หลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้

26 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 14 จาก 15 ตอนของ

หลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้

ต่อไปนี้มีอีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะพูด จึงต้องขอเวลาอีกหน่อย คือ เรื่องพึ่งตนเองได้ มีลักษณะอย่างไร คนที่จะพึ่งตนเองต้องมีหลักธรรมคือคุณสมบัติที่ทำให้พึ่งตนได้ คือ

๑. ประพฤติดีมีวินัย ไม่ก่อความเดือดร้อนต่อตนเองและสังคม ไม่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายในการอยู่ร่วมกัน ทำให้มีระเบียบวินัยในสังคมประเทศชาติ คนเรานี้หากเป็นผู้มีความประพฤติดี มีระเบียบวินัย ก็เป็นอันว่าหมดปัญหาขั้นพื้นฐานไปทีเดียว เท่ากับเปิดทางสะดวกให้มีโอกาสทำอะไรต่างๆ เพื่อก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยดีในกระบวนการศึกษาพัฒนาตน

๒. ได้ศึกษาสดับมาก การฟัง การอ่าน เล่าเรียน การแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ทำให้ได้ข้อมูลมาก จึงช่วยให้แก้ไขปัญหาได้มาก เพราะการแก้ปัญหาต่างๆ ต้องอาศัยข้อมูลความรู้ จึงควรจะศึกษาเล่าเรียน อ่าน ฟัง ให้มาก

๓. รู้จักคบคนดี คือ รู้จักคบเพื่อน รู้จักคบมิตร ซึ่งชักจูงไปในทางที่ดีงาม รู้จักคบครูอาจารย์ หาแหล่งวิชา รู้จักแสวงหาแหล่งความรู้ ซึ่งจะทำให้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนอ่านสดับฟัง เพิ่มพูนและชัดเจนช่ำชองยิ่งขึ้น ข้อนี้เป็นลักษณะสำคัญของคนที่พัฒนาตนเอง เรียกว่ารู้จักคบหากัลยาณมิตร

๔. เป็นคนที่พูดกันง่าย คือ เป็นผู้ที่รับฟังผู้อื่น เมื่อคบหาผู้รู้และคนดีแล้ว ก็พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำเป็นต้นของท่านเหล่านั้น เพราะอยากได้ข้อมูลในการพัฒนาตนเอง โบราณว่า “ว่านอนสอนง่าย” ในสมัยนี้กลัวว่าคนจะเข้าใจความหมายผิด ก็เรียกว่า “เป็นคนที่พูดกันง่าย”

๕. ขวนขวายกิจของหมู่ คือ เป็นผู้พร้อมที่จะร่วมมือช่วยเหลือ เอาใจใส่ขวนขวายกิจของเพื่อนร่วมชุมชนและงานของส่วนรวม คนที่พึ่งตนเองได้นี้จะมีลักษณะไม่คิดเรียกร้องจากผู้อื่น หรือคิดเรียกร้องเอาจากชุมชนหรือสังคม คนจำนวนมากมักเรียกร้องจากสังคม หากเป็นเช่นนี้ เราจะพึ่งตนเองไม่ได้ จะต้องรอรับความช่วยเหลือจากคนอื่นอยู่ร่ำไป หากเป็นประเทศก็เป็นประเทศที่พึ่งตนเองไม่ได้ ควรเปลี่ยนท่าทีใหม่ว่าเราจะทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้บ้างหรือแก่ชาติได้บ้าง อันนี้ก็เป็นหลักหนึ่งในการพึ่งตนเองได้

๖. เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ธรรม ได้แก่ ชอบแสวงหาความจริง ใฝ่ศึกษาเล่าเรียน ชอบสนทนาถกเถียงหาความรู้ความเข้าใจ โดยมีสภาพจิตใจและลักษณะของการแสดงออก ที่ชวนให้คนอื่นอยากปรึกษาหารือร่วมสนทนาด้วย ส่งเสริมบรรยากาศแห่งการแสวงหาความรู้

๗. มีความเพียรขยัน คือ มีจิตใจเข้มแข็ง ก้าวหน้าไม่ท้อถอย สู้กิจสู้งาน รับผิดชอบ ปฏิบัติตามหลักทุกอย่างในข้อก่อนๆ ด้วยความจริงจัง

๘. มีสันโดษรู้พอดี สันโดษในที่นี้คือ การไม่แสวงหาความบำรุงบำเรอฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่าย ไม่ฟุ่มเฟือย แต่เป็นอยู่ง่าย รู้จักพอในเรื่องวัตถุ แล้วใช้เวลามุ่งหน้าทำกิจของตน คนปัจจุบันมีปัญหาจากความฟุ้งเฟ้อมาก ปล่อยเวลาและแรงงานสูญเสียไปกับเรื่องของการบริโภคเสียมาก อันนี้จะต้องเปลี่ยนใหม่มาเป็นแนวทางของการที่จะเป็นผู้บริโภคแต่พอดี แล้วนำเอาเวลาและแรงงานไปใช้ในการทำหน้าที่ และทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาชีวิตและพัฒนาสังคม

๙. มีสติคงมั่น คือ ควบคุมตนเองได้ มีสำนึกในการกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบ ไม่ประมาท และเท่าทันเหตุการณ์ รู้เท่าทันว่าอะไรอย่างไหนจะทำให้เกิดความเสื่อมความเสียหายก็ไม่ทำ อันไหนจะทำให้เกิดความเจริญดีงามก็ทำ ทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีความรอบคอบระมัดระวัง

๑๐. มีปัญญาเหนืออารมณ์ คนจำนวนมากมักเอาอารมณ์ความรู้สึกมานำหน้าในการแสดงออก หรือแสดงออกทางด้านอารมณ์ ควรเปลี่ยนเป็นว่าเอาวิจารณญาณมาเป็นตัวนำในการกระทำ นี้คือปัญญาของคนที่พึ่งตนเองได้

สิบประการนี้ ทางพระเรียกว่า “นาถกรณธรรม” บาลีจะไม่พูดเพราะค้นหาเองได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คุณสมบัติที่ควรให้มีในผู้รับการแนะแนวจุดหมายของชีวิตที่ผู้แนะแนวควรชี้นำ >>

No Comments

Comments are closed.