- จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา
- – ๑ – จุดบรรจบที่แฝงความแตกต่าง
- แนวโน้มใหม่ของความสนใจพระพุทธศาสนาในตะวันตก
- ความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาตะวันตก กับพระพุทธศาสนา
- จุดต่างที่สำคัญระหว่างจิตวิทยากับพระพุทธศาสนา
- วิธีการที่ต่างกันเกิดจากการมองที่ต่างกัน
- ความสัมพันธ์เชิงระบบภายในองค์รวม โยงจิตกับปัญญา ตลอดลงมาถึงพฤติกรรม
- – ๒ – ความแตกต่างที่ต้องนำมาบรรจบ
- จุดที่จิตวิทยาสนใจและขยายความหมาย มาบรรจบกับพระพุทธศาสนา
- โทษอาจเกิดขึ้น และแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าเอาพระพุทธศาสนาไปใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ
- วิธีการต้องตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎี
- – ๓ – จากจิตวิทยา จบที่ปัญญาภาวนา
- สังคมวางแนวความคิดไว้เอียงสุด จิตมนุษย์ก็เกิดความขัดแย้ง เพราะมีความต้องการที่ไม่อาจสนอง
- ตะวันตกเปลี่ยนจากเหงาเมื่ออยู่เดียว ไปเป็นเหงากลางหมู่
- พุทธเปลี่ยนจากอยู่เดียวเปลี่ยวใจ ไปเป็นอยู่เดียวแสนสุข
- แก้ปัญหาจากสังคม หรือแก้ที่ตัวบุคคล
- การแก้ปัญหาอย่างมีกระบวนวิธีและเป็นระบบ
- เพราะว่างจึงเต็ม เพราะไม่ว่างจึงกลวง
- เมื่อเต็มแล้ว จะอยู่เดียวก็เป็นสุข จะอยู่ในสังคมก็เป็นสุข และทำสังคมให้เป็นสุขด้วย
- เชิงอรรถ
- บันทึกนำ
จะขอสรุปหัวข้อทั้ง ๔ ที่แสดงถึงสภาพชีวิตจิตใจของคนในสังคมตะวันตกที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน ซึ่งมีปัญหาในลักษณะที่เป็นความขัดแย้ง เป็นการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง คือ
๑. ในขณะที่สังคมมีคนมากมายคับคั่งยิ่งขึ้น บุคคลกลับโดดเดี่ยวเดียวดายว้าเหว่ยิ่งขึ้น
๒. ในขณะที่คนกำลังใฝ่หาต้องการให้ตัวตนของตนได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ สังคมกลับปฏิบัติต่อบุคคลอย่างไม่เป็นตัวเป็นตนยิ่งขึ้น
๓. ในขณะที่อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีช่วยให้คนมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อมเต็มบ้าน แต่ในใจคนกลับว่างเปล่ากลวงโบ๋ยิ่งขึ้น
๔. ในขณะที่คนผู้กลวงในวิ่งหนีจากตัวเองออกไปหาจะพึ่งพาสังคม สังคมก็ทำให้เขาอกหัก เพราะขาดความจริงใจไมตรีที่แท้จริง
บันทึกนำ
หนังสือเรื่อง “จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา” นี้ เป็นคำบรรยายภาคบทนำ ในคำบรรยายชุดที่เรียกว่า จิตวิทยากับการเจริญภาวนา มีด้วยกันทั้งหมด ๑๑ ตอน คำบรรยายชุดนี้ได้จัดทำขึ้นเป็นวีดิทัศน์ ตามโครงการฝึกปฏิบัติทางจิตตามแนวพุทธศาสตร์ สำหรับนิสิตชั้นปริญญาโทของภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานที่บรรยายและถ่ายทำ คือสถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม บนเขาสำโรง-ดงยาง ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา อันเป็นสถานที่ที่ผู้บรรยายไปจำพรรษาอยู่ ในปี ๒๕๓๔ เฉพาะคำบรรยายภาคบทนำนี้ ได้ถ่ายทำเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๔
ต่อมาภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการปรารภและเสนอแนะของ ผศ.ดร.อาภา จันทรสกุล ได้แจ้งกุศลฉันทะจะขอพิมพ์คำบรรยายนี้ขึ้นเผยแพร่เป็นเล่มหนังสือ โดยจะเริ่มต้นด้วยคำบรรยายภาคบทนำที่ตั้งชื่อว่า “จิตวิทยา กับ จิตภาวนา” นี้ก่อน และได้ให้นิสิตปริญญาโทลอกเทปขึ้นไว้ นำมาถวายให้ผู้บรรยายตรวจความเรียบร้อย แต่ประจวบกับที่ผู้บรรยายอาพาธโรคตาอักเสบเป็นเวลายาวนาน จึงไม่มีโอกาสจะได้ตรวจดูบทบรรยายนั้น เวลาก็ผ่านล่วงไป โดยที่การอาพาธได้กลายเป็นภาวะเรื้อรังไม่หายตลอดเวลาหลายเดือน จึงไม่อาจจะตรวจแก้ปรับปรุงให้เรียบร้อยด้วยดีได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คำบรรยายเรื่องนี้ สำเร็จประโยชน์ตามกุศลเจตนาของภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม้ว่าผู้บรรยายจะไม่สามารถตรวจแก้ปรับปรุงให้สมบูรณ์ได้ ก็คิดว่าจะใช้วิธีตรวจแก้อย่างเดียวกับที่ใช้กับหนังสือเล่มอื่นที่จัดพิมพ์ขึ้นในช่วงนี้ คือใช้วิธีหูกับปาก กล่าวคือ ขอให้พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโญ ช่วยอ่านบทบรรยายจากข้อความที่ลอกเทปให้ฟัง แล้วผู้บรรยายบอกโดยทางปากเปล่าให้พระมหาอินศร ช่วยเขียนตามคำบอก การตรวจแก้คำบรรยายก็สำเร็จลงในขั้นหนึ่ง
เพื่อให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น ในเมื่อผู้บรรยายไม่สามารถอ่านคำบรรยายที่พิมพ์ออกมาได้โดยตลอด นอกจากพระมหาอินศร จะช่วยพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ และได้รับความร่วมมือจากคุณชวัต ศศะธรรม ช่วยพิสูจน์อักษรให้ขั้นหนึ่งแล้ว ก็ได้ขอให้ ผศ.ดร.อาภา จันทรสกุล ช่วยอ่านคำบรรยายโดยตลอดอีกครั้งหนึ่งด้วย ทำให้บทบรรยายนี้สำเร็จเรียบร้อยด้วยดีพอสมควร จึงขออนุโมทนาขอบคุณท่านที่ได้กล่าวนามมา ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเป็นหนังสือฉบับหูกับปาก ก็จะยังมีข้อบกพร่องบางประการอยู่ กล่าวคือ นอกจากจะต้องปรับปรุงขัดเกลาในเรื่องสำนวนภาษา ให้เรียบร้อยราบรื่นกลมกลืนยิ่งขึ้นแล้ว หนังสือนี้ก็ยังขาดการอ้างอิงเอกสารหลักฐานที่มา ซึ่งหวังไว้ว่าจะได้จัดทำให้เรียบร้อยสมบูรณ์ในโอกาสต่อไป
อนึ่ง ขณะที่ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำต้นแบบหนังสือเพื่อส่งเข้ารับการตีพิมพ์ในโรงพิมพ์ และยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี ก็ประจวบเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน คือ โยมพ่อสำราญ อารยางกูร ได้ถึงแก่กรรม และในโอกาสที่จะทำบุญ ๗ วัน ทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้แจ้งความประสงค์ จะขอพิมพ์หนังสือเล่มใหม่สุดหรือเล่มล่าสุดของผู้บรรยาย ก็จึงตกลงจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง จิตวิทยากับจิตภาวนา นี้ เป็นธรรมทานในโอกาสทำบุญ ๗ วันนั้น โดยได้รับความร่วมมือจากทางคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว เอื้อเฟื้อให้โอกาสตีพิมพ์หนังสือนี้ ก่อนที่จะพิมพ์ออกมาในนามของมหาวิทยาลัย และทางโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ช่วยเร่งดำเนินการตีพิมพ์อย่างรีบด่วนให้เสร็จภายใน ๒ วัน
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การจัดพิมพ์ในนามของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นผู้ดำริเริ่มแรก จึงกลายเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๒ แต่ก็เป็นการพิมพ์ที่ทำให้หนังสือมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เนื่องด้วยมีช่วงเวลาที่ผู้เรียบเรียงได้โอกาสที่จะแก้ไขปรับปรุงใน ๒ ประการ คือ
ประการแรก ในการพิมพ์ครั้งแรกที่รีบด่วน ผู้เรียบเรียงไม่ทันนึกถึงชื่อหนังสือที่เปลี่ยนเตรียมไว้ก่อนว่า จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา และได้ให้ชื่อที่ผิดพลาดไปว่า จิตวิทยากับจิตภาวนา ในการพิมพ์ครั้งที่สองนี้ ได้แก้ไขชื่อหนังสือให้ถูกต้องแล้ว
ประการที่สอง ในการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ได้ใช้วิธีตากับมือตรวจชำระหนังสือฉบับเดิมแบบผ่านตลอด ถึงแม้ส่วนใหญ่จะปล่อยไว้อย่างเดิมตามฉบับหูกับปาก โดยยังถือได้ว่าเป็นหนังสือฉบับหูกับปาก แต่ก็ได้ปรับปรุงแทรกเสริมความบางแห่ง และจัดวรรคตอนให้อ่านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่มาไว้ด้วยหลายแห่ง ทำให้หนังสือสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ในการนี้ ได้พิจารณาเห็นว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะที่จะเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป จึงได้ตกลงให้ใช้ทุนส่งเสริมพุทธธรรมจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทานอีกส่วนหนึ่งด้วย
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
No Comments
Comments are closed.