- กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย
- – ๑ – ประเทศจะเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีการศึกษา
- คุณภาพของประชาธิปไตย ขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน
- ประชาชนปกครอง คือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ ประชาชนจะตัดสินใจถูกดี ประชาชนต้องมีการศึกษา
- หนึ่งบัณฑิต ดีกว่าพันพาล แต่ประชาธิปไตยต้องการให้ทั้งพันเป็นบัณฑิต
- การศึกษาจะพัฒนาคนได้ผล ต้องช่วยให้คนพัฒนาความต้องการ
- ประชาธิปไตยจะเป็นจริงได้ ต้องให้ประชาชนรู้จักปกครองตนเอง
- ประชาธิปไตย จัดสรรสังคมให้มีโอกาสสูงสุด
- — ก) หลักการของประชาธิปไตย เพื่อให้มีประสิทธิผลในการใช้โอกาส
- — ข) หลักการของประชาธิปไตย ที่มีอยู่โดดเด่นในสังคมไทย
- — ค) หลักการของประชาธิปไตย ภายใต้อิทธิพลเศรษฐกิจทุนนิยม
- — ง) โอกาส ต้องมากับความไม่ประมาท
- — จ) ต้องมีปัญญา โอกาสจึงจะเกิดเป็นประโยชน์
- ประชาธิปไตย ช่วยให้ประโยชน์ของบุคคลและสังคมมาประสานเสริมกัน
- ประชาธิปไตย ทำให้คนมีโอกาสศึกษา การศึกษา ทำให้คนเข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย
- – ๒ – กระบวนการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตย — เรียน ศึกษา ฝึก หัด พัฒนา
- เลี้ยง – เลียน – เรียน
- เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะมนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้
- ระบบแห่งกระบวนการเรียนรู้
- ๑. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ของชีวิต ๓ ด้าน
- ๒. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสื่อสัมพันธ์กับโลกทางอินทรีย์ ๖
- ๓. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ปัจจัยภายใน-ภายนอก
- — ก) การเรียนอย่างมีความสุข ก็ต้องแยกแยะเข้าใจให้ถูก
- — ข) เรียนด้วยความสุข และสนุกในการเรียน
จ) ต้องมีปัญญา โอกาสจึงจะเกิดเป็นประโยชน์
พร้อมกันนี้อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องมีปัญญา รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์สุขที่แท้จริงด้วย เพราะว่าเราจะใช้โอกาสเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุข แต่ถ้าเราไม่มีปัญญา ไม่รู้จักประโยชน์สุขที่แท้ ก็อาจจะทำผิดพลาดได้ เรื่องนี้ไม่ต้องอธิบายมาก ขอยกเป็นนิทานดีกว่า
มีชาดกเรื่องลิงเฝ้าสวน เรื่องมีว่า ครั้งหนึ่ง คนเฝ้าสวนในพระราชอุทยาน พอถึงวันนักขัตฤกษ์ มีงานเทศกาล ก็อยากไปเที่ยวสักสองสามวัน แต่ก็ติดขัดว่าจะทำอย่างไรดี ถ้าไปเที่ยวแล้วใครจะมารดน้ำต้นไม้ เดี๋ยวต้นไม้ก็จะตายเสียหมด ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ในสวนของเรามีลิงอยู่ฝูงหนึ่ง ก็เอาลิงฝูงนี้แหละมาช่วยรดน้ำตอนที่เราไม่อยู่
คิดแล้วก็เรียกหัวหน้าลิงมา บอกว่า ฉันจะไม่อยู่สักสองสามวัน ระหว่างที่ฉันไม่อยู่ เธอช่วยพาฝูงลิงรดน้ำต้นไม้ให้ฉันได้ไหม หัวหน้าลิงตอบว่า ได้ซิ เพราะคิดว่าจะได้ตอบแทนทำประโยชน์ให้แก่เจ้านายบ้าง เมื่อหัวหน้าลิงรับเรื่องแล้ว คนเฝ้าสวนก็ออกไปเที่ยวงานเทศกาล
พอได้เวลารดน้ำต้นไม้ หัวหน้าลิงก็เรียกฝูงลิงมาประชุมกันบอกว่า เรามาช่วยกันทำประโยชน์ให้แก่เจ้านายหน่อย ตอนนี้เขาไม่อยู่ เรามาช่วยกันรดน้ำต้นไม้ เครื่องมืออุปกรณ์อยู่ทางโน้น ลิงบริวารก็พากันไปตักน้ำมาเพื่อเตรียมรดต้นไม้
หัวหน้าลิงบอกว่า เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เราจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้จักออมแรงงาน การที่จะรดน้ำให้ได้ผลดีก็ต้องรดให้พอดีกับความต้องการของต้นไม้ เราจึงต้องรู้ว่าต้นไม้ต้นไหนต้องการน้ำมาก และต้นไม้ต้นไหนต้องการน้ำน้อย แล้วรดให้พอดีกับความต้องการของต้นไม้นั้น
แต่เราจะรู้ได้อย่างไร ก็รู้ได้โดยดูว่า ต้นไม้ต้นไหนมีรากยาว ต้นไม้ต้นนั้นก็ต้องการน้ำมาก ต้นไม้ต้นไหนรากสั้น ต้นไม้ต้นนั้นก็ต้องการน้ำน้อย แล้วทำอย่างไรจึงจะรู้ล่ะ เราก็แบ่งงานกันทำ คือจัดลิงเป็นคู่ๆ ตัวหนึ่งเอากระป๋องไปตักน้ำ ตัวหนึ่งก็ยืนอยู่ที่โคนต้นไม้ พอน้ำมาถึง ก็ดึงต้นไม้ขึ้นมาดู ต้นนี้รากยาวก็รดน้ำมาก ต้นนี้รากสั้นก็รดน้ำน้อย รดกันไปจนกระทั่งหมดสวน ปรากฏว่าต้นไม้ตายหมด
อย่างนี้ท่านเรียกว่า คนไม่ฉลาดในประโยชน์ ไม่รู้จักว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริง พอทำลงไป แทนที่จะได้ประโยชน์ ก็กลับเกิดความพินาศ
เพราะฉะนั้นจึงต้องระวัง ถ้าขาดการศึกษา ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ที่แท้จริง และวิธีการที่จะทำให้เกิดประโยชน์ ก็กลายเป็นการทำลายประโยชน์
ลองฟังดูอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องเด็กปัญญาอ่อน มีแมลงวันบินมาจับศีรษะของพ่อ ก็อยากช่วยพ่อ เพราะเห็นพ่อต้องคอยไล่มันอยู่เรื่อย จึงคิดว่า เราต้องฆ่ามันให้ตาย แต่ทำอย่างไรจะให้ตายแน่ๆ ก็ต้องเอาของที่หนักหน่อย พอดีตรงนั้นมีขวานอยู่ พอแมลงวันจับที่ศีรษะของพ่อ จ้องดีแล้ว ก็ตีอย่างแม่นเลย ปรากฏว่าแมลงวันตาย แต่พ่อตายด้วย
เรื่องที่เล่านี้ คือ ตัวอย่างของคนที่มีคุณธรรมมาก และมีเจตนาดี ในกรณีนี้ลูกมีความกตัญญู และมีความปรารถนาดีด้วย แต่การมีความปรารถนาดี มีเจตนาดี หรือมีคุณธรรมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัญญาด้วย
นิทานนี้เป็นเรื่องที่เตือนใจเรา ให้รู้ว่าประชาธิปไตยนั้นต้องอาศัยการศึกษามาพัฒนาคนหลายด้าน คุณธรรมก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สติปัญญานั้นสำคัญอย่างยิ่ง
No Comments
Comments are closed.