- จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา
- – ๑ – จุดบรรจบที่แฝงความแตกต่าง
- แนวโน้มใหม่ของความสนใจพระพุทธศาสนาในตะวันตก
- ความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาตะวันตก กับพระพุทธศาสนา
- จุดต่างที่สำคัญระหว่างจิตวิทยากับพระพุทธศาสนา
- วิธีการที่ต่างกันเกิดจากการมองที่ต่างกัน
- ความสัมพันธ์เชิงระบบภายในองค์รวม โยงจิตกับปัญญา ตลอดลงมาถึงพฤติกรรม
- – ๒ – ความแตกต่างที่ต้องนำมาบรรจบ
- จุดที่จิตวิทยาสนใจและขยายความหมาย มาบรรจบกับพระพุทธศาสนา
- โทษอาจเกิดขึ้น และแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าเอาพระพุทธศาสนาไปใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ
- วิธีการต้องตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎี
- – ๓ – จากจิตวิทยา จบที่ปัญญาภาวนา
- สังคมวางแนวความคิดไว้เอียงสุด จิตมนุษย์ก็เกิดความขัดแย้ง เพราะมีความต้องการที่ไม่อาจสนอง
- ตะวันตกเปลี่ยนจากเหงาเมื่ออยู่เดียว ไปเป็นเหงากลางหมู่
- พุทธเปลี่ยนจากอยู่เดียวเปลี่ยวใจ ไปเป็นอยู่เดียวแสนสุข
- แก้ปัญหาจากสังคม หรือแก้ที่ตัวบุคคล
- การแก้ปัญหาอย่างมีกระบวนวิธีและเป็นระบบ
- เพราะว่างจึงเต็ม เพราะไม่ว่างจึงกลวง
- เมื่อเต็มแล้ว จะอยู่เดียวก็เป็นสุข จะอยู่ในสังคมก็เป็นสุข และทำสังคมให้เป็นสุขด้วย
- เชิงอรรถ
- บันทึกนำ
วิธีการที่ต่างกันเกิดจากการมองที่ต่างกัน
ประสบการณ์ภายในจิตใจนี้ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และประสบการณ์ทางจิตใจนี้ก็โยงออกมาสู่พฤติกรรมทางรูปธรรมภายนอกด้วย โดยที่ทั้งหมดนั้นเป็นส่วนหนึ่งในระบบชีวิตของมนุษย์ซึ่งไม่อาจจะแยกต่างหากจากกันได้ เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ตามระบบของเหตุปัจจัย อย่างที่เรียกว่าเป็นองค์รวม
ทั้งนี้เพราะว่าระบบของชีวิตทั้งหมดนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทุกส่วนอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และส่งผลต่อกัน เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงถือว่า ประสบการณ์ทางจิตใจ มีผลโยงมาทางด้านพฤติกรรม และพฤติกรรมก็มีผลลงไปถึงทางด้านจิตใจด้วย
จากนี้ก็ทำให้เรามองเห็นว่า ทางด้านจิตวิทยาตะวันตกนั้นมักจะมองเรื่องของจิตวิทยาโดยเน้นปัญหาชีวิตจิตใจเป็นอย่างๆ ไป โดยที่ว่าต่างสำนักก็ยึดเอาแต่ละจุด แล้วก็ไปเน้นจุดนั้นด้านนั้น บางทีถึงกับปฏิเสธด้านอื่น เช่น บางสำนักก็อาจจะเน้นโดยสนใจและให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องจิตไร้สำนึก บางสำนักก็เอาเฉพาะเรื่องพฤติกรรม ถือว่าพฤติกรรมอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นของแน่นอนเป็นของจริง ไม่ยอมรับเรื่องภายในจิตใจเลย อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า แยกเน้นกันไปเป็นอย่างๆ
แต่ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านมองทุกด้านโดยถือว่าทุกส่วนมีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์กันอยู่ในระบบของชีวิตจิตใจมนุษย์ทั้งสิ้น จึงต้องมีการโยงประสานกัน และมองความเป็นปัจจัยแก่กันในภาวะที่สัมพันธ์กันนั้น ทั้งนี้ความสัมพันธ์แต่ละด้านของชีวิตจิตใจของมนุษย์ ที่มาสัมพันธ์กันนั้นก็มีความสำคัญที่อาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งเราจะมองว่ามีความสำคัญแค่ไหนก็สัมพันธ์กับระดับพัฒนาการของบุคคลแต่ละคนด้วย
ขอยกตัวอย่าง เช่น มองถึงบุคคลที่มีพัฒนาการอยู่ในระดับต้น ในระดับนี้เรื่องของพฤติกรรมภายนอกจะมีความสำคัญมาก แต่เมื่อบุคคลนั้นมีพัฒนาการในระดับสูงขึ้นไป เรื่องทางด้านจิตใจที่ลึกซึ่งต่อขึ้นไปจนถึงระดับปัญญาจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งพฤติกรรมภายนอกถือว่าลงตัว อย่างที่เรียกว่าแทบจะไม่ต้องเอาใจใส่
ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงมองภาพรวม โดยที่เห็นองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ ทุกระดับทุกขั้นตอนทุกส่วนมาโยงมา สัมพันธ์ทั้งแบบอิงอาศัยและต่อทอดซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะยกเรื่องใดขึ้นมาเน้น ก็จะต้องเอามาโยงสัมพันธ์กับความเป็นไปในชีวิตจิตใจที่แท้จริง อย่างที่ว่ามาแล้วในพัฒนาการของบุคคลในกระบวนการพัฒนามนุษย์
ตอนนี้อาตมาอยากจะชี้ให้เห็นถึงวิธีแสดงความจริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าพูดตามหลักแล้ว กล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นมองกฏธรรมชาติโดยแยกออกไปเป็นด้านๆ ว่าเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจของมนุษย์นี้มีส่วนที่เป็นกฎธรรมชาติที่สำคัญอยู่ ๒ อย่าง ได้แก่ จิตนิยาม กับ กรรมนิยาม
จิตนิยามก็คือกฎเกี่ยวกับการทำงานของจิตใจ แล้วก็กรรมนิยามคือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ตลอดถึงผลของพฤติกรรมนั้นๆ สองอย่างนี้พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นคนละกฎ เป็นกฎธรรมชาติคนละด้าน โดยรวมแล้วมันก็สัมพันธ์เป็นกฎเดียวกัน แต่สามารถแยกศึกษาเป็นคนละกฏ เพราะฉะนั้นเราจะมีเรื่องจิตนิยามกับกรรมนิยามเป็น ๒ ส่วน และเมื่อศึกษา ๒ ส่วนนี้แล้ว เราก็จะบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตนิยามกับกรรมนิยามอีกทีหนึ่ง
วิธีแสดงความจริงของพระพุทธศาสนาแบบนี้ ต่างจากจิตวิทยาตะวันตก ซึ่งถ้าเรามองจากแง่มุมของพระพุทธศาสนาจะเห็นว่า การมองและพูดถึงกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจมนุษย์นั้นยังสับสนปนเปอยู่ เช่นอย่างการมองจิตวิทยาเป็นเรื่องของพฤติกรรมอย่างเดียว แล้วเอาเรื่องจิตใจมาเป็นเรื่องพฤติกรรมไปหมด อย่างนี้เท่ากับว่าสับสนระหว่างจิตนิยามกับกรรมนิยาม ดังนี้ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่ควรจะได้นำมาพูดไว้พอให้เป็นหัวข้อสำหรับสังเกต
No Comments
Comments are closed.