(ตื่นจากความเชื่อถือผิด – ชั้นวรรณะ, การบูชาเทพเจ้า, พระเวท, วิถีชีวิตนักบวช)

21 พฤศจิกายน 2538
เป็นตอนที่ 5 จาก 9 ตอนของ

ความตื่นอื่นๆ ที่พ่วงมากับความตื่นเหล่านี้ ยังมีอีกหลายอย่าง

ความตื่นจากความงมงายในความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติในสมัยนั้น ยังมีอีกหลายแง่ที่ควรจะพิจารณา อย่างหนึ่งก็คือความยึดถือในเรื่องชั้นวรรณะ

คนสมัยนั้นยึดถือปฏิบัติตามหลักศาสนาพราหมณ์ที่ว่า คนเกิดมาอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เขาเรียกว่าเป็นวรรณะ แบ่งเป็นชนชั้น ชนชั้นสูงเรียกว่ากษัตริย์กับพราหมณ์ ชนชั้นกลางหรือต่ำลงมาเรียกว่า เป็นวรรณะแพศย์ คือพวกพ่อค้า คฤหบดี และวรรณะศูทรหรือพวกกรรมกร คนรับใช้ และยังมีพวกนอกวรรณะเป็นจัณฑาล ที่ต่ำสุดจนไม่รู้จะต่ำยังไงอีก

นี้เป็นความเชื่อถือที่เป็นการกำหนดสิทธิในชีวิตของคนว่าเกิดมาอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เกิดมาเป็นคนชั้นต่ำก็เป็นอันว่าไม่มีทางเจริญก้าวหน้าในชีวิต เช่น ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาเป็นต้น นี้ก็คือสภาพที่เป็นอยู่

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็มาสอนขัดแย้งกับความเชื่อถือและการปฏิบัตินั้น สอนให้เลิกชั้นวรรณะแล้วตั้งคณะสงฆ์ขึ้น เปิดรับคนจากทุกชั้นวรรณะเข้ามา ถ้าเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้ชื่อว่า เป็นสมณศากยบุตรเสมอกันหมด มีสิทธิเสมอกัน ทั้งมีสิทธิในทางสังคมเสมอกัน และมีสิทธิในการเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระศาสนา ซึ่งเป็นจุดหมายทางธรรมเหมือนกันหมดด้วย นับเป็นการต่อสู้อีกด้านหนึ่งของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ตื่น

และพระองค์ก็ปลุกประชาชนให้ตื่นจากความเชื่อถือยึดถือในการแบ่งชนชั้นตามชาติกำเนิดนี้ ให้แบ่งเป็นดีเลวโดยการกระทำ โดยความประพฤติ ว่าคนจะสูงจะต่ำจะดีจะเลวนั้น อยู่ที่การกระทำความประพฤติของตน ที่เราเรียกว่า กรรม

ต่อไป คนสมัยนั้นมีความเชื่ออะไรอีก ที่เราถือว่าเป็นความงมงาย

สมัยนั้นคนเชื่อในเรื่อง เทพเจ้า เชื่อว่าเทพเจ้าเป็นผู้กำหนดโชคชะตาของมนุษย์ เป็นผู้บันดาลสิ่งต่างๆ ความเป็นไปในชีวิตมนุษย์จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เทพเจ้า ถ้าต้องการที่จะพ้นจากภัยพิบัติ ก็อ้อนวอนเทพเจ้าให้ช่วยให้พ้นภัยพิบัติ ถ้าต้องการอะไรที่น่าปรารถนา อยากจะได้ผลดี ก็ต้องอ้อนวอนเทพเจ้าเช่นเดียวกัน

การอ้อนวอนเทพเจ้าก็แสดงออกมาในการเซ่นสรวงบูชา ซึ่งในที่สุดก็กลายมาเป็นพิธีใหญ่ๆ ที่เราเรียกว่า บูชายัญ ผู้ที่ต้องการผลดีผลตอบแทนอย่างมาก หรือมีอำนาจมาก ก็จะทำพิธีให้ใหญ่โต พวกพราหมณ์ พวกนักบวชเจ้าพิธี ก็ขยายพิธีกรรมที่เรียกว่าบูชายัญให้พิสดารออกไป มีการบูชายัญฆ่าสัตว์จำนวนมาก ฆ่าแพะ ฆ่าแกะ ฆ่าม้า ฆ่าโค ฆ่าควาย ตลอดจนกระทั่งฆ่าคนก็มี

พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาก็ต้องประสบกับสภาพเช่นนี้ด้วย พระองค์ไม่เห็นด้วยกับการเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้า ก็สอนให้เลิก จึงถือว่าพระองค์ไม่หลับใหลหลงงมงายไปตามความเชื่อและการปฏิบัติของคนสมัยนั้น ทรงเห็นว่าเป็นการขาดเหตุผล ที่จะมาอ้อนวอนเซ่นสรวงเทพเจ้าให้ได้ผลที่ต้องการ จนกระทั่งถึงกับบูชายัญเบียดเบียนผู้อื่น การทำอย่างนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ เราต้องการอะไรก็ต้องทำเอา ผลที่ต้องการจะสำเร็จด้วยการลงมือกระทำ ซึ่งเราเรียกว่าหลักกรรมเช่นเดียวกัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นความตื่นของพระพุทธเจ้า ตื่นจากความหลับใหลในเรื่องความเชื่อหลงงมงาย ในการเซ่นสรวงอ้อนวอนบูชาเทพเจ้า ตลอดจนยัญพิธีต่างๆ

เรามาพูดกันก่อนถึงความหลับใหลของคนในสมัยนั้น ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าตื่นอย่างไร ขอพูดเรื่องนี้ไปพลางๆ แล้วค่อยมาคุยกันถึงสภาพปัจจุบัน

ความเชื่อของคนในสมัยนั้นอีกอย่างหนึ่งคือ พราหมณ์เขาสอนไว้ว่า พระเวท เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด พระเวทนี้กล่าวไว้สอนไว้ว่าอย่างไรแล้ว จะเถียงไม่ได้เป็นอันขาด เรียกว่า infallible คือว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะผิดพลาดได้ เพราะฉะนั้น พระเวทว่าอย่างไรคนต้องเชื่อตาม ซึ่งความเชื่อในเรื่องวรรณะ ๔ นี้ พระเวทก็กำหนดไว้

นอกจากว่าจะต้องเชื่อพระเวทตายตัวแล้ว การที่จะเข้าถึงพระเวทก็ยังมีข้อกำหนดอีกว่า มิใช่ทุกคนจะเรียนพระเวทได้ ต้องเป็นคนชั้นสูง ต้องเป็นพราหมณ์เป็นอันดับหนึ่ง มิฉะนั้นก็ต้องเป็นกษัตริย์จึงจะเรียนได้ ผ่อนลงมาได้บ้างก็พวกแพศย์ วรรณะพ่อค้าพอจะเรียนได้ พอได้ฟัง ได้รู้บ้าง แต่พวกวรรณะต่ำอย่างวรรณะศูทรนี่เขาห้ามเด็ดขาด ไม่ให้เรียนพระเวท มีกฎหมายเรียกว่า มนูธรรมศาสตร์

มนูธรรมศาสตร์นี่มาเป็นต้นบทของกฎหมายไทยในสมัยโบราณ มนูธรรมศาสตร์นี้บัญญัติไว้บอกว่า ถ้าคนวรรณะศูทรมาฟังสาธยายพระเวท ให้เอาตะกั่วหลอมหยอดหูมัน ถ้าเอาตะกั่วหลอมหยอดหูก็เป็นอันหูหนวกแน่ ถ้าหากคนวรรณะศูทรสาธยายพระเวท ให้ตัดลิ้นมัน ถ้าโดนตัดลิ้นก็อาจจะตายได้ หรือถ้าไม่ตายก็คงเลิกพูดกัน ถ้าหากคนวรรณะศูทรมาเรียนพระเวท ให้ผ่าร่างกายมันเป็น ๒ ซีก นี่ก็คือการลงโทษอย่างแรง ตัดโอกาสในการศึกษาโดยสิ้นเชิง ทั้งการศึกษาและการเข้าถึงจุดมุ่งหมายในทางศาสนา เป็นอันว่าคนวรรณะต่ำไม่มีทาง

พระพุทธเจ้าให้เลิกนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท พระองค์สอนคำสอนใหม่ และคำสอนใหม่ของพระองค์นี้คนฟังพิจารณาไตร่ตรองได้ มีสิทธิ์ที่จะสงสัย เอามาซักถาม เอามาถกเถียงกันได้ อย่างที่เรานับถือกันในหลัก กาลามสูตร

แล้วการสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้ผูกขาดอย่างพระเวท คนทุกชั้นวรรณะเรียนได้ แล้วพระเวทนั้นเขาผูกขาดไว้ด้วยภาษาชั้นสูง ที่เรียกว่าภาษาพระเวท ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นภาษาสันสกฤต พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้ผูกขาดคำสอนของพระองค์ด้วยภาษาชั้นสูง

มีคนจากวรรณะพราหมณ์เข้ามาบวช แล้วก็มาเสนอพระพุทธเจ้า บอกว่าคำสอนของพระองค์นั้น คนที่เอาไปเรียนออกบวชจากวรรณะต่างๆ พื้นเพภูมิหลังไม่เหมือนกัน ต่อไปคำสอนของพระองค์นี้จะสับสนฟั่นเฝือ เพราะฉะนั้นขออ้อนวอนพระองค์ ให้เอาคำสอนของพระองค์นี่ยกขึ้นไปเป็นภาษาสันสกฤต คือให้ทรงจำเรียนกันด้วยภาษาสันสกฤตเถิด จะได้รักษาไว้มั่นคง

พระพุทธเจ้าตรัสสั่งห้ามไม่ให้ทำเช่นนั้น ใครทำเช่นนั้น ถ้าเป็นพระก็ปรับอาบัติ ปรับอาบัติก็คือมีความผิด พระองค์บอกว่าคำสอนของพระองค์นั้น ให้เรียนกันด้วยภาษาของตนๆ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ทรงเปิดโอกาสกว้าง ในทางการศึกษา แล้วก็เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงธรรมะของพระพุทธศาสนา นี้ก็เป็นการตื่นอีกอย่างหนึ่ง

มาพิจารณากันอีกบางอย่าง นักบวชสมัยนั้น เมื่อบวชมาแล้ว ก็มีบางพวกที่เป็นอยู่ด้วยการที่ถือว่าตนเป็นผู้รู้ผู้วิเศษ เป็นผู้รู้ก็เป็นเจ้าตำรับ เป็นผู้วิเศษก็คือมี ฤทธิ์ มี ปาฏิหาริย์ ทำอะไรได้แปลกๆ แล้วก็เลี้ยงชีวิตเป็นอยู่หากินด้วยการตั้งตัวเป็นผู้รู้ผู้วิเศษอย่างนั้น เช่น ทำนายทายทักให้บ้าง หรือสะเดาะเคราะห์ให้บ้าง เป็นหมอผีเข้าทรงให้บ้าง ต่างๆ เหล่านี้

พระพุทธเจ้าเกิดมาท่ามกลางสภาพเช่นนั้น ก็เปลี่ยนวิถีชีวิตของนักบวชเสียใหม่ ไม่ให้หากินด้วยวิธีอย่างนั้น ให้เป็นอยู่ด้วยอาศัยความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน ไม่ใช่หาเลี้ยงชีพด้วยสิ่งที่เรียกว่า เดียรัจฉานวิชา เช่นนั้น อันนี้ก็เป็นความตื่นอีกอย่างหนึ่ง ในความตื่นหลายๆ แบบ อาตมาก็ยกมาให้ดูกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (ตื่นจากวิธีปฏิบัติที่ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง – การทรมานตน และ ฌานสมาบัติ)(ตื่น รู้ สู่การศึกษาที่เปิดกว้าง นำทางสู่ปัญญา) >>

No Comments

Comments are closed.