(ตื่น รู้ สู่การศึกษาที่เปิดกว้าง นำทางสู่ปัญญา)

21 พฤศจิกายน 2538
เป็นตอนที่ 6 จาก 9 ตอนของ

นี้เป็นความหมายของพุทธะ ที่แปลว่าตื่น เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าทรงตื่นแล้ว ตื่นจากความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัติที่ไม่สมเหตุสมผล ที่ไม่เป็นไปเพื่อบรรลุความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ชีวิต ทั้งส่วนตนและส่วนรวม และได้ทรงสอนคำสอนใหม่ ซึ่งทำให้เกิดปัญญา และจะต้องเข้าถึงด้วยการรู้เข้าใจความจริงของชีวิต เข้าใจความจริงของสังขารต่างๆ ทรงสอนศาสนาแห่งปัญญา

เพราะฉะนั้นคำว่า ตื่น ก็มีความหมายว่า รู้ นั่นเอง คือหายหลับใหล ก็คือหายหลง หลงเป็นความไม่รู้ เมื่อรู้ก็หายหลง หายหลงก็คือตื่นจากความหลับใหล เพราะฉะนั้นความตื่นก็เป็นคู่กับความรู้ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้และเป็นศาสนาแห่งปัญญา จึงเป็นแนวปฏิบัติของชาวพุทธว่า ชาวพุทธเป็นคนที่ควรจะต้องตื่น เป็นคนที่จะต้องทำอะไรด้วยปัญญา ทำอะไรด้วยการพินิจพิจารณา เป็นผู้ที่ใฝ่ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ดำเนินตามปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น อย่างที่ว่ามาเมื่อกี้

ทีนี้เรามาพิจารณากันถึงว่า ในเมื่อเป็นชาวพุทธก็จะเป็นผู้ต้องตื่นต้องรู้แล้ว เราควรจะประพฤติปฏิบัติตัวกันอย่างไร การประพฤติปฏิบัติตัวที่มุ่งหมายในที่นี้ จุดสำคัญอยู่ที่ การศึกษาหาความรู้อย่างหนึ่ง กับ การปฏิบัติหรือลงมือทำอย่างหนึ่ง เมื่อเราเป็นชาวพุทธ เราควรจะศึกษาและปฏิบัติอย่างไร ตอนนี้แม้เป็นชาวพุทธแล้ว ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะปลอดภัย บางทีก็เป็นเพียงชาวพุทธโดยชื่อเท่านั้น จึงต้องให้เป็นชาวพุทธโดยสาระที่แท้จริงด้วย คือสาระที่ว่าเป็นผู้ตื่น หรือเป็นผู้รู้ดังกล่าวมาแล้วนั้น

ลักษณะหนึ่งของการที่จะรู้คือ การศึกษา การใฝ่หาความรู้ แต่การศึกษาใฝ่หาความรู้ที่มีปัญหาอีก ถ้าศึกษาหาความรู้ไม่เป็นก็เกิดโทษ

วิธีการศึกษานี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้เกิดความรู้หรือตื่นหรือไม่ บางทีการศึกษาก็ไม่ได้ความหมายของการศึกษาที่แท้จริง เป็นเพียงได้ชื่อว่าศึกษาเท่านั้น พอศึกษาเข้าแล้วก็ไปเกิดความยึดติดถือมั่นอะไรต่างๆ เลยกลายเป็นหลับต่อไป หรือว่าเคยหลับมาด้วยยานอนหลับอย่างหนึ่ง แล้วตื่นขึ้นมานิดหนึ่ง งัวเงียๆ พอคว้าอะไรได้หน่อยก็เลยเอาอันนั้นแหละมาเป็นยากล่อมชวนให้หลับต่อไป เลยแทนที่จะตื่นแท้จริง ก็เลยตื่นเพื่อหลับ คว้าอะไรบางอย่างที่จะมากล่อมตัวให้หลับต่อไป

เพราะฉะนั้น การศึกษาก็ต้องระวังว่า อาจจะไปเจออะไรที่มันกลายเป็นเครื่องกล่อมตัวเราให้หลับเสียอีกทีหนึ่ง ถ้าหลับอีกที คราวนี้อาจจะหลับหนักกว่าเก่า จะไม่รู้จักตื่นเลยก็ได้ จึงบอกว่าเราจะต้องมีวิธีการศึกษาให้ถูกต้องด้วย

พูดในแง่หนึ่งเฉพาะในหมู่ชาวพุทธว่า สำหรับการศึกษาสมัยนี้ ในเมื่อเราเกิดมาหลังพุทธกาล พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว พระพุทธองค์ไม่อยู่ เราก็ไม่ได้เรียนเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะทำอย่างไร เราจะเรียนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเรียนพระพุทธศาสนา

ผู้จะนำพระพุทธศาสนามาให้เราคือผู้ที่สั่งสอนต่างๆ ก็ได้แก่พระสงฆ์ หรือบางทีก็ไม่ได้เป็นพระสงฆ์ แต่เป็นผู้ได้เล่าเรียนศึกษามาก่อนเรา แล้วนำเอาคำสั่งสอนมาเผยแพร่ บางทีก็เป็นหนังสือ แต่ที่เป็นหลักใหญ่ๆ ก็คือครูอาจารย์ แนวการศึกษาของชาวพุทธสมัยนี้ก็คือว่า มีอาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้ ซึ่งอาจารย์นั้นเรานับถือว่าท่านได้ค้นคว้ามาเองบ้าง ไม่ก็ปฏิบัติมาด้วยตนเองบ้าง แล้วนำประสบการณ์หรือความรู้ที่ได้สั่งสมมานั้นถ่ายทอดให้ อาจารย์นี้ก็ถ่ายทอดโดยตรงคือพูดให้ฟังบ้าง เขียนหนังสือให้อ่านบ้าง

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสังเกต สมัยนี้ก็คือว่า เราชักจะยึดถืออาจารย์กันไปต่างๆ อาจารย์ แทนที่จะเป็นบุคคลผู้มาช่วยถ่ายทอดความรู้ ที่โยงเราให้เข้าถึงคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า อาจารย์เป็นเพียงทางผ่านหรือเป็นสื่อถ่ายทอด แต่หลักที่แท้จริงนั้นอยู่ที่พระพุทธเจ้า อาจารย์ผู้ช่วยนำเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้เราได้รู้หลักคำสอนที่แท้จริง หรือว่าให้เราได้ฟังพระพุทธเจ้านั่นเอง แต่เพราะเหตุที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว เราฟังจากพระองค์โดยตรงไม่ได้ เราก็เลยฟังจากอาจารย์ช่วยถ่ายทอดให้อีกทีหนึ่ง

แต่เหตุการณ์กลับกลายเป็นว่า เกิดมีการยึดถืออาจารย์มากเกินไป เราก็เชื่อแต่อาจารย์ ฟังแต่อาจารย์ จนกระทั่งว่าลืมพระพุทธเจ้า สมัยนี้การสอนจะมีลักษณะแบบนี้มากขึ้น คือถืออาจารย์เป็นหลัก แทนที่จะถือพระพุทธเจ้าเป็นหลัก

ถ้าหากว่าเป็นอย่างนี้แล้ว ก็จะมีลักษณะที่น่ากลัวขึ้นมาอันหนึ่ง คือความแตกแยกได้ง่าย เพราะอาจารย์ก็มีความคิดเห็นต่างๆ กัน มีความถนัดไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ทุกท่านอาจจะถูกเหมือนกัน แต่ว่าท่านหนึ่งๆ ก็สอนได้แง่หนึ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ท่านถนัดด้านหนึ่ง อีกองค์หนึ่งถนัดอีกด้านหนึ่ง เมื่อลูกศิษย์ไปยึดถือตามอาจารย์ก็เลยได้คนละด้าน แล้วเมื่อได้คนละด้านก็ไม่ตรงกัน เมื่อไม่ตรงกันก็อาจจะขัดแย้งหรือถกเถียงกัน ก็เป็นปัญหาทำให้เกิดความแตกแยกได้ง่าย

แต่ถ้าทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ในการศึกษาพระพุทธศาสนานั้น ตัวแท้ตัวจริงก็คือพระพุทธเจ้า เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลักไว้เสมอ แล้วเอาอาจารย์เป็นสื่อเป็นทางที่จะนำเข้าหาพระพุทธเจ้า ถ้ามีสติกำหนดไว้อย่างนี้เสมอ ก็ค่อนข้างจะปลอดภัย ถ้าหากว่าไม่ทำอย่างนั้น เรายึดถืออาจารย์ อาจารย์ก็อาจจะกลายเป็นหลักแล้ว พระพุทธเจ้ามาเป็นตัวประกอบ อาจารย์กลายเป็นผู้ตัดสินพระพุทธเจ้าไปก็มี ทำไปทำมาอาจารย์เลยกลายเป็นภูเขากั้นขวางเราให้เข้าไม่ถึงพระพุทธเจ้า

การนับถือพระพุทธเจ้าอย่างผิดๆ เป็นเหมือนภูเขาที่กั้นขวางชาวพุทธไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรม แต่อาจารย์ที่นับถือผิดๆ อาจ ทำให้เราขาหัก ตาบอด มองไม่เห็น เดินไปหาพุทธธรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็กลายเป็นเรื่องที่น่าระมัดระวัง นี่ก็เป็นหลักทั่วๆ ไปในการศึกษาพระพุทธศาสนา

เมื่อเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลักแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เราไม่สามารถฟังจากพระองค์ได้โดยตรง เพราะพระองค์ปรินิพพานอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ก็มีสิ่งที่พบจะเชื่อถือได้มากที่สุดว่าเป็นคำสอนของพระองค์ ก็คือ พระไตรปิฎก คัมภีร์ชั้นต้น ชั้นแรก เพราะฉะนั้นการอ้างอิงต่างๆ ก็ต้องไปที่พระไตรปิฎก

การศึกษาการตีความนั้น พุทธศาสนิกชนมีสิทธิที่จะศึกษาพิจารณา แม้แต่อาจารย์ก็เป็นเครื่องช่วยในการที่จะให้เราตีความ หรือพิจารณาธรรมะในพระไตรปิฎกนั้น ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นจะต้องเชื่อตายตัว หมายความว่าอาจารย์เป็นผู้ที่จะช่วย เป็นกัลยาณมิตรชี้แจงแนะนำให้ แต่เราเองต้องใช้ปัญญาของตนพิจารณา จะต้องเข้าถึงพระไตรปิฎกด้วยตนเอง ไม่ใช่รอแต่เพียงให้อาจารย์นำมาให้เท่านั้น นี่คือลักษณะทั่วไปของการศึกษา

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปิดใจให้กว้างอยู่เสมอ รับฟังรับพิจารณาผู้อื่น ไม่ถือเอาทิฏฐิของตนเอง ทิฏฐินี้ก็คือการยึดติดในความเห็น พอเราศึกษาอะไรนิดหน่อย เราก็เริ่มมีความคิดเห็น เมื่อมีความคิดเห็นแล้ว ถ้ายึดติดในความเห็นนั้น ความเห็นของตัวเอง และความรู้ที่ได้มานั้นแหละ ก็กลายเป็นตัวอุปสรรคกั้น ไม่ให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจที่กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

ทีนี้ตามธรรมดาของคน มักจะติดในทิฏฐิหรือในความคิดเห็นของตนเอง เมื่อยึดติดในความคิดเห็นแล้ว ก็เอาความคิดเห็นของตนไปตัดสินความจริง แทนที่จะเอาความจริงเป็นหลัก แล้วเอาความเห็นเป็นเครื่องประกอบ ก็เอาความเห็นของตนเป็นหลัก แล้วเอาความจริงเป็นเครื่องประกอบ เอาความเห็นไปตัดสินความจริง ถ้าอย่างนี้ก็กลายเป็นว่าเราเรียนศึกษาเพื่อจะจำกัดตัวให้แคบ แล้วปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงสัจธรรมนั่นเอง ซึ่งสภาวะอย่างนี้เราเรียกว่า ทิฏฐิ คือเกิดทิฏฐิขึ้นมา เรื่องการศึกษาจะพูดกว้างๆ แต่เพียงเท่านี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (ตื่นจากความเชื่อถือผิด – ชั้นวรรณะ, การบูชาเทพเจ้า, พระเวท, วิถีชีวิตนักบวช)(ปฏิบัติอย่างไรจึงจะปลอดภัย เข้าสู่ทางที่ถูกต้อง) >>

No Comments

Comments are closed.