- จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา
- – ๑ – จุดบรรจบที่แฝงความแตกต่าง
- แนวโน้มใหม่ของความสนใจพระพุทธศาสนาในตะวันตก
- ความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาตะวันตก กับพระพุทธศาสนา
- จุดต่างที่สำคัญระหว่างจิตวิทยากับพระพุทธศาสนา
- วิธีการที่ต่างกันเกิดจากการมองที่ต่างกัน
- ความสัมพันธ์เชิงระบบภายในองค์รวม โยงจิตกับปัญญา ตลอดลงมาถึงพฤติกรรม
- – ๒ – ความแตกต่างที่ต้องนำมาบรรจบ
- จุดที่จิตวิทยาสนใจและขยายความหมาย มาบรรจบกับพระพุทธศาสนา
- โทษอาจเกิดขึ้น และแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าเอาพระพุทธศาสนาไปใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ
- วิธีการต้องตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎี
- – ๓ – จากจิตวิทยา จบที่ปัญญาภาวนา
- สังคมวางแนวความคิดไว้เอียงสุด จิตมนุษย์ก็เกิดความขัดแย้ง เพราะมีความต้องการที่ไม่อาจสนอง
- ตะวันตกเปลี่ยนจากเหงาเมื่ออยู่เดียว ไปเป็นเหงากลางหมู่
- พุทธเปลี่ยนจากอยู่เดียวเปลี่ยวใจ ไปเป็นอยู่เดียวแสนสุข
- แก้ปัญหาจากสังคม หรือแก้ที่ตัวบุคคล
- การแก้ปัญหาอย่างมีกระบวนวิธีและเป็นระบบ
- เพราะว่างจึงเต็ม เพราะไม่ว่างจึงกลวง
- เมื่อเต็มแล้ว จะอยู่เดียวก็เป็นสุข จะอยู่ในสังคมก็เป็นสุข และทำสังคมให้เป็นสุขด้วย
- เชิงอรรถ
- บันทึกนำ
พุทธเปลี่ยนจากอยู่เดียวเปลี่ยวใจ ไปเป็นอยู่เดียวแสนสุข
ที่นิ้วกมาทางพระพุทธศาสนาบ้าง พระพุทธศาสนานั้นมองอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแทบจะตรงข้ามกับความคิดแบบตะวันตก คือ พระพุทธศาสนาบอกว่าต้องแก้ที่ต้นตอ คือตัวจุดของปัญหาโดยตรงก่อน คือต้องไปแก้ตรงจุดที่ว่า เมื่อคนเขาหงอยเหงาว้าเหว่อยู่แล้วในการอยู่คนเดียว ก็ต้องแก้ให้เขาอยู่คนเดียวได้ โดยมีความสุข ไม่ เหงา ไม่ว้าเหว่
พอบอกอย่างนี้ก็เปลี่ยนวิธีการ คือทางพระพุทธศาสนาท่านเปลี่ยนมาใช้วิธีการแบบพลิกกลับ โดยเปลี่ยนความเหงาเปล่าเปลี่ยวในการอยู่คนเดียว ไปเป็นการมีความสุขในการอยู่คนเดียว อย่างที่เรียกว่าอยู่เป็นสุขในวิเวก หรือวิเวกสุข ซึ่งเป็นจุดที่เน้นย้ำในพระพุทธศาสนา
พอทำให้คนอยู่เป็นสุขคนเดียวได้ อยู่กับตัวเองได้ มีความเต็มอยู่ในตัวแล้ว ก็ไม่ต้องวิ่งไปหาที่เติมข้างนอกเพราะข้างในเต็มดีอยู่แล้ว ไม่พร่องไม่ว่างเปล่า ไม่กลวง เมื่อเขาออกไปสู่สังคมก็มีความชื่นชมเบิกบานเป็นสุขในหมู่อีก เพราะแต่ละคนในสังคมนั้นต่างก็เต็มมาด้วยกัน ต่างก็พร้อมที่จะให้ และมีอะไรที่พร้อมจะให้แก่ผู้อื่น เพราะไม่พร่องที่จะมาแย่ง หรือมาหาจากผู้อื่นอีก ฉะนั้น ก็จะมีภาวะที่เรียกว่ามีความจริงใจ มีไมตรีเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องมียิ้มที่เรียกว่ายิ้มธุรกิจ เขาจะยิ้มให้ ไม่ใช่ยิ้มเอา
ที่ว่ายิ้มเอาก็คือ ยิ้มที่หน้าแต่ว่ามืออ้าไปล้วงกระเป๋า อันนี้ก็เป็นสภาพที่เป็นไปในสังคมปัจจุบันนี้มาก และตามค่านิยมของสังคมปัจจุบัน ก็จะฝึกกันอย่างนั้นด้วย จิตวิทยาถูกนำมาสนองความต้องการอันนี้ คือ จะให้คนยิ้มที่หน้า พร้อมกับอ้ามือไปล้วงกระเป๋าให้ได้ด้วย ถ้าใครทำอย่างนี้ได้สำเร็จก็เรียกว่าคนนั้นมีจิตวิทยา เป็นคนเก่ง เป็นคนประสบความสำเร็จ ที่เรียกว่ายิ้มธุรกิจนั้นก็กลายเป็นว่า ฝึกให้คนยิ้ม แต่การยิ้มนั้นเป็นการยิ้มหลอกๆ เป็นการยิ้มที่ไม่จริงใจ
แต่ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าคนจะต้องมีความเต็มในตัว และการยิ้มนั้นจะต้องยิ้มด้วยน้ำใจ ยิ้มด้วยใจจริง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็พูดได้ว่าคนนั้นเป็นผู้ที่เต็มบริบูรณ์ในตัวมาแล้ว เสร็จแล้วก็มาพบกับความเต็มกลับไป เป็นบุคคลที่เต็มบริบูรณ์ออกมา แล้วก็มาพบกับสังคมที่เต็มบริบูรณ์อีก เรียกสั้นๆ ว่า เต็มมาแล้วก็เต็มกลับไป เพราะฉะนั้น เขาจะอยู่คนเดียวก็มีความสุข หรือมาอยู่ร่วมสังคมก็มีความสุขอีก และยังช่วยทำให้สังคมนั้นเป็นสังคมที่มีความสุข มีความชื่นบานหรรษาไปด้วย
ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของการที่ว่าทำอย่างไรจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด และก็ได้ยกตัวอย่างมาแสดงเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นวิธีการของพระพุทธศาสนากับวิธีการของตะวันตกว่าเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร ประเด็นก็อยู่ที่การทำให้มีความสุขในการที่จะอยู่กับตัวคนเดียวได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องวิ่งหนีตัวเอง
อันนี้แหละเป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาของยุคปัจจุบัน โดยเริ่มจากปัญหาในตัวบุคคล จากการแก้ปัญหาในใจของบุคคลก็ขยายออกไปสู่สังคมทั้งหมดด้วย
No Comments
Comments are closed.