– ๒ – ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ

23 กันยายน 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

– ๒ –
ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ

สันโดษคือฐานชีวิตของนักวิชาการ
สันโดษสร้างโอกาสแก่งานศึกษาและสร้างสรรค์

เป็นอันว่าองค์ธรรมหรือข้อปฏิบัติต่างๆ นั้นถ้าปฏิบัติถูกต้องจะส่งผลสัมพันธ์ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ไปสู่จุดหมาย เพราะฉะนั้นมันจึงคืบเคลื่อนตลอดเวลา หน้าที่ของเราก็คือจะต้องจับให้ได้ว่า ข้อปฏิบัติหรือองค์ธรรมข้อนี้ส่งผลต่อข้ออื่นอย่างไรในกระบวนการนี้ ถ้าจับไม่ได้ก็แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจธรรมข้อนั้น ในสังคมไทยมีปัญหาเรื่องนี้มาก

ขอแทรกตรงนี้ว่า คนไทยเราเท่าที่สังเกต มักนำเอาธรรมมาใช้เพียงเพื่อสนองความต้องการขั้นต้น คือ พอให้สุขสบายพ้นปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ แล้วก็หยุด ธรรมแทบทุกข้อจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ขาดตอนด้วนๆ แบบนี้ จึงไม่เป็นไปตามแนวทางของไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการคืบเคลื่อนไปข้างหน้าสู่จุดหมายสูงสุดอันเดียว เช่น เราใช้สันโดษ ก็ใช้เพื่อหยุด ไม่ได้ใช้เพื่อเป็นตัวส่งต่อ

สันโดษที่ถูกต้องเป็นเพียงธรรมเบื้องต้นในกระบวนการของไตรสิกขา มันจึงต้องส่งผลให้เราก้าวไปในไตรสิกขา แต่ลองดูว่า สันโดษของคนไทยเป็นอย่างไร พอสันโดษเราก็พอใจในสิ่งที่มีเป็นของตน รู้จักอิ่ม รู้จักพอแล้ว ก็มีความสุข ไปจบที่เพื่อสุข ถ้าจบที่เพื่อสุข ก็ตัน ก็หยุดเท่านั้น แล้วก็อาจจะกลายเป็นเกียจคร้าน และตกอยู่ในความประมาท แสดงว่าผิดแล้ว สันโดษส่งผลอย่างไรในกระบวนการที่คืบเคลื่อนของไตรสิกขา อันนี้คือจุดที่จะต้องวิเคราะห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษา

สันโดษ เป็นคุณธรรมที่สำคัญมากในทางวิชาการ โดยเฉพาะสำหรับผู้บริหาร และครูอาจารย์ สันโดษจะมาหนุนฉันทะอย่างเต็มที่ จะต้องเน้นด้วยว่าสันโดษเป็นธรรมที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ตอนนี้จึงขอพูดเรื่องสันโดษให้เป็นตัวอย่างของการที่คนไทยยังใช้ธรรมในพุทธศาสนาเพื่อสนองจุดหมายเพียงเพื่อหยุด เพียงเพื่อมีความสุขที่ตัน โดยลงท้ายที่ความประมาท

มีคนสุดโต่ง ๒ พวก

พวกหนึ่ง มองว่า คนไทยนี่สันโดษ พอใจในสิ่งที่มีเป็นของของตน ก็เลยไม่อยากได้ไม่อยากมี ไม่ขวนขวาย จึงไม่สร้างสรรค์ ไม่พัฒนา เพราะฉะนั้นจะต้องกระตุ้นเร้าให้คนไทยอยากได้ อยากมีของใช้ฟุ่มเฟือย มีทีวี มีรถเครื่อง มีรถปิคอัพ มีสิ่งเสพบริโภคให้มาก แล้วเขาจะได้ขยันทำการทำงานหาเงิน ประเทศชาติจะได้พัฒนาเป็นการใหญ่ นี่พวกหนึ่ง เป็นสุดโต่ง ซึ่งผิดพลาดอย่างมาก ที่ไปสนองความใฝ่เสพ สนองตัณหา

อีกพวกหนึ่ง ก็คือ ชาวพุทธเองจำนวนมาก ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ตนเองให้รู้ตัวว่าพลาดไปสุดโต่งอีกเหมือนกัน คือเข้าใจว่าสันโดษเพื่อจะได้มีความสุข ลองไปถามคนไทยทั่วๆ ไปสิว่า สันโดษเพื่ออะไร ส่วนมากจะตอบว่าเพื่อความสุข พอสันโดษแล้วก็มีความสุข แล้วก็สบาย ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ซึ่งก็จริง เพราะสันโดษเป็นความพอใจ ความสุขอยู่ที่ความพอใจ เมื่อพอใจก็สุข พอมีวัตถุ มีสิ่งของใช้แค่นี้ ก็พอใจ สันโดษ ก็เลยสบาย แล้วก็ไม่ต้องขวนขวาย ไม่ดิ้นรน ก็ขี้เกียจ เฉื่อยชา ขอใช้คำว่าเลยนอนแอ้งแม้ง ก็สมที่เขาว่าว่าทำให้ขัดขวางการพัฒนา

ที่จริงผิดทั้งสองฝ่าย เพราะไม่รู้จักสันโดษตัวจริง ที่เป็นทางสายกลาง

บอกแล้วว่า สันโดษนี้เป็นเพียงข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งในกระบวนการของไตรสิกขา ไตรสิกขานั้นต้องเดินหน้า สันโดษที่ปฏิบัติถูกต้องจะส่งผลในกระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขาให้เดินหน้าต่อไป ถ้าจับจุดนี้ได้ก็หมดปัญหา โดยเฉพาะสันโดษจะต้องมาหนุนฉันทะ เรื่องความใฝ่เสพและใฝ่รู้เป็นต้นที่พูดมาแล้ว ก็สัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องสันโดษ

สันโดษในภาษาไทยเวลานี้ชักจะมีความหมายเคลื่อนคลาดไปไกล เคยถามคนหนุ่มๆ ว่าสันโดษคืออะไร หลายคนตอบว่าสันโดษคือการแยกตัวออกไปอยู่ต่างหาก ไม่สนใจ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร อันนี้ไม่ใช่สันโดษ การปลีกตัวไปอยู่ต่างหาก ค่อนข้างโดดเดี่ยวหาความสงบนั้น เรียกว่าวิเวก สันโดษเป็นเรื่องของท่าทีต่อวัตถุ สิ่งเสพ สิ่งบริโภค สันโดษก็คือความพอใจในวัตถุเสพ เช่น ปัจจัย ๔ ตามที่มีที่ได้ หรือตามที่เป็นของตน คนไทยเราก็มองคนสันโดษในแง่นี้ด้วยคือ เป็นคนที่พอใจในวัตถุสิ่งของตามที่มีที่ได้ ไม่ทะเยอทะยาน ไม่อยากได้ไม่อยากมี แต่อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ถ้ามองแค่นี้ ก็จะเป็นสันโดษเพื่อสุข แล้วก็ตัน

คนไม่สันโดษ เวลาที่จะเอาให้แก่ตัวเองก็ยังไม่พอ
จะเอาอะไรมาให้แก่ศิษย์ แก่งาน หรือแก่สังคม

เราไปดูคนที่ไม่สันโดษก่อน คนไม่สันโดษก็ตรงข้ามกับคนสันโดษ คนสันโดษมีความสุขได้ด้วยวัตถุเสพตามที่ตนมี มีเท่าไรก็พอใจเท่านั้น จึงมีความสุขได้ง่าย พูดสั้นๆ ว่า คนสันโดษคือคนที่สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย วัตถุที่เขามีอยู่ก็ทำให้เขามีความสุข ให้สังเกตว่าเขามีความสุขแล้ว แต่คนไม่สันโดษไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอด้วยวัตถุเสพบริโภคที่มีอยู่ ความสุขของเขาไปอยู่กับสิ่งที่ยังไม่มี ฉะนั้น คนที่ไม่สันโดษจึงยังไม่มีความสุข เพราะความสุขของเขาอยู่กับสิ่งที่เขายังไม่มีหรือยังไม่ได้ คือเขาไม่พอใจกับสิ่งที่เขามีเป็นของตน ความพอใจของเขาอยู่ที่สิ่งที่เขายังไม่ได้ ความพอใจของเขายังไม่มี เพราะฉะนั้นเขาจึงยังไม่สุข ในแง่วัตถุคนไม่สันโดษยังไม่สุข เขาขาดความสุขในทางวัตถุ

สำหรับคนไม่สันโดษปัญหาอะไรจะตามมา เมื่อความสุขอยู่กับวัตถุที่ยังไม่ได้ ความสุขทางวัตถุก็ยังไม่มี เขาจึงต้องพยายามหาสิ่งเสพหรือวัตถุเสพมาบำรุงบำเรอ มาบริโภค ในกระบวนการแสวงหาสิ่งเหล่านี้ ก็จะต้องใช้

๑. เวลา เขาจะใช้เวลาให้หมดไปกับการพยายามหาสิ่งเสพบริโภค

๒. แรงงาน เขาจะต้องทุ่มเทแรงงานของเขาในการแสวงหาสิ่งเสพ

๓. ความคิด เขาจะต้องครุ่นคิดว่าจะไปเสพอะไรที่ไหน จะไปหาอะไรเสพ พรุ่งนี้จะไปกินอะไรที่ไหนอร่อย วันนี้ไปกินที่เหลานี้ ราคาเท่านี้ ยังไม่อร่อยพอ พรุ่งนี้ไปเหลาโน้นจะอร่อยกว่า ครุ่นคิดแต่เรื่องนี้

ฉะนั้น เวลา แรงงาน และความคิดของเขาก็หมดไปกับเรื่องการที่จะหาสิ่งเสพและการที่จะหาความสุขบำรุงบำเรอตัวเอง ทีนี้เวลา แรงงาน และความคิดที่จะใช้นั้น บางทีมันไม่พอ เมื่อเวลาไม่พอก็ต้องเบียดบังเวลาทำการทำงานทำหน้าที่ไป งานการที่จะทำก็ไม่ได้ทำ งานก็เสียหรือทำไม่เต็มที่ สิ่งเสพนั้นจะต้องใช้เงินซื้อ เมื่อเงินทองไม่พอก็ต้องหาทางเบียดบังทรัพย์ บางทีทุจริต หรือกู้หนี้ยืมสิน เพื่อจะเอาทรัพย์ไปซื้อสิ่งเสพที่ยังไม่ได้ และเมื่อมัวคิดแต่เรื่องที่จะเสพจะบริโภค ใจก็ไม่อยู่กับงาน ไม่เอาใจใส่หน้าที่ และไม่มีสมาธิในการทำงาน เพราะฉะนั้น ความไม่สันโดษจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไม่ตั้งใจทำการทำงาน เสียงาน เบียดบังเวลาทำงาน และทำให้ทุจริต

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เขาไม่มีความสุขจากการทำงาน เพราะความสุขไปอยู่ที่สิ่งเสพ เขาจึงทำงานด้วยความทรมานใจ มองแต่ว่าเมื่อไรจะเลิกงานเสียที จะได้ไปหาสิ่งเสพ ฉะนั้นเขาจึงทำงานด้วยความทุกข์ จิตใจไม่สบาย เมื่อทำงานด้วยความทุกข์ ก็เป็นผลเสียแก่ชีวิตของตนเอง พร้อมกันนั้นก็เกิดผลเสียต่อส่วนรวมคืองานการไม่ได้ผล เสียทั้งแก่ชีวิตและสังคม ผลเสียจึงกว้างขวางทั่วไป พัฒนาได้ยาก นี่เป็นด้านของคนไม่สันโดษ

ทีนี้ลองมาดูคนสันโดษบ้าง ถ้าสันโดษแบบตันก็อย่างที่ว่า คือ เมื่อเราพอใจในวัตถุเสพ พอแล้ว อิ่มแล้ว ก็สบาย มีความสุขได้แล้วก็ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย บรรลุจุดหมายแค่นี้ ก็หยุด กลายเป็นขี้เกียจ เพราะมันไม่ส่งผลให้ก้าวต่อไปในไตรสิกขา ขอให้ดูว่าสันโดษที่แท้ส่งผลต่ออย่างไร ตอนนี้ยังไม่ต้องดูว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร มาวิเคราะห์กันตามกระบวนการของธรรมชาติ

เมื่อเราสันโดษในวัตถุเสพ วัตถุมีพอให้ชีวิตอยู่ได้ตามสมควร เราก็มีความสุขแล้ว เมื่อไม่ต้องวุ่นวายพล่านหาสิ่งเสพ สิ่งที่เราได้ในตอนนี้คืออะไร เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ได้มาก เมื่อเวลามี แรงงานมี สมองว่างอยู่ยังไม่ได้ใช้ จะเอาไปใช้อะไร ตอนนี้จุดแยกก็อยู่ที่ว่าจะหยุดหรือจะใช้มัน ถ้าหยุดก็แปลว่า ขี้เกียจ ก็จบ แต่ถ้าไม่หยุดก็จะมีผลตามมาว่า ตอนนี้เรามีความพร้อม ทั้งเวลา แรงงานและความคิดเรามีเหลือเฟือ ตอนนี้ เราได้พัฒนาฉันทะไว้แล้ว เรามีความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์ อยู่แล้ว ก็เอาแรงงาน เวลา และความคิดที่สงวนไว้ได้นั้นไปสนองฉันทะ ก็เดินหน้าแน่วไปเลย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – จิตใจของนักวิชาการ– ๓ – ความสัมพันธ์ในชุมชนทางวิชาการ >>

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.