- – ๑ – จากอุบาสก-อุบาสิกา มาถึงปัญหาภิกษุณี
- ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน
- เรื่องภิกษุณี พูดกันดีๆ ไม่ต้องมีปัญหา — ตั้งจิตเมตตาก่อนว่า จะหาทางทำให้ดีที่สุด
- ตั้งหลักไว้: ให้ผู้หญิงก็ได้ และธรรมวินัยก็ไม่เสีย
- ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี แต่คนที่มีสิทธิบวชให้ไม่มี
- ถึงจะมีสถานะที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักรักษา ในไม่ช้าก็จะเสื่อมจากสถานะนั้นเอง
- พิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่มีอยู่ สามารถจัดการให้ดี ไม่ใช่ชอบแต่ของใหม่ แต่ใช้และบำรุงรักษาไม่เป็น
- การแสดงความคิดเห็น ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้
- สังคมจะดี ประชาธิปไตยจะมีคุณค่า หนีไม่พ้นว่า ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่
- สุดท้ายก็มาลงที่หลักพื้นฐาน คืออามิสทานจากชาวบ้าน เพื่อให้พระสงฆ์มีกำลัง ที่จะอำนวยธรรมทานแก่ประชาชน
- – ๒ – ทัศนะของพระพุทธศาสนา ต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี
- ทำไมในคัมภีร์ มีคำว่าผู้หญิงไม่ดีมากมาย
- ทำไมในวินัย จึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม
- ทำไมเมื่อให้บวชภิกษุณี จึงต้องมีข้อจำกัดมากมาย
- ทำไมจะเป็นพระศาสดา ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย
- เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม
- ผู้หญิงมาบวชไม่ได้ ก็ไม่น่าต้องไปเป็นโสเภณีที่ไหน
- แม่ชีที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยกันส่งเสริมขึ้นมาจะดีไหม
- ให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมครบ ๔ จึงจะเป็นระบบพุทธที่ดีใช่ไหม
- อยากเกิดเป็นหญิงหรือชาย จะทำให้เป็นได้อย่างไร
- เปลี่ยนจากนับถือเทพสูงสุดมาถือธรรมเป็นใหญ่ ชาวพุทธจะยืนหยัดไหวไหม
- ไม่รู้จักพระไตรปิฎก-อรรถกถา จะพูดเรื่องพุทธศาสนาให้ชัดได้อย่างไร
- พระเป็นผู้ไปแจกจ่ายธรรมนำสังคม ให้เป็นผู้รับสงเคราะห์จะเหมาะสมได้อย่างไร
- อนุโมทนา
พระเป็นผู้ไปแจกจ่ายธรรมนำสังคม ให้เป็นผู้รับสงเคราะห์จะเหมาะสมได้อย่างไร
ถาม: ในพระวินัยจะระบุว่า ไม่ให้ผู้ที่พิการบวชเป็นพระภิกษุ แต่ในปัจจุบันนี้ก็มีผู้พิการได้บวชเป็นพระภิกษุ เหมือนเป็นการกีดกันคนพิการ และเป็นไปได้ไหมถ้าคนพิการนั้นมีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนวินัย จะสามารถบวชได้ไหม
ตอบ: อันนี้เราต้องคำนึงถึงการตั้งคณะสงฆ์ว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างไร หนึ่ง เพื่อให้คนมีโอกาสพัฒนาตัวเองในไตรสิกขาได้เต็มที่ แต่สอง เราจะเห็นบทบาทอีกอย่างหนึ่งคือ บทบาทของพระสงฆ์ในการที่จะให้ธรรมะแพร่ขยายไปเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก
บทบาทเผยแผ่ธรรมนี้สำคัญมาก พระภิกษุที่เข้ามา เป็นผู้จะไปทำบทบาทนี้ เมื่อมีภิกษุสงฆ์รุ่นแรกที่พระพุทธเจ้ารับเข้ามาบวช ๖๐ รูปแล้ว ก็ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาทันที ให้ไปทางละองค์เดียว ตรัสว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ … ต่อจากชุดแรก ๖๐ รูป ชุดต่อมาขนาดยังไม่เป็นอรหันต์หมด ก็ออกไปประกาศพระศาสนา
นอกจากชีวิตที่บุกเดี่ยวอยู่ลำพังในป่าเขาถ้ำโคนไม้ได้ทุกแห่งทุกที่แล้ว งานของภิกษุที่สำคัญ คือการที่จะต้องสัมพันธ์กับสังคมของประชาชน โดยออกไปให้ธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่คนทั่วไป ต้องไม่มีภาระกังวล แม้แต่ทรัพย์สมบัติที่จะห่วงใย และต้องให้พระภิกษุที่ทำงานนั้นคล่องตัว ไม่เป็นภาระแก่กันเอง และให้ทุกรูปเป็นผู้พร้อมที่จะไปทำบทบาทนี้ คือทั้งมีสภาพชีวิตของบรรพชิตและเป็นนักรบแห่งกองทัพธรรม ในการทำหน้าที่และประโยชน์แก่สังคม เมื่อสถาบันสงฆ์เป็นแหล่งที่คนจะนับถือก็ให้มีลักษณะที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงคำนึงถึงองคสมบัติและบุคลิก ผู้ใดจะช่วยตัวเองไม่ได้ หรือมีลักษณะที่เป็นบุรุษโทษ ก็ไม่ให้บวช
เราไม่มองว่าสถาบันสงฆ์เป็นแหล่งสำหรับสงเคราะห์คนหรือรับคนเข้ามาสงเคราะห์ แต่เป็นแหล่งของคนผู้มีหน้าที่ไปสงเคราะห์คนอื่น ด้วยการทำงานด้านสติปัญญาในการให้การศึกษา เป็นการทำหน้าที่ต่อสังคม
เรื่องนี้ถ้ามองไม่ถูกก็จะกลายไปเลย อย่างที่เคยมีบางท่านให้ทัศนะว่าคนเป็นโรคเอดส์น่าจะให้มาบวชเป็นพระ มาตายในผ้าเหลือง นี่กลายเป็นว่าเอาสถาบันสงฆ์เป็นที่พักพิง เป็นที่สงเคราะห์คนไป เป็นแหล่งรับการสงเคราะห์ก็ตายน่ะสิ แทนที่พระจะเป็นฝ่ายให้การสงเคราะห์ ไปให้สติปัญญาแก่ประชาชน ก็กลับกันเลย
พุทธบริษัท ๔ มีอยู่แล้ว ไม่ได้ตัดโอกาส ทุกคนไม่ว่าอยู่ในพุทธบริษัทไหน ก็บรรลุธรรมได้ การจัดที่สงเคราะห์นั้น สังคมจะต้องจัดขึ้นมาในรูปแบบต่างหาก เพื่อจะให้การสงเคราะห์แก่คนเหล่านี้ แต่ต้องสงวนวัตถุประสงค์เดิมของสงฆ์ไว้
แม้แต่พระสงฆ์เองนานๆ ไปบางทีก็ลืมงานของตัวเองว่าจะต้องออกไปเป็นผู้ทำหรือให้แก่สังคม บางทีเรามองพระเป็นปฏิคาหก คือผู้รับ แล้วก็มองแต่ในแง่รับ แล้วก็เพี้ยนไปเลยว่า พระนี่เป็นผู้คอยแต่รับทาน รับบริจาค ที่แท้นั้น พระเป็นผู้ทำหน้าที่ต่อสังคม โดยให้ปัญญา ให้ธรรมะ เรียกว่าธรรมทาน แต่เพื่อไม่ให้มีความกังวลด้านวัตถุ และตัวเองก็มีความต้องการทางด้านวัตถุน้อยเพียงเพื่อพออยู่ได้ คฤหัสถ์ก็เลยมาช่วยอุดหนุนทางด้านปัจจัย ๔ เพื่อว่าพระจะได้อุทิศตัวให้กับงานโดยไม่ต้องมีความกังวลด้านวัตถุ สาระสำคัญมันอยู่ที่นี่ แต่ถ้าเพลินๆ ไป เอาพระมาเป็นผู้รับสงเคราะห์ ก็จบกัน
No Comments
Comments are closed.