- พัฒนาชีวิต คือศึกษาตลอดชีวิต
- หลักการใหญ่ในการพัฒนาชีวิต
- พัฒนากายเน้นที่พัฒนาอินทรีย์
- กายวาจา จุดเชื่อมต่อการพัฒนาทางสังคมกับทางจิตใจ
- อิสรภาพทางปัญญา และปัญญาที่นำสู่อิสรภาพ
- เทคโนโลยี เครื่องทดสอบการพัฒนากาย
- เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้า ยิ่งต้องพัฒนาคน
- ปัญญายุคพัฒนา แก้ปัญหาจิตใจไม่ได้ ทำไมคนมีการศึกษาจึงหลงใหลงมงาย
- เมื่อเสรีชนปรารถนาสยบยอม สละเสรีภาพ – เลือกเอาความภักดี
- ปัญญาที่ต้องการ ในยุคข่าวสารข้อมูล
- พัฒนาสู่อิสรภาพ คือทำให้พึ่งตนได้
- ความหลากหลายภายในระบบชีวิตของการพัฒนา
- พัฒนาเพื่อความสุข หรือพัฒนาด้วยความสุข
- การพัฒนาชีวิต อยู่ในกิจกรรมทุกเวลา
- ชีวิตที่ดี พัฒนาในท่ามกลางความสมดุล
- ตัวนำวิถีของการพัฒนาชีวิต
พัฒนาสู่อิสรภาพ คือทำให้พึ่งตนได้
ทีนี้ ขอพูดถึงลักษณะทั่วไปของการพัฒนาชีวิตที่ถูกต้อง เมื่อเราพัฒนาไปพัฒนาไป เราก็บอกว่าพัฒนาตามหลักทั้ง ๔ ประการนี้แหละ คือ พัฒนาทางด้านกาย พัฒนาทางด้านศีล พัฒนาทางด้านจิต และพัฒนาทางด้านปัญญา แต่ในระหว่างนี้จะมีหลักมีเกณฑ์อะไรไหม ที่จะตรวจสอบว่าเป็นการพัฒนาที่ถูกต้อง ถูกทางหรือไม่ ลักษณะของการพัฒนาชีวิตที่ถูกต้องก็มีอยู่ จะขอยกตัวอย่างมาให้ดู
ลักษณะที่ ๑ คือ การพัฒนาชีวิตนั้นเป็นไปในแนวทางที่จะทำให้พึ่งตนเองได้ มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นอยู่เหมือนกันว่า ในหลายกรณีคนเราสร้างความเจริญไปๆ แต่กลายเป็นการทำตนเองให้ขึ้นต่อสิ่งอื่นมากขึ้น เป็นทาสมากขึ้น อยู่ด้วยตนเองไม่ได้มากขึ้น อาจจะพึ่งเทคโนโลยี พึ่งคนอื่น พึ่งสังคม หรือพึ่งอะไรก็ตาม จนกระทั่งสูญเสียอิสรภาพ การพัฒนาที่แท้นั้น ก็ดังที่ได้บอกแล้วแต่ต้นว่า ในทางธรรมหมายถึงการพัฒนาให้มีอิสรภาพ ความมีอิสรภาพคือการบรรลุภาวะไร้ปัญหา ไร้ทุกข์ ลักษณะหนึ่งของความเป็นอิสระก็คือ ไร้ คำว่าอิสระนี้ คือ ไร้ หมายถึงไร้สิ่งที่ไม่ดี ไร้ปัญหา ไร้ทุกข์ ซึ่งทำให้มีความเต็มอยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อเราพัฒนาคนไปแล้ว คนนั้นจึงจะต้องมีอิสรภาพมากขึ้น ทั้งทางกาย ทางศีล ทางจิต และทางปัญญา ความมีอิสรภาพก็วัดได้ ๔ ด้านนั้นแหละ คือทางกายมีอิสรภาพมากขึ้น ทางศีลมีอิสรภาพมากขึ้น ทางจิตมีอิสรภาพมากขึ้น และทางปัญญาก็มีอิสรภาพมากขึ้น หลักอิสรภาพนี้จะเป็นเครื่องวัดว่าการพัฒนาถูกทางไหม ถ้าเรามีอิสรภาพก็หมายความว่าเราพึ่งตนเองได้ คนที่พึ่งตนเองไม่ได้ก็คือคนที่ไม่มีอิสรภาพ ฉะนั้น การพัฒนาที่เดินไปสู่ความมีอิสรภาพ จะมีลักษณะอย่างหนึ่งคือพึ่งตนเองได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้แต่การมีอิสรภาพในทางปัญญานี้ก็เป็นคำที่มีปัญหาอย่างหนึ่ง คนจำนวนมากในยุคปัจจุบันมักมองอิสรภาพทางปัญญาในแง่ของสังคม คือมองในแง่ของการที่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรต่างๆ อย่างอิสระเสรี แต่มองให้ลึกลงไปถึงอิสรภาพทางปัญญาที่แท้จริง ก็คือ ในชีวิตจิตใจของตนเองมีอิสรภาพทางปัญญาหรือเปล่า คือมีปัญญาที่เป็นอิสระจากความครอบงำของอคติ จากการครอบงำชักจูงของโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ตลอดจนการที่ต้องคอยอาศัยปัญญาของผู้อื่นช่วยคิดวินิจฉัย คอยรอให้เขาตัดสินใจให้ คิดเองไม่เป็น อันนี้เรียกว่าไม่มีอิสรภาพทางปัญญา
รวมความว่า การพึ่งตนเองได้ เป็นลักษณะของการพัฒนาชีวิตที่ถูกต้อง ข้อที่หนึ่ง
No Comments
Comments are closed.