(ชาวพุทธขัดแย้ง เพราะตัวบงการ ๓ ตัว – ตัณหา, มานะ, ทิฏฐิ)

21 พฤศจิกายน 2538
เป็นตอนที่ 9 จาก 9 ตอนของ

สำหรับปัญหาในหมู่ชาวพุทธที่ว่ามาเมื่อกี้นั้น ถ้าเราไม่สามารถแก้ไข ความทะเลาะเบาะแว้งก็จะบานปลาย จะเกิดเรื่องมากมายยิ่งขึ้นไป ปัญหาของมนุษย์ที่เกิดเป็นความขัดแย้งกันขึ้นนั้น มันมีอะไรบ้างเป็นตัวการสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ปัญหาความขัดแย้งในหมู่มนุษย์ จะเป็นเรื่องระหว่างบุคคลก็ดี ระหว่างกลุ่มคนก็ดี ระหว่างประเทศชาติก็ดี มันก็มีตัวบงการสำคัญอยู่ ๓ ตัว

ตัวที่ ๑ คือ ความอยากได้ผลประโยชน์ การหากามสุขก็ดี ทรัพย์สมบัติก็ดี การแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอ ปรนเปรอตนเอง ปัจจุบันเราเรียกว่าผลประโยชน์ เมื่อต่างก็หาผลประโยชน์เข้าตน ทุกคนเห็นแก่ตัว ก็เกิดความขัดแย้งแย่งชิงกัน เบียดเบียนกัน เกิดการวิวาทระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม ระหว่างประเทศ ตลอดจนสงครามล้างประเทศชาติ นี้คือปัญหาที่เกิดจากตัณหา การหาผลประโยชน์หรือเห็นแก่ตัวนี้เราเรียกว่า ตัณหา นี้เป็นเหตุที่ ๑

เหตุที่ ๒ คือ อำนาจ ความยิ่งใหญ่ การที่ถือตัวว่า จะต้องสูงเด่นกว่าเขา ใหญ่กว่าเขา ดีกว่าเขา เด่นกว่าเขา ลดลงไม่ได้ ก็ทำให้เกิดความแข่งขันชิงดีชิงเด่น การแสวงหาอำนาจ เป็นปัญหาตั้งแต่ระหว่างบุคคล จนกระทั่งถึงสังคม จนกระทั่งถึงปัญหาระดับโลก เป็นตัวบงการที่ ๒ เรียกว่า มานะ กิเลสตัวนี้เรียกว่ามานะ ไม่ใช่มานะอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย มานะในภาษาธรรมะแปลว่าความถือตัว คือถือตัวว่าฉันดีกว่า สูงกว่า เหนือกว่า ฉันจะต้องใหญ่กว่า อะไรทำนองนี้ แข่งขันกัน

เหตุที่ ๓ คือ ลัทธินิยมอุดมการณ์ ได้แก่ ความยึดถือในความคิดเห็น นี่เป็นอย่างแคบที่สุด ความคิดเห็นขยายออกไป ก็เป็นลัทธิ เป็นศาสนา เป็นอุดมการณ์ต่างๆ คนจำนวนไม่น้อยขัดแย้งกันเพราะลัทธินิยมอุดมการณ์ ความเชื่อถือ ความต่างศาสนา กลายเป็นสงครามระหว่างเผ่า ระหว่างหมู่ชน ระหว่างสังคม ระหว่างประเทศชาติ ในระยะหลังๆ นี้ สงครามอุดมการณ์มีมากขึ้น ความรุนแรงในอุดมการณ์มีมากขึ้น กิเลสตัวที่ ๓ นี้เรียกว่า ทิฏฐิ

กิเลส ๓ ตัวนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เสมอว่า เป็นกิเลสตัวบงการพฤติกรรมของมนุษย์ เรียกว่า ตัณหา มานะ และทิฏฐิ

ตัณหา มุ่งเห็นแก่ตัวหาผลประโยชน์

มานะ มุ่งความยิ่งใหญ่แสวงหาอำนาจ และ

ทิฏฐิ ความยึดติดในความเห็นในลัทธินิยมอุดมการณ์ ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา ลัทธิศาสนาที่เอาศรัทธาเป็นเกณฑ์ ยึดติดในความเห็น ไม่ใจกว้างรับฟังผู้อื่น ในที่สุดก็ทำให้เกิดสงคราม

สงครามในทางศาสนาก็มีมาแล้วไม่ใช่น้อย คนตายไปเพราะรบกันในทางศาสนามีมาก ต่อมาในสมัยหลังๆ นี้ ลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิเสรีประชาธิปไตยก็ขัดแย้งกัน อันนี้เป็นเรื่องของลัทธินิยมอุดมการณ์ เป็นเรื่องของทิฏฐิทั้งนั้น ในหมู่ชาวพุทธก็ต้องพิจารณาปัญหานี้เหมือนกัน

ในเรื่องของตัณหา เรื่องผลประโยชน์ ความเห็นแก่ตัวนั้น มักจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องศีล คือคนเรานั้นมีความไม่สม่ำเสมอกันในเรื่องความประพฤติ ความต้องการผลประโยชน์แย่งชิงกันทำให้เสียศีล

พระพุทธเจ้าตรัสว่า หลักของคนที่จะอยู่ร่วมกันนั้น อันหนึ่งคือศีลสามัญตา ความเสมอกันในเรื่องศีล การที่ประพฤติบกพร่องในเรื่องศีลนี้ เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เฉพาะในหมู่สงฆ์ แต่ในสังคมอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ การแย่งชิง เบียดเบียนกันจนกระทั่งถึงสงครามระดับโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องสงคราม ความขัดแย้งทะเลาะวิวาทที่เกิดจากความประพฤติผิดในเรื่องศีล จะยกไว้ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่มองเห็นง่าย

อีกด้านหนึ่งก็คือ ด้านทิฏฐิ ความเสมอกันในเรื่อง ทิฏฐิก็เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะต้องมีศีลสามัญตา มีศีลเสมอกันแล้ว คนที่อยู่ร่วมกันจะต้องมีทิฏฐิสามัญตา มีความเห็นเสมอกันด้วย

ในหมู่สงฆ์ท่านย้ำเรื่องนี้เป็นสำคัญว่า พระภิกษุทั้งหลายนั้นควรจะมีทิฏฐิ มีความคิดเห็นลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างน้อยความเห็นในหลักปฏิบัติสำคัญ ในจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาว่า เป็นไปเพื่อการจำกัดโลภะ โทสะ โมหะ เข้าถึงความเป็นอิสระหลุดพ้น จะต้องมีทิฏฐิสม่ำเสมอกันหรือปรับเข้าหากันได้ รับฟังกัน ทิฏฐิเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ต้องรับฟังกัน แล้วก็อยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้าไม่รับฟังกัน หรือแตกกันในเรื่องสำคัญแล้ว ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ เรียกว่าไม่มีทิฏฐิสามัญตา

ความขัดแย้งในเรื่องทิฏฐิเป็นเรื่องใหญ่ คนที่รบกันในเรื่องทิฏฐิ บางทีเป็นคนที่ยึดมั่นในศีลธรรม เป็นคนที่เชื่อถือในศาสนาอย่างดี เท่าที่มีการรบกันทางศาสนา คือเชื่อถือศาสนากันคนละศาสนาแล้วก็รบกันนั้น พวกที่ก่อสงครามจำนวนมากทีเดียว ได้ชื่อว่าเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนาของตน เป็นคนดี ประพฤติดีมีศีล แต่เขามองเห็นคนที่เชื่อถืออย่างอื่นเป็นพวกผิด เป็นพวกนรก เป็นพวกที่จะต้องกำจัด เป็นพวกซาตาน ดังนั้นแม้เขาจะประพฤติดี แต่ในเมื่อเขามีทิฏฐิ มีความเห็นอย่างนี้ เขาก็กำจัดคนอื่นได้ ไม่ว่าจะประพฤติดีหรือไม่ดีก็ตาม

ฉะนั้นศีลอย่างเดียว ไม่เป็นหลักประกันว่าจะทำให้โลกนี้สงบเรียบร้อย คนที่มีศีลดีงาม ประพฤติถูกหลักศาสนา แต่ถ้ามีทิฏฐิผิดแล้ว อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดสงครามที่ร้ายแรงยิ่งกว่าสงครามศีลอีก เพราะเมื่อมีปัญหาเรื่องทิฏฐิแล้ว เขาก็จะประพฤติศีลเฉพาะในหมู่พวกของเขาเท่านั้น พวกอื่นพวกที่เชื่อถืออย่างอื่นไม่เกี่ยว สงครามทิฏฐินี่แรงมาก สงครามในเรื่องของผลประโยชน์ อาจจะจำกัดวงแคบ แต่สงครามในเรื่องลัทธินิยมอุดมการณ์นี่รุนแรงเหลือเกิน เพราะฉะนั้น คนที่มีศีลก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะทำให้โลกนี้ร่มเย็น เพราะศีลถูกจำกัดด้วยทิฏฐิ จะต้องแก้ปัญหาเรื่องทิฏฐิด้วย

พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาไม่ใช่มาแก้ปัญหาเรื่องศีลเท่านั้น ศีลนี้ศาสนาก่อนๆ เขาก็สอนกันมามากมายแล้ว ก่อนที่พระพุทธเจ้าก็มีการสอนเรื่องศีล ๕ พระพุทธเจ้า ยอมรับว่าเขาสอนกันมาก่อนพระองค์ สอนมานานแล้ว พระองค์จับเอามาเน้นย้ำให้คนประพฤติดีงาม แต่มีปัญหาที่เหนือจากนั้นคือการยึดติดในทิฏฐิ ที่ทำให้ไม่เข้าถึงจุดหมายที่แท้จริงในศาสนา ถ้าตราบใดที่ยังติดอยู่ในทิฏฐิก็ไม่หลุดพ้น เมื่อจิตไม่หลุดพ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ ที่แท้จริงแล้ว มันก็ยังมีปมปัญหาอยู่เสมอไป ศีลก็ไม่มั่นคง ไม่เป็นศีลสากล เพราะว่าคนนั้นไม่หมดกิเลส เมื่อไม่หมดกิเลสแล้ว ก็อาจจะทำให้เอาทิฏฐินั้นมาเป็นเหตุที่จะทำให้ขัดแย้งทะเลาะวิวาทกันต่อไป

เพราะฉะนั้น สงครามในเรื่องลัทธิศาสนา ความเชื่อถืออุดมการณ์ต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญร้ายแรงมาก ดีที่ในพุทธศาสนาเราไม่เคยปรากฏสงครามความขัดแย้ง ในเรื่องที่ร้ายแรงเช่นนี้ ลักษณะที่ดีงามของพระพุทธศาสนานี้ ควรจะได้ดำรงรักษาไว้ให้มั่นคงอยู่ ก็คือความเป็นผู้มีใจกว้าง มีจิตใจเป็นนักศึกษา

เท่าที่กล่าวมานี้ทั้งหมด ก็อยู่ในหลักของความเป็นชาวพุทธ คือความเป็นผู้ตื่น อย่างน้อยก็ตื่นด้วยใจที่กว้างขวาง รับฟังความรู้ความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งการรับฟังผู้อื่นอย่างนี้ ก็คือ ความมีจิตสำนึกในความเป็นนักศึกษา จิตสำนึกของความเป็นนักศึกษาก็คือการคอยรับฟัง มีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนตนเองให้เจริญก้าวหน้า ในทาน ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา อยู่เสมอ เห็นว่าเรามีศีลแค่นี้ ก็พยายามฝึกตนให้เจริญในศีลมากขึ้น มีสมาธิแค่นี้ ก็ฝึกฝนตนให้เจริญในสมาธิมากขึ้น มีปัญญาแค่นี้ ก็ฝึกตนให้เจริญในปัญญามากขึ้น ถ้ามีจิตสำนึกของการเป็นผู้ใฝ่การศึกษา คอยจะฝึกตนอยู่เสมออย่างนี้แล้ว เราจะรับฟังกันด้วยดี และตนเองก็จะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในการประพฤติปฏิบัติด้วย

อาตมาคิดว่าวันนี้ได้พูดในเรื่องทั่วๆ ไป เกี่ยวกับลักษณะของพระพุทธศาสนา ที่เอาพระนามของพระพุทธเจ้า คือคำว่า พุทธะ ที่แปลว่า เป็นผู้ตื่น เป็นผู้รู้ เป็นหลัก ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาแต่เพียงนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (ต้องมีหลัก ไม่ให้เขวไป แล้วเป็นโทษภัยแก่ตนและคนรอบข้าง)

No Comments

Comments are closed.