- เมื่อวัฒนธรรมไทยตกเป็นฝ่ายรับ
- เพียงแค่รับก็ยังไม่ทัน จะผันตัวขึ้นเป็นผู้นำได้อย่างไร
- มองตัวเองให้เห็นลึกถึงฐาน จะเห็นทางผันตัวขึ้นมาทำการสร้างสรรค์
- จากวัฒนธรรมที่มัวปกป้องตัว สู่ความเป็นวัฒนธรรมที่นำในการสร้างสรรค์
มองตัวเองให้เห็นลึกถึงฐาน
จะเห็นทางผันตัวขึ้นมาทำการสร้างสรรค์
ถอยกลับไปนิดหนึ่ง หันกลับไปดูถ้อยคำต่างๆ ที่เราใช้ในสังคมของเราเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมของไทย และใช้กันอยู่ในวงวิชาการต่างๆ ปรากฏว่าเราเองยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร น่าสงสัยว่าวิธีการศึกษาของเราอาจจะยังไม่ลงลึกเพียงพอ จึงปรากฏว่าถ้อยคำที่เราใช้ในทางวิชาการ ยังไม่ค่อยมีการศึกษาที่ชัดเจน ให้ถึงรากเหง้าต้นตอ แต่ถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพที่ตามๆ กันไปอย่างคลุมเครือ ขอยกตัวอย่างในเรื่องวัฒนธรรมทางการปกครองหรือการเมือง มีการพูดถึงคำศัพท์และถ้อยคำที่แสดงถึงแนวความคิดในเชิงวัฒนธรรมการปกครอง ว่าสังคมของเรามีความคิดในทางการปกครองอย่างไร นักวิชาการพูดถึงเรื่องขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระประมุขของชาติ เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด โดยบอกว่าสมัยก่อนนี้ในประเทศไทยเรา พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นสมมติเทพบ้าง เป็นเทวราชบ้าง เป็นธรรมราชาบ้าง ปรากฏว่าในผลงานทางวิชาการต่างๆ เช่น ในทางสังคมวิทยา ถ้อยคำเหล่านี้ถูกใช้กันอย่างคลุมเครือมาก ผลงานที่เขียนที่พิมพ์ออกมา แม้แต่เป็นตำราเรียน ไม่แสดงให้เห็นเลยว่า ผู้เขียนมีความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับความหมายและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำเหล่านั้น แต่กลายเป็นการแสดงถึงความเข้าใจที่ผิดพลาดด้วยซ้ำ การที่จะแสดงให้ชัดเจนได้นั้น ผู้ศึกษาจะต้องค้นลงไปถึงแหล่งถึงต้นตอ ให้เห็นที่มาของศัพท์เหล่านี้ เช่นคำว่าสมมติเทพนี้มาจากไหนแน่ ต้นตอมาจากพระไตรปิฎกเลยใช่ไหม ในพระไตรปิฎกใช้อย่างไร มีความหมายอย่างไร เทวราชและธรรมราชามาจากไหน ถ้าพูดถึงคำว่าสมมติเทพ ก็ต้องรู้ว่ามีอยู่ในภาษาบาลีซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกที่ท่านบอกว่าเทพมี ๓ อย่าง คือ
๑. อุบัติเทพ เทพโดยกำเนิด ได้แก่สัตว์ที่เราเรียกกันว่า เทวดา ที่อยู่ในสวรรค์
๒. สมมติเทพ เทพโดยสมมติ คือบุคคลที่เป็นเทวดาโดยการยอมรับหรือตกลงร่วมกันของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ยอมรับก็ยกขึ้นเป็นเทพ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย
๓. วิสุทธิเทพ เทพโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น
นี้คือที่มาแหล่งเดิมของเทพในสายความคิดที่มาถึงเรา แต่เวลานี้นักวิชาการบางท่าน บางทีพูดถึงสมมติเทพในความหมายซึ่งแยกไม่ออกกับเทวราช และคำว่าเทวราชนั้นเองมาจากไหน เทวราชหรือเทวราชาในภาษาบาลีก็คือราชาของเทวดา โดยเฉพาะพระอินทร์ แต่นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ พูดถึงคำว่าเทวราชในความหมายว่าราชาผู้เป็นเทพ ทำนองว่าเทพมาเกิดเป็นราชาตามแนวคิดของฮินดู ส่วนธรรมราชานั้น เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าเป็นพระธรรมราชา และยังมีธรรมราชาอีกฝ่ายหนึ่งของทางบ้านเมือง ได้แก่ พระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงจักรวรรดิวัตร ๕ ประการ หรือ ๑๒ ประการ อย่างนี้เป็นต้น เรื่องราวและถ้อยคำอย่างนี้ ถ้าเราจะสื่อกันในวัฒนธรรมไทย ก็ต้องเป็นเรื่องให้ชัดเจน เรียกว่าลงไปให้ถึงรากเหง้าต้นตอ มิฉะนั้นในสังคม อะไรๆ จะพร่ามัว ขัดขวางพัฒนาการทางปัญญา เพราะแม้แต่ภาษาที่สื่อกันก็ยังไม่มีความชัดเจน ถ้าอย่างนี้เราจะก้าวไปสู่ความชัดเจนในการสื่อกับประเทศอื่นๆ หรือวัฒนธรรมอื่นๆ ได้อย่างไร เรามีความสับสนคลุมเครือในเรื่องเหล่านี้มามากพอสมควรแล้ว
นอกจากเรื่องถ้อยคำที่ต้องค้นหาความหมายให้ถึงต้นแหล่งความคิดเดิม เช่น ถ้าเป็นคำบาลีก็ต้องดูให้ถึงพระไตรปิฎก แล้วอีกแง่หนึ่งก็คือการรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการแห่งความหมายของถ้อยคำ ซึ่งที่จริงอาจจะไม่ใช่วิวัฒนาการ แต่เป็นเรื่องของความวิปริตผิดเพี้ยนที่เกิดจากความขาดการศึกษา ทำให้ถ้อยคำต่างๆ ที่เข้ามาสู่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงความหมาย มีการใช้ในสังคมไทยที่แปลกเปลี่ยนไปจากความหมายเดิมในภาษาบาลี หรือในพระไตรปิฎก หรือในคัมภีร์ต่างๆ เรื่องนี้เรายังไม่มีความชัดเจน แต่ปล่อยให้พร่ามัวกันอยู่ แล้วเราก็ยอมรับหรือรู้เข้าใจกันในความหมายที่ผิดเพี้ยนหรือเคลื่อนคลาดไปแล้ว ในเรื่องนี้ ถ้าเราศึกษาสืบค้นให้ถึงต้นตอ ก็จะได้ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะมีความหมายในเชิงพัฒนาวัฒนธรรมอย่างมาก ขอยกตัวอย่างคำสามัญง่ายๆ เช่น คำว่า เมตตา วาสนา บารมี มานะ เป็นต้น คำเหล่านี้เวลาใช้ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ต้องบอกว่าความหมายมันเพี้ยนไปบ้าง คลาดเคลื่อนไปบ้าง หรือแม้แต่ผิดไปตรงกันข้ามเลยก็มี
ไม่เฉพาะหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาจะมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเท่านั้น สังคมไทยก็มีอิทธิพลต่อความหมายของถ้อยคำหรือหลักธรรมที่มาจากพระพุทธศาสนาด้วย เป็นการกระทำซึ่งกันและกัน อาจจะเป็นไปได้ว่า บางทีสังคมไทยของเราก็เลือกหยิบเอาถ้อยคำที่แสดงหลักธรรมคำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนามาใช้ในแง่ความหมายที่สนองความต้องการของสังคมของเรา เพราะฉะนั้น ความหมายนั้นก็เลยเป็นความหมายผสมระหว่างความหมายเดิมบางส่วนกับความหมายของไทยเองบางส่วน โดยขึ้นกับยุคสมัย และความหมายนั้นถ้าคนในยุคต่อมาไม่ศึกษาให้ถึงต้นเดิมแล้ว ก็จะสูญเสียประโยชน์และเกิดความผิดพลาดซ้อนทีเดียวสองอย่าง คือเข้าใจความหมายของถ้อยคำบาลีเดิมและหลักธรรมในพระพุทธศาสนาผิดพลาด พร้อมกันนั้นก็ไม่เห็นเงื่อนงำของสภาพวัฒนธรรมในยุคนั้นๆ เช่น ไม่เห็นความต้องการหรือสภาพสังคมว่าทำไมจึงใช้ศัพท์นั้นๆ ในความหมายอย่างนี้ๆ ทั้งๆ ที่ต้นตอแหล่งเดิมมีความหมายเป็นอย่างอื่น
ขอยกตัวอย่างเป็นเชิงสันนิษฐาน แต่มีทางเป็นไปได้มาก เช่น ระบบความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่-ผู้น้อย หรือสิ่งที่บางท่านเรียกว่า ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ได้ทำให้คำว่าเมตตามีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม ความหมายเดิมคืออะไร เมตตานั้นเป็นคุณธรรมที่มนุษย์ทุกคนจะพึงมีต่อกัน เป็นท่าทีของจิตใจต่อกันระหว่างมนุษย์ทุกคน ซึ่งไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย เช่น ในทางธรรม สอนให้คฤหัสถ์มีเมตตาต่อพระสงฆ์ ถ้าพูดในภาษาไทยก็คือ โยมต้องมีเมตตาต่อพระสงฆ์นะ อย่างนี้เป็นต้น อย่างเช่น ในทิศ ๖ คฤหัสถ์พึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ในสังคมไทย ถ้าพูดว่าชาวบ้านควรเมตตาพระ หรือเด็กควรเมตตาต่อผู้ใหญ่ คงจะฟังแปลกๆ ขัดหู ทั้งนี้ที่จริงเป็นการพูดถูกต้องแล้ว เพราะในพระพุทธศาสนาท่านไม่ให้รอพระพรหมผู้เป็นเจ้าที่จะสร้างและบำรุงรักษาโลก แต่ท่านสอนให้มนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์โลกและบำรุงรักษาโลกนี้ให้อยู่ดีมีสันติสุข เพราะฉะนั้นคนทุกคนในโลกนี้ควรจะต้องทำตัวให้เป็นพรหม เราทุกคนมีหน้าที่ที่จะช่วยกันสร้างสรรค์ หล่อเลี้ยงบำรุงรักษาโลกนี้ไว้ให้ดีงามเหมือนกันทุกคน เราจึงต้องมีคุณธรรม ที่เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ เพราะฉะนั้น แต่ละคนจึงต้องมีเมตตาต่อกัน ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าผู้ใดต่อผู้ใด คือทุกคน แต่ในภาษาไทย เมตตานี้กลายเป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่ต่อผู้น้อย ความหมายก็เปลี่ยนไปอย่างนี้เป็นต้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ มานะซึ่งเป็นกิเลส ที่จะต้องละ แปลว่า ความถือตัว ความต้องการยิ่งใหญ่ แต่ในสังคมไทย มันกลายความหมายมาเป็นความพากเพียร ทำไมมานะจึงกลายมาเป็นความพากเพียร มันก็เป็นเรื่องที่สืบได้ อาจจะสันนิษฐานไว้เป็นข้อเสนอว่า ในสังคมไทยได้ใช้มานะเป็นตัวยุกระตุ้นคนให้เกิดความเพียรพยายาม หมายความว่า กระตุ้นเร้าให้คนต้องการความยิ่งใหญ่ เช่นว่าจะให้เป็นเจ้าคนนายคน ดังจะเห็นได้ในการศึกษาเล่าเรียน เคยมีการกระตุ้นเด็กว่า หนูตั้งใจมานะพากเพียรเล่าเรียนไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน การที่บอกว่าให้เธออยากจะเป็นใหญ่เป็นโตเป็นเจ้าคนนายคนนี้ เรียกว่า มานะ พอมีมานะขึ้นคือต้องการเป็นใหญ่ ก็เลยเพียรพยายาม เรียกว่าได้เอามานะมาใช้เป็นตัวกระตุ้นให้คนเพียรพยายาม ใช้กิเลสปลุกเร้า มานะจึงกลายความหมายในสังคมไทย มานะนั้นเป็นกิเลสแท้ๆ เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขกำจัด แต่เราเอามานะมาใช้กระตุ้นให้คนอยากใหญ่โตแล้วพากเพียร จนกระทั่งมานะกลายความหมายมาเป็นความพากเพียรไปเลย
ปัจจุบันนี้ เราอาจจะเปลี่ยนจากการใช้มานะเป็นตัวยั่วยุความเพียร มาใช้ตัณหา ตัณหาก็คือต้องการผลประโยชน์ เรากระตุ้นกันให้ต้องการจะมีเงินเดือนมากๆ มีรายได้มากๆ แล้วตั้งใจเล่าเรียน ขยัน อย่างนี้เรียกว่าใช้ตัณหายุ ต่อไปตัณหาก็อาจจะกลายความหมายเป็นความเพียรไปอีก มันก็เป็นไปได้
แต่ในทางพระ เราเคยคิดไหมว่าตัวอะไรที่เราต้องการแท้ๆ ที่ควรเป็นตัวนำหรือเป็นแรงจูงใจให้คนเกิดความเพียรพยายาม ถ้าจับตัวนี้ได้ เราก็มีทางพัฒนาวัฒนธรรม พระพุทธศาสนามีคำตอบว่าไม่ใช้ตัณหา ไม่ใช้มานะ แต่ตัวที่ควรจะนำมาใช้ในการกระตุ้นเตือนเร้าให้คนมีความเพียร คือฉันทะต่างหาก ฉันทะคือความใฝ่ดี ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ เป็นตัวที่เราต้องการให้เป็นตัวนำความเพียรพยายาม อย่างนี้เป็นต้น
อีกตัวอย่างหนึ่ง คำว่าวาสนาก็ชัดมาก วาสนานั้นถ้าเราไปมองดูในทางพระ มันจะต่างแทบจะตรงข้ามกับของญาติโยม ในสังคมไทยนี้บอกว่าใครมีบุญมีวาสนา ต่อไปก็ได้เป็นใหญ่เป็นโต บางทีมีการพูดว่า แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาไม่ได้ แต่ในทางพระบอกว่าพระอรหันต์ และพระพุทธเจ้าละกิเลสพร้อมทั้งวาสนา เอ้า ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ วาสนาเป็นสิ่งที่ดีเหลือเกินนี่ เราจะไดัมีโชค มีความเจริญก้าวหน้า แต่ทางพระท่านบอกว่าพระพุทธเจ้าละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาทั้งหมดเลย เราก็ตีความหมายว่า พระพุทธเจ้าท่านคงไม่ต้องการความเจริญก้าวหน้าในโลกก็เลยละวาสนา ถ้าคิดอย่างนี้ก็ผิดไกลเลย วาสนาในเมืองไทยนี้ได้เข้าใจผิดไปไกล จนกระทั่งว่ามันเป็นอำนาจอะไรพิเศษที่อยู่ในสวรรค์ชั้นฟ้า หรืออยู่เหนือเรา อยู่เร้นลับ เหนือธรรมชาติที่มาบันดาลนำชีวิตของเราให้เจริญรุ่งเรือง
ที่จริงวาสนานี้ไม่ใช่อะไรเลย วาสนาก็คือพฤติกรรมที่สั่งสมมาเคยชิน จนกระทั่งกลายเป็นลักษณะของบุคคลผู้นั้นที่ต่างจากบุคคลอื่นๆ คนหนึ่งๆ จะมีลักษณะการพูดจาอย่างหนึ่ง บางคนพูดอะไรต่ออะไรขวานผ่าซาก บางคนพูดอ้อยอิ่ง พูดช้าๆ บางคนพูดสุภาพ บางคนพูดมีสำนวน สละสลวยกลมกลืน บางคนพูดกระโชกโฮกฮาก กริยาท่าทางการเดินเหินไม่เหมือนกัน คนนี้เดินเร็ว คนนี้เดินช้า คนนี้เดินน่าดู คนนั้นเดินแล้วคนไม่ชอบใจ อะไรต่างๆ หรืออย่างเรื่องเดียวกัน กิจกรรมอันเดียวกัน คนหนึ่งทำคนทั้งหลายชอบใจ แต่พออีกคนหนึ่งทำ คนทั้งหลายชังไม่ชอบใจ อันนี้เกิดจากอะไร เกิดจากลักษณะพฤติกรรมที่เป็นของเฉพาะบุคคล เช่น บุคลิกภาพ เป็นต้น พฤติกรรม เป็นต้น อากัปกิริยาต่างๆ ที่บุคคลสั่งสมมาจนเป็นลักษณะประจำตัวของเขา อันนี้ทางพระเรียกว่าวาสนา เมื่อมันเกิดเป็นวาสนาขึ้นมาแก่ใครแล้ว มันก็มีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้นั้น แม้กระทั่งเป็นตัวกำหนดความเป็นไปในชีวิต เพราะว่าในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์หรือในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์นั้น การพูดจาและอากัปกริยาต่างๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว ย่อมทำให้เกิดผลกระทบแก่ผู้อื่น แล้วเขาก็มีความรู้สึกตอบสนองกลับมา ซึ่งอาจจะทำให้เราเกิดความเจริญก้าวหน้าหรือเกิดความขัดข้องในชีวิตการงาน เป็นต้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่เราเป็นอยู่กันนี้ เราอยู่กันด้วยวาสนา ภาพของเราหรือตัวเราที่ปรากฏแก่คนอื่น ก็คือวาสนาของเรา วาสนาจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดชี้ความเป็นไปในชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นวาสนาในทางพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่เราจะต้องเอาใจใส่แก้ไขปรับปรุง ไม่ใช่วาสนาที่รอคอยให้ลอยมาจากสวรรค์
เพราะเหตุที่วาสนาเป็นสิ่งที่สะสม เป็นพฤติกรรมเคยชิน มันจึงไม่อยู่ในควบคุมของสติ แต่ทางพระท่านถือว่า พฤติกรรมของเรานั้น เราควรจะควบคุมให้อยู่ในอำนาจของสติได้ พระพุทธเจ้าได้พัฒนาพระองค์จนกระทั่งมีสติปัญญาสมบูรณ์ พฤติกรรมทุกอย่างของพระองค์จึงอยู่ในการดูแลของสติทั้งหมด เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นผู้ละวาสนาได้ คือไม่ทำอะไรเพียงสักแต่ว่าตามความเคยชิน ต่างจากคนทั่วไปที่มีพฤติกรรมและการตอบสนองอะไรต่างๆ ในการเป็นอยู่ประจำวัน แทบ ๙๐% เป็นไปตามความเคยชิน เมื่อเจอสถานการณ์อย่างนี้เราจะแสดงออกอย่างไร จะพูดอย่างไร จะทำอย่างไร ความโน้มเอียงของจิตใจจะเป็นอย่างไร ก็มักจะเป็นไปตามวาสนาที่สั่งสมมาของแต่ละคนเท่านั้น
ในเรื่องวาสนานี้ถ้าเราจะพัฒนา เราจะต้องมองว่าวาสนาของเราส่วนไหนไม่ดี ไม่เกื้อกูลต่อชีวิต เราก็ต้องแก้ไขปรับปรุง ฝึกตัวจนกระทั่งพฤติกรรมของตนอยู่ในความดูแลของสติโดยส่วนใหญ่ พระอรหันต์นั้นละวาสนาได้ แต่พระอรหันต์นั้นไม่เหมือนพระพุทธเจ้า คือละวาสนาได้ไม่หมด ท่านบอกว่าวาสนาที่เป็นความเคยชินติดตัว หรือพฤติกรรมติดตัวเล็กๆ น้อยๆ อย่างพูดเร็ว พูดช้า เป็นต้น หรือบางองค์เคยพูดไม่เพราะ พอเป็นพระอรหันต์ก็ยังพูดไม่เพราะอยู่นั่นแหละ อย่างนี้ท่านบอกว่าพระอรหันต์เองก็ละได้ไม่หมด แต่วาสนาที่ละไม่ได้นั้น เป็นวาสนาที่ไม่เสียหายใหญ่โตไม่รุนแรง ส่วนวาสนาที่เสียหายรุนแรง พระอรหันต์ละได้หมด อันนี้คือเรื่องวาสนา
เรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนา เป็นเรื่องของสิกขา คือการฝึกฝนปรับปรุง เพราะฉะนั้นอะไร ต่ออะไรที่พูดขึ้นมาในพระพุทธศาสนา จะต้องโยงไปหาการศึกษาหรือการพัฒนาคนทั้งนั้น ฉะนั้นคำที่พูดกันมาว่า แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้นั้น ย่อมไม่ถูกต้อง คนเราจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขตัวเอง วาสนานี้เข้ามาในสังคมไทย ทำไมความหมายมันเพี้ยนไป อันนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษา อาตมภาพเพียงแต่ขอยกตัวอย่างเท่านั้นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องถ้อยคำโดยตรง คือในวัฒนธรรมการเมืองการปกครองของไทย เราเคยถือคติตามคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง ว่าเกณฑ์กำหนดความชอบธรรมของผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองคืออะไร ในตำราสังคมวิทยาจะพูดกันมากทีเดียว โดยเฉพาะฝรั่งเขียนมาเยอะนานแล้ว นักวิชาการในมหาวิทยาลัย เช่น คอร์แนล ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมการปกครองของไทย แล้วก็มาลงกันว่าเกณฑ์กำหนดความชอบธรรมแห่งอำนาจของผู้ปกครอง คือ บุญที่ทำมาแต่ชาติก่อน หมายความว่าบุญที่ทำมาแต่ปางก่อน ทำให้ท่านผู้นั้นมีความชอบธรรมในการที่จะดำรงสถานะ เช่น เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
ในการที่จะเข้าใจเรื่องนี้ เรามีวิธีมองสังคมอีกวิธีหนึ่ง คือเราอาจจะมองสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่พยายามที่จะก้าวขึ้นมาๆ เพื่อให้เข้าถึงหลักการของพระพุทธศาสนา แต่เราคืบเคลื่อนมาได้เพียงบางขั้นตอน การที่เราได้มาถึงวัฒนธรรมระดับไตรภูมินี้ เป็นการก้าวมาขั้นหนึ่งในการเดินเข้าสู่พระพุทธศาสนา ซึ่งเราอาจจะบอกว่ายังไม่ถึง เพราะถ้าเราเดินต่อจากไตรภูมิไปถึงพระไตรปิฎก เราจะเห็นว่าเกณฑ์กำหนดความชอบธรรมแห่งอำนาจของผู้ปกครองรัฐนั้น จะก้าวจากหลักการเมื่อกี้นี้ ไปเป็นหลักการใหม่ที่เป็นหลักการต้นเดิม ซึ่งถือว่าการประพฤติธรรมในเวลาปัจจุบันขณะนี้เป็นเกณฑ์กำหนดความชอบธรรมของผู้ปกครอง อันนี้ต่างกันไกลเลย
การประพฤติธรรมก็คือ การปฏิบัติถูกต้อง การตั้งตนอยู่ในธรรมะ ในความจริงความถูกต้องดีงาม เป็นเกณฑ์กำหนดความชอบธรรม ขอยกตัวอย่างพุทธพจน์มาแสดงเลยว่า ในอัคคัญญสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธมฺโม หิ วาเสฏฺฐา เสฏฺโฐ ชเนตสฺมึ แปลว่า ดูก่อน วาเสฏฐะ และภารัทวาชะ ธรรมแลเป็นประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ หมายความว่าต้องตัดสินกันที่ธรรมะ อันนี้เป็นเกณฑ์ตัดสินความชอบธรรมแห่งอำนาจตามหลักพระพุทธศาสนาแท้ๆ หลักการต้นเดิมอยู่ที่ตัวธรรมะ แต่เรามาติดอยู่แค่ไตรภูมิพระร่วง ก็เอาบุญกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อนเป็นเกณฑ์ตัดสิน ถ้าเราไม่ศึกษาแบบลึกลงไปให้ถึงต้นตอ เราก็ติดกันอยู่อย่างนี้ และก็สรุปกันว่าเกณฑ์นี้มาจากทัศนะของพระพุทธศาสนาอะไรทำนองนี้ แต่ถ้าหากมีการศึกษาต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง แล้วพยายามเข้าให้ถึงแหล่งเดิมต้นตอ ลงลึกลงไป วัฒนธรรมแม้แต่ในทางการเมืองการปกครองก็อาจจะมีการก้าวต่อ หรือวิวัฒนาการในแนวทางของพระพุทธศาสนาไปสู่ธรรมะที่เป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนาได้
ตามตัวอย่างที่ยกขึ้นมาพูด ถ้าพิจารณาในแง่นี้เราจะเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนั้น ก็อย่างที่เห็นกันอยู่ว่ามีทั้งแง่ดีและแง่ร้าย แต่การเปลี่ยนแปลง แม้แต่ที่ว่าร้าย มองให้เป็นประโยชน์ รู้จักถือเอาประโยชน์ ก็กลายเป็นดีได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ เราอาจจะถือเอาประโยชน์ได้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากแรงกระทบจากภายนอกเข้ามาถูกต้องสัมผัสกับวัฒนธรรมไทย โดยทำให้มันเป็นตัวเอื้อประโยชน์ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในที่เป็นการก้าวหน้าต่อไปได้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
ในสังคมวัฒนธรรมใดก็ตาม ย่อมเป็นแนวโน้มของปุถุชนทั่วไป ว่าเมื่อทำอะไรได้สำเร็จมีความก้าวหน้าไปขั้นหนึ่ง พอก้าวสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดความชอบใจภูมิใจ และเกิดความยึดติดในความสำเร็จขั้นนั้น พอเราเกิดความยึดติดในความสำเร็จขั้นนั้นแล้ว ความสำเร็จในขั้นนั้นก็กลายมาเป็นตัวอุปสรรคขวางกั้นทำให้เราไม่ก้าวหน้าต่อไป ดังนั้นความสำเร็จขั้นหนึ่งหรือการก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง จึงกลับเป็นตัวอุปสรรคทำให้เราติดตันไป ซึ่งตามธรรมดาธรรมชาติของปุถุชนเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนหลักการแห่งการศึกษาฝึกฝนพัฒนาเพื่อแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ โดยเน้นหลักการแห่งความไม่ประมาทว่ามนุษย์จะต้องไม่ประมาท ถ้าประมาทก็เสื่อม คนที่เจริญ คนที่ดี คนที่มีความสุข มักจะตกหลุมความประมาท สังคมทุกสังคมเมื่อเจริญพัฒนา มีความดีงาม ความสุข จะตกหลุมความประมาท แล้วก็เสื่อมไป เพราะอย่างนี้ ไม่ว่าในวิถีชีวิตของบุคคล หรือสังคมตั้งแต่ครอบครัวไปกระทั่งถึงอารยธรรม จึงมีความหมุนเวียนเป็นวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญอยู่เรื่อยไป
ในยามที่มีทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม มนุษย์จะดิ้นรนขวนขวาย แล้วก็ก่อร่างสร้างตัวเพียรพยายามทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ แต่เมื่อมนุษย์ประสบความสำเร็จดีงาม มีความสุขแล้ว มนุษย์ก็จะเพลิดเพลิน นอนใจหลงมัวเมา แล้วต่อจากนั้นวงจรของความเสื่อมก็จะตามมา จึงกลับเสื่อมอีก เพื่อแก้วงจรนี้ พระพุทธศาสนาจึงสอนย้ำเน้นถึงการที่จะยืนหยัดดำรงรักษาความเจริญไว้ และทำให้เจริญยิ่งขึ้นไปอีก โดยไม่มีการเสื่อม ท่านสอนให้เรากระตือรือร้นขวนขวายเร่งแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคาม คือต้องมีความไม่ประมาทด้วยสติปัญญา แต่ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดเรื่องธรรมะ เดี๋ยวจะกลายออกไปสู่หัวข้อธรรมะไปเสีย
เอาเป็นว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นโอกาส เพราะฉะนั้น การที่มีความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากสังคมของเราถูกกระทบจากวัฒนธรรมจากภายนอกนี้ อาจจะเป็นโอกาสให้เราก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง แล้วทำไมเราจะยอมเสียโอกาสนี้ไปอีกล่ะ เราควรถือเป็นโอกาสในการที่จะนำสังคมไทยให้ก้าวไปสู่อุดมคติที่สูงยิ่งขึ้นไป โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่เป็นแรงกระทบนี้ มาทำให้เราพ้นไปได้จากก้าวที่เราเข้ามาติดอยู่ แต่การที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเอื้อประโยชน์ได้สำเร็จนั้น คนในสังคมนี้จะต้องมีปัญญา รู้เข้าใจทันการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างหนึ่ง และรู้จักองค์ประกอบในวัฒนธรรมของตนเองที่เกี่ยวข้องที่ตนจะต้องไปเปลี่ยนแปลงพัฒนานั้นอย่างหนึ่ง อันนี้ขอผ่านไปก่อน
No Comments
Comments are closed.