- กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย
- – ๑ – ประเทศจะเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีการศึกษา
- คุณภาพของประชาธิปไตย ขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน
- ประชาชนปกครอง คือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ ประชาชนจะตัดสินใจถูกดี ประชาชนต้องมีการศึกษา
- หนึ่งบัณฑิต ดีกว่าพันพาล แต่ประชาธิปไตยต้องการให้ทั้งพันเป็นบัณฑิต
- การศึกษาจะพัฒนาคนได้ผล ต้องช่วยให้คนพัฒนาความต้องการ
- ประชาธิปไตยจะเป็นจริงได้ ต้องให้ประชาชนรู้จักปกครองตนเอง
- ประชาธิปไตย จัดสรรสังคมให้มีโอกาสสูงสุด
- — ก) หลักการของประชาธิปไตย เพื่อให้มีประสิทธิผลในการใช้โอกาส
- — ข) หลักการของประชาธิปไตย ที่มีอยู่โดดเด่นในสังคมไทย
- — ค) หลักการของประชาธิปไตย ภายใต้อิทธิพลเศรษฐกิจทุนนิยม
- — ง) โอกาส ต้องมากับความไม่ประมาท
- — จ) ต้องมีปัญญา โอกาสจึงจะเกิดเป็นประโยชน์
- ประชาธิปไตย ช่วยให้ประโยชน์ของบุคคลและสังคมมาประสานเสริมกัน
- ประชาธิปไตย ทำให้คนมีโอกาสศึกษา การศึกษา ทำให้คนเข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย
- – ๒ – กระบวนการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตย — เรียน ศึกษา ฝึก หัด พัฒนา
- เลี้ยง – เลียน – เรียน
- เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะมนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้
- ระบบแห่งกระบวนการเรียนรู้
- ๑. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ของชีวิต ๓ ด้าน
- ๒. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสื่อสัมพันธ์กับโลกทางอินทรีย์ ๖
- ๓. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ปัจจัยภายใน-ภายนอก
- — ก) การเรียนอย่างมีความสุข ก็ต้องแยกแยะเข้าใจให้ถูก
- — ข) เรียนด้วยความสุข และสนุกในการเรียน
ประชาชนปกครอง คือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ
ประชาชนจะตัดสินใจถูกดี ประชาชนต้องมีการศึกษา
ยังมีข้อพิจารณาต่อไปว่า เมื่อประชาชนเป็นผู้ปกครอง ก็หมายความว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ เพราะว่า คนไหนปกครอง คนนั้นก็เป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ
การตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญมาก หากตัดสินใจถูกก็ดีไป ถ้าตัดสินใจผิดก็อาจเกิดความเสื่อมความพินาศทุกอย่างทุกประการ
ทีนี้การที่จะตัดสินใจผิดหรือตัดสินใจถูก ก็อยู่ที่ความเป็นคนดีและมีปัญญา คือมีคุณธรรม และมีความรู้ความเข้าใจเฉลียวฉลาดสามารถในการคิดเป็นต้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ประชาชนควรจะมี ถ้าประชาชนเป็นคนดี ตั้งใจดี มีความรู้ความเข้าใจ มีปัญญาชัดเจน คิดเป็น มองเห็นความจริง ก็ตัดสินใจได้ถูกต้อง
ดังนั้น จึงเห็นชัดว่า ประชาธิปไตยจะดี ก็อยู่ที่ประชาชนที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจนั้นว่าจะต้องเป็นคนดีและมีปัญญา อันนี้เป็นเรื่องง่ายๆ
ทีนี้พิจารณาต่อไปอีก ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ มีอำนาจตัดสินใจนี้ การตัดสินใจนั้นวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก คือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ในเรื่องนี้มีข้อสังเกต ๒ อย่าง คือ
๑. ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนโง่ เสียงข้างมากที่วินิจฉัยก็จะเป็นการตัดสินใจเลือกอย่างโง่ๆ หรือแม้แต่เลือกไปตามที่ถูกเขาหลอกล่อ ทำให้ผิดพลาดเสียหาย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนดีมีปัญญา ก็จะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจเลือกได้ถูกต้องบังเกิดผลดี จึงต้องให้ประชาชนมีการศึกษา เพื่อจะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจอย่างผู้ใช้ปัญญา
๒. ความจริงของสิ่งทั้งหลายย่อมเป็นอย่างที่มันเป็น มันย่อมไม่เป็นไปตามการบอก การสั่ง การลงคะแนนเสียง หรือตามความต้องการของคน ดังนั้นคนจะไปตัดสินความจริงไม่ได้ แต่เป็นหน้าที่ของคนเองที่จะต้องตัดสินใจเลือกสิ่งที่เป็นจริง หรือให้ตรงกับความจริง และคนที่จะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องมีปัญญา จึงต้องให้ประชาชนมีการศึกษา เพื่อจะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง
ขอย้ำว่า เสียงข้างมากตัดสินความจริงไม่ได้ อันนี้เป็นหลักธรรมดา เราตัดสินใจ ไม่ใช่ตัดสินความจริง ถ้าเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความจริง ก็เป็นไปไม่ได้
หากย้อนหลังไปประมาณสัก ๒๐๐ ปี ตอนนั้น ถ้าไปถามคนทั้งหลายว่าโลกมีรูปร่างอย่างไร เขาจะบอกว่าโลกแบน คนตั้งล้าน หรือ ๕๐-๑๐๐-๑,๐๐๐ ล้าน บอกว่าโลกแบน แต่คนที่รู้และบอกความจริงได้อาจมีคนเดียว และคนเดียวนั่นแหละถูกต้อง
เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความจริงได้ ถ้าอย่างนั้นเราเอาเสียงข้างมากมาตัดสินอะไร
เราเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความต้องการ คือบอกว่าจะเอาอย่างไร ในแง่นี้เราบอกได้ว่า ประชาชนมีความต้องการอะไร จะเอาอย่างไร แล้วก็มีมติเป็นที่ตกลงกันว่า จะเอาอย่างนี้
อย่างไรก็ตาม ความต้องการนั้น จะถูกต้องได้ผลดีหรือไม่ ในที่สุดก็ต้องมาบรรจบกับความจริงตรงที่ว่า จะต้องเป็นความต้องการที่เกิดจากเจตนาที่ดีและมีความรู้ความเข้าใจว่าอะไรดี-จริง-ถูกต้อง-เป็นประโยชน์ที่แท้
มีกรณีไม่น้อย ที่คนตัดสินใจไม่เอาความจริง และมีกรณีมากมายที่คนตัดสินใจเลือกไม่ได้สิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง ดังนั้น เราจะต้องมีกระบวนการที่จะทำให้คนตัดสินใจเลือกให้ตรงและให้ได้สิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง ถ้าอยากจะมีประชาธิปไตย ก็ต้องถือภารกิจนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องทำให้สำเร็จ
รวมความปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ความต้องการที่ว่าจะเอาอย่างไรนั้น ไปประสานกับความมุ่งหมายที่ดี โดยมีสติปัญญาที่รู้เข้าใจว่าอะไรเป็นความจริงความถูกต้องและตัวประโยชน์แท้ที่ควรจะเอา คือ ต้องให้ความต้องการนั้น ไปตรงกับตัวความจริงความถูกต้องและความเป็นประโยชน์ที่แท้จริง มิฉะนั้นความต้องการนั้นก็ผิด
เมื่อคนตัดสินใจด้วยความต้องการที่ผิด การตัดสินใจนั้นก็จะผิด จะเลือกผิด เอาผิด และก่อให้เกิดผลร้าย เพราะฉะนั้นจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้คนมีความรู้ มีสติปัญญา เราจึงต้องเน้นกันว่าคนจะต้องมีวิจารณญาณ หรือจะใช้คำศัพท์ให้ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือ ต้องมีโยนิโสมนสิการ
คำว่าโยนิโสมนสิการ เป็นคำที่มีความหมายลึกกว่า กว้างกว่าคำว่าวิจารณญาณ
วิจารณญาณ เป็นการกระทำต่อเรื่องที่กำลังพิจารณาโดยมุ่งที่จะวินิจฉัยเรื่องนั้นโดยเฉพาะ แต่โยนิโสมนสิการแยกแยะและเชื่อมโยงเรื่องนั้นเข้ากับอะไรก็ได้ ที่จะทำให้มองเห็นความจริงและเห็นแง่มุมที่จะทำให้เกิดประโยชน์ขยายออกไป
ดังนั้น คนจะต้องมีการศึกษา เพื่อให้เกิดสติปัญญา ที่จะมาประสานความต้องการให้ตรงกับความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และประโยชน์สุขที่แท้ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ตัดสินใจเอาสิ่งที่ตนชอบใจ กับทั้งเพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน ที่จะไม่เอาอำนาจตัดสินใจของตนไปยกให้แก่พ่อมดสังคม
ด้วยเหตุนี้การใช้เสียงข้างมากมาตัดสิน จึงต้องให้เป็นเสียงแห่งสติปัญญา ที่แสดงถึงความต้องการอันฉลาด ที่จะเลือกเอาสิ่งที่ดีงาม ถูกต้องเป็นประโยชน์แท้จริง
สรุปว่า การศึกษาจำเป็นต่อประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาประชาชนให้ทำหน้าที่หรือใช้อำนาจตัดสินใจอย่างได้ผลดีใน ๒ ประการ คือ
๑. ให้เสียงข้างมากที่จะใช้วินิจฉัย เกิดจากการตัดสินใจของคนที่เป็นบัณฑิต คือคนดีมีปัญญา
๒. ให้การตัดสินใจของคนเกิดจากความต้องการที่มาประสานกับปัญญาที่รู้และให้เลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงามจริงแท้ และเป็นประโยชน์แท้จริง
No Comments
Comments are closed.