ชาวพุทธต้องเป็นผู้ตื่น

21 พฤศจิกายน 2538
เป็นตอนที่ 1 จาก 9 ตอนของ

ชาวพุทธต้องเป็นผู้ตื่น1

เจริญพร ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทั้งหลาย

วันนี้ อาตมารู้สึกเป็นสิริมงคลที่ได้มาพบปะ ได้พูดคุยกับนักศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับทางธรรม เข้าใจว่านักศึกษาที่มาประชุมในที่นี้ทั้งหมด หรือมิฉะนั้นก็ส่วนใหญ่คงจะเป็นสมาชิกในกลุ่มที่เรียกว่า ชมรมพุทธศาสตร์ บางท่านก็เป็นกรรมการด้วย การเป็นกรรมการก็ดี สมาชิกก็ดี หรือแม้ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่มาร่วมฟัง ก็แสดงถึงความสนใจ ใฝ่ธรรม อย่างน้อยก็มีความรักในการศึกษา ต้องการ หาความรู้

สำหรับผู้ที่มาสมัครเป็นสมาชิกชมรมพุทธศาสตร์ อาตมาเข้าใจว่าย่อมมีความมุ่งหมายเป็นส่วนเฉพาะตัวของแต่ละคน เหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง บางคนก็เข้ามาด้วยความมุ่งหมายที่จะมาแสวงหาคุณค่าหรือประโยชน์จากพระพุทธศาสนา คือต้องการมาใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน มาแสวงหาคำสอนที่จะนำไปใช้ให้เกิดความสุข ความสงบ เป็นต้น อันนี้เราเรียกง่ายๆ ว่า ผู้ที่มุ่งประโยชน์ของตน

แต่บางคนก็เข้ามาโดยมีความมุ่งหมายที่จะช่วยกิจการของส่วนรวม ในแง่หนึ่งก็คือจะมาช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ตลอดจนส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ในแง่นี้ก็คือต้องการเข้ามาช่วยกิจกรรมประเภทส่งเสริมพระพุทธศาสนา เช่น งานพูด เผยแผ่ พิมพ์หนังสือ เป็นต้น

และอีกประเภทหนึ่งคือเข้ามาด้วยความมุ่งหมายที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นประโยชน์แก่ประชาชน คือต้องการทำให้พุทธศาสนาเป็นประโยชน์แก่คนจำนวนมาก

แต่ความมุ่งหมายเหล่านี้ก็สัมพันธ์กันอยู่ ถ้าจะให้ดีก็คือ ควรจะทำให้หมด คือทั้งได้ประโยชน์ตน ตนเองเข้ามาแล้วก็ได้ประโยชน์จากธรรมะที่จะทำให้ชีวิตของตนดีงามยิ่งขึ้น มีความสุขความสงบยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกันก็ทำประโยชน์ส่วนรวมไปด้วย คือช่วยกิจการพระศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงยั่งยืนแพร่หลายยิ่งขึ้น และพร้อมกันนั้นก็ช่วยกันทำให้พระพุทธศาสนาเกิดประโยชน์แก่คนจำนวนมาก

อาตมาว่าจุดมุ่งหมายข้อสุดท้ายนี้สำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารงาน เพราะว่าผู้บริหารนั้นย่อมไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากธรรม หรือแสวงหาคุณค่าทางธรรมะเพื่อจะให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตนเท่านั้น เพราะอันนั้นเป็นส่วนเบื้องต้นที่ทุกคนควรจะมีในเมื่อเข้ามาในชมรมพุทธศาสตร์ แต่เมื่อเป็นผู้บริหารก็ควรจะมีความมุ่งหมายในแง่ประโยชน์ส่วนรวม คือหาทางที่จะทำให้ธรรมะนี้เกิดเป็นประโยชน์แก่คนจำนวนมากกว้างขวางยิ่งขึ้นไป เมื่อทำได้สำเร็จอย่างนั้น พระพุทธศาสนาก็จะมั่นคงรุ่งเรืองไปเอง อันนี้ก็เกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย และการที่จะทำอย่างนั้นได้ ขั้นแรกเราก็จะต้องรู้จักพระพุทธศาสนาเสียก่อน

หมายเหตุ:

  • เนื้อหาบนเว็บไซต์นี้ได้รับการจัดแบ่งย่อหน้าใหม่เพื่อความสะดวกในการอ่าน
  • ในหนังสือไม่มีการแบ่งบท/ตอน และไม่ปรากฏสารบัญ สารบัญนี้จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์เพื่อความสะดวกในการค้นหาและแสดงบนเว็บไซต์
ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป(พระพุทธศาสนาคืออะไร) >>

เชิงอรรถ

  1. แสดงแก่นักศึกษาชมรมพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา นครปฐม วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘

No Comments

Comments are closed.