- จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา
- – ๑ – จุดบรรจบที่แฝงความแตกต่าง
- แนวโน้มใหม่ของความสนใจพระพุทธศาสนาในตะวันตก
- ความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาตะวันตก กับพระพุทธศาสนา
- จุดต่างที่สำคัญระหว่างจิตวิทยากับพระพุทธศาสนา
- วิธีการที่ต่างกันเกิดจากการมองที่ต่างกัน
- ความสัมพันธ์เชิงระบบภายในองค์รวม โยงจิตกับปัญญา ตลอดลงมาถึงพฤติกรรม
- – ๒ – ความแตกต่างที่ต้องนำมาบรรจบ
- จุดที่จิตวิทยาสนใจและขยายความหมาย มาบรรจบกับพระพุทธศาสนา
- โทษอาจเกิดขึ้น และแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าเอาพระพุทธศาสนาไปใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ
- วิธีการต้องตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎี
- – ๓ – จากจิตวิทยา จบที่ปัญญาภาวนา
- สังคมวางแนวความคิดไว้เอียงสุด จิตมนุษย์ก็เกิดความขัดแย้ง เพราะมีความต้องการที่ไม่อาจสนอง
- ตะวันตกเปลี่ยนจากเหงาเมื่ออยู่เดียว ไปเป็นเหงากลางหมู่
- พุทธเปลี่ยนจากอยู่เดียวเปลี่ยวใจ ไปเป็นอยู่เดียวแสนสุข
- แก้ปัญหาจากสังคม หรือแก้ที่ตัวบุคคล
- การแก้ปัญหาอย่างมีกระบวนวิธีและเป็นระบบ
- เพราะว่างจึงเต็ม เพราะไม่ว่างจึงกลวง
- เมื่อเต็มแล้ว จะอยู่เดียวก็เป็นสุข จะอยู่ในสังคมก็เป็นสุข และทำสังคมให้เป็นสุขด้วย
- เชิงอรรถ
- บันทึกนำ
เพราะว่างจึงเต็ม เพราะไม่ว่างจึงกลวง
น่าสังเกตว่า ในการทำให้คนหายรู้สึกอ้างว้างว่างเปล่านี้ มีสิ่งที่เรียกว่าเป็น paradox คือความจริงย้อนแย้ง หรือความจริงผกผันเกิดขึ้น กล่าวคือ ในทางพระพุทธศาสนาท่านบอกว่า การที่บุคคลจะหาย (จากความรู้สึก) ว่างเปล่าได้ก็ต่อเมื่อเขาเข้าถึงความว่าง เขาจะหมดความรู้สึกว่างเปล่า เมื่อเขารู้จักความว่าง
อันนี้ก็นำเข้าสู่หลักการที่เรียกว่า อนัตตา กล่าวคือ เมื่อคนรู้จักความว่าง รู้จักอนัตตา เข้าถึงความจริงของชีวิตอย่างถึงที่สุด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเข้าถึงสุญญตาแล้ว เขาก็จะหายคือจะหมดความรู้สึกว่างเปล่าได้อย่างแท้จริง
เรื่องเข้าถึงความว่างแล้วหายรู้สึกว่าง หรือ รู้จักความว่างจึงหายรู้สึกว่าง นี้เป็นอย่างไร จะยังไม่อธิบายในที่นี้ แต่ก็จะพูดสั้นๆ ว่าตกลงเป็นอันว่า การแก้ปัญหาในขั้นสุดท้าย ต้องถึงขั้นปัญญา
ปัญญาในที่นี้ หมายถึงปัญญาที่รู้จักความว่างเปล่าจากตัวตน คือรู้แจ้งอนัตตา โดยรู้เข้าใจโลกและชีวิตนี้ตามความเป็นจริง ว่าเป็นเรื่องขององค์ประกอบทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อรู้เข้าใจด้วยปัญญา มองเห็นความว่างแล้ว ก็จะเกิดภาวะทางจิต คือความว่างของจิตใจจากกิเลสและความทุกข์
ตอนแรกรู้จักความว่างด้วยปัญญา ต่อไปก็มีผลทางจิตใจเกิดขึ้น คือ จิตใจว่างจากกิเลสและความทุกข์ รวมเป็น ๒ ตอน คือ ปัญญาเห็นความว่าง กับ จิตใจที่ว่างจากทุกข์ โดยสรุป นี้คือวิธีการแก้ปัญหาระดับจิตใจที่มีผลโยงมาถึงและโยงมาจากปัญญา ความว่างในที่นี้คือความเป็นอิสระในความหมายหนึ่ง
ทีนี้เมื่อจิตว่างจากกิเลสและความทุกข์แล้ว ก็กลายเป็นว่าจิตนั้นจะมีความเต็มอิ่มในตัว ซึ่งเป็นผลการปฏิบัติในระดับจิตใจที่อาศัยปัญญาส่งผลย้อนมา การทำจิตใจให้เต็มอิ่มนี้ก็คือการปฏิบัติในระดับสมาธิ
เมื่อเขามีจิตเต็มอิ่มคือมีสมาธิดีแล้ว ในเวลาที่เขาออกไปมีความสัมพันธ์ในทางสังคมก็จะมีปฏิสัมพันธ์ที่มีความชุ่มชื่นเบิกบาน ในสังคมนั้น
ในกรณีนี้ก็จึงกลายเป็นการพูดกลับกันว่า จากปัญญาส่งผลมาสู่ระดับจิตหรือสมาธิ แล้วระดับจิตหรือสมาธิก็ส่งผลไปหาพฤติกรรมในทางสังคมคือระดับศีลอีก
จึงมองได้ว่า ระบบการปฏิบัติของพระพุทธศาสนานี้ดูเหมือนว่าเวียนกลับไปกลับมา คือการปฏิบัตินั้นเริ่มจากศีลเข้าไปหาจิตหรือสมาธิแล้วจากสมาธิก็โยงไปหาปัญญา แต่ในทางกลับกันเวลาส่งผลนี่ปัญญาส่งผลมาสู่ระดับสมาธิของจิต แล้วสมาธิก็ส่งผลมาสู่พฤติกรรมระดับศีล ทั้งหมดนี้เป็นระบบความสัมพันธ์ในองค์รวมของชีวิตที่ดีงามของมนุษย์
หลักการและวิธีปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาตามที่ว่ามานี้มีแง่ที่จะพิจารณาโดยสัมพันธ์กับจิตวิทยาตะวันตกได้เป็นอันมาก และเป็นจุดหนึ่งที่จิตวิทยาตะวันตกกำลังหันมาสนใจพระพุทธศาสนา ดังที่ฝรั่งกำลังมาสนใจเรื่องความว่าง (emptiness) หรือสุญญตากันอยู่ แล้วอันนี้ก็กลับเป็นจุดที่จะนำไปแก้ปัญหาสังคมปัจจุบันที่คนมีความรู้สึกอ้างว้าง ว้าเหว่ ว่างเปล่า กลวงภายใน อย่างที่ได้กล่าวมานั้น
No Comments
Comments are closed.