- พัฒนาชีวิต คือศึกษาตลอดชีวิต
- หลักการใหญ่ในการพัฒนาชีวิต
- พัฒนากายเน้นที่พัฒนาอินทรีย์
- กายวาจา จุดเชื่อมต่อการพัฒนาทางสังคมกับทางจิตใจ
- อิสรภาพทางปัญญา และปัญญาที่นำสู่อิสรภาพ
- เทคโนโลยี เครื่องทดสอบการพัฒนากาย
- เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้า ยิ่งต้องพัฒนาคน
- ปัญญายุคพัฒนา แก้ปัญหาจิตใจไม่ได้ ทำไมคนมีการศึกษาจึงหลงใหลงมงาย
- เมื่อเสรีชนปรารถนาสยบยอม สละเสรีภาพ – เลือกเอาความภักดี
- ปัญญาที่ต้องการ ในยุคข่าวสารข้อมูล
- พัฒนาสู่อิสรภาพ คือทำให้พึ่งตนได้
- ความหลากหลายภายในระบบชีวิตของการพัฒนา
- พัฒนาเพื่อความสุข หรือพัฒนาด้วยความสุข
- การพัฒนาชีวิต อยู่ในกิจกรรมทุกเวลา
- ชีวิตที่ดี พัฒนาในท่ามกลางความสมดุล
- ตัวนำวิถีของการพัฒนาชีวิต
พัฒนาชีวิต คือศึกษาตลอดชีวิต
การพัฒนาชีวิตคืออะไร เป็นคำถามเบื้องต้นที่สุด ที่ตั้งขึ้นสอดคล้องกับหัวข้อของปาฐกถา ถ้าจะพูดให้ง่ายที่สุด การพัฒนาชีวิต คือ การทำให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นไป อันนี้เป็นการแปลความหมายอย่างง่ายๆ แต่เมื่อบอกว่าให้เจริญงอกงามขึ้นไปนี้ บางทีก็ทำให้รู้สึกว่ามีความเลื่อนลอย คือ ที่ว่าเจริญงอกงามนั้น เจริญงอกงามอย่างไร เจริญงอกงามไปไหน ถ้าเจริญไปเจริญไปเรื่อยๆ บางทีก็เป็นปัญหาได้เหมือนกัน เหมือนกับบ้านเมืองของเราเวลานี้ เราพัฒนากันมา เราทำให้เจริญขึ้นๆ เติบโตขึ้น แล้วถึงตอนนี้เราก็พูดกันมากว่า บ้านเมืองของเรามีปัญหามาก บางทีก็ถึงกับสงสัยกันว่า การพัฒนานี้ เป็นการพัฒนาให้เกิดความสุขความเจริญที่แท้จริง หรือทำให้เกิดปัญหากันแน่ เพราะฉะนั้น การพูดแต่เพียงว่า พัฒนาคือทำให้เจริญขึ้นไปๆ นั้น ดูเหมือนจะยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเลื่อนลอย ไม่น่าจะจำกัดความหมายเพียงเท่านี้
ทีนี้ ถ้าจะทำให้มีความแจ่มชัดยิ่งขึ้น ก็อาจจะพูดต่อไปโดยให้ความหมายของการพัฒนาชีวิตว่า เป็นการทำให้เจริญขึ้น โดยมีคุณภาพเพิ่มขึ้น อันนี้ก็รู้สึกว่าจะมีความชัดเจน คือมีขอบเขตที่จำกัดขึ้นมาบ้าง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังไม่รู้ว่าคุณภาพที่ต้องการนั้นเป็นคุณภาพอย่างไร นับว่ายังไม่ชัดเจนแท้ จึงจะขอพูดถึงความหมายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายที่สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมาย คือ การกระทำต่างๆ นั้น ตามปกติต้องมีจุดมุ่งหมาย ถ้าเราพูดถึงความหมายโดยโยงไปถึงจุดมุ่งหมายแล้ว ก็ดูเหมือนจะเป็นการจำกัดขอบเขตที่ชัดเจน เพราะฉะนั้น ถ้าพูดโดยนัยทางธรรม คือตามความเป็นเหตุเป็นผล ก็อาจจะพูดในทำนองว่า การพัฒนาชีวิต คือการทำให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นไปจนเข้าถึงจุดมุ่งหมายของมัน จุดมุ่งหมายของชีวิตคืออะไร ถ้าตอบตามนัยของพระพุทธศาสนาก็อาจจะพูดว่า จุดมุ่งหมายของชีวิต คืออิสรภาพ หรือภาวะไร้ปัญหา ไร้ทุกข์ ความเต็มอิ่มที่ชีวิตไม่มีความพร่อง ไม่มีความขาดแคลน เป็นชีวิตที่มีความเต็มในตัวของมันเอง ถ้ามองในความหมายอย่างนี้ การพัฒนาชีวิตก็คือการทำชีวิตให้เจริญงอกงามขึ้นไปจนกว่าจะถึงจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นอิสระ ไร้ปัญหา ไร้ทุกข์ นี้เป็นการให้คำจำกัดความซึ่งแม้จะยังไม่ชัดเจนทีเดียว แต่ก็ยังให้เห็นขอบเขตขึ้นมาได้
เมื่อตั้งหัวข้อว่า ธรรมกับการพัฒนาชีวิต ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่โยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับการพัฒนาชีวิตว่า ธรรมจะมาช่วยในการทำชีวิตให้เจริญงอกงามเข้าสู่จุดมุ่งหมายนั้นได้อย่างไร อย่างไรก็ดี เมื่อพูดอย่างนี้ก็ทำให้มีข้อที่น่าแคลงใจหน่อยหนึ่ง คือ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ธรรมก็เป็นอย่างหนึ่ง การพัฒนาชีวิตก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง กลายเป็นว่า ธรรมนั้นเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ดีงาม เป็นเครื่องมือหรือของข้างนอกที่จะนำมาใช้เพื่อดำเนินการพัฒนาชีวิต แต่ถ้ามองกันให้ลึกซึ้งแล้ว ความจริงนั้นธรรมไม่ใช่เรื่องต่างหากจากการพัฒนาชีวิตเลย เพราะว่าการพัฒนาชีวิตให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องนั่นแหละเป็นธรรมอยู่ในตัว เมื่อใดเรามีการพัฒนาชีวิต เมื่อนั้นเราก็มีการปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่าธรรม เราอาจจะพูดได้ว่า การปฏิบัติธรรมก็คือการพัฒนาชีวิต หรือการพัฒนาชีวิตก็คือการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น การพัฒนาชีวิตจึงนำเอาธรรมมาใช้อยู่แล้ว หรือเป็นตัวการปฏิบัติธรรมนั้นเอง
ในทางพระพุทธศาสนานั้น การพัฒนาชีวิตอย่างถูกต้องก็คือการทำให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องที่จะนำเข้าสู่จุดมุ่งหมายอย่างที่กล่าวแล้ว วิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามนั้นเราเรียกกันว่า มรรค ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะ มรรค คือ วิถีชีวิตที่ถูกต้อง ดีงาม ซึ่งนำไปสู่จุดมุ่งหมายได้ มรรคนี้เป็นของคู่กันกับหลักการอีกอย่างหนึ่งคือ สิกขา มรรคนั้นเป็นวิถีชีวิตที่ดีงาม แต่ทำอย่างไรจะให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ดีงามนั้นได้ ก็ต้องมีการฝึกฝนหรือฝึกหัด การฝึกหัดฝึกฝนให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องดีงามนั้น ท่านเรียกว่า สิกขา ซึ่งเป็นภาษาบาลี ภาษาไทยเราเรียกว่า ศึกษา เพราะฉะนั้น การศึกษา ก็คือการฝึกฝนให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องดีงาม ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงใช้คำว่ามรรคคู่กับคำว่า ศึกษา คำทั้งสองนี้มีความหมายแทบจะเป็นคำเดียวกัน มรรคเป็นวิถีชีวิตที่ดีงามถูกต้องหรือตัวการดำเนินชีวิต ส่วนการศึกษาเป็นการทำให้เกิดการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง หรือการฝึกฝนคนให้เข้าสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามนั่นเอง ไปๆ มาๆ การพัฒนาก็คือการฝึกฝนนั่นเอง การพัฒนาที่ว่าทำให้เจริญนั้น เป็นความหมายอย่างหนึ่งของการฝึกฝน การที่จะทำให้คนเจริญขึ้นไปนั้นตามปกติเราต้องมีการฝึกฝน เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาก็เลยใช้การฝึกฝนนี้ในความหมายอย่างเดียวกับการพัฒนา และการศึกษาหรือสิกขานี้ตัวมันเองก็แปลว่าการฝึกฝน ไปๆ มาๆ การพัฒนาชีวิตก็คือการศึกษานั่นเอง เพราะฉะนั้น การศึกษาก็คือการพัฒนาชีวิต ผลที่สุด หัวข้อที่ตั้งไว้ก็เป็นเรื่องของการศึกษานี่เอง ไม่ได้ห่างไกลไปไหนเลย
ในเมื่อการศึกษาเป็นการฝึกฝนพัฒนาคน ให้ดำเนินไปในวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ความหมายจึงตามมาว่า ตราบใดชีวิตของเรายังไม่สมบูรณ์ ยังมีความพร่อง ยังมีความไม่เต็ม ยังมีทุกข์ ยังมีปัญหา ตราบนั้นเราก็ยังต้องพัฒนาชีวิตกันเรื่อยไป ในเมื่อเรายังต้องพัฒนาชีวิตกันเรื่อยไป ก็หมายความว่า เรายังต้องมีการศึกษากันเรื่อยไป คือว่าเราจะต้องมีการศึกษาตลอดชีวิต หรือมีการพัฒนาชีวิตกันตลอดชีวิตนั้น จนกว่าจะถึงจุดหมายดังกล่าวมาแล้ว อันนี้เป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องธรรมกับการพัฒนาชีวิต ถ้ามีความเข้าใจเบื้องต้นเป็นฐานอย่างนี้แล้ว เราก็ก้าวกันต่อไปสู่หลักการที่จะพัฒนาชีวิตนั้น
No Comments
Comments are closed.