- จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติ
- การพัฒนาคนเป็นระบบแห่งบูรณาการ
- การพัฒนาคนเป็นปฏิบัติการตามธรรมชาติ
- คุณภาพคนไทยที่ต้องพัฒนาให้ทันยุคสมัย
- พัฒนาอย่างมีดุลยภาพให้โตเต็มคน
- เข้มแข็งเพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงเพื่อชนะแข่งขัน
- ต้องข้ามพ้นยากล่อมและสิ่งเสพติด ชีวิตและสังคมจึงจะไปรอด
- — อารยธรรมยังไปไม่ไกล มนุษย์ยังต้องอาศัยสิ่งกล่อม
- — ต้องรู้จักออมแรงออมเวลา การพัฒนาจึงจะได้ผล
- — เร่งรัดพัฒนาด้วยระบบสร้างความเครียด กับระบบสติปัญญา
- สุขของคนมีการศึกษา กับสุขของคนด้อยพัฒนา
- อนุโมทนา
ต้องรู้จักออมแรงออมเวลา การพัฒนาจึงจะได้ผล
ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งของข้อปฏิบัติที่ต้องส่งผลสืบทอดต่อไปในกระบวนการของไตรสิกขา คือสันโดษ ถ้าสันโดษแล้วสุขสบายแล้วนอน ก็ขี้เกียจ เป็นอันว่าจบกัน แสดงว่าผิด สันโดษนี่ก็เป็นธรรมสำคัญที่ปฏิบัติผิดกันมาก ไหนๆ พูดถึงแล้วก็พูดเสียเลย
สันโดษนี่คนไทยเดี๋ยวนี้เข้าใจผิดกันมาก ถามเด็กๆ หนุ่มๆ ว่าสันโดษคืออะไร ก็มักตอบว่าคือไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใคร ปลีกตัวไปอยู่คนเดียว อันนี้ผิดไปลิบแล้ว ความหมายคลาดเคลื่อนหมด สันโดษคือความพอใจในสิ่งที่มีเป็นของตน มีอะไรมาเป็นของตนก็ยินดีพอใจเกิดความสุขได้ในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่ทะเยอทะยานร่านรนหาสิ่งที่ตนยังไม่มีไม่ได้ หมายความว่ามีสุขได้ด้วยสิ่งที่ตนมี หรือมองอีกแง่หนึ่งก็คือเป็นสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย แม้จะมีวัตถุเสพน้อยก็มีความสุขได้
อย่างไรก็ตาม ข้อที่ต้องระวังที่สุด ก็คือจะต้องทราบว่าความสุขไม่ใช่วัตถุประสงค์ของสันโดษ ความสุขเป็นเพียงผลพลอยได้ที่มีมาเองของสันโดษ เมื่อสันโดษก็สุขเลยทันที เพราะว่าเกิดความพอใจในวัตถุนั้นก็มีความสุขแล้ว เรามีวัตถุแค่ไหนเราก็มีความสุขได้ทันทีในเมื่อเรามีความพอใจในวัตถุนั้น แต่ในการปฏิบัติตามระบบไตรสิกขาซึ่งเป็นเครื่องพัฒนาคน จะอยู่แค่นั้นไม่ได้ จะต้องถามว่า สันโดษเพื่ออะไร หรือถามให้ตรงยิ่งกว่านั้นว่าเพื่อให้พัฒนาต่อไปอย่างไร คือมันจะต้องส่งผลต่อไปยังการปฏิบัติอื่นข้างหน้า จึงต้องถามว่าจะส่งผลอย่างไร
การที่เราสันโดษคือพอใจในวัตถุที่มีที่ได้นั้นจะเกิดผลอะไรขึ้นมา เราจะได้อะไร เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ได้สิ ลองดูว่าคนไม่สันโดษเป็นอย่างไร คนไม่สันโดษก็ไม่พอใจด้วยสิ่งที่มีเป็นของตน เขาจะมองหาแต่ สิ่งที่ยังไม่มี ยังไม่ได้ ที่ยังไม่เป็นของตน ฉันจะสุขได้ต้องได้อันนั้นต้องได้อันนี้ สิ่ง (วัตถุเสพ) ที่ตนมีไม่สามารถทำให้ตนมีความสุข ความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้ไม่มี เพราะฉะนั้น ในแง่วัตถุเสพนี่เขาไม่เจอความสุขความพอใจสักที เพราะความสุขของเขาอยู่กับสิ่งที่ยังไม่มียังไม่ได้ตลอดไป
เมื่อไม่สามารถมีความสุขจากวัตถุที่มีที่ได้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อไม่สันโดษและความสุขไปอยู่กับสิ่งที่ยังไม่มียังไม่ได้ เขาก็ต้องใช้เวลาและแรงงานมากในการที่จะโลดแล่นแสวงหาสิ่งเสพ เวลาก็หมดไปแรงงานก็หมดไปในการหาสิ่งเหล่านี้ ยิ่งกว่านั้นในด้านความคิด ก็ครุ่นคิดแต่ว่าทำอย่างไรจะได้อันนั้น จะไปหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอที่ไหน ความคิดก็หมดไปกับเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น ทั้งความคิดทั้งเวลาและแรงงานที่จะเอามาใช้กับการทำหน้าที่การงานทำการสร้างสรรค์ก็หมดไป
นอกจากนั้น เมื่อเวลาไม่พอที่จะไปหาสิ่งเสพก็ต้องเบียดบังเวลาทำงานทำการ ต่อไปสิ่งที่จะเสพนั้นต้องได้มาด้วยเงินทองเป็นต้น เมื่อเงินทองไม่พอก็ต้องทุจริตเพื่อจะเอาไปใช้จ่ายหาสิ่งเสพ และเพราะความสุขอยู่กับสิ่งเสพ ใจก็ไม่อยู่กับงาน ก็เลยทำงานด้วยความทุกข์ความจำใจ การทำงานกลายเป็นความทุกข์ทรมาน ไม่มีความสุข เป็นอันว่าคนไม่สันโดษเสียหมดทุกด้าน สุขจากวัตถุก็ยังไม่ได้ ทำการงานก็ทุกข์ทรมาน เสร็จแล้วยังมีปัญหาเรื่องเบียดบังเวลาทำงาน และเรื่องทุจริตอีกด้วย
ในทางตรงข้าม พอมีความสันโดษ วัตถุเสพมีเท่าใดก็สุขได้ทันที
๑. ความสุขจากวัตถุก็มีแล้ว
๒. เวลา แรงงาน และความคิดก็สงวนไว้ได้มากมาย แล้วก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปทุ่มเทให้กับการงานที่ต้องการจะทำ การทำงานสร้างสรรค์ก็มีเวลา แรงงานและความคิดที่จะทำได้เต็มที่ ก็เลยมีการทำสิ่งที่ดีงาม และการสร้างสรรค์ได้มากมาย
๓. เมื่อไม่กระวนกระวายที่จะพล่านหาสิ่งเสพ ใจก็อยู่กับงานและรักงาน ก็มีความสุขในการทำงานอีก
เป็นอันว่า เมื่อสันโดษแล้วก็ได้หมด สุขจากวัตถุก็ได้ สุขจากการทำงานก็ได้ แล้วยังทำงานได้ผลดีด้วย เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนให้สันโดษ แต่ต้องมีตัวตาม ใครไปพูดถึงสันโดษเฉยๆ ใช้ไม่ได้ พระพุทธศาสนาไม่ใช่สอนแค่ว่าสันโดษ แต่สันโดษต้องมีตัวตาม คือสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ แล้วก็ให้ไม่สันโดษในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามที่เรียกว่ากุศลธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยความไม่สันโดษ พระพุทธเจ้าเป็นยอดของคนไม่สันโดษ ถ้าพูดอย่างนี้ญาติโยมบางทีอาจจะสงสัยว่าทำไมพระว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า ที่เราตรัสรู้มานี้ได้เห็นคุณของธรรม ๒ ประการคือ
- ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
- ความเพียรไม่ระย่อ
หมายความว่า ลงได้เห็นว่าอะไรเป็นเหตุผลดีงามแล้วพระองค์ไม่มีหยุดเลย พระองค์ไม่สันโดษในกุศลธรรม และสอนให้ทุกคนไม่สันโดษในกุศลธรรม เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงสอนทั้งสันโดษและไม่สันโดษ สันโดษในสิ่งเสพแล้วก็ไม่สันโดษในกุศลธรรม
ในด้านสิ่งดีงามหรือการสร้างสรรค์แล้วท่านไม่ให้สันโดษ ถ้าสันโดษเมื่อไรท่านเรียกว่าประมาท แม้แต่เป็นอริยบุคคลแล้วมาเกิดความสันโดษเช่นพอใจในคุณธรรมความดีที่ทำได้สำเร็จ พระพุทธเจ้าตรัสว่านี่เธอประมาทแล้ว ในเรื่องสิ่งดีงามที่เป็นเรื่องของการพัฒนามนุษย์แล้วจะหยุดไม่ได้ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงจุดหมาย
เมื่อไม่สันโดษในกุศลธรรมคือในสิ่งสร้างสรรค์ที่ดีงาม ก็มารับกันกับสันโดษในสิ่งเสพ พอเราสันโดษในสิ่งเสพ เราก็ไปไม่สันโดษในกุศลธรรมหรือในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้เต็มที่ หลักการมันหนุนกันอย่างนี้ แต่เราไม่ค่อยจับหลักกัน คือหลักเรื่ององค์ธรรมหรือข้อปฏิบัติทุกข้ออยู่ในระบบไตรสิกขา ต้องส่งผลต่อกันในการเดินหน้าสู่จุดหมาย ไม่ใช่หยุดอยู่
เป็นอันว่า ตอบคำถามได้แล้วว่าสันโดษเพื่ออะไร สันโดษส่งผลต่อ สู่การเดินหน้าในการปฏิบัติต่อไปอย่างไร สันโดษเพื่อออมแรงออมเวลาและออมความคิดไว้ จะได้เอาแรงงาน เวลาและความคิดนั้นไปทุ่มเทอุทิศให้แก่การเพียรพยายามทำการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไปได้อย่างเต็มที่
ที่ว่ามานี้เป็นการยกตัวอย่าง แต่เดี๋ยวจะไปกันใหญ่ ตกลงว่าตอนนี้สิ่งที่ต้องการก็คือจะให้คนมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะแง่คิดที่ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความอ่อนแออย่างไร ซึ่งจะต้องพูดกันอีก
No Comments
Comments are closed.