- จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา
- – ๑ – จุดบรรจบที่แฝงความแตกต่าง
- แนวโน้มใหม่ของความสนใจพระพุทธศาสนาในตะวันตก
- ความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาตะวันตก กับพระพุทธศาสนา
- จุดต่างที่สำคัญระหว่างจิตวิทยากับพระพุทธศาสนา
- วิธีการที่ต่างกันเกิดจากการมองที่ต่างกัน
- ความสัมพันธ์เชิงระบบภายในองค์รวม โยงจิตกับปัญญา ตลอดลงมาถึงพฤติกรรม
- – ๒ – ความแตกต่างที่ต้องนำมาบรรจบ
- จุดที่จิตวิทยาสนใจและขยายความหมาย มาบรรจบกับพระพุทธศาสนา
- โทษอาจเกิดขึ้น และแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าเอาพระพุทธศาสนาไปใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ
- วิธีการต้องตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎี
- – ๓ – จากจิตวิทยา จบที่ปัญญาภาวนา
- สังคมวางแนวความคิดไว้เอียงสุด จิตมนุษย์ก็เกิดความขัดแย้ง เพราะมีความต้องการที่ไม่อาจสนอง
- ตะวันตกเปลี่ยนจากเหงาเมื่ออยู่เดียว ไปเป็นเหงากลางหมู่
- พุทธเปลี่ยนจากอยู่เดียวเปลี่ยวใจ ไปเป็นอยู่เดียวแสนสุข
- แก้ปัญหาจากสังคม หรือแก้ที่ตัวบุคคล
- การแก้ปัญหาอย่างมีกระบวนวิธีและเป็นระบบ
- เพราะว่างจึงเต็ม เพราะไม่ว่างจึงกลวง
- เมื่อเต็มแล้ว จะอยู่เดียวก็เป็นสุข จะอยู่ในสังคมก็เป็นสุข และทำสังคมให้เป็นสุขด้วย
- เชิงอรรถ
- บันทึกนำ
สังคมวางแนวความคิดไว้เอียงสุด
จิตมนุษย์ก็เกิดความขัดแย้ง เพราะมีความต้องการที่ไม่อาจสนอง
พูดอย่างรวบรัด ปัญหาจิตใจในสังคมปัจจุบันที่พัฒนาแล้ว ตามวัฒนธรรมอุตสาหกรรมนั้น ไปๆ มาๆ ก็เกิดจากสาเหตุหรือเหตุปัจจัยชุดเดียวกันนั่นเอง ที่ระดมส่งผลสืบทอดกันเองด้วย แล้วก็ซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้นด้วย เหตุปัจจัยเหล่านี้ได้แก่แนวความคิดและค่านิยมต่างๆ ซึ่งมีลักษณะสุดโต่งไปข้างเดียว ว่าเฉพาะที่เข้ากับเรื่องที่พูดมาแล้ว ข้อสำคัญๆ ก็คือ
๑. แนวความคิดและค่านิยมในวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่ถือคติวัตถุนิยมว่า ยิ่งมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมมากเท่าใดก็จะยิ่งมีความสุขสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้คนแข่งขันแย่งชิงกันในการแสวงหาวัตถุปรนเปรอให้พรั่งพร้อมเต็มที่ และฝากความสุขของตนไว้กับวัตถุปรนเปรอภายนอกเหล่านั้น
๒. การมองความหมายของจิตวิทยาในลักษณะที่สนองค่านิยมในการแสวงหาวัตถุตามวัฒนธรรมอุตสาหกรรมนั้น คือมองจิตวิทยาเป็นความเฉลียวฉลาด หรือเก่งกาจในปฏิบัติการเกี่ยวกับจิตใจ เพื่อจัดการกับผู้อื่น ในทางที่จะทำผลประโยชน์ของตนให้สำเร็จ ซึ่งเป็นทั้งตัวการที่เสริมสนับสนุนระบบการแข่งขันแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบ และทำให้คนไม่มีความจริงใจต่อกัน ขาดน้ำใจไมตรีที่แท้จริง ทำให้ไม่มีความสุขส่วนรวม หรือประชาสุข (public happiness) ทำให้คนรู้สึกอกหัก เพราะไม่ได้รับความอบอุ่นร่มเย็นจากสังคม
๓. การถือหลักปรัชญาที่สอนให้เชื่อว่า การขยายความสำคัญหรือความยิ่งใหญ่ของตัวตนให้มากขึ้น (self-maximization) เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตมนุษย์ ซึ่งทำให้การปฏิบัติตามคติ ๒ ข้อต้นนั้น มีฐานเสริมให้มีกำลังแรงและเป็นไปอย่างลึกซึ้งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมทั้งในเวลาเดียวกันเมื่อไม่สมหวังก็ทำให้ผลในทางลบเป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้นด้วย
ต่อไปนี้ก็จะจำกัดขอบเขตของปัญหาที่จะพูดให้แคบเข้าใบอีก โดยจะยกเอาปัญหาเพียงสักข้อหนึ่งข้อเดียวขึ้นมาวิเคราะห์เป็นตัวอย่าง
แต่ก่อนที่จะพูดต่อไป จะขอสรุปหัวข้อทั้ง ๔ ที่แสดงถึงสภาพชีวิตจิตใจของคนในสังคมตะวันตกที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน ซึ่งมีปัญหาในลักษณะที่เป็นความขัดแย้ง เป็นการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง คือ
๑. ในขณะที่สังคมมีคนมากมายคับคั่งยิ่งขึ้น บุคคลกลับโดดเดี๋ยวเดียวดายว้าเหว่ยิ่งขึ้น
๒. ในขณะที่คนกำลังใฝ่หาต้องการให้ตัวตนของตนได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ สังคมกลับปฏิบัติต่อบุคคลอย่างไม่เป็นตัวเป็นตนยิ่งขึ้น
๓. ในขณะที่อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีช่วยให้คนมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อมเต็มบ้าน แต่ในใจคนกลับว่างเปล่ากลวงโบ๋ยิ่งขึ้น
๔. ในขณะที่คนผู้กลวงในวิ่งหนีจากตัวเองออกไปหาจะพึ่งพาสังคม สังคมก็ทำให้เขาอกหัก เพราะขาดความจริงใจไมตรีที่แท้จริง
No Comments
Comments are closed.