- – ๑ – จากอุบาสก-อุบาสิกา มาถึงปัญหาภิกษุณี
- ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน
- เรื่องภิกษุณี พูดกันดีๆ ไม่ต้องมีปัญหา — ตั้งจิตเมตตาก่อนว่า จะหาทางทำให้ดีที่สุด
- ตั้งหลักไว้: ให้ผู้หญิงก็ได้ และธรรมวินัยก็ไม่เสีย
- ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี แต่คนที่มีสิทธิบวชให้ไม่มี
- ถึงจะมีสถานะที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักรักษา ในไม่ช้าก็จะเสื่อมจากสถานะนั้นเอง
- พิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่มีอยู่ สามารถจัดการให้ดี ไม่ใช่ชอบแต่ของใหม่ แต่ใช้และบำรุงรักษาไม่เป็น
- การแสดงความคิดเห็น ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้
- สังคมจะดี ประชาธิปไตยจะมีคุณค่า หนีไม่พ้นว่า ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่
- สุดท้ายก็มาลงที่หลักพื้นฐาน คืออามิสทานจากชาวบ้าน เพื่อให้พระสงฆ์มีกำลัง ที่จะอำนวยธรรมทานแก่ประชาชน
- – ๒ – ทัศนะของพระพุทธศาสนา ต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี
- ทำไมในคัมภีร์ มีคำว่าผู้หญิงไม่ดีมากมาย
- ทำไมในวินัย จึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม
- ทำไมเมื่อให้บวชภิกษุณี จึงต้องมีข้อจำกัดมากมาย
- ทำไมจะเป็นพระศาสดา ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย
- เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม
- ผู้หญิงมาบวชไม่ได้ ก็ไม่น่าต้องไปเป็นโสเภณีที่ไหน
- แม่ชีที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยกันส่งเสริมขึ้นมาจะดีไหม
- ให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมครบ ๔ จึงจะเป็นระบบพุทธที่ดีใช่ไหม
- อยากเกิดเป็นหญิงหรือชาย จะทำให้เป็นได้อย่างไร
- เปลี่ยนจากนับถือเทพสูงสุดมาถือธรรมเป็นใหญ่ ชาวพุทธจะยืนหยัดไหวไหม
- ไม่รู้จักพระไตรปิฎก-อรรถกถา จะพูดเรื่องพุทธศาสนาให้ชัดได้อย่างไร
- พระเป็นผู้ไปแจกจ่ายธรรมนำสังคม ให้เป็นผู้รับสงเคราะห์จะเหมาะสมได้อย่างไร
- อนุโมทนา
ถึงจะมีสถานะที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักรักษา ในไม่ช้าก็จะเสื่อมจากสถานะนั้นเอง
ข้อที่ ๓ เรื่องเก่าเกี่ยวกับสิ่งดีที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งบางทีเราก็มองข้ามไป ไม่เอาใจใส่
ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับสองข้อที่พูดไปนั้นโดยตรง คือการที่สังคมไทยเรามีแม่ชีสืบมา
การที่เรามีแม่ชีก็เป็นเครื่องหมายที่บอกให้รู้ว่า สังคมไทยเราเคยพยายามหาช่องทางให้ผู้หญิงได้มีโอกาสในการแสวงวิเวกหาความสงบ ในการมีชีวิตแบบผู้ปลีกตัวจากสังคม แล้วก็บำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติทางจิตภาวนาและปัญญาภาวนา
แต่สังคมของเราสมัยก่อนนี้ ไม่ใช่เป็นสังคมขยายใหญ่อย่างปัจจุบัน ที่จะต้องมีเรื่องของกฎหมาย หรือระบบระเบียบข้อบัญญัติของรัฐหรือของสังคมอะไรต่างๆ มากมาย เพราะในอดีตสังคมของเราเป็นชุมชนแต่ละชุมชนที่สำเร็จในตัว เราอยู่กันง่ายๆ แต่พอเป็นสังคมใหญ่อย่างปัจจุบันนี้ ปัญหาเรื่องการจะมีสถานะอะไรต่างๆ ก็เกิดขึ้น
นอกจากนั้น จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็มีปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก ทำให้แม่ชีซึ่งเดิมนั้นคงจะอยู่เพื่อแสวงหาชีวิตที่สงบเพื่อมีโอกาสปฏิบัติในทางวิเวกได้มาก ก็กลายเป็นว่า ต่อมาแม่ชีมีภาพเสียหาย เพราะมีแม่ชีที่ไปเที่ยวขอทาน
เมื่อไม่นานนี้มีคนมาเล่าว่า ที่ศูนย์การค้าบางแห่ง ซึ่งมีฝรั่งมามาก มีแม่ชีไปขอทาน ไปเที่ยวขอเงินจากฝรั่ง อย่างนี้ก็เสียหมด
นอกจากนั้น ในยุคหลังๆ มาถึงปัจจุบันนี้ แม่ชียังมีภาพเสียหายในด้านอื่นอีก เช่นว่า เป็นคนที่ไม่ค่อยมีการศึกษา ตลอดจนเป็นคนอกหัก อะไรต่างๆ เหล่านี้
อันนี้เป็นเรื่องของสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งบางทีผู้ที่อยู่ในระบบชีวิตแบบนั้นเองเป็นผู้ทำให้เสื่อมเอง เมื่อตัวแม่ชีปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว ยิ่งถ้าคนทั่วไปหรือสังคมส่วนรวมไม่ช่วยรักษา ก็ย่อมเสื่อมลงไป
แม้แต่พระภิกษุก็เหมือนกัน อย่างเวลานี้ เมื่อมีพระภิกษุที่ประพฤติเสื่อมเสียมากๆ ภาพพระภิกษุเองก็เสื่อม ถ้าพระภิกษุขืนประพฤติเสียหายอย่างนี้ต่อไป สภาพก็จะไม่ต่างจากแม่ชี ต่อไปคนจะมองพระเสียหมด
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในทางพระศาสนาถือว่า พระภิกษุเป็นบรรพชิต เป็นสมณะ ซึ่งตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์สอนว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี บรรพชิตเป็นผู้ไม่ทำร้ายคนอื่น สมโณ โหติ ปรํ วิเหยนฺโต ผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่นจึงเป็นสมณะ
ตามหลักการนี้ ภาพของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ก็คือ เป็นผู้ที่ไม่มีภัย คนไปพบพระที่ไหนก็ใจสบาย มีความร่มเย็น คนสมัยก่อนไปในป่า ในที่เปลี่ยว ในที่น่ากลัว พอเจอพระ ใจก็มา โล่งอก สบายใจเลย คือหมดภัยอันตราย
แต่ภาพสัญลักษณ์นี้ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี บางทีเจอพระ หรือแต่งเป็นพระจริง คือภายนอกห่มผ้ากาสาวพัสตร์จริง แต่ภายในเป็นพระหรือเปล่า คนชักจะไม่ไว้ใจ ไปเจอพระ แทนที่จะปลอดภัย เลยชักหนักใจ อย่างนี้ก็ไม่ไหว
ถ้าพระภิกษุขืนประพฤติเสียหายกันมาก ไม่เฉพาะแม่ชีหรอก พระภิกษุก็จะหมดสถานะไปด้วย เพราะฉะนั้น การที่จะมีสถานะดี ปัจจัยขั้นแรกไม่ใช่ว่าอยู่ที่ไหนไกล ก็อยู่ที่คนผู้อยู่ในระบบนั่นเอง ที่จะประพฤติตัว และดูแลกันให้ประพฤติให้ถูกต้องตามหลัก
No Comments
Comments are closed.