- จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติ
- การพัฒนาคนเป็นระบบแห่งบูรณาการ
- การพัฒนาคนเป็นปฏิบัติการตามธรรมชาติ
- คุณภาพคนไทยที่ต้องพัฒนาให้ทันยุคสมัย
- พัฒนาอย่างมีดุลยภาพให้โตเต็มคน
- เข้มแข็งเพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงเพื่อชนะแข่งขัน
- ต้องข้ามพ้นยากล่อมและสิ่งเสพติด ชีวิตและสังคมจึงจะไปรอด
- — อารยธรรมยังไปไม่ไกล มนุษย์ยังต้องอาศัยสิ่งกล่อม
- — ต้องรู้จักออมแรงออมเวลา การพัฒนาจึงจะได้ผล
- — เร่งรัดพัฒนาด้วยระบบสร้างความเครียด กับระบบสติปัญญา
- สุขของคนมีการศึกษา กับสุขของคนด้อยพัฒนา
- อนุโมทนา
เข้มแข็งเพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงเพื่อชนะแข่งขัน
ประการที่ ๔ องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีลักษณะโน้มเอียงในทางอ่อนแอ คือความเชื่อถือที่ผิดในทางศาสนา
ในสังคมไทยนี้ในแง่ของความเชื่อทางศาสนา มีลัทธิความเชื่อถืออยู่ ๒ สาย
สายหนึ่ง คือสายพึ่งตนเอง ได้แก่ระบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้พึ่งตนเอง ว่ามนุษย์จะต้องพยายามทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน
อีกสายหนึ่ง คือสายพึ่งอำนาจดลบันดาล ได้แก่ลัทธิผีสางเทวดา เจ้าพ่อเจ้าแม่ เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และไสยศาสตร์
ความเชื่อทางศาสนา ๒ สายนี้อยู่คู่กันมาในสังคมไทย สายที่ ๒ คือความเชื่อสายศาสนาพราหมณ์ และผีสางเทวดานั้น มีมาในสังคมไทยนานมาก ซึ่งอาจจะพูดได้ว่ามีมาก่อนพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้วคนไทยก็นับถือคู่เคียงกัน บางครั้งสองสายนั้นก็เข้ามาก้าวก่ายปะปนแทรกแซงซึ่งกันและกัน บางยุคสมัยพระพุทธศาสนาก็เด่นกว่าและได้เป็นหลักของสังคม หลักพึ่งตนเองก็เด่นด้วย แต่บางยุคสมัยศาสนาผีสางเทวดาเทพเจ้าก็เด่นกว่า จนบางครั้งถึงกับเข้ามาครอบงำพระพุทธศาสนา
สำหรับสองสายนี้โดยหลักการก็เป็นที่ชัดเจนว่าพระพุทธศาสนาสอนหลักพึ่งตนเอง ให้เพียรพยายามทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัย กรรมดีจะทำให้เกิดผลดี ส่วนกรรมชั่วก็ทำให้เกิดผลชั่ว ส่วนศาสนาสายผีสางเทวดาเทพเจ้ามีสาระสำคัญอันเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเป็นไสยศาสตร์ การนับถือเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ก็มีสาระอันเดียวกันที่ถือว่ามีอำนาจดลบันดาลยิ่งใหญ่อยู่ภายนอก ซึ่งมนุษย์จะมีความสัมพันธ์โดยหวังพึ่งและไปขอความช่วยเหลือด้วยการอ้อนวอนเป็นต้น
ในกรณีที่คนมีความอ่อนแออย่างที่ว่ามาแล้วใน ๓ ข้อต้น แล้วมาเจอทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งต้องทำด้วยตนเอง กับทางหนึ่งไปขอความช่วยเหลือนี่ คนที่อ่อนแอจะเอาอันไหน ก็ตอบได้ว่าเขาก็จะเลือกเอาทางไปขออำนาจดลบันดาลมาช่วย ขอให้สังเกตว่า จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้เวลานี้ในสังคมไทยนี้ ลัทธิไสยศาสตร์ผีสางเทวดาเจ้าพ่อเจ้าแม่จึงกลาดเกลื่อนเหลือเกิน คือลัทธิหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก มีปัญหาก็ยกให้เทวดาแก้ มีเรื่องจะต้องทำก็ถ่ายโอนภาระให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำแทน ทีนี้เมื่อไปหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอก ไม่พยายามทำเอง ก็ยิ่งอ่อนแอลง เพราะฉะนั้น ความเชื่อถือที่ผิดทางศาสนานี้จึงเป็นตัวซ้ำเติมเข้ามาเป็นข้อที่สี่
ขอพูดแทรกถึงเรื่องทัศนคติของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ เพราะในยุคปัจจุบันนี้สังคมกำลังต้องการความชัดเจน เวลานี้สังคมไทยพร่ามัวมากในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ อาตมภาพเคยเสนอในที่ประชุมใหญ่ๆ อยู่เรื่อยๆ ว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องมีความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ จะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องเหล่านี้ ตั้งแต่ผู้บริหารประเทศมาจนกระทั่งนักการศึกษา รวมทั้งพระด้วย เวลานี้ความเชื่อทางไสยศาสตร์เป็นต้นนี่กลาดเกลื่อนไปหมด และถ้าเราไม่มีความชัดเจนว่ามันคืออะไร เราจะเอาอย่างไรกับมัน สังคมไทยก็จะส่ายเซ เปลี้ย และเคว้งคว้างเลื่อนลอย
เรื่องเทพเจ้า ผีสางเทวดา ตลอดจนอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไรพวกนี้ พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ เออแปลกนะ ไม่มีการเถียงในเรื่องนี้ แต่ที่จริงท่านไม่เสียเวลาไปเถียง เพราะว่า
๑. ถ้าจะเถียงกันว่า เทวดามีหรือไม่มี ฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นจริงหรือไม่ ให้เถียงกันพันปีก็ไม่จบ เชื่อไหม เถียงกันอีกห้าพันปีก็ไม่จบ เลยไม่ต้องปฏิบัติ เสียเวลาเปล่า
๒. เราสามารถปฏิบัติถูกต้องในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเถียง หรือที่จริงคือไม่ต้องไปรอคำตอบว่ามีหรือไม่มี จริงหรือไม่จริง
พระพุทธศาสนามีท่าทีที่ชัดเจนอย่างยิ่งในเรื่องนี้ เทวดาจะมีก็มีไป และแถมไม่ให้ลบหลู่ด้วย เทวดามีก็เป็นเพื่อนร่วมโลกกัน คนที่จะเป็นเทวดานี่ท่านบอกว่าต้องมีคุณธรรมค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นเทวดาก็เหมือนญาติผู้ใหญ่ หรือเป็นคนที่น่าเคารพนับถือซึ่งเราควรมีท่าทีสัมพันธ์ที่ดี มีความเคารพนับถือ ไม่ลบหลู่ ชาวพุทธอยู่กับศาสนาอื่นเขานับถือเทวดาก็ให้เกียรติเขาได้ไม่มีปัญหา ท่านว่าให้ถือเป็นเพื่อนร่วมกฎธรรมชาติคือเกิดแก่เจ็บตาย จึงให้มีเมตตากรุณาต่อกัน ถ้าไปเจอหรือนึกถึงเทวดาก็แผ่เมตตาให้ท่าน ชาวพุทธทำบุญก็ยังอุทิศกุศลให้เทวดาเสียอีกด้วย แต่พระพุทธศาสนามีท่าทีในทางปฏิบัติชัดเจนมากซึ่งไม่ต้องขึ้นต่อการมีหรือไม่มี เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงของเทวดา คือมันอยู่ที่ท่าทีที่ว่า ถึงมีก็ไม่หวังพึ่ง นี่ซิสำคัญที่สุด คือไม่ต้องไปรอ เขาจะเถียงกันว่ามีหรือไม่มี จริงหรือไม่จริง ให้เขาเถียงกันไปอีกพันปีก็ปล่อยเขาเถอะ แต่เราปฏิบัติได้เลย คือเราไม่หวังพึ่งสิ่งเหล่านี้ เพราะมันขัดต่อหลักการของพระพุทธศาสนา ๔ ประการด้วยกัน
หลักการที่ ๑ ของพระพุทธศาสนา คือหลักการกระทำให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน ซึ่งเรียกว่าหลักกรรม พระพุทธเจ้าทรงเป็นกรรมวาที และวิริยวาที คือถือหลักการกระทำและถือหลักความเพียร เพราะฉะนั้นผู้นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องทำการให้สำเร็จด้วยความเพียร ถ้าเราไปหวังพึ่งความช่วยเหลือจากอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เราก็ไม่ทำการด้วยความเพียร
ความสัมพันธ์อย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาแม้แต่ในหมู่มนุษย์เอง ไม่ต้องไปมองที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก อำนาจดลบันดาลภายนอกที่คนหวังพึ่งนั้นมี ๒ อย่าง คือ อำนาจภายนอกหรือความช่วยเหลือจากมนุษย์ด้วยกัน กับอำนาจภายนอกหรือความช่วยเหลือจากสิ่งลี้ลับ แต่ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ที่มีอำนาจช่วย หรือสิ่งเร้นลับช่วย การหวังพึ่งก็เป็นนิสัยเดียวกัน ถ้าหวังพึ่งอำนาจภายนอกจากมนุษย์ด้วยกัน เราก็หวังพึ่งผู้ใหญ่ หวังพึ่งผู้มีทรัพย์ผู้มีอำนาจ เราก็ไม่ทำงานทำการ แต่ที่ถูกนั้น แม้แต่อยู่ร่วมกันในโลกมนุษย์ เราก็ต้องทำการเองด้วยความเพียรอยู่แล้ว เราไม่ไปมัวรอพึ่งกัน ส่วนการที่จะช่วยเหลือนั้นก็ให้เป็นไปด้วยคุณธรรมของเขา ถ้าเขามีคุณธรรม เมื่อเขาเห็นคนดีมีทุกข์ เขาก็มาช่วยเหลือเอง นั้นเป็นเรื่องของคุณธรรม ไม่ใช่ไปหวังพึ่งไปมัวอ้อนวอนกันอยู่
ในระบบของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไปมัวหวังพึ่งกันอยู่ สังคมก็เสีย ผู้ใหญ่และคนมีทรัพย์มีอำนาจก็จะช่วยแต่คนที่มาไหว้วอน คนชั่วมาประจบก็ช่วย แต่คนดีที่ไม่มาเซ่นไหว้ ก็ไม่ช่วย ถ้าอย่างนี้สังคมก็วิบัติ ในการปฏิบัติต่ออำนาจภายนอกประเภทลี้ลับก็เช่นเดียวกัน ถ้ามัวไปหวังพึ่งกันอยู่ก็นิสัยเสียทั้งสองฝ่าย มนุษย์ที่ไปเซ่นก็อ่อนแอ เทวดาเป็นต้นก็เมาสินบน เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็ดี ความสัมพันธ์กับสิ่งลี้ลับอำนาจภายนอกก็ดี ก็แบบเดียวกันนั่นแหละ เราจะต้องวางความสัมพันธ์ให้ถูกต้อง ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป
ตกลงว่า หนึ่งขัดหลักทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตนเอง
หลักการที่ ๒ นี่สำคัญมาก คือขัดหลักธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่าจะมีชีวิตที่ดีงามได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนา มนุษย์จะต้องพัฒนาตนเอง ถ้าเราไปหวังพึ่งผู้อื่น มัวรอหวังอำนาจช่วยเหลือจากภายนอกมาทำให้ เราก็ไม่ได้พัฒนาตัวเอง มีปัญหาก็โยนปัญหาไปให้เทวดาแก้ให้ ตัวเองไม่คิด ก็ไม่ได้พัฒนาตัวเอง เคยมีความสามารถมีปัญญาแค่ไหนก็หยุดอยู่แค่นั้น มัวแต่รอให้เทวดาทำให้ ตัวเองไม่ได้คิดแก้ปัญหา ไม่พัฒนา นี้เรียกว่าขัดหลักไตรสิกขา คือขัดหลักการพัฒนาตนของมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา
หลักการที่ ๓ คือหลักความไม่ประมาท ในขณะที่เราไปหวังพึ่งความช่วยเหลือของอำนาจบันดาลภายนอกนั้น เราก็รอเขา เวลานั้นเราก็ปล่อยผ่านไปไม่ได้ทำอะไร ท่านเรียกว่าตกอยู่ในความประมาท ไม่ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หลักความไม่ประมาทเป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเมื่อจะปรินิพพาน พระวาจาสุดท้ายของพระองค์ที่เรียกว่าปัจฉิมวาจาก็คือ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เพราะการพัฒนาตนของมนุษย์จะสำเร็จได้ด้วยความไม่ประมาท ถ้าปล่อยเวลาผ่านไป มัวรอให้เขาทำให้ ตัวเองไปนอนอยู่ ก็ผิดหลักความไม่ประมาท
หลักการที่ ๔ คือหลักพึ่งตนและความเป็นอิสระ ในพระพุทธศาสนา ธรรมที่ถืออย่างยิ่งก็คืออิสรภาพ และให้พึ่งตนเองได้ เมื่อพึ่งตนเองได้ก็ไม่ต้องคอยไปหวังพึ่งความช่วยเหลือจากคนอื่น ตนเองก็เป็นอิสระ จะพึ่งตนเองได้ก็ต้องรู้จักพึ่งตนและทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ คนที่พึ่งตน เมื่อพัฒนาตนไปก็พึ่งตนเองได้ เมื่อพึ่งตนเองได้ก็เป็นอิสระ องค์พระศาสดาเองที่มาสอนก็คือทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร มาช่วยแนะนำให้เขาพึ่งตนเองได้ คือมาสอนให้คนพัฒนาตนเองเพื่อเขาจะได้เป็นอย่างพระองค์ โดยไม่ต้องมาขึ้นกับพระองค์ ไม่ใช่ไปฝากชีวิตจิตใจไว้กับพระพุทธเจ้า
ในพระพุทธศาสนาก็มีหลักศรัทธา แต่ศรัทธานั้นเป็นเพียงเครื่องสร้างความสัมพันธ์ที่จะช่วยเกื้อหนุนเราในกระบวนการพัฒนาตัวเอง ให้ก้าวต่อไปจนเป็นอย่างพระองค์ ทุกคนเมื่อพัฒนาไปจนเป็นพระอรหันต์ก็เรียกว่าเป็นพุทธะทั้งนั้น พระอรหันต์ทุกองค์เป็นพุทธะก็คือเป็นอย่างพระพุทธเจ้า
ถ้าเราไปหวังพึ่ง เราก็ขึ้นต่อสิ่งที่เราไปขอความช่วยเหลือ ไม่เป็นตัวของตัวเอง สิ่งนั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ไม่ได้ด้วยตัวเรา แต่ต้องแล้วแต่ท่าน เราหมดอิสรภาพ
ในเมื่อการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอกขัดต่อหลัก ๔ ประการนี้ จึงทำให้เราพูดว่า สิ่งเหล่านี้ถึงมีเราก็ไม่หวังพึ่ง นี้คือความเด็ดขาด แต่เราจะต้องมั่นในหลักการของพระพุทธศาสนา ๔ ประการนี้ที่จะต้องรักษาไว้ให้ได้ คือ
- การทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน
- การพัฒนาตนให้มีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป
- การเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท
- การพึ่งตนเองได้และเป็นอิสระ
จะพูดโยงรวมเป็นข้อความเดียวกันก็ได้ว่า เพียรพยายามทำการต่างๆ ในการที่จะพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามยิ่งขึ้นไปอยู่ตลอดเวลา ด้วยความไม่ประมาท เพื่อทำตนให้เป็นที่พึ่งได้และมีอิสรภาพ
การไปหวังพึ่งสิ่งเหล่านั้นขัดต่อหลักการเหล่านี้ เราจึงไม่เอาไม่ใช้ เราไม่ต้องไปเถียงว่ามีหรือไม่มี เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าถ้าเมื่อไรรู้ว่ามันมีเราก็จะพึ่ง อะไรทำนองนี้ พระพุทธศาสนาไม่วุ่นวายกับเรื่องพวกนี้ ขอให้สังเกตว่าพระพุทธเจ้าของเราได้ชื่อว่าเป็นยอดของผู้มีฤทธิ์ใช่ไหม พระองค์ไม่ได้ปฏิเสธฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งบางอย่างบางคนอาจจะรวมเอาไสยศาสตร์เข้ามาด้วย การที่พระพุทธเจ้าเป็นยอดของผู้มีฤทธิ์นี้ มีแต่เรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในการประกาศพระศาสนา เนื่องจากเวลานั้นเขามีความเชื่อกันว่าใครเป็นอรหันต์ต้องมีฤทธิ์ พระพุทธเจ้าทรงใช้ฤทธิ์เพื่อปราบฤทธิ์ เพราะเมื่อทรงปราบพวกมีฤทธิ์เหล่านั้นลงได้ ให้เขาเห็นว่าพระองค์มีฤทธิ์เหนือกว่าแล้วเขาจึงยอมฟัง พอเขายอมฟังแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงใช้ฤทธิ์อีกต่อไป แต่ในพุทธประวัติ ๔๕ พรรษาท่านเคยอ่านพบไหมว่าพระพุทธเจ้าเคยทรงบันดาลผลสำเร็จให้ใครด้วยฤทธิ์ของพระองค์ ไม่มี
ขอให้ระลึกตระหนักในหลักการของพระพุทธศาสนาและพระพุทธจริยาที่เป็นแบบอย่างอยู่เสมอว่า ขนาดพระพุทธเจ้าที่เป็นยอดของผู้มีฤทธิ์ ยังไม่เคยใช้ฤทธิ์บันดาลผลที่ปรารถนาให้แก่ผู้ใดทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะถ้ามัวช่วยกันอย่างนั้นคนจะพลาดจากหลักและเขาจะหยุดพัฒนา หลักการของพระพุทธศาสนาชัดเจนมากในเรื่องนี้ ย้ำว่า หนึ่ง ทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน สอง เป็นมนุษย์ต้องพัฒนาตนจึงจะมีชีวิตที่ดีงามได้ และจึงจะเป็นผู้ประเสริฐจริง สาม ต้องไม่ประมาท และสี่ ต้องพึ่งตนเองได้เป็นอิสระ ฉะนั้นเราไม่ต้องมัวไปเถียงเรื่องเทวดามีไม่มี ฤทธิ์มีไม่มี เป็นจริงไม่เป็นจริง เพราะเรามีหลักการนี้อยู่แล้วว่า ถึงมีถึงเป็นจริงเราก็ไม่ไปหวังพึ่ง
เราสัมพันธ์กับเทวดาแบบเป็นมิตร มีความเคารพนับถือกันฉันเพื่อนร่วมโลก แม้แต่เวลาพระสวดมนต์ ก็ยังมีการชุมนุมเทวดาด้วย ชุมนุมเทวดาหมายความว่าอย่างไร ก่อนที่พระจะเจริญพุทธมนต์ในงานมงคล จะมีพระองค์หนึ่งตั้งพัดขึ้นมากล่าวคำชุมนุมเทวดา คือการบอกว่า ขณะนี้พระกำลังจะนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสาธยาย เจริญพุทธมนต์นั้นมีความหมายสำคัญแต่เดิม คือการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสาธยาย คนฟังก็จะได้เรียนรู้ได้สดับและเตือนใจตนเองไปด้วย ทีนี้เราก็ใจกว้างไม่สงวนไม่จำกัดการฟังไว้แค่ในหมู่มนุษย์เท่านั้น แต่เราคิดถึงเทวดาด้วยว่า เทวดาท่านก็ยังต้องการธรรมไปพัฒนาตนเอง เพราะเรารู้อยู่ว่าเทวดาท่านยังมีกิเลสมากบ้างน้อยบ้าง ก็เชิญท่านมาฟังด้วย
ลองดูตำนานเทวดาหรือเทพนิยายสิ เทวดายกทัพไปรบกัน แย่งคู่ครองกัน ยังมีโลภะ โทสะมาก เพราะฉะนั้นเวลาเราสวดมนต์เราก็เผื่อแผ่ใจแก่เทวดาด้วย เราก็บอกว่าเราจะฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วนะ พระจะสวดให้ฟัง ต่อไปนี้เทวดาอยู่ไหนๆ ก็ขอเชิญมาฟังธรรมด้วย คนไม่รู้ก็นึกว่าพระชุมนุมเทวดานี่คงนับถือและอ้อนวอนเทวดาด้วย เปล่า ขอให้ดูคำลงท้ายที่ว่า ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา ท่านว่าสามครั้งเลย แปลว่าท่านผู้เจริญทั้งหลาย บัดนี้ถึงเวลาฟังธรรมแล้ว นี่คือบอกเทวดาให้มาฟังธรรมด้วย ท่านจะได้เรียนรู้ ท่านจะได้พัฒนาปัญญา เอาธรรมไปใช้ในการพัฒนาชีวิตของท่าน ท่านจะได้มีคุณธรรมมากขึ้น เลิกรบราฆ่าฟันแย่งคู่ครองกัน อะไรทำนองนี้ นอกจากนั้น ชาวบ้านหรือคนทั่วไปที่ยังหวั่นหวาดอำนาจของเทวดาอยู่ ก็จะได้สบายใจว่าเทวดาก็มาฟังธรรมอยู่กับเราด้วย เป็นพวกเดียวกับเราแล้ว ไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวล จะได้ตั้งใจฟังธรรมในคำสวดมนต์ด้วยใจสงบเป็นสมาธิ เป็นอันว่าเรื่องนี้จะต้องเข้าใจคติพระพุทธศาสนาให้ดี
พระพุทธศาสนาถือหลักการว่าธรรมเหนือเทพ มนุษย์สมัยก่อนนี้อยู่กันในสังคมที่คนนับถือและกลัวอำนาจเทวดามาก พระพุทธศาสนาก็มาสอนว่า นี่นะ ถ้ามนุษย์ตั้งอยู่ในธรรมและยืนหยัดในธรรมแล้วก็ไม่ต้องกลัวเทวดา ถ้าเกิดเรื่องกันระหว่างมนุษย์กับเทวดาก็ให้ถือธรรมเป็นใหญ่ ถ้าเรามั่นใจว่าอยู่ในธรรมถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องกลัวเทวดา เทวดาต้องแพ้ ดังที่มีเรื่องในตำนานพุทธศาสนาแบบนี้ไว้มากสำหรับให้กำลังใจแก่ชาวพุทธ เรื่องนี้พูดมามากแล้วเดี๋ยวจะกลายเป็นการเข้ามาสู่เรื่องของเกร็ดปลีกย่อยไป เวลายิ่งน้อยๆ อยู่ด้วย
เอาเป็นว่าหลักการของพระพุทธศาสนานั้นชัดเจน เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำคนของเราให้เข้มแข็งขึ้นมา สิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความอ่อนแอเหล่านี้ เราต้องรู้เท่าทัน และจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ที่สำคัญคือเราจะต้องพัฒนาคนให้เข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็งจริงจึงจะยืนหยัดอยู่ได้ไม่ถูกครอบงำ และถ้าทำได้เราก็จะชนะการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ระบบแข่งขันนี้จะต้องระลึกตระหนักกันไว้ว่าเป็นระบบที่เป็นภัยอันตรายต่อโลกมนุษย์ เพราะเป็นระบบที่นำมาซึ่งการแย่งชิงผลประโยชน์ และการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม พร้อมทั้งเป็นการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติเพราะต้องการหาผลประโยชน์มาก ต้องคอยยุคนให้มีค่านิยมบริโภคเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์มากๆ ถ้าอยู่ในระบบแข่งขันแบบนี้ก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหาของอารยธรรม
มนุษย์เราตอนนี้อยู่ในภาวะจำเป็นจำยอมต้องสู้ในการแข่งขัน มิฉะนั้นเขาก็จะครอบงำเรา เราต้องเข้มแข็งยืนหยัดไม่ให้เขาครอบงำและพยายามเอาชนะ แต่ถ้าเราชนะและเราขืนอยู่ในระบบแข่งขัน เราก็ร่วมในการทำลายโลกด้วย เพราะฉะนั้น เราต้องขึ้นเหนือการแข่งขัน มนุษย์ที่จะเหนือการแข่งขันต้องเข้มแข็งยิ่งกว่าคนที่ชนะการแข่งขันอีก ต้องเก่งกว่านั้นแล้วจึงมาแก้ปัญหาจากระบบแข่งขันอีกชั้นหนึ่ง เวลานี้ในโลกนี้ยังไม่มีใครทำได้ถึงขั้นนี้เลย ไม่ว่าอเมริกาหรือญี่ปุ่นก็ได้แค่คิดจะชนะในการแข่งขัน และแม้แต่จะเอาแค่นี้ก็แทบตายแล้ว ขนาดอเมริกาตอนนี้เพียงแค่ว่าทำอย่างไรจะชนะญี่ปุ่นก็แทบจะตายแล้ว จึงไม่มีทางที่จะให้เก่งกว่านั้น เพราะฉะนั้น ปัญหาสำคัญยิ่งสำหรับยุคปัจจุบัน ก็คือทำอย่างไรจะมีมนุษย์ที่เก่งจริง ที่ขึ้นไปเหนือการแข่งขัน แล้วมาแก้ปัญหาของระบบแข่งขัน
สำหรับสังคมไทยนี้ มีเรื่องหนึ่งที่น่าสังเกตซึ่งขอแทรกเข้ามา คือว่า ในขณะที่คนไทยเรามีแนวโน้มในการหวังพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นอำนาจดลบันดาลจากมนุษย์ด้วยกันหรือจากสิ่งลี้ลับก็ตามนี้ ก็มีปัญหาซ้อนเข้ามาอีกคือความไม่ชัดเจนแห่งขอบเขตของการที่จะช่วยเหลือและการที่จะต้องทำด้วยตนเอง ภาวะครึ่งๆ กลางๆ ไม่แน่นอนชัดเจนนี้จะยิ่งเพิ่มผลร้ายหนักขึ้นไปอีก สังคมที่เป็นอย่างนี้จะพัฒนาได้ยาก
ธรรมดามนุษย์นั้น ขอให้รู้เด็ดขาดกันไปเถอะว่าไม่มีใครช่วย จะต้องทำเอง แล้วเขาจะดิ้นสุดแรง เขาจะเข้มแข็ง เขาจะลุกขึ้นมาทำแล้วก็จะมีทางสำเร็จ แต่มนุษย์ที่ก้ำๆ กึ่งๆ ครึ่งๆ กลางๆ ไม่รู้แน่ลงไปว่าเขาจะช่วยเราแค่ไหน เขาจะช่วยไหมหนอ และไม่รู้ว่าตัวเราจะต้องทำแค่ไหน ไม่เด็ดขาดลงไปนี่ ก็จะรีๆ รอๆ หันรีหันขวาง แล้วก็อยู่อย่างนั้นแค่นั้นแหละ ไม่มุ่งมั่นทำอะไรให้จริงจังขึ้นมา ไปไม่ถึงไหน และจะไม่พัฒนา สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะนี้หรือเปล่า เช่น ชาวบ้านก็หวังพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอก เช่นจากรัฐบาล จากนักการเมือง โดยไม่รู้ขอบเขตว่าเขาจะช่วยแค่ไหน ตัวเองจะต้องทำแค่ไหน ถ้าขืนเป็นอย่างนี้สังคมจะพัฒนาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความไม่ชัดเจนในขอบเขตของการช่วยเหลือและการที่ต้องทำนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข
คนอยู่ในทะเลทราย เมื่อเขารู้แน่นอนว่าไม่มีใครช่วยต้องดิ้นเองก็ยังสู้ได้ เมื่อเขามุ่งมั่นทำไปอย่างเด็ดเดี่ยว ไม่รีรออะไรอยู่ เขาอาจจะพัฒนาแก้ทะเลทรายให้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ก็ได้ แต่คนที่มัวแต่รีๆ รอๆ เก้ๆ กังๆ ครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้ จะไม่ไปไหนเลย แม้จะอยู่ในสภาพที่มีอะไรจะทำได้มากมาย ก็สูญเสียโอกาส ไม่ได้ประโยชน์
นอกจากนั้น มนุษย์ที่หวังความช่วยเหลือจากคนอื่นก็ได้แต่มองออกไปข้างนอก จุดสนใจก็มาอยู่ที่ตัวเอง เพราะหวังพึ่งความช่วยเหลือให้แก่ตนเอง และจุดสัมพันธ์ก็อยู่ที่อำนาจภายนอกที่ตนหวังว่าจะมาช่วยนั้น ก็เลยไม่ได้มองดูเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เลยไม่มีความโน้มเอียงที่จะแสวงหาความช่วยเหลือหรือร่วมมือกันภายในชุมชนของตน เพราะความสนใจมุ่งมาที่ตัวเอง และความสัมพันธ์กับสิ่งหรืออำนาจจากภายนอกที่จะเป็นแหล่งแห่งความช่วยเหลือนั้น เลยมองข้ามเพื่อนร่วมชุมชนของตนไป
ในทางตรงข้าม ถ้าไม่มีแหล่งช่วยเหลือจากภายนอก ความสนใจของคนจะขยายออกไปสู่ผู้ที่อยู่ร่วมกัน เขาจะมองดูสุขทุกข์ของกันและกัน และจะแสวงหาความร่วมมือจากกันและกัน การร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นการช่วยเฉพาะตัวเองเท่านั้น
หลักการพึ่งตนเองก็คือทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ การทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ก็คือการที่มนุษย์จะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นด้วย เพื่อให้ตนเองเป็นผู้ที่สมควรและสามารถรับเอาประโยชน์จากผู้อื่น นี้คือหลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ไม่ใช่อยู่ๆ จะบอกว่าพึ่งตนเอง พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนเฉยๆ ว่าให้พึ่งตนเอง แต่ในการที่จะพึ่งตนเองนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือจะต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ หมายความว่า พึ่งตนด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ อันนี้สิสำคัญกว่า เพราะการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ก็คือการที่ต้องรู้จักพัฒนาตนเองด้วยการสร้างเสริมคุณสมบัติความดีงามความสามารถขึ้นในตนเอง พร้อมไปด้วยกันกับการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ ดังจะเห็นได้ว่า ในหลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้นั้น มีข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ในชุมชนหรือในหมู่พวกของเรามีธุระการงานอะไรที่จะต้องช่วยเหลือกัน ก็พร้อมที่จะช่วยจัดช่วยทำ เริ่มแต่คอยมองคอยถามว่ามีอะไรต้องช่วยกันทำบ้าง อย่างนี้ถือว่าเป็นการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้อย่างหนึ่ง
เมื่อมนุษย์ไม่หวังความช่วยเหลือจากภายนอก เวลามีอะไรเกิดขึ้น เขาก็จะมีความสนใจในหมู่คนที่อยู่ด้วยกัน และในการที่จะมาร่วมมือช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา เพราะการที่จะให้ตัวรอดจะต้องอาศัยผู้อื่นด้วย ในเวลาเดียวกันเขาก็จะมองเห็นสุขทุกข์ของผู้อื่นแล้วก็จะเกิดความช่วยเหลือและร่วมมือกัน แต่การไปหวังพึ่งอำนาจภายนอกช่วยเหลือ แม้แต่อำนาจภายนอกจากมนุษย์ด้วยกันที่ยิ่งใหญ่อยู่ข้างนอก จะทำให้มนุษย์ไม่คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง และไม่ช่วยกันแก้ปัญหา เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นปัญหาแก่การพัฒนาประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยนั้นเกิดจากการที่มนุษย์ต้องใช้ปัญญา ด้วยการระดมความคิดที่จะมาช่วยกันร่วมกันทำให้สำเร็จ การช่วยกันคิดแก้ปัญหาของชุมชนหรือของสังคมของตนเอง และการเอาสติปัญญามาร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์และแก้ปัญหา จะไม่เกิดขึ้น เพราะมองข้ามพวกพ้องผองเพื่อนไปหวังพึ่งแต่ภายนอก สังคมแบบนี้จะพัฒนาประชาธิปไตยได้ยาก นี้ก็เป็นปัญหาที่เราจะต้องแก้ไข
No Comments
Comments are closed.