- จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา
- – ๑ – จุดบรรจบที่แฝงความแตกต่าง
- แนวโน้มใหม่ของความสนใจพระพุทธศาสนาในตะวันตก
- ความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาตะวันตก กับพระพุทธศาสนา
- จุดต่างที่สำคัญระหว่างจิตวิทยากับพระพุทธศาสนา
- วิธีการที่ต่างกันเกิดจากการมองที่ต่างกัน
- ความสัมพันธ์เชิงระบบภายในองค์รวม โยงจิตกับปัญญา ตลอดลงมาถึงพฤติกรรม
- – ๒ – ความแตกต่างที่ต้องนำมาบรรจบ
- จุดที่จิตวิทยาสนใจและขยายความหมาย มาบรรจบกับพระพุทธศาสนา
- โทษอาจเกิดขึ้น และแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าเอาพระพุทธศาสนาไปใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ
- วิธีการต้องตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎี
- – ๓ – จากจิตวิทยา จบที่ปัญญาภาวนา
- สังคมวางแนวความคิดไว้เอียงสุด จิตมนุษย์ก็เกิดความขัดแย้ง เพราะมีความต้องการที่ไม่อาจสนอง
- ตะวันตกเปลี่ยนจากเหงาเมื่ออยู่เดียว ไปเป็นเหงากลางหมู่
- พุทธเปลี่ยนจากอยู่เดียวเปลี่ยวใจ ไปเป็นอยู่เดียวแสนสุข
- แก้ปัญหาจากสังคม หรือแก้ที่ตัวบุคคล
- การแก้ปัญหาอย่างมีกระบวนวิธีและเป็นระบบ
- เพราะว่างจึงเต็ม เพราะไม่ว่างจึงกลวง
- เมื่อเต็มแล้ว จะอยู่เดียวก็เป็นสุข จะอยู่ในสังคมก็เป็นสุข และทำสังคมให้เป็นสุขด้วย
- เชิงอรรถ
- บันทึกนำ
แก้ปัญหาจากสังคม หรือแก้ที่ตัวบุคคล
อย่างไรก็ตาม ตามวิธีการแก้ปัญหาของพระพุทธศาสนา แทนที่จะเริ่มต้นการแก้ปัญหาด้วยการแก้ไขที่ตัวบุคคลคนเดียวด้วยตัวของเขาเองโดยลำพัง ท่านกลับไปเน้นวิธีแก้มาจากสังคม
แต่กระนั้นก็ตาม พระพุทธศาสนามีวิธีการที่ยืดหยุ่น เช่น การแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรจะให้คนมีความสุขในการอยู่คนเดียวได้ สำหรับคนที่ถึงขั้นจริงๆ ท่านบอกว่าแก้ได้ในระดับปัญญาโดยใช้โยนิโสมนสิการอย่างเดียวก็พอ ถ้าใช้วิธีนี้ก็เป็นการแก้ที่ตัวเองโดยตัวคนเดียวได้เลย
แต่คนส่วนใหญ่จะทำไม่ได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้น สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว วิธีการแก้ปัญหาของบุคคลจะเริ่มต้นจากวิธีการทางสังคมย้อนมาหาตัวบุคคล เรื่องกลับเป็นอย่างนั้นไป กล่าวคือ พระพุทธศาสนาจะให้เริ่มจากการมีกัลยาณมิตร โดยเราช่วยจัดให้คนที่ไม่มีความสุขในการอยู่คนเดียว ที่มีความอ้างว้างว้าเหว่ ว่างเปล่า ข้างในนั้น ได้มีกัลยาณมิตร
กัลยาณมิตรก็คือคนที่เต็มข้างในหรือมีความเต็มในตัวอยู่แล้ว คนที่เต็มข้างในนี้ก็มาช่วยคนที่อ้างว้างภายในนั้น โดยช่วยทางด้านจิตใจก่อน การช่วยในด้านจิตใจนี้ก็คือ ทำให้คนที่ว่างเปล่าภายใน มาหาและอยู่กับสังคมอย่างชนิดไม่อกหัก หมายความว่า เขามาเจอคนในสังคมนั้น ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าถูกทรยศหรือหักหลัง แต่เขารู้สึกว่าได้รับน้ำใจหรือความจริงใจ ก็เลยช่วยให้เขามีความเต็มภายในได้
ทีนี้ต่อไป กัลยาณมิตรนั้นนอกจากช่วยทางด้านจิตใจแล้ว ก็จะช่วยทางด้านปัญญาด้วย ด้านปัญญานี้ก็คือการช่วยให้คนนั้นได้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตจิตใจของตนเองและรู้เท่าทันโลกหรือสังคม จนกระทั่งคนนั้นเป็นอิสระ มีอิสรภาพ เพราะช่วยตนเองได้
ถ้าเป็นการช่วยในระดับจิตใจก็ยังไม่ทำให้คนนั้นมีอิสรภาพเพราะเขายังต้องพึ่งพิงกัลยาณมิตรนั้นอยู่ หรือยังต้องอาศัยความเติมเต็มจากความสัมพันธ์ทางสังคม ต่อเมื่อเราช่วยแก้ปัญหาถึงระดับปัญญา ทำให้เขาเข้าใจความจริง ปรับจิตใจได้ มีจิตใจเป็นอิสระแล้ว หรือแก้ปัญหาของเขาเองได้แล้ว คนนั้นจึงจะมีอิสรภาพ เรียกว่าพึ่งตนเองได้
เพราะฉะนั้น หน้าที่ของกัลยาณมิตรจึงจัดเป็นการแก้ปัญหาจากสังคมเข้ามาหาตัวบุคคล โดยเริ่มจากสังคมนั้นเข้ามา หาจิตใจก่อน แต่ด้านจิตใจก็ยังไม่พอ ต้องถึงปัญญา นี้ก็คือระบบของพระพุทธศาสนา
เมื่อถึงขั้นปัญญาแล้วบุคคลนั้นจะช่วยตัวเองได้ และเป็นอิสระอย่างแท้จริงโดยที่มีความสามารถที่จะทำให้ตนเองเป็นสุขในการอยู่คนเดียวโดยลำพัง พร้อมทั้งสามารถทำหน้าที่ทางสังคม โดยเป็นกัลยาณมิตร คือเป็นผู้มีสิ่งที่จะช่วยเติมเต็มให้แก่ผู้อื่น ได้ด้วย
No Comments
Comments are closed.