- มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการศึกษา
- ศักยภาพของมนุษย์ คือจุดเริ่มของพระพุทธศาสนา
- ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ศึกษา เมื่อพัฒนาคนด้วยไตรสิกขา ชีวิตก็ก้าวไปในอริยมรรคา
- ชีวิตมี ๓ ด้าน การฝึกศึกษาก็ต้องประสานกัน ๓ ส่วน พัฒนาคนแบบองค์รวม จึงเป็นเรื่องธรรมดาของการศึกษา
- ไตรสิกขา: ระบบการศึกษา ซึ่งพัฒนาชีวิตที่ดำเนินไปทั้งระบบ
- ระบบแห่งสิกขา เริ่มด้วยจัดปรับพื้นที่ให้พร้อมที่จะทำงานฝึกศึกษา
- ชีวิตทั้ง ๓ ด้าน การศึกษาทั้ง ๓ ขั้น ประสานพร้อมไปด้วยกัน
- การศึกษาจะดำเนินไป มีปัจจัยช่วยเกื้อหนุน
- การศึกษา[ที่สังคม]จัดตั้ง ต้องไม่บดบังการศึกษาที่แท้ของชีวิต
- ระบบไตรสิกขาเพื่อการพัฒนาอย่างองค์รวมในทุกกิจกรรม
- ปฏิบัติการฝึกศึกษาด้วยสิกขา แล้ววัดผลด้วยภาวนา
ชีวิตที่เป็นอยู่ดี
ด้วยมีการศึกษาทั้ง ๓ ที่ทำให้พัฒนาครบ ๔1
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการศึกษา
ธรรมชาติพิเศษที่เป็นส่วนเฉพาะของมนุษย์ คือ เป็น สัตว์ที่ฝึกได้ จะพูดว่า เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ เป็นสัตว์ที่ศึกษาได้ หรือ เป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้ ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน
จะเรียกว่าเป็นสัตว์พิเศษก็ได้ คือแปลกจากสัตว์อื่น ในแง่ที่ว่าสัตว์อื่นฝึกไม่ได้ หรือฝึกแทบไม่ได้ แต่มนุษย์นี้ฝึกได้ และพร้อมกันนั้นก็เป็น สัตว์ที่ต้องฝึกด้วย
พูดสั้นๆ ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และฝึกได้
สัตว์อื่นแทบไม่ต้องฝึก เพราะมันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ เกิดมาแล้วเรียนรู้จากพ่อแม่นิดหน่อย ไม่นานเลย มันก็อยู่รอดได้ อย่างลูกวัวคลอดออกมาสักครู่หนึ่ง ก็ลุกขึ้นเดินได้ ไปกับแม่แล้ว ลูกห่านออกจากไข่เช้าวันนั้น พอสายหน่อยก็วิ่งตามแม่ลงไปในสระน้ำ วิ่งได้ ว่ายน้ำได้ หากินตามพ่อแม่ของมันได้ แต่มันเรียนรู้ได้นิดเดียว แค่พอกินอาหารเป็นต้น แล้วก็อยู่ด้วยสัญชาตญาณไปจนตลอดชีวิต เกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น หมุนเวียนกันต่อไป ไม่สามารถสร้างโลกของมันต่างหากจากโลกของธรรมชาติ
แต่มนุษย์นี้ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ถ้าไม่ฝึก ไม่เรียนรู้ ก็อยู่ไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงจะอยู่ดี แม้แต่รอดก็อยู่ไม่ได้ มนุษย์จึงต้องอยู่กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยง เป็นเวลานับสิบปี ระหว่างนี้ก็ต้องฝึกต้องหัดต้องเรียนรู้ไป แม้แต่กิน นั่ง นอน ขับถ่าย เดิน พูด ทุกอย่างต้องฝึกทั้งนั้น มองในแง่นี้เหมือนเป็นสัตว์ที่ด้อย
แต่เมื่อมองในแง่บวก ว่า ฝึกได้ เรียนรู้ได้ ก็กลายเป็นแง่เด่น คือ พอฝึกเริ่มเรียนรู้แล้ว คราวนี้มนุษย์ก็เดินหน้า มีปัญญาเพิ่มพูนขึ้น พูดได้ สื่อสารได้ มีความคิดสร้างสรรค์ ประดิษฐ์อะไรๆ ได้ มีความเจริญทั้งในทางนามธรรม และทางวัตถุธรรม สามารถพัฒนาโลกของวัตถุ เกิดเทคโนโลยีต่างๆ มีศิลปวิทยาการ เกิดเป็นวัฒนธรรม อารยธรรม จนกระทั่งเกิดเป็นโลกของมนุษย์ซ้อนขึ้นมา ท่ามกลางโลกของธรรมชาติ
สัตว์อื่นอย่างดี ที่ฝึกพิเศษได้บ้าง เช่น ช้าง ม้า ลิง เป็นต้น ก็
- ฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้มนุษย์ฝึกให้
- แม้มนุษย์จะฝึกให้ ก็ฝึกได้ในขอบเขตจำกัด
แต่มนุษย์ฝึกตัวเองได้ และฝึกได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด
การฝึกศึกษาพัฒนาตน จึงทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ที่ประเสริฐเลิศสูงสุด ซึ่งเป็นความเลิศประเสริฐที่สัตว์ทั้งหลายอื่นไม่มี
หลักความจริงนี้สอนว่า มนุษย์มิใช่จะประเสริฐขึ้นมาเองลอยๆ แต่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วจะด้อยกว่าสัตว์ดิรัจฉาน จะต่ำทรามยิ่งกว่า หรือไม่ก็ทำอะไรไม่เป็นเลย แม้จะอยู่รอดก็ไม่ได้
ความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์นั้น จึงอยู่ที่การเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไป มนุษย์จะเอาดีไม่ได้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้น จึงต้องพูดให้เต็มว่า
“มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก”
ไม่ควรพูดแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งเป็นการพูดที่ตกหล่นบกพร่อง เพราะว่ามนุษย์นี้ ต้องฝึกจึงจะประเสริฐ ถ้าไม่ฝึก ก็ไม่ประเสริฐ
คำว่า “ฝึก” นี้ พูดตามคำหลักแท้ๆ คือ สิกขา หรือศึกษา ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ ก็ได้แก่คำว่า เรียนรู้และพัฒนา พูดรวมๆ กันไปว่า เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา หรือเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนา
No Comments
Comments are closed.