– ๒ – ความแตกต่างที่ต้องนำมาบรรจบ

24 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 8 จาก 21 ตอนของ

– ๒ –
ความแตกต่างที่ต้องนำมาบรรจบ

สังคมยิ่งพัฒนา แต่จิตใจมนุษย์ยิ่งมีปัญหา

ได้พูดมาในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยาสมัยใหม่กับพระพุทธศาสนา โดยเน้นในเรื่องความแตกต่างบางอย่างให้เข้าใจภาพรวมพอสมควร ที่นี้อาตมาก็จะวกกลับมาพูดในเรื่องที่ค้างไว้ข้างต้น คือเรื่องความเป็นไปในสังคมตะวันตกที่ทำให้มีความสนใจในพระพุทธศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางด้านจิตใจ

ได้กล่าวแล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพชีวิตและสังคม พร้อมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคมนุษย์ในยุคพัฒนา โดยเฉพาะในยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมานี่แหละ ที่นำมาสู่ความสนใจในพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่

ความเจริญในยุคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกนั้นได้ทำให้คนมีความพรั่งพร้อมทางวัตถุกันมากขึ้น แต่แล้วก็ปรากฏว่าชีวิตของมนุษย์ที่เจริญพรั่งพร้อมด้วยวัตถุมากขึ้นนี้กลับมีปัญหามากขึ้นในด้านจิตใจ เราอาจจะใช้ศัพท์ของฝรั่งที่เขาพูดอยู่เสมอ

คำพูดที่แสดงถึงปัญหาในทางชีวิตจิตใจของสังคมอเมริกันปัจจุบันนี้ที่ขอยกเป็นตัวอย่าง ก็ได้แก่ stress คือความเครียด คำนี้เป็นศัพท์ที่เด่นมากในสังคมปัจจุบัน แล้วก็ anxiety ความวิตกกังวล แล้วก็ alienation ความรู้สึกแปลกแยก แล้วก็ boredom ความเบื่อหน่าย แล้วก็ loneliness ความว้าเหว่เดียวดาย หรือความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ emptiness ความรู้สึกว่างเปล่า ไร้ความหมาย เป็น inner emptiness คือความรู้สึกว่างเปล่าในภายใน

สภาพจิตใจที่เป็นปัญหาเหล่านี้กำลังรบกวน รังควานความสุขของคนในประเทศตะวันตกเป็นอย่างมาก ทำให้เขาพยายามหาทางออก จนบางทีก็ถึงกับเห็นว่าหรือรู้สึกเหมือนว่า ความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้นไม่มีความหมายเสียเลย ในเมื่อปัญหาเหล่านี้มีอยู่อย่างรุนแรง และมีความกดดันบีบคั้น ซึ่งถ้าใช้ศัพท์รวมพูดง่ายๆ ในทางพระพุทธศาสนาก็คือคำว่า มีความทุกข์ นั่นเอง

เคยมีฝรั่งที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับสภาพความเจริญของสังคมอเมริกัน ได้สรุปสภาพชีวิตจิตใจของคนในสังคมอเมริกันปัจจุบันไว้ว่า มีสภาพที่เป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากบุคคลไม่ได้รับการสนองความต้องการพื้นฐานทั้ง ๓ อย่าง คือ ความต้องการการร่วมหมู่ ความต้องการแบบแผนหรือหลักยึดเหนี่ยว และความต้องการความหมาย (needs for Community, Structure, and meaning) โดยมีอาการแห่งความทุกข์แบบต่างๆ ปรากฏออกมา ดังนี้1

ประการที่ ๑ คือ มีความรู้สึกว้าเหว่โดดเดียว ความรู้สึกว้าเหว่โดดเดี่ยวนี้มาเสริมย้ำความต้องการที่จะเข้าสังกัดในหมู่ มีหมู่คณะ มีชุมชนหรือ community ที่ตนจะได้เข้าร่วมอยู่ และมีความจงรักภักดี อันนี้ก็เป็นสภาพจิตใจอย่างหนึ่ง เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นมาอย่างแรง ซึ่งบางทีก็ทำให้เขายอมสละแม้แต่ความเฉลียวฉลาด สติปัญญา เกียรติยศ เพื่อจะได้ไปอยู่ในชุมชน หรือ community อย่างนี้ ที่เขาจะได้แก้ปัญหาความว้าเหว่โดดเดี่ยวนั้น

ประการที่ ๒ คือ ความรู้สึกที่คล้ายๆ กับข้อที่ ๑ นั่นแหละ แต่เป็นอีกด้านหนึ่ง คือ ความรู้สึกอ้างว้าง ว่างเปล่าหรือกลวงภายใน คือในจิตใจมันกลวง มันว่าง มันเปล่า ไม่มีอะไรเลย

ความอ้างว้าง ว่างเปล่า กลวงภายในนี้ จะทำให้เกิดความต้องการหลักยึดเหนี่ยว ต้องการกฏเกณฑ์ ต้องการบทบาท ต้องการสถานะที่ชัดเจน ตลอดจนกระทั่งว่าต้องการอำนาจเหนือตนที่จะมาบอกมาสั่งว่าจะต้องทำอะไร

คนในสังคมอเมริกันนี้เชิดชูเสรีภาพมาก แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าสังคมมีทางเลือกมากมายจนกระทั่งเลือกไม่ถูก ในที่สุดคนอ่อนเพลียเหนื่อยหน่ายต่อการที่จะต้องใช้ปัญญาในการคิด ในการเลือกสิ่งต่างๆ เลือกไม่ถูก

ตอนแรกก็มีความขยันที่จะเลือก แต่ต่อมาเมื่อคิดบ่อยๆ เข้า มันชักหนักเกินไป คิดไม่ไหว เกิดความล้า ไม่อยากจะคิด ปัจจุบันนี้คนในสังคมอเมริกันมาถึงขั้นที่ว่าไม่อยากจะคิดแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เลยปล่อยให้เขามาสั่งให้ทำดีกว่า มีอะไรจะให้ทำก็บอกมา

เพราะฉะนั้น คนพวกนี้ก็เลยพยายามให้มีชุมชนขึ้นมา เพื่อที่ตนจะได้เข้าสังกัด แล้วชุมชนนั้นก็อาจจะวางกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ มีวินัยซึ่งเข้มงวด มีคำสั่งออกมาให้ทำอะไรก็ทำไปตาม โดยที่ว่ายอมไปตามนั้น ไม่มีการขัดขึ้น ไม่ต้องคิดหาเหตุผล

ทั้งๆ ที่เป็นสังคมที่ให้โอกาสในการคิดเหตุผลมาก มีเสรีภาพในทางความคิด แต่คนเบื่อหน่าย หมดแรงที่จะคิด หรือคร้านที่จะคิด ไม่ต้องการใช้เสรีภาพนั้น กลับต้องการสยบยอม ภาวะในสังคมอเมริกันปัจจุบันอย่างหนึ่ง ที่นักจิตวิทยาตะวันตกบางคนถึงกับยกขึ้นมาเขียนเป็นเรื่อง ได้แก่ภาวะที่เขาเรียกว่า psychic surrender2 ซึ่งในที่นี้ขอแปลว่าภาวะสยบยอมทางจิตใจ หรือภาวะจิตสยบยอม อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมตะวันตกปัจจุบัน

ประการที่ ๓ คือ สภาพจิตที่เรียกว่าความเลื่อนลอย ไม่มีความหมาย ไร้จุดหมาย เรียกว่า lack of direction คือรู้สึกว่าอะไรต่ออะไรมันวุ่นวายเต็มไปหมด ความเจริญต่างๆ ก็มีให้เลือกมากมาย เป็นเรื่องสับสน ไม่ชัดเจน ข่าวสารก็มากมายท่วมท้น โดยเฉพาะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า ยุคข่าวสารข้อมูล ข่าวสารข้อมูลก็มากเหลือเกิน ปัญญาไม่พอที่จะคิดพิจารณาเรื่องเหล่านี้ คนก็เข้าสู่สภาวะอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือหมดแรงที่จะคิด หมดแรงที่จะพิจารณา แล้วก็เกิดมีความรู้สึกเลื่อนลอย ไม่มีความหมาย ไร้จุดหมาย ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี

เมื่อกี้นี้ต้องการกฎเกณฑ์ ออกคำสั่งมาเลย จะเอาอย่างไรก็เอา แต่คราวนี้ต้องการหลักความเชื่อ ในข้อนี้คือต้องการหลักความเชื่อที่ตายตัว เพราะฉะนั้นเมื่อชุมชนนั้นเขาตั้งขึ้นมาแล้ว นอกจากมีกฎเกณฑ์แล้วก็กรอกหลักความเชื่อเข้าหูไปทุกวัน คนพวกนี้ก็จะเชื่อไปตามนั้นโดยไม่ต้องคิดสงสัยที่จะหาเหตุผล ฉะนั้นคนในกลุ่มพวกนี้ จะมีลักษณะที่ว่าพูดอะไรเป็นแบบเดียวกัน ทำอะไรเป็นแบบเดียวกัน เพราะทำให้มีความรู้สึกที่เป็นการเติมให้เขาเต็มขึ้นในภายใน ทำให้หายเลื่อนลอย ให้มีความหมาย ให้ดำเนินชีวิตอย่างมีทิศทางขึ้น

จึงกลายเป็นว่า สังคมที่เจริญไปอย่างมากมาย มีเสรีภาพที่จะใช้ปัญญาให้คนมีความคิด แต่ในที่สุดกลับมีผลตรงกันข้าม คนกลับไม่ต้องการใช้ปัญญา ไม่ต้องการใช้ความคิด อยากจะเป็นอยู่อย่างที่เรียกว่า ให้เขาสั่งมาสำเร็จรูป

นี่คือสภาพจิตใจที่เป็นปัญหาในสังคมอเมริกันขณะนี้ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นสภาพของคนที่ว่าทั้งๆ ที่เจริญด้วยความรู้และสติปัญญา แต่สภาพความหลงใหลงมงายก็มีขึ้นเป็นคู่แข่งกัน

นอกจากนี้ อีกอย่างหนึ่งที่ฝรั่งเองเช่นเดียวกันพูดถึงก็คือ ขณะนี้สังคมอเมริกันแทบจะไม่มีภาวะที่เขาเรียกว่า public happiness3 เลย คือ ไม่มีภาวะความสุขที่เป็นของส่วนรวม หรือความสุขในการอยู่ร่วมในหมู่ เนื่องจากขาดความอบอุ่น ขาดความไว้วางใจกัน ขาดความมีไมตรีจิตที่แท้จริง หรือขาดน้ำใจจริงต่อกัน อันนี้เป็นสภาพจิตที่เป็นปัญหาสืบเนื่องกันอยู่กับ ๓ ข้อที่ได้กล่าวมานั้น

ทีนี้ จิตวิทยาในความหมายที่อาตมากล่าวข้างต้น ซึ่งในสังคมอุตสาหกรรมได้นำมาใช้ก็คือ จิตวิทยาในแง่ของความหมายที่ว่าเป็นความสามารถใช้อุบายในการจัดการกับเพื่อนมนุษย์ เพื่อสนองความต้องการของตนเอง มาถึงตอนนี้กลายเป็นว่าจิตวิทยาในความหมายนี้ได้กลับมาเป็นส่วนที่ซ้ำเติมปัญหาข้างต้นนั้นให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น หรือกลับมาเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ก่อปัญหาทางจิตใจแก่มนุษย์ยุคปัจจุบันในสังคมตะวันตกนั้น

ฉะนั้น จึงกลายเป็นว่า มองไปมองมา จิตวิทยาตะวันตกนี้ได้มีส่วนร่วมในการก่อปัญหาแก่ชีวิตจิตใจของคนตะวันตกไปด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความสัมพันธ์เชิงระบบภายในองค์รวม โยงจิตกับปัญญา ตลอดลงมาถึงพฤติกรรมจุดที่จิตวิทยาสนใจและขยายความหมาย มาบรรจบกับพระพุทธศาสนา >>

เชิงอรรถ

  1. “Don’t today’s technological changes and social upheavals mean the end of friendship,
    love, commitment, community and caring?
    … For if we look around us we find widespread evidence of psychological breakdown… fully one fourth of all citizens in the United States suffer from some form of severe emotional stress… almost no family is free of some form of mental disorder … all complain of social isolation … the plague of loneliness.

    … Faced with an absence of visible structure, some young people use drugs to create it. “Heroin addiction,” …“ gives a way of life to the young person….”

    To this loss of order we must also add the loss of meaning. … most people surveying the world around them today see only chaos. They suffer a sense of personal powerlessness and pointlessness.

    … For meaning, structure, and community are interrelated preconditions for a livable future… the present agony of social isolation, the impersonality, Structurelessness, and sense of meaninglessness from which so many people suffer are symptoms of the breakdown of the past …
    (Alvin Toffler. The Third Wave. New York: Bantam Books, 1982, pp. 365-379)
    (ข้อความที่คัดมาลงไว้ ณ ที่นี้ บางกรณี เลือกเก็บเอาเฉพาะจุดที่เด่นๆ มาปะติดปะต่อกัน มุ่งให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน ในกรณีเช่นนั้น ถ้าจะนำไปใช้ในการอ้างอิง พึงอ้างเฉพาะประโยคที่จบความในตัว หรืออ้างเพียงสาระสำคัญ)

  2. … psychic surrender, a kind of creeping zombiism peculiar to our times…, a malady that’s becoming progressively stronger in many aspects of our culture,… is a recent twist. Only for a little more than a decade has a sizable portion of our population decided that the search isn’t worth it and turned their lives over to others.

    …Psychic surrender is a form of symbolic suicide: … And more and more Americans are “hanging it up” in this manner. Why do they suddenly feel they are incapable of living their lives? Psychic surrender is a last desperate attempt to remove the stress. In psychic surrender, we choose a symbolic rather than a literal death The ultimate effect is the release of stress. … why is the stress of nothingness so prevalent in our culture? Why do we feel so alone and lost?

    …our is an other-directed society. Both by our job-training and our education, we are taught that what we need to thrive comes from outside us. … and problems are solved by consulting an expert.
    (Michael Scott Cain, “Psychic Surrender, America’s Creeping Paralysis,” The Humanist, September/October 1983, pp.5-11, 32)
    (ข้อความที่คัดมาลงไว้ ณ ที่นี้ บางกรณี เลือกเก็บเอาเฉพาะจุดที่เด่นๆ มาปะติดปะต่อกัน มุ่งให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน ในกรณีเช่นนั้น ถ้าจะนำไปใช้ในการอ้างอิง พึงอ้างเฉพาะประโยคที่จบความในตัว หรืออ้างเพียงสาระสำคัญ)

  3. Almost absent in the United States today is a sense of what the founders of the American republic called “public happiness” – a state whereby trust and civic friendship make public life something to be valued, enjoyed, and respected, rather than avoided, perfunctorily undertaken, or ridiculed.
    (Robert J. Nash, Robert S. Griffin, “Repairing the Public-Private Split: Excellence, Character, and Civic Virtue,” Teachers College Record, Vol. 88, No.4, Summer 1987, pp.550-551)

No Comments

Comments are closed.