทำหน้าที่ปัจจัยภายนอก ที่จะชักนำให้ปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการ เกิดมีขึ้นในเด็กหรือผู้เรียนให้ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดถึงองค์ประกอบครบชุดทั้ง ๗ ข้อ จึงต้องกล่าวว่า กัลยาณมิตรจะต้องพยายามทำหน้าที่เกื้อหนุนแนะนำให้องค์ประกอบแห่งรุ่งอรุณของการศึกษาเกิดขึ้นครบ ถึงข้อสุดท้าย คือ โยนิโสมนสิการ

ถ้าเมื่อใดเด็กเกิดมีองค์ประกอบคือรุ่งอรุณของการศึกษา ๗ ประการนี้ขึ้นมาครบถ้วนจนถึงข้อสุดท้ายที่เป็นตัวตัดสินแล้ว จะโดยครูอาจารย์กระตุ้นก็ตาม โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล ซึ่งทำให้เขาพัฒนาหรือภาวนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาก็ตาม แล้วการศึกษาก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปเรียกร้องหา เหมือนกับว่า เมื่อแสงอรุณขึ้นมาแล้วเราไม่ต้องไปขอร้องให้พระอาทิตย์ขึ้นมาอีก พระอาทิตย์ก็จะขึ้นมาเอง ถ้าเด็กมีคุณสมบัติคือองค์ประกอบ ๗ ประการนี้แล้ว การศึกษาจะตามมาเอง โดยไม่ต้องทำอะไร พูดอีกนัยหนึ่งว่า ชีวิตที่ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ จะเป็นชีวิตที่มีการพัฒนาเอง การพัฒนาชีวิตจะตามมาเอง ชีวิตจะพัฒนาไปได้เอง ด้วยอาศัยองค์ประกอบ ๗ ประการที่ได้กล่าวมานี้

บัดนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว อาตมภาพขอเสนอธรรมที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเครื่องประกอบการพิจารณา หากว่ามีประโยชน์บ้าง ก็ขออนุโมทนา อย่างน้อยก็ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านอาจารย์ทุกท่าน ที่ได้มาร่วมฟังในที่ประชุมนี้ และขอให้กุศลเจตนาของทุกท่าน นำมาซึ่งความเจริญงอกงามและสันติสุข ในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ.

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ชีวิตที่ดี พัฒนาในท่ามกลางความสมดุล

No Comments

Comments are closed.