- – ๑ – จากอุบาสก-อุบาสิกา มาถึงปัญหาภิกษุณี
- ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน
- เรื่องภิกษุณี พูดกันดีๆ ไม่ต้องมีปัญหา — ตั้งจิตเมตตาก่อนว่า จะหาทางทำให้ดีที่สุด
- ตั้งหลักไว้: ให้ผู้หญิงก็ได้ และธรรมวินัยก็ไม่เสีย
- ผู้หญิงมีสิทธิบวชเป็นภิกษุณี แต่คนที่มีสิทธิบวชให้ไม่มี
- ถึงจะมีสถานะที่ดี แต่ถ้าไม่รู้จักรักษา ในไม่ช้าก็จะเสื่อมจากสถานะนั้นเอง
- พิสูจน์ตัวเองว่า สิ่งที่มีอยู่ สามารถจัดการให้ดี ไม่ใช่ชอบแต่ของใหม่ แต่ใช้และบำรุงรักษาไม่เป็น
- การแสดงความคิดเห็น ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้
- สังคมจะดี ประชาธิปไตยจะมีคุณค่า หนีไม่พ้นว่า ทุกคนต้องถือธรรมเป็นใหญ่
- สุดท้ายก็มาลงที่หลักพื้นฐาน คืออามิสทานจากชาวบ้าน เพื่อให้พระสงฆ์มีกำลัง ที่จะอำนวยธรรมทานแก่ประชาชน
- – ๒ – ทัศนะของพระพุทธศาสนา ต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี
- ทำไมในคัมภีร์ มีคำว่าผู้หญิงไม่ดีมากมาย
- ทำไมในวินัย จึงให้ฐานะภิกษุณีไม่เต็มที่ในสังคม
- ทำไมเมื่อให้บวชภิกษุณี จึงต้องมีข้อจำกัดมากมาย
- ทำไมจะเป็นพระศาสดา ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย
- เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหม
- ผู้หญิงมาบวชไม่ได้ ก็ไม่น่าต้องไปเป็นโสเภณีที่ไหน
- แม่ชีที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยกันส่งเสริมขึ้นมาจะดีไหม
- ให้พุทธบริษัทมีส่วนร่วมครบ ๔ จึงจะเป็นระบบพุทธที่ดีใช่ไหม
- อยากเกิดเป็นหญิงหรือชาย จะทำให้เป็นได้อย่างไร
- เปลี่ยนจากนับถือเทพสูงสุดมาถือธรรมเป็นใหญ่ ชาวพุทธจะยืนหยัดไหวไหม
- ไม่รู้จักพระไตรปิฎก-อรรถกถา จะพูดเรื่องพุทธศาสนาให้ชัดได้อย่างไร
- พระเป็นผู้ไปแจกจ่ายธรรมนำสังคม ให้เป็นผู้รับสงเคราะห์จะเหมาะสมได้อย่างไร
- อนุโมทนา
การแสดงความคิดเห็น ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้
การศึกษาปัจจุบันเดี๋ยวนี้พูดกันบ่อยว่า เด็กไทยไม่ค่อยชอบแสดงความคิดเห็น จะต้องสนับสนุนให้เด็กแสดงความคิดเห็น
อย่าลืมว่า การแสดงความคิดเห็นนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ประเทศที่จะเจริญต้องเน้นการหาความรู้ ให้มีความใฝ่รู้ และบนฐานของความรู้นั้น จึงแสดงความคิดเห็นได้เป็นหลักเป็นฐาน
ถ้าไม่มีความรู้ ไม่รู้เรื่องราว ก็ได้แค่แสดงความคิดเห็นไปตามชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ใช่ความคิดเห็นที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ
เพราะฉะนั้น การแสดงความคิดเห็น ต้องมาคู่กับการหาความรู้ ให้ความคิดเห็นเกิดจากความรู้ความเข้าใจ และเป็นไปเพื่อพัฒนาปัญญา ไม่ใช่เป็นแค่ความคิดเห็นที่มาจากความชอบใจไม่ชอบใจ
ถ้าเอาแค่ชอบใจไม่ชอบใจก็พูดไป อย่างนั้นพูดได้แค่ว่าฉันต้องการอะไร แต่ถ้าจะก้าวต่อไปว่า ที่ฉันต้องการนั้นควรจะได้หรือไม่และแค่ไหน ตอนนี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ จะเอาแค่ชอบใจไม่ชอบใจไม่ได้
ฉะนั้น การศึกษาทั่วไปนี้ อย่าเอาแค่ส่งเสริมให้เด็กชอบแสดงความคิดเห็น เดี๋ยวก็แสดงความคิดเห็นเหลวไหลไร้สาระ เอาแค่มาพูดแข่งกัน ข่มกัน ทะเลาะกัน ไม่เป็นเรื่อง
การที่ให้มีการแสดงความคิดเห็น ก็เพราะต้องการจะส่งเสริมสติปัญญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ ให้ได้แก่นสาร เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมการหาความรู้ขึ้นมาเป็นคู่กัน โดยเฉพาะจะต้องส่งเสริมลักษณะนิสัยให้มีคุณสมบัติเป็นคนใฝ่รู้
ในประเทศที่คนไม่มีความใฝ่รู้ แต่ชอบแสดงความคิดเห็นนั้น จะไม่มีแก่นสารอะไร ข้างในกลวงหมด เป็นเรื่องใหญ่ที่ว่า ถ้าการศึกษาไปเน้นในด้านการแสดงความคิดเห็น ก็เป็นการข้ามขั้นตอน
เพราะฉะนั้น จะต้องหันไปเน้นด้านการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะต้องสร้างความเป็นคนใฝ่รู้ขึ้นมาเป็นแกน แล้วการแสดงความคิดเห็นจึงจะไปดีได้
เวลานี้เป็นปัญหาของสังคมไทยอยู่แล้ว ที่ว่าคนมักชอบแสดงความคิดเห็นกันมาก โดยไม่หาความรู้ และเมื่อได้แสดงความคิดเห็นแค่ชอบใจไม่ชอบใจแล้ว ก็เลิกกัน หรือทะเลาะกัน ขัดใจกัน ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจ และไม่หาความรู้ต่อไป
หลักพระพุทธศาสนาสอนไว้เป็นขั้นพื้นฐานตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวว่า เมื่อรับรู้ด้วยตาหูจมูกเป็นต้น ไม่ใช่ว่าได้เห็นได้ยินแล้วก็ได้แค่ยินดียินร้าย ตาเห็นรูป พอถูกตาก็ชอบใจ ไม่ถูกตาก็ไม่ชอบใจ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน
พระพุทธเจ้าตรัสเริ่มด้วยเรื่องอินทรียสังวรว่า ให้รับรู้ดูฟังด้วยสติ ทำให้ได้ความรู้ ได้ปัญญา ท่านให้มองอะไรด้วยความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่มองแค่ตามชอบใจไม่ชอบใจ
เรื่องนี้เป็นหลักขั้นต้นสำหรับพุทธศาสนิกชนว่า จะมองอะไรไม่ใช่มองแค่ชอบใจไม่ชอบใจ แต่ต้องมองด้วยความรู้ความเข้าใจ และเพื่อให้มองด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็ต้องมองตามเหตุปัจจัย
ตอนนี้มีหลายใจนะ อย่างที่หนึ่งต้องตัดทิ้งคือมองแค่ตามชอบใจไม่ชอบใจ ให้เปลี่ยนเป็นมองตามเหตุปัจจัย แล้วก็มองด้วยความรู้ความเข้าใจ หรือมองเพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจ
ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่ชอบใจไม่ชอบใจ ชีวิตของตัวเองก็ไม่งอกงาม สังคมก็ไปดีไม่ได้ นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่พึงนำมาใช้ แม้แต่ในการถกเถียงปัญหาของสังคม
No Comments
Comments are closed.